ยาขยายหลอดลม

ยาขยายหลอดลม

ยาขยายหลอดลม เป็นยาที่มีคุณสมบัติคลายกล้ามเนื้อภายในปอด ช่วยให้ทางเดินหายใจขยายออกและหายใจสะดวกขึ้น มักนำมาใช้รักษาโรคหรือภาวะเรื้อรังที่ส่งผลให้ทางเดินหายใจแคบลงและอักเสบ เช่น โรคหืด และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง ยาขยายหลอดลมแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ ชนิดออกฤทธิ์สั้น และชนิดออกฤทธิ์ยาว

ยาขยายหลอดลม

ยาขยายหลอดลมที่นำมาใช้กันแพร่หลาย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

ยากลุ่มเบต้าทูอะโกนิส (Beta-2 Agonists) ใช้รักษาโรคหืด และโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง แต่บางชนิดอาจใช้รักษาเฉพาะโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังเท่านั้น ตัวยาออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นตัวรับสัญญาณบริเวณกล้ามเนื้อทางเดินหายใจ ซึ่งจะช่วยให้หลอดลมเกิดการขยายตัว รูปแบบของยามีทั้งชนิดยาเม็ด ยาน้ำเชื่อม ยาสูดพ่น รวมถึงยาฉีดหรือเครื่องพ่นละอองยาที่จะใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาซาลบูทามอล ยาฟอร์โมเทอรอล ยาซาลเมเทอรอล และยาไวแลนเทอรอล

ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก (Anticholinergic) ยากลุ่มนี้มักใช้รักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง แต่บางชนิดอาจนำมาใช้รักษาโรคหืด ตัวยาออกฤทธิ์โดยการยับยั้งเส้นประสาทโคลีเนอร์จิค (Cholinergic) ซึ่งจะปล่อยสารเคมีที่ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมเกิดการหดตัว ทำให้หลอดลมขยายตัวออก รูปแบบของยาโดยทั่วไปเป็นยาชนิดสูดพ่นหรือเครื่องพ่นละอองยา ซึ่งจะใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือมีอาการรุนแรง

ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาไทโอโทรเปียม ยาไอปราโทรเปียม และยาแอคไคลดิเนียม เป็นต้น

ยาทีโอฟิลลีน (Theophylline) ออกฤทธิ์โดยการช่วยคลายกล้ามเนื้อหลอดลมเช่นเดียวกับยาขยายหลอดลมชนิดอื่น และอาจช่วยลดการอักเสบหรืออาการบวมในทางเดินหายใจได้ด้วย โดยทั่วไปเป็นยารับประทานชนิดเม็ดและแคปซูล หรือยาฉีดที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่ายาอะมิโนฟิลลีน ซึ่งจะใช้ในกรณีที่มีอาการรุนแรง

ยากลุ่มเบต้าทูอะโกนิสและยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิกมีทั้งชนิดออกฤทธิ์สั้นและชนิดออกฤทธิ์ยาว แต่ยาทีโอฟิลลีนนั้นมีเพียงชนิดออกฤทธิ์ยาวเท่านั้น

คำเตือนในการใช้ยาขยายหลอดลม

ยาขยายหลอดลมแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาขยายหลอดลม ได้แก่

  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีโรคประจำตัวหรือปัญหาสุขภาพใด ๆ เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยที่เป็นอยู่ได้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยาขยายหลอดลมเมื่อใช้ร่วมกัน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาต้านซึมเศร้า ยาไดจอกซิน ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เป็นต้น
  • ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเบต้าทูอะโกนิส และใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหิน หรือมีภาวะอุดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ เช่น ต่อมลูกหมากโต หรือโรคนิ่ว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก และใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคตับ ความดันโลหิตสูง แผลในกระเพาะอาหาร และโรคลมชัก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทีโอฟิลลีน และใช้ยาอย่างระมัดระวัง
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาทีโอฟิลลีน เพราะการสูบบุหรี่อาจลดประสิทธิภาพของยาลง
  • ยาขยายหลอดลมบางชนิดไม่อนุญาตให้ใช้กับเด็ก เช่น ยาไทโอโทรเปียมที่ไม่แนะนำให้ใช้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาขยายหลอดลมบางชนิดอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือซึมผ่านน้ำนมมารดาไปยังทารกและเป็นอันตรายต่อทารกได้

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาขยายหลอดลม

เนื่องจากยาพ่นจมูกแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลการใช้ยาจากฉลากอย่างระมัดระวัง และใช้ยาอย่างถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติหลังใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง

ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาขยายหลอดลมแต่ละกลุ่ม ได้แก่

ผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไป

  • อาการสั่น โดยเฉพาะที่มือ
  • ปากแห้ง
  • ปวดศีรษะ
  • ไอ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ท้องเสีย
  • อาการใจสั่น
  • ตะคริว

ยากลุ่มเบต้าทูอะโกนิส

ยากลุ่มแอนติโคลิเนอร์จิก

  • คอแห้ง
  • ตาพร่า
  • ท้องผูก
  • ปวดท้อง
  • เจ็บขณะปัสสาวะ
  • เจ็บหน้าอก
  • หากยาเข้าตาอาจทำให้มองเห็นภาพไม่ชัดในช่วงเวลาสั้น ๆ

ยาทีโอฟิลลีน

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดท้อง ท้องเสีย
  • ปวดศีรษะ
  • ตะคริว
  • หัวใจเต้นเร็วหรือเต้นผิดปกติ
  • กระวนกระวาย อยู่ไม่นิ่ง