ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs) คือ ยาที่ใช้ช่วยกระตุ้นการปัสสาวะ มีฤทธิ์ในการระบายของเหลวและโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย โดยตัวยาจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของไตให้ขับโซเดียม ร่วมกับน้ำในร่างกายออกมาทางปัสสาวะ ทั้งนี้ ยาขับปัสสาวะมักใช้เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง แต่แพทย์อาจสั่งใช้กับผู้ป่วยโรคอื่น ๆ ด้วยในกรณีที่จำเป็น เช่น ภาวะบวมน้ำ หัวใจวาย ในบางกรณียาขับปัสสาวะยังนำไปใช้ในการป้องกัน หรือบรรเทาอาการอื่น ๆ ด้วย เช่น ตับวาย โรคไต นิ่วในไต เป็นต้น
ยาขับปัสสาวะ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่
- ยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก (Thiazide Diuretics) เป็นยาที่แพทย์มักใช้มากที่สุด โดยยากลุ่มนี้จะเข้าไปออกฤทธิ์กับไตโดยตรงและกระตุ้นการขับปัสสาวะ โดยยับยั้งการขนส่งโซเดียม และคลอไรด์ภายในหลอดไตส่วนปลายของหน่วยไต จึงทำให้ปริมาณปัสสาวะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ปริมาณของเหลวนอกเซลล์และพลาสมาลดลง อันจะช่วยลดการทำงานของหัวใจและลดความดันโลหิตได้ ทั้งนี้ในบางกรณีอาจมีการใช้ยาชนิดอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อลดความดันโลหิต ยากลุ่มไธอะไซด์ ได้แก่ ยาไฮโดรโคลโรไธอะไซด์ (Hydrochlorothiazide) ยาโคลโรไธอะไซด์ (Chlorothiazide) ยาอินดาพาไมด์ (Indapamide) ยาเมโทลาโซน (Metolazone) ยาโคลธาลิโดน (Chlorthalidone) เป็นต้น
- ยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก (Loop Diuretics) เป็นยาขับปัสสาวะที่มักใช้ในผู้ป่วยหัวใจวาย ผู้ป่วยโรคตับ และโรคไต ในบางกรณีอาจใช้รักษาภาวะความดันโลหิตสูงด้วย โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการขนส่งสารโซเดียม โพแทสเซียม คลอไรด์ในห่วงเฮนเล (Henle’s Loop) ที่อยู่ภายในไต ร่างกายจะดูดซับโซเดียม คลอไรด์ และโพแทสเซียมลดลง ทำให้สารเหล่านั้นถูกขับออกมาพร้อมปัสสาวะในที่สุด นอกจากนี้ ยาดังกล่าวยังช่วยลดการดูดซึมแคลเซียมและแม็กนีเซียมของร่างกายได้อีกด้วย ตัวอย่างของยากลุ่มนี้ได้แก่ ยาฟูโรซีไมด์ (Furosemide) ยาบูเมทาไนด์ (Bumetanide) ยาอีธาไครนิค แอคซิด (Ethacrynic acid) ยาทอร์เซไมด์ (Torsemide) เป็นต้น
- ยาขับปัสสาวะกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก (Potassium-Sparing Diuretics) เป็นกลุ่มของยาขับปัสสาวะที่ใช้เพื่อลดปริมาณน้ำในร่างกายโดยไม่ขับโพแทสเซียมออกจากร่างกายด้วย โดยยาตัวนี้จะเข้าไปขัดขวางการแลกเปลี่ยนของโซเดียมและโพแทสเซียมภายในหลอดไตส่วนปลาย หรือเข้าไปขัดขวางการทำงานของฮอร์โมนแอลโดสเตอโรน (Aldosterone) ที่มีหน้าที่ควบคุมความสมดุลระหว่างน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย โดยยานี้มักใช้ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงภาวะโพแทสเซียมต่ำ หรือผู้ที่ใช้ยารักษาชนิดอื่น ๆ ที่อาจส่งผลต่อระดับโพแทสเซียมในร่างกาย ยาขับปัสสาวะประเภทนี้ ได้แก่ ยาสไปโรโนแลคโทน (Spironolactone) ยาอามิโลไรด์ (Amiloride) ยาอีพลีรีโนน (Eplerenone) และยาไทรแอมเทรีน (Triamterene) เป็นต้น
เกี่ยวกับยาขับปัสสาวะ
กลุ่มยา | ยาขับปัสสาวะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ขับของเหลวและโซเดียมส่วนเกินออกจากร่างกาย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด ยาน้ำ ยาฉีด |
คำเตือนการใช้ยาขับปัสสาวะ
- ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้ยาหรือสารประกอบในยาขับปัสสาวะไม่ควรรับประทานยาชนิดนี้
- ผู้ที่มีประวัติแพ้ยาในกลุ่มซัลฟาควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดนี้เพื่อการรักษาปัญหาเกี่ยวกับการปัสสาวะ
- ผู้สูงอายุที่อายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาขับปัสสาวะ
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคไต หรือโรคตับขั้นรุนแรง โรคเก๊าท์ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าว
- ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดน้ำบ่อย ๆ ไม่ควรใช้ยานี้
- ผู้ที่มีอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคตับอ่อนอักเสบ โรคภูมิแพ้ตัวเอง ปัญหาเกี่ยวกับประจำเดือน หรือปัญหาเกี่ยวกับไต ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาดังกล่าว
- ผู้ที่อยู่ในระหว่างการใช้ยาซึ่งอาจส่งผลต่อการได้ยิน เช่น ยารักษามะเร็งพลาทินอล (Platinol) และคาร์โบพลาทิน (Carboplatin) ยาในกลุ่มซาลิไซเลท (Salicylate) หรือยากลุ่มอะมิโนไกลโคไซด์ (Aminoglycoside) ควรแจ้งแพทย์ก่อนเริ่มใช้ยานี้
- การใช้ยาบางชนิดร่วมกับยาขับปัสสาวะอาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาต่อกันได้ โดยเฉพาะยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin) ยารักษาภาวะซึมเศร้า ยาลิเทียม (Lithium) ยาไดจอกซิน (Digoxin) หรือยารักษาโรคความดันโลหิตสูงชนิดอื่น ๆ
- สตรีมีครรภ์มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคความดันสูงในขณะตั้งครรภ์ หรือสตรีมีครรภ์ในช่วงไตรมาสที่ 3 และมีความเสี่ยงที่อาจเกิดโรคความดันสูงในขณะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์หากต้องใช้ยานี้
ปริมาณการใช้ยาขับปัสสาวะ
ปริมาณการใช้ยาขับปัสสาวะแต่ละกลุ่มจะค่อนข้างแตกต่างกันไปตามชนิดของยา และจุดประสงค์ในการรักษา รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย และอายุของผู้ป่วย เป็นต้น ซึ่งในการใช้ยาผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือตามที่ระบุไว้บนฉลากอย่างเคร่งครัด เนื่องจากในบางกรณีการใช้ยาดังกล่าวอาจต้องใช้ร่วมกับยาอื่น ๆ เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย หากใช้ยามากหรือน้อยกว่าปริมาณที่แพทย์กำหนดอาจส่งผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ต่อผู้ป่วยได้
การใช้ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่ควรใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาชนิดนี้เป็นยาที่ส่งผลต่อสุขภาพค่อนข้างมาก ดังนั้น ก่อนเริ่มใช้ยาขับปัสสาวะ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งแพทย์ถึงยาที่ผู้ป่วยใช้ ไม่ว่าจะเป็นยาตามใบสั่งแพทย์หรือยาที่ขายทั่วไป อาหารเสริม หรือสมุนไพร และหากมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ควรแจ้งแพทย์ให้ทราบเพื่อป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
ในระหว่างการใช้ยา แพทย์อาจมีการสั่งตรวจวัดระดับความดันโลหิต ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ เพื่อวัดระดับแร่ธาตุในร่างกาย และการทำงานของไตอยู่อย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่มีโซเดียมต่ำ และลดปริมาณการบริโภคเกลือลงควบคู่กันไปด้วยเพื่อให้อาการดีขึ้น
ขณะที่ยาขับปัสสาวะบางกลุ่ม อย่างเช่นยาขับปัสสาวะกลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก และยาขับปัสสาวะกลุ่มลูปไดยูเรติก อาจส่งผลให้ระดับโพแทสเซียมในร่างกายลดลง ดังนั้นแพทย์อาจมีการแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารที่โพแทสเซียม หรืออาหารเสริมโพแทสเซียมเพื่อให้ร่างกายมีแร่ธาตุดังกล่าวในระดับที่ปกติ ส่วนผู้ป่วยที่ใช้ยาขับปัสสาวะในกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากจนเกินไป
สำหรับการรับประทานยา หากผู้ป่วยต้องรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ก็ควรรับประทานยาในช่วงเช้า เพราะหากรับประทานในเวลากลางคืน หรือก่อนนอน ฤทธิ์ของยาอาจส่งผลให้ผู้ป่วยตื่นขึ้นมาปัสสาวะกลางดึกบ่อย ๆ และส่งผลถึงการนอนหลับได้ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือยาที่ช่วยในการนอนหลับ เพราะอาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึ่งประสงค์ได้
หากการใช้ยาขับปัสสาวะในการลดระดับความดันโลหิตแล้วยังได้ผลที่ไม่น่าพึงพอใจ อาจมีการใช้ยาอื่น ๆ รวมด้วย เช่นยาในกลุ่มแคลเซียมแชนแนลบล็อกเกอร์ (Calcium channel blockers) ยากลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitors) ยาแองกิโอเทนซินรีเซพเตอร์บล็อกเกอร์ (Angiotensin Receptor Blockers - ARB) หรือยาเบตาบล็อกเกอร์ (Beta Blocker) เพื่อรักษาภาวะความดันโลหิตสูง
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยหากใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตาม ยาดังกล่าวอาจมีผลข้างเคียง ซึ่งได้แก่
- ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
- เกิดภาวะขาดแร่ธาตุ เช่น ขาดโพแทสเซียม หรือระดับโซเดียมในเลือดต่ำผิดปกติ
- เกิดการสะสมของโพแทสเซียมในร่างกายมากเกินไป โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- กระหายน้ำบ่อย หรือเกิดภาวะขาดน้ำ
- เป็นตะคริวที่กล้ามเนื้อ
- เกิดโรคเกี่ยวกับข้อต่อต่าง ๆ เช่น โรคเก๊าท์
- เกิดภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศในเพศชาย
- ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
- ระดับคอเลสเตอรอลสูงขึ้น
- เกิดผื่นที่ผิวหนัง
- ท้องเสีย
ในบางรายอาจพบผลข้างเคียงที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ตัวอย่างเช่น เกิดอาการแพ้ยา ไตวาย หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงขึ้น ต้องรีบรักษาเป็นการด่วนเพื่อความปลอดภัย ดังนั้น หากพบอาการที่ผิดปกติในระหว่างการรักษาด้วยยาขับปัสสาวะ ผู้ป่วยควรรีบแจงแพทย์ทันที แพทย์จะได้พิจารณาเรื่องการใช้ และอาจมีการเปลี่ยนยา หรือเพิ่มยาเพื่อบรรเทาอาการผลข้างเคียงจากยา ทั้งนี้ ผู้ป่วยไม่ควรหยุดยาด้วยตัวเองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากแพทย์แม้ว่าจะมีผลข้างเคียงใด ๆ เกิดขึ้นกับร่างกาย เพราะอาจทำให้การรักษาไม่ต่อเนื่องและทรุดลงมากกว่าเดิมได้