ความหมาย ม้ามโต
ม้ามโต (Splenomegaly) เป็นภาวะที่ม้ามขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น การติดเชื้อ โรคเกี่ยวกับตับ โรคเลือด หรือโรคมะเร็งบางชนิด เป็นต้น แต่บ่อยครั้งที่ภาวะม้ามโตมักไม่ก่อให้เกิดอาการใด ๆ ทำให้ผู้ป่วยบางรายรู้ว่าตนเองเข้าข่ายม้ามโตก็ต่อเมื่อได้รับการตรวจร่างกายจากแพทย์โดยตรง
ม้ามเป็นอวัยวะหนึ่งในระบบน้ำเหลือง อยู่บริเวณใต้ซี่โครงด้านซ้ายใกล้กับกระเพาะอาหาร มีหน้าที่สำคัญในการช่วยกำจัดเชื้อโรคและป้องกันการติดเชื้อภายในร่างกาย รวมทั้งยังช่วยกรองเซลล์เม็ดเลือดแดงเก่า
อาการของม้ามโต
แม้ผู้ป่วยม้ามโตบางรายอาจจะไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมา แต่ในบางคนอาจรู้สึกอึดอัด เจ็บ หรือปวดท้องด้านซ้ายที่เป็นที่ตั้งของม้าม และอาจร้าวไปยังหัวไหล่ด้านซ้ายได้ นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกอิ่มเร็วกว่าปกติ อิ่มแม้รับประทานอาหารไปเพียงเล็กน้อยเนื่องจากกระเพาะอาหารโดนม้ามที่ขยายตัวกดทับ โลหิตจาง อ่อนเพลีย ร่างกายติดเชื้อบ่อย มีเลือดออกง่าย น้ำหนักลดลง ดีซ่าน เป็นต้น
สาเหตุของม้ามโต
ม้ามโตอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจเป็นโรคติดเชื้อ โรคเลือด โรคตับหรือโรคที่ส่งผลต่อตับอย่างโรคตับแข็ง ยิ่งไปกว่านั้น ภาวะม้ามโตยังเกิดขึ้นได้จากโรคชนิดอื่น ดังนี้
- ภาวะโลหิตจางจากการทําลายเม็ดเลือดแดงที่เร็วกว่าปกติ เช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมียชนิดรุนแรง
- การติดเชื้อไวรัสอย่างโรคโมโนนิวคลิโอซิส
- การติดเชื้อปรสิต เช่น โรคมาลาเลียหรือโรคท็อกโซพลาสโมซิส (Toxoplasmosis)
- การติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคซิฟิลิส หรือการติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือต่อมน้ำเหลือง เช่น โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น มีการกดทับหรือเกิดลิ่มเลือดภายในหลอดเลือดดำบริเวณตับหรือม้าม
แม้ว่าภาวะนี้จะสามารถเกิดได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ผู้ป่วยบางกลุ่มอาจเสี่ยงต่อการเกิดม้ามโตมากกว่าปกติโดยเฉพาะเด็กหรือวัยรุ่นที่ป่วยเป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิส และผู้ที่อาศัยหรือไปเที่ยวในบริเวณที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย
การวินิจฉัยม้ามโต
ในขั้นแรก แพทย์จะทำการตรวจร่างกายโดยคลำบริเวณท้องด้านซ้ายส่วนบนของผู้ป่วย ซึ่งภาวะม้ามโตมักจะตรวจเจอในระหว่างขั้นตอนนี้ ทั้งนี้ แพทย์อาจใช้การทดสอบอื่น ๆ ร่วมด้วย เพื่อประกอบการวินิจฉัยให้แม่นยำมากขึ้น เช่น
- การตรวจเลือด เพื่อตรวจวัดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในร่างกาย
- การอัลตราซาวด์ หรือ ซีที สแกน (CT Scan) จะช่วยให้เห็นภาพฉายของม้ามและบริเวณโดยรอบ ทำให้รู้ว่าม้ามขยายใหญ่ขึ้นและเบียดอวัยอื่นหรือไม่
- การตรวจเอ็มอาร์ไอ สแกน (MRI Scan) เพื่อติดตามการไหลเวียนของเลือดที่เข้าและออกจากม้าม
การรักษาม้ามโต
เนื่องจากผู้ป่วยแต่ละรายมีสาเหตุที่ต่างกันไป แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะกับสาเหตุนั้น ๆ หากผู้ป่วยม้ามโตจากการติดเชื้อแบคทีเรียอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ สำหรับผู้ป่วยม้ามโตจากโรคโมโนนิวคลิโอซิสนั้นไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะ การรักษาส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นที่การดูแลตัวเองอย่างพักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำให้มาก ๆ เมื่อเป็นไข้หรือเจ็บคออาจรับประทานยาแก้ปวด และเมื่อการติดเชื้อทุเลาลงจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติและมีสุขภาพแข็งแรงได้ ส่วนในผู้ป่วยม้ามโตที่ไม่ปรากฏอาการและยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริง แพทย์อาจให้หมั่นสังเกตอาการและเข้ารับการประเมินอาการอย่างสม่ำเสมอ
ในกรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอาจจำเป็นต้องตัดม้ามออก โดยปกติแล้วผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้แม้ปราศจากม้าม แต่จะเสี่ยงต่อการติดเชื้อรุนแรงหรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้ จึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคบางชนิด หรือรับประทานยาปฏิชีวนะตามที่แพทย์แนะนำ
ภาวะแทรกซ้อนของม้ามโต
ผู้ป่วยที่มีภาวะม้ามโตอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ เนื่องจากม้ามที่ขยายใหญ่ขึ้นจะกรองเซลล์เม็ดเลือดมากขึ้น เซลล์เม็ดเลือดและเกร็ดเลือดที่ดีในกระแสเลือดจึงลดน้อยลง ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย โลหิตจางและมีเลือดออกง่ายขึ้น นอกจากนี้ ภาวะม้ามโตยังอาจทำให้เกิดม้ามแตกได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งจะส่งผลให้ให้มีเลือดออกภายในช่องท้องที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
การป้องกันม้ามโต
ภาวะม้ามโตเกิดได้จากหลายสาเหตุ บางสาเหตุไม่สามารถเลี่ยงได้หรือป้องกันได้ยาก แต่อาจลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหรือสาเหตุที่นำไปสู่อาการม้ามโต เช่น ผู้ที่เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของมาลาเรียควรดูแลและป้องกันตนเองจากการติดเชื้อนี้จากยุงกัด สำหรับผู้ป่วยโรคเลือดหรือโรคมะเร็งเม็ดเลือดควรติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ผู้ป่วยธาลัสซีเมียที่รักษาด้วยการให้เลือด จะลดโอกาศเกิดม้ามโต เป็นต้น