ความหมาย มะเร็งทอนซิล (Tonsil Cancer)
มะเร็งทอนซิล หรือ มะเร็งต่อมทอนซิล (Tonsil Cancer) เกิดจากการเจริญเติบโตแบบผิดปกติของเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณต่อมทอนซิล เป็นมะเร็งประเภทมะเร็งศีรษะและคอ (Head and neck cancer) ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งทอนซิล แต่คาดว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อเอชพีวี (HPV) การสูบบุหรี่ และการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก
ต่อมทอนซิลคือต่อมน้ำเหลืองที่มีลักษณะเป็นคู่ มีทั้งหมด 3 คู่ อยู่บริเวณด้านข้างของช่องปาก โคนลิ้น และช่องหลังโพรงจมูก มะเร็งทอนซิลมักพบในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะในเพศชาย มะเร็งทอนซิลมักตรวจพบเมื่อแพร่กระจายไปยังบริเวณใกล้เคียงแล้ว เช่น ต่อมน้ำเหลืองในคอ เนื่องจากมักไม่แสดงอาการในระยะเริ่มต้น
วิธีการที่แพทย์อาจใช้ในการรักษามะเร็งทอนซิล เช่น การผ่าตัด การใช้รังสีรักษา การทำเคมีบำบัด ซึ่งแพทย์จะพิจารณาจากความเหมาะสมต่อผู้ป่วยแต่ละคน
อาการมะเร็งทอนซิล
อาการของมะเร็งทอนซิลจะขึ้นอยู่กับขนาดหรือระยะของมะเร็ง โดยปกติจะมีอาการดังนี้
- กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ
- ต่อมทอนซิลข้างใดข้างหนึ่งมีขนาดใหญ่กว่าอีกข้างแบบผิดปกติ
- มีอาการเจ็บคอเรื้อรัง
- เสียงแหบ
- บางรายอาจคลำพบก้อนบริเวณคอ
- มีกลิ่นปาก มีแผลในช่องปากที่รักษาไม่หาย
- มีเลือดออกในช่องปาก
- ปวดหู โดยเฉพาะอาการปวดเพียงข้างเดียว
- ขากรรไกรแข็ง ขยับได้ยากกว่าปกติ
- เบื่ออาหารและน้ำหนักลดแบบผิดปกติ
แม้ว่าอาการข้างต้นนี้จะไม่ได้เป็นอาการของโรคมะเร็งทอนซิลเสมอไปเนื่องจากมีโรคอื่น ๆ ที่ปรากฏอาการใกล้เคียงกันด้วย แต่ผู้ป่วยควรไปปรึกษาแพทย์ถ้าเริ่มมีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการทอนซิลอักเสบที่รักษาไม่หายด้วยยาปฏิชีวนะหรือมีอาการปวดหูรุนแรงและเรื้อรัง
สาเหตุของมะเร็งทอนซิล
ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนที่ทำให้เกิดมะเร็งทอนซิล แต่จากงานวิจัยพบว่าการติดเชื้อเอชพีวี อาจมีความเกี่ยวข้องที่ทำให้เนื้อเยื่อเซลล์บริเวณต่อมทอนซิลเจริญเติบโตผิดปกติและพัฒนากลายเป็นมะเร็งทอนซิล โดยเชื้อเอชพีวีสามารถติดต่อผ่านการสัมผัสบาดแผลที่มีเชื้อโดยตรง หรือติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก
นอกจากนี้ยังอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น การสูบบุหรี่หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบ การบริโภคเครื่องดื่มแอกอฮอล์ในปริมาณมาก การมีภูมิคุ้มกันลดลงจากการปลูกถ่ายอวัยวะหรือติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV)
การวินิจฉัยมะเร็งทอนซิล
แพทย์จะวินิจฉัยโดยเริ่มจากการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกาย ตรวจช่องปากและลำคอโดยใช้กระจกหรือกล้องขนาดเล็ก รวมถึงอาจจะใช้มือสัมผัสบริเวณลำคอเพื่อตรวจหาอาการต่อมน้ำเหลืองโต จากนั้นอาจใช้วิธีการอื่นร่วมด้วยในการวินิจฉัย ดังนี้
การตรวจภาพวินิจฉัย (Imaging tests)
การตรวจภาพวินิจฉัยเป็นการตรวจเพื่อดูขนาดและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง สามารถทำได้ด้วยการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) การตรวจ PET Scan
การตัดเนื้อเยื่อไปตรวจ (Biopsy)
แพทย์จะตัดตัวอย่างเนื้อเยื่อเพื่อนำไปตรวจหาการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์ซึ่งเป็นสัญญาณของโรคมะเร็ง รวมถึงตรวจหาการติดเชื้อเอชพีวีซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการคาดการณ์ความเป็นไปของโรคและการเลือกแนวทางการรักษา เช่น ในกรณีที่คนไข้มีการติดเชื้อเอชพีวีแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส HPV ร่วมด้วย
การรักษามะเร็งทอนซิล
วิธีการรักษามะเร็งทอนซิลจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละคน ได้แก่ ขนาดและระยะการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง การติดเชื้อเอชพีวี และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยแพทย์อาจใช้วิธีเดียวในการรักษาหรือใช้หลายวิธีรักษาร่วมกันตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแต่ละวิธีจะมีความแตกต่างกันดังนี้
การผ่าตัด
การผ่าตัดทำเพื่อตัดเนื้องอกออกให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในมะเร็งระยะเริ่มต้นจะใช้วิธีผ่าตัดภายในช่องปากเพื่อนำเนื้อเยื่อมะเร็งของคนไข้ออก แต่ในกรณีที่มะเร็งมีขนาดใหญ่หรืออยู่ในระยะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองอาจจำเป็นต้องผ่าตัดบริเวณคอ ซึ่งจะส่งผลต่อการกลืนอาหารและการพูด ทำให้หลังจากผ่าตัดผู้ป่วยอาจจะต้องกินอาหารผ่านทางสายยางแทน รวมถึงฝึกการพูดและการกลืนอาหารใหม่
การใช้รังสีรักษา
การใช้รังสีรักษาสามารถใช้เป็นวิธีการรักษาเดี่ยวในกรณีที่เซลล์มะเร็งมีขนาดเล็กและยังไม่ลุกลามไปยังอวัยวะอื่น หรือใช้รักษาหลังจากการผ่าตัดในกรณีที่การผ่าตัดไม่สามารถกำจัดมะเร็งออกไปได้หมด หรือใช้ร่วมกับการทำเคมีบำบัด เนื่องจากเคมีบำบัดจะทำให้เซลล์มะเร็งอ่อนแอลงและสามารถใช้รังสีกำจัดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การทำเคมีบำบัด
การทำเคมีบำบัดเป็นการใช้ยาเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดยส่วนใหญ่จะใช้การทำเคมีบำบัดร่วมกับการใช้รังสีรักษามากกว่าการรักษาด้วยเคมีบำบัดเพียงอย่างเดียว แต่ก็สามารถใช้เป็นวิธีการรักษาเดี่ยวเพื่อชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งที่เริ่มลุกลามไปยังอวัยวะอื่นหรือเซลล์มะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำได้เช่นเดียวกัน
และจากงานวิจัยพบว่ามีความเป็นไปได้ที่การรักษามะเร็งทอนซิลที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อเอชพีวี อาจสามารถรักษาด้วยการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดในปริมาณที่น้อยกว่าการรักษามะเร็งทอนซิลในกรณีอื่นแต่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากัน ซึ่งข้อดีของการใช้รังสีรักษาและเคมีบำบัดในปริมาณที่น้อยลงคือจะทำให้เกิดผลข้างเคียงที่น้อยลงนั่นเอง
ภาวะแทรกซ้อนของมะเร็งทอนซิล
มะเร็งทอนซิลที่ไม่ได้รับการรักษาอาจทวีความรุนแรงและแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น เนื้อเยื่อบริเวณหลังโพรงจมูกหรือขากรรไกร และเยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะบริเวณหลังคอ โดยอาจทำให้เกิดโรคมะเร็งในอวัยวะนั้น หรือส่งผลให้เกิดอาการป่วยอื่น ๆ ตามมา
นอกจากนี้ การรักษามะเร็งทอนซิลด้วยวิธีต่างๆ ก็ยังอาจทำให้เกิดภาวะอาการข้างเคียงได้ เช่น เกิดภาวะกลืนลำบากหลังจากการผ่าตัด เนื้อเยื่อในปากอักเสบ ปากแห้ง เสียงแหบ สูญเสียการรับรสชาติ หรือผิวหนังมีลักษณะคล้ายถูกแดดเผาหลังจากการทำรังสีรักษา
การป้องกันมะเร็งทอนซิล
มะเร็งทอนซิลยังไม่มีวิธีการป้องกันที่ชัดเจน แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดของมะเร็งทอนซิลได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่าง เช่น
- เลิกสูบบุหรี่ รวมถึงเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบและกัญชา เนื่องจากเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งช่องปากและลำคอ
- หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีควันบุหรี่ เนื่องจากการสูดดมควันบุหรี่มือสองสามารถทำให้เกิดมะเร็งช่องปากและลำคอได้
- ป้องกันการติดเชื้อเอชพีวีโดยการไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี ซึ่งสามารถฉีดได้ทั้งเพศชายและเพศหญิง
- บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม
- ตรวจสุขภาพประจำปีและพบทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากมีสัญญาณของการเกิดมะเร็งทอนซิลจะได้ตรวจพบได้เร็วและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น