ยาม่วง
ยาม่วง (Gentian Violet) คือ ยาฆ่าเชื้อชนิดหนึ่ง ใช้ในการรักษาการติดเชื้อจากเชื้อราที่ผิวหนัง เช่น กลาก น้ำกัดเท้า เชื้อราในช่องปาก เชื้อราในช่องคลอด ฝี มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียบางชนิด โรคฝ้าขาวในช่องปาก และใช้ป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนังในบาดแผลขนาดเล็ก การใช้ยาแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์หรือฉลากข้างบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
เกี่ยวกับยาม่วง
กลุ่มยา | ยาต้านเชื้อรา |
ประเภทยา | ยาที่สามารถซื้อเองได้ตามร้านขายยาทั่วไป |
สรรพคุณ | รักษาฝ้าขาวในปากและการติดเชื้อที่ผิวหนัง |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาน้ำ |
คำเตือนในการใช้ยาม่วง
การใช้ยาม่วงอาจทำให้เกิดคราบสีม่วงที่สังเกตเห็นได้ชัดติดอยู่ที่ผิวหนังและเลอะเสื้อผ้าได้ รวมถึงอาจเกิดผลข้างเคียงหรือปฏิกิริยาที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาและแจ้งแพทย์หรือเภสัชกรให้ทราบถึงเงื่อนไขของผู้ป่วยเกี่ยวกับประวัติการใช้ยา หรือประวัติการแพ้ยาก่อนการใช้ยาทุกครั้ง โดยเฉพาะบุคคลที่อยู่ในกลุ่มต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอาการแพ้จากการใช้ยาม่วง แพ้ยา ชนิดอื่น ๆ รวมถึงผู้ที่มีอาการแพ้อาหาร สี สารกันบูด
- ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดอื่น ๆ สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะการใช้ยาร่วมกันอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงหรือลดประสิทธิภาพการทำงานของยาได้
- ผู้ที่สูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร
- ผู้ที่เป็นโรคเกี่ยวกับเมตาบอลิค เช่น โรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
ปริมาณการใช้ยาม่วง
ยาม่วงเป็นยาใช้ภายนอกเฉพาะทาในปากหรือที่ผิวหนังเท่านั้น ห้ามกลืนยาลงไป ปริมาณการใช้อาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับอาการ ข้อบ่งใช้ของผู้ป่วยแต่ละราย และความเข้มข้นของยา ควรปฏิบัติตามคำสั่งแพทย์หรือฉลากข้างบรรจุภัณฑ์อย่างเคร่งครัด โดยทั่วไปใช้รักษาการติดเชื้อจากเชื้อราทางผิวหนังในเด็กและผู้ใหญ่โดยใช้ไม้พันสำลีแต้มยาแล้วทาบนผิวหนังที่มีการติดเชื้อจำนวน 2-3 ครั้งต่อวัน ต่อเนื่องเป็นเวลา 3 วัน
การใช้ยาม่วง
- ควรล้างมือและบริเวณที่จะทาให้สะอาดและซับให้แห้งก่อนทายา ควรทายาให้ครบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนดถึงแม้ว่าจะมีอาการที่ดีขึ้นแล้วก็ตาม
- ควรรอให้ยาแห้งสนิท โดยเฉพาะการทายาในบริเวณที่มีรอยพับ เช่น ง่ามนิ้วเท้า หรือราวนม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดแผลหลังจากการทาที่ผิวหนัง
- หากลืมทายาตามเวลาที่แพทย์สั่ง เมื่อนึกขึ้นได้ให้ทาได้ทันที หากลืมทายาใกล้กับเวลาที่กำหนด ให้ทายาในเวลาและขนาดตามปกติ ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยา
- ไม่ควรกลืนยาลงท้องหากใช้ทาในปาก และไม่ควรใช้ยาม่วงก่อนการรับประทานอาหาร
- ไม่ควรใช้วัสดุที่ไม่ระบายอากาศปิดทับในบริเวณที่ทายา เพราะอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังได้
- ควรเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง ไม่ควรเก็บยาในช่องแช่แข็ง หรือที่ที่มีความร้อน ความชื้น ไม่ควรให้ยาสัมผัสแสงโดยตรง รวมถึงต้องปิดฝาให้สนิททุกครั้งหลังใช้ยา ควรเก็บให้ไกลจากมือเด็ก และไม่ควรใช้ยาหมดอายุ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาม่วง
ยาม่วงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ในบริเวณที่ทายา ควรหยุดใช้ยาและรีบไปพบแพทย์โดยด่วน หากพบอาการระคายเคือง บวม แดง หรืออาการของการติดเชื้อ เช่น รู้สึกร้อน กดแล้วเจ็บ มีหนอง เป็นต้น รวมถึงอาจพบอาการข้างเคียงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
- หากใช้ยาที่มีความเข้มข้นสูง อาจเกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือก เช่น เนื้อเยื่อบุระบบทางเดินอาหาร ทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และท้องร่วง ในกรณีที่ผู้ป่วยกลืนยาลงท้อง
- ผิวหนังดำคล้ำ เนื้อเยื่อตาย หรือเป็นแผลในบริเวณที่มีรอยพับ เช่น ง่ามนิ้วเท้า หรือราวนม จากการใช้ยาม่วงที่มีความเข้มข้นสูงบริวเวณผิวหนังหรือทายาแล้วไม่ทิ้งไว้ให้แห้งสนิทก่อนสวมใส่เสื้อผ้า
- อาการแพ้อย่างรุนแรง พบได้ค่อนข้างน้อย เช่น ผื่นคัน อาการบวม โดยเฉพาะที่บริเวณใบหน้า ลิ้น หรือลำคอ วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง หายใจลำบาก เป็นต้น