ยาเลิกเหล้า
ยาเลิกเหล้า หรือไดซัลฟิแรม (Disulfiram) คือยาที่ใช้รักษาภาวะติดสุราเรื้อรัง โดยยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งร่างกายไม่ให้ทำลายแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด ทำให้พิษแอลกอฮอล์อยู่ในร่างกายนานขึ้น หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเมื่อใช้ยานี้ ผู้ป่วยจะมีเหงื่อออกเต็มใบหน้า ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บหน้าอก อ่อนเพลีย ตามัว สับสนมึนงง หายใจลำบาก และวิตกกังวล ซึ่งเป็นผลจากพิษแอลกอฮอล์ในร่างกาย โดยผู้ป่วยจะเริ่มเกิดอาการดังกล่าวหลังจากดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปประมาณ 10 นาที และเกิดอาการนั้นนาน 1 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น ผู้ป่วยจะทนพิษแอลกอฮอล์ไม่ไหว และค่อย ๆ ปรับตัวจนเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปเอง ยาเลิกเหล้าจะช่วยให้ผู้ป่วยลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลงได้ โดยแพทย์จะใช้ยานี้รักษาควบคู่กับการดูแลอาการและทำจิตบำบัดผู้ป่วย
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ใช้ยาเลิกเหล้าควรเลี่ยงการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น น้ำส้มสายชู ยาแก้ไอ น้ำยาบ้วนปาก หรือโลชั่นและครีมสำหรับทาหลังโกนหนวด
เกี่ยวกับยาเลิกเหล้า
กลุ่มยา | ยารักษาอาการติดสุรา |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาโรคติดสุราเรื้อรัง |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ป่วยพิษสุราเรื้อรัง |
รูปแบบของยา | ยารับประทานชนิดเม็ด |
คำเตือนการใช้ยาเลิกเหล้า
- ไม่ควรใช้ยาเลิกเหล้าขณะอยู่ในอาการมึนเมาหรือไม่ได้สติ
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เช่น ยาแก้ไอ น้ำยาบ้วนปาก ครีมทาหลังโกนหนวด หรือน้ำส้มสายชู โดยงดบริโภคและใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวระหว่างใช้ยาและหลังหยุดใช้ยาเลิกเหล้าเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- ควรอ่านฉลากอาหารหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ทุกครั้งก่อนใช้ เพื่อตรวจส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เนื่องจากการได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณเล็กน้อยระหว่างที่ใช้ยาเลิกเหล้าอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
- ควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา เช่น เหงื่อออกมาก ปวดหัวตุบ ๆ หายใจไม่สุดหรือหายใจเร็วเกินไป คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เหนื่อยมาก เป็นลม หัวใจเต้นเร็ว หรือตามัว
- งดขับรถหรือทำงานที่ต้องใช้เครื่องจักร เนื่องจากผู้ป่วยอาจรู้สึกง่วงเมื่อใช้ยานี้
- เลี่ยงใช้ยาเลิกเหล้าหากใช้ยาเมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือยาที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ เช่น ยายับยั้งเอนไซม์โปรตีเอส (Protease Inhibitors: PIs) ยาแก้ไอ หรือยาน้ำอื่น ๆ
- ผู้ที่รับประทานสมุนไพรหรืออาหารเสริม รวมทั้งผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคตัวอื่น โดยเฉพาะยาที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ยาละลายลิ่มเลือด (Anticoagulants) เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) อะมิทริปไทลีน (Amitriptyline) วาร์ฟาริน (Warfarin)ไอโซไนอาซิด (Isoniazid) เมโทรนิดาโซล (Metronidazole) หรือเฟนิโทอิน (Phenytoin) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาเลิกเหล้า เนื่องจากตัวยาดังกล่าวอาจต้านฤทธิ์ยาเลิกเหล้า และเสี่ยงเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้สูง
- ผู้ป่วยโรคหัวใจ หลอดเลือดอุดตัน หรืออาการทางจิตต่าง ๆ รวมทั้งผู้ที่แพ้ส่วนผสมของยาไดซัลฟีแรมหรือยาที่คล้ายกัน ไม่ควรใช้ยาเลิกเหล้าเด็ดขาด
- ผู้ป่วยที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด หรือทำทันตกรรมอื่น ๆ ควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ยาเลิกเหล้าแก่แพทย์ที่ทำการรักษา
- ผู้ที่มีลักษณะต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเลิกเหล้า
- กำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร
- มีอาการแพ้ยา อาหาร หรืออาการแพ้อื่น ๆ
- สมองได้รับการกระทบกระเทือน ป่วยเป็นเบาหวาน ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับไต ปอด หรือหัวใจ มีอาการทางจิต อารมณ์แปรปรวน ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือเกิดอาการชัก
ปริมาณการใช้ยาเลิกเหล้า
ผู้ป่วยที่ติดสุราเรื้อรังจะได้รับการรักษาด้วยยาเลิกเหล้า เพื่อช่วยลดปริมาณและเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยผู้ป่วยควรรับประทานยาเลิกเหล้าในปริมาณดังต่อไปนี้
- ปริมาณเมื่อเริ่มใช้ยา ควรเริ่มรับประทานยาเม็ดแรกหลังจากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านไปมากกว่า 12 ชั่วโมง โดยรับประทานยาวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัม โดยรับประทานทุกวันเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
- ปริมาณใช้ยาหลังผ่านไป 2 สัปดาห์ ควรรับประทานยาทุกวัน วันละ 125-500 มิลลิกรัม หรือรับประทานวันละ 250 มิลลิกรัม
โดยทั่วไปแล้ว แพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาเลิกเหล้าตอนเช้า อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่เคยเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาแล้วเกิดอาการง่วง สามารถเปลี่ยนไปรับประทานยานี้ตอนเย็นแทนได้ หรือลดปริมาณของตัวยาให้น้อยลง ทั้งนี้ แพทย์จะใช้ยาเลิกเหล้ารักษาอาการของโรคควบคู่กับการดูแลผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาเลิกเหล้าจนกว่าจะควบคุมพฤติกรรมการดื่มของตนเองได้ ซึ่งการรักษาอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือนานเป็นปี
การใช้ยาเลิกเหล้า
ยาเลิกเหล้าหรือยาไดซัลฟิแรมเป็นยารับประทานชนิดเม็ด ผู้ป่วยควรรับประทานวันละ 1 ครั้ง โดยปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากยาหรือตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาเลิกเหล้าได้ทันที หรือผสมยากับน้ำเปล่า กาแฟ ชา น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มอื่น ๆ ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ลืมกินยาควรรับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม หากใกล้ครบกำหนดรับประทานยาเม็ดต่อไป ไม่ต้องรับประทานยาเม็ดที่ลืมกิน ให้รับประทานยาเลิกเหล้าเม็ดต่อไปได้เลย นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเก็บยาเลิกเหล้าให้พ้นมือเด็ก โดยเก็บไว้ในหีบห่อที่ปิดมิดชิดอยู่ในอุณหภูมิห้องประมาณ 20-25 องศาเซลเซียส ไม่ควรวางไว้ในที่ที่ร้อนหรือชื้น รวมทั้งหมั่นตรวจวันหมดอายุของยาอยู่เสมอ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาเลิกเหล้า
ยาเลิกเหล้าก่อให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้ ผู้ป่วยควรพบแพทย์ทันทีหากเกิดอาการรุนแรงหรืออาการไม่หายไป โดยอาการของผลข้างเคียงจากการใช้ยาเลิกเหล้าแบ่งออกเป็นผลข้างเคียงระดับรุนแรงและผลข้างเคียงระดับอ่อน ดังนี้
ผลข้างเคียงระดับรุนแรง ผู้ป่วยที่เกิดอาการของผลข้างเคียงระดับรุนแรงระหว่างใช้ยา ควรพบแพทย์ทันที โดยผลข้างเคียงระดับรุนแรงจะก่อให้เกิดอาการที่พบน้อย และอาการที่พบได้ยาก ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
- อาการที่พบน้อย
- รู้สึกเจ็บตา หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการมองเห็น
- อารมณ์แปรปรวน
- เกิดอาการชา เป็นเหน็บ รู้สึกปวด หรืออ่อนแรงที่มือหรือเท้า
- อาการที่พบได้ยาก
- ปัสสาวะมีสีเข้ม
- อุจจาระสีซีด
- ปวดท้องอย่างรุนแรง
- ผิวและตาเหลือง
ผลข้างเคียงระดับอ่อน ผู้ป่วยที่ได้รับผลข้างเคียงระดับอ่อนจากการใช้ยาเลิกเหล้า อาจไม่ต้องรับการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอาการของผลข้างเคียงจะหายไปเองหลังจากร่างกายปรับตัวให้เข้ากับยาได้แล้ว โดยแพทย์จะแนะนำวิธีลดหรือป้องกันการเกิดผลข้างเคียงระดับอ่อนให้ ทั้งนี้ ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ได้หากอาการจากผลข้างเคียงไม่หายไป หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ผลข้างเคียงระดับอ่อนจะปรากฏทั้งอาการที่พบได้ทั่วไป และอาการที่พบน้อยหรือพบได้ยาก ดังนี้
- อาการที่พบได้ทั่วไป
- เกิดอาการง่วง เซื่องซึม
- อาการที่พบน้อยหรือพบได้ยาก
- ความต้องการทางเพศลดลง
- ปวดศีรษะ
- รู้สึกขมปาก เหมือนรับรสเหล็กหรือกระเทียม
- ผื่นขึ้นตามผิวหนัง
- อ่อนเพลียมาก