ยาลดกรด (Antacids)

ยาลดกรด (Antacids)

ยาลดกรด (Antacids) เป็นกลุ่มยาที่ช่วยปรับค่า PH ในกระเพาะอาหารให้เป็นกลางมากขึ้น จึงสามารถช่วยลดอาการระคายเคืองในกระเพาะอาหารได้ ยาลดกรดมักใช้รักษาโรคกรดไหลย้อนและโรคกระเพาะอาหารอักเสบ โดยมักใช้ร่วมกับยายับยั้งการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารในกลุ่มยา Proton Pump Inhibitors (PPIs) หรือกลุ่มยา H2 Blockers 

ยาลดกรดมีหลายชนิดและมักแบ่งตามส่วนผสมหลักที่อยู่ในยา เช่น อะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide) แมกนีเซียม คาร์บอเนต (Magnesium Carbonate) แมกนีเซียม ไตรซิลิเกต (Magnesium Trisilicate) แคลเซียม (Calcium) และบางชนิดอาจมีตัวยาไซเมทิโคน (Simethicone) ที่ช่วยขับลม หรือยาแอลจิเนต (Alginates) ที่ช่วยป้องกันไม่ให้กรดจากกระเพาะอาหารไหลย้อนไปในหลอดอาหารด้วย

ยาลดกรด (Antacids)

ปริมาณการใช้ยาลดกรด  

ยาลดกรดมีอยู่หลายชนิด ซึ่งแต่ละชนิดจะมีตัวยาที่เป็นส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์ที่ต่างกัน ทำให้ปริมาณในการใช้ยาแต่ละชนิดต่างกันออกไปด้วย จึงควรศึกษาข้อมูลที่ระบุบนฉลากยาหรือขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ ตัวอย่างปริมาณการใช้ยาลดกรดมีดังนี้

1. ยาลดกรดอะลูมิเนียม ไฮดรอกไซด์ (Aluminium Hydroxide)

รูปแบบยา: ยาน้ำ

ผู้ใหญ่รับประทานยาขนาดไม่เกิน 1 กรัม โดยทั่วไปคือ 1–2 ช้อนโต๊ะ หลังอาหาร 3 เวลาและก่อนนอน

2. ยาลดกรดแอลจินิก (Alginic Acid)

รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาน้ำ

ผู้ใหญ่และเด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไปรับประทานยา 2–4 เม็ด หรือ 10–20 มิลลิลิตร หลังอาหาร 3 เวลาและก่อนนอน สำหรับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการรับประทาน

3. ยาลดกรดยาแมกนิเซียม ไฮดรอกไซด์ (Magnesium Hydroxide)

รูปแบบยา: ยาเม็ด ยาน้ำ

สำหรับรักษาภาวะกรดเกิน
ผู้ใหญ่รับประทานยาขนาดไม่เกิน 1 กรัม/วัน ร่วมกับยาลดกรดที่มีอะลูมิเนียมไฮดรอกไซด์เป็นส่วนประกอบ

สำหรับรักษาภาวะลำไส้ที่มีอาการท้องผูก
ผู้ใหญ่รับประทานยาขนาด 2.4–4.8 กรัม/วัน ภายในครั้งเดียวหรือแบ่งรับประทานภายใน 1 วัน เด็กอายุ 6–11 ปี รับประทานยาขนาด 1.2–2.4 กรัม/วัน เด็กอายุ 2–5 ปี รับประทาน ขนาด 0.4–1.2 กรัม/วัน อาจรับประทานภายในครั้งเดียวหรือแบ่งรับประทานภายใน 1 วันเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ โดยยาชนิดนี้มักใช้เป็นยาระบาย 

คำเตือนและข้อควรระวังในการใช้ยาลดกรด

เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยาลดกรด ผู้ใช้ยาควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้

  • ควรแจ้งประวัติการแพ้ยาและอาการแพ้อื่น ๆ แก่แพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะส่วนผสมบางตัวในยาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการแพ้
  • ผู้ที่มีปัญหาโรคตับ โรคไต หรือมีภาวะหัวใจล้มเหลว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง เพื่อป้องกันการสะสมของยาในปริมาณมากภายในร่างกาย
  • ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ตับแข็ง หรือสภาวะอื่น ๆ ที่ต้องรับประทานอาหารประเภทโซเดียมต่ำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของโซเดียมในปริมาณมาก
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา เพราะยาลดกรดบางชนิดอาจมีส่วนผสมของโซเดียมไบคาร์บอเนต ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงกับทารกในครรภ์
  • เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ควรขอคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยา
  • ไม่ควรรับประทานยาลดกรดติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ นอกเหนือจากคำสั่งของแพทย์
  • ไม่ควรรับประทานยาลดกรดพร้อมกับยาชนิดอื่นภายใน 2–4 ชั่วโมง เพราะอาจดูดซึมฤทธิ์ยาตัวอื่นจนทำให้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่

ผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดกรด

ยาลดกรดแทบไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงเมื่อรับประทานในปริมาณที่เหมาะสมและในกรณีที่จำเป็น แต่ในผู้ป่วยบางคนก็อาจเกิดอาการท้องเสีย ท้องผูก ท้องอืด เรอ คลื่นไส้ หรืออาเจียนได้ ขึ้นอยู่กับประเภทและส่วนผสมหลักในการออกฤทธิ์ของยา

โดยยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแมกนีเซียมอาจทำให้เกิดอาการท้องเสีย ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก ส่วนยาลดกรดที่มีส่วนผสมทั้งแมกนีเซียมและอะลูมิเนียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงในการขับถ่ายลดลง หรืออาจเป็นไปได้ทั้งอาการท้องผูกและท้องเสีย หากหยุดรับประทานยาแล้วยังมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นเช่นเดิมควรไปพบแพทย์