ยาต้านเกล็ดเลือด
ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelet) คือ กลุ่มยาที่ใช้ลดการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือด และช่วยป้องกันการอุดตันในหลอดเลือดหรือหัวใจ ใช้รักษาโรคต่าง ๆ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ อาการเจ็บหน้าอกที่มีสาเหตุจากหัวใจ เป็นต้น นอกจากนี้ แพทย์อาจใช้ยานี้รักษาผู้ป่วยที่เพิ่งเข้ารับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยขดลวด หรืออาจใช้ป้องกันการเกาะตัวกันของเกล็ดเลือดในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจห้องบนเต้นสั่นพลิ้วด้วยเช่นกัน
ตัวอย่างยาต้านเกล็ดเลือด
- แอสไพริน คือ ยาบรรเทาอาการปวด ลดไข้ ลดอักเสบ แต่หากใช้ในปริมาณต่ำจะช่วยต้านเกล็ดเลือดและลดการเกิดลิ่มเลือดได้
- โคลพิโดเกรล คือ ยาต้านเกล็ดเลือดที่ใช้ป้องกันการเกิดซ้ำของโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง หรือใช้ป้องกันโรคดังกล่าวในผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลาย
- พราซูเกรล คือ ยาต้านเกล็ดเลือดที่มักใช้ร่วมกับแอสไพริน ใช้เพื่อป้องกันการอุดตันของหลอดเลือดในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ทิคากรีลอร์ คือ ยาต้านเกล็ดเลือดที่มักใช้คู่กับยาแอสไพริน ใช้เพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจหรือผู้ที่จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษาโรคหัวใจบางชนิด
- ไดไพริดาโมล คือ ยาต้านเกล็ดเลือดที่มักใช้คู่กับยาวาร์ฟาริน เพื่อป้องกันเลือดเกาะตัวหลังการผ่าตัดลิ้นหัวใจ
คำเตือนในการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด
- หากใช้ยาชนิดอื่นอยู่ รวมทั้งอาหารเสริมชนิดต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- หากใช้ยาชนิดนี้อยู่ ห้ามใช้ยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ไอบูโพรเฟน นาพรอกเซน เป็นต้น เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้น
- แพทย์อาจตรวจเลือดเพื่อดูการตอบสนองของร่างกายหลังได้รับยา และอาจปรับเปลี่ยนปริมาณยาตามความเหมาะสม
- ไม่ควรหยุดใช้ยาหรือเปลี่ยนแปลงปริมาณยาด้วยตนเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- ผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเสี่ยงต่อการบวมช้ำหรือมีเลือดออก
- ผู้ที่ใช้ยาชนิดนี้ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ เพราะแอลกอฮอล์อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออกมากขึ้น
- หากต้องเข้ารับการผ่าตัดหรือถอนฟันในระหว่างที่ใช้ยาชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะยาอาจทำให้มีเลือดออกมากกว่าปกติ
- ควรใช้ยาในเวลาเดิมทุกครั้ง เพื่อให้จำง่ายและป้องกันการลืมใช้ยา
- สตรีมีครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาและทารกในครรภ์ได้
- สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา เพราะยาอาจถูกส่งไปยังทารกผ่านทางน้ำนมของมารดาได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด
ยาต้านเกล็ดเลือดมีหลายชนิด ซึ่งอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงหลากหลายรูปแบบแตกต่างกันไป หากมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้ยาหรือเกิดผลข้างเคียงขึ้นในระหว่างที่ใช้ยา ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อความปลอดภัย
โดยตัวอย่างผลข้างเคียงจากการใช้ยาต้านเกล็ดเลือด มีดังนี้
- เป็นไข้ หนาวสั่น
- มีผื่น คันตามผิวหนัง
- หน้าบวม มือบวม
- เจ็บคอ กลืนลำบาก
- ท้องเสีย ท้องร่วง
- สับสน มีปัญหาเกี่ยวกับการพูด
- แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก
- หายใจถี่ หายใจลำบาก หายใจมีเสียงหวีด
- วิงเวียนศีรษะ ไม่สามารถทรงตัวได้
- ไอหรืออาเจียนโดยมีเลือดปน
- หากมีแผล อาจทำให้เลือดไหลไม่หยุด
- สตรีที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือนอาจมีเลือดออกมากกว่าปกติ
- ปัสสาวะเป็นเลือด
- อุจจาระเป็นสีดำหรือมีเลือดปน