ยาถ่ายพยาธิ
ยาถ่ายพยาธิ คือยาที่ใช้สำหรับกำจัดพยาธิชนิดต่าง ๆ ออกฤทธิ์โดยทำให้พยาธิอดตายหรือหยุดเคลื่อนไหว และถูกขับออกมาจากร่างกายผ่านการขับถ่าย บางชนิดอาจป้องกันการฟักตัวของไข่พยาธิและช่วยไม่ให้พยาธิเพิ่มจำนวนขึ้นได้ด้วย
ยาถ่ายพยาธิมีหลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดมีคุณสมบัติในการกำจัดพยาธิต่างชนิดกัน และมีข้อควรระวังในการใช้ที่ควรทราบ ผู้ที่ต้องการใช้ยาถ่ายพยาธิควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ และรับประทานยาตามที่แพทย์แนะนำ หรือตามข้อบ่งใช้ที่ระบุบนฉลากอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการใช้ยา และลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ปริมาณการใช้ยาถ่ายพยาธิ
ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาถ่ายพยาธิที่นิยมใช้ในปัจจุบัน ได้แก่
1. อัลเบนดาโซล (Albendazole)
อัลเบนดาโซลเป็นยาถ่ายพยาธิที่แพทย์นิยมใช้เป็นหลัก เพราะรักษาการติดเชื้อพยาธิได้เกือบทุกชนิดในไทย ทั้งพยาธิตัวกลม เช่น พยาธิไส้เดือน พยาธิเส้นด้าย พยาธิปากขอ พยาธิแส้ม้า และพยาธิตัวตืด
รูปแบบยา : ยาเม็ด ยาน้ำ
ยาอัลเบนดาโซลที่วางจำหน่ายมี 2 ขนาด คือ 200 มิลลิกรัม และ 400 มิลลิกรัม โดยตัวยาขนาด 200 มิลลิกรัมเหมาะสำหรับเด็กเล็ก กรณีที่ใช้ในเด็กอายุมากกว่า 2 ปีและผู้ใหญ่ ควรรับประทานครั้งละ 2 เม็ด หรือเลือกรับประทานยาขนาด 400 มิลลิกรัม เพียงครั้งละ 1 เม็ดต่อวัน ซึ่งอาจช่วยให้รับประทานยาได้สะดวกมากกว่า
ขนาดยาและจำนวนวันที่รับประทานจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ และชนิดของพยาธิ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพิ่มเติม และห้ามใช้ยานี้กับสตรีมีครรภ์ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้
2. มีเบนดาโซล (Mebendazole)
มีเบนดาโซลใช้กำจัดพยาธิแส้ม้า พยาธิเข็มหมุด พยาธิตัวกลม พยาธิปากขอ และอาจใช้ในกรณีที่มีการติดเชื้อพยาธิหลายชนิดพร้อมกัน
รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาน้ำ
ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยามีเบนดาโซล
3. พราซิควอนเทล (Praziquantel)
พราซิควอนเทลใช้รักษาพยาธิใบไม้ต่าง ๆ เช่น พยาธิใบไม้ในเลือด พยาธิใบไม้ในตับ เป็นต้น
รูปแบบยา: ยาเม็ด
ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาพราซิควอนเทล
4. ไอเวอร์เมคติน (Ivermectin)
ไอเวอร์เมคตินใช้รักษาการติดเชื้อพยาธิสตรองจิลอยด์ สเตอร์โคราลิส (Strongyloides Stercoralis) และพยาธิไส้เดือน ทั้งยังนำมาใช้รักษาเหา หิด เปลือกตาอักเสบ และโรคเท้าช้างได้
รูปแบบยา: ยาเม็ด
ปริมาณการใช้ยาและข้อมูลอื่น ๆ ของยานี้สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความยาไอเวอร์เมคติน
คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาถ่ายพยาธิ
ยาถ่ายพยาธิแต่ละชนิดล้วนมีข้อบ่งชี้ในการใช้และข้อควรระวังที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ควรศึกษาวิธีการใช้ยาและอ่านคำเตือนบนฉลากอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนใช้ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี โดยข้อควรระวังในการใช้ยาถ่ายพยาธิ ได้แก่
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยา หากมีอาการเจ็บป่วยหรือกำลังใช้ยาชนิดอื่นอยู่
- หญิงที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์หรือไม่แน่ใจว่ากำลังตั้งครรภ์หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาถ่ายพยาธิ
- เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้
- การรักษาโรคพยาธิแต่ละชนิดใช้ยาถ่ายพยาธิในปริมาณและประเภทที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาถ่ายพยาธิ
ยาถ่ายพยาธิเป็นยาที่ค่อนข้างปลอดภัยและก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้ยาบางรายอาจมีอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ เช่น ปวดเกร็งที่ท้อง มีแก๊สในกระเพาะอาหาร ไม่อยากอาหาร ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะหรือปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ และมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง
หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และควรไปพบแพทย์โดยทันที หากพบผลข้างเคียงรุนแรงต่อไปนี้
- อาการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ หายใจไม่ออก ใบหน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม
- มีอาการบ่งบอกถึงความผิดปกติของตับ เช่น รู้สึกเหนื่อย คลื่นไส้ ปวดท้องส่วนบน ไม่อยากอาหาร ปัสสาวะสีเข้มขึ้น อุจจาระสีซีด มีอาการดีซ่าน เป็นต้น
- อาการของภาวะกดไขกระดูก เช่น อ่อนแรงอย่างเฉียบพลัน รู้สึกไม่สบาย มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ เหงือกบวมแดง มีแผลในปาก มีปัญหาในการกลืน หรือมีรอยฟกช้ำและมีเลือดออกง่ายกว่าปกติ
- มีปัญหาผิวหนังรุนแรง เช่น ใบหน้าและลิ้นบวม เกิดแผลบริเวณดวงตา จมูก ปาก หรืออวัยวะเพศ มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง เกิดตุ่มน้ำ ผิวลอก เป็นต้น