ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวด เป็นกลุ่มยาที่มีคุณสมบัติลดอาการเจ็บปวด มีทั้งชนิดที่หาซื้อได้เองหรือใช้ตามคำสั่งแพทย์ แบ่งประเภทตามกลไกการออกฤทธิ์ได้ 3 ชนิด คือ
- ยากลุ่มเอ็นเสด (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งสารเคมีในร่างกายที่ทำให้เกิดอาการปวดหรือบวม
- ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) มีฤทธิ์ช่วยลดสัญญาณความเจ็บปวดที่ส่งมาจากระบบประสาทและปฏิกิริยาของสมองต่อความเจ็บปวด
- ยาพาราเซตามอล ออกฤทธิ์โดยการเปลี่ยนแปลงการรับความรู้สึกเจ็บปวดของร่างกาย
นอกจากนี้ ยาแก้ปวดอาจจัดกลุ่มตามฤทธิ์ในการระงับอาการปวดที่มีความรุนแรงมากน้อยต่างกันไป เช่น ยาพาราเซตามอลและยากลุ่มเอ็นเสดใช้ระงับอาการปวดระดับไม่รุนแรงถึงปานกลาง ยาโอปิออยด์ฤทธิ์อ่อนใช้ระงับอาการปวดระดับปานกลางถึงรุนแรง เป็นต้น หรืออาจแบ่งเป็นชนิดออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลางและระบบประสาทส่วนปลาย มีตัวอย่างของยา ดังนี้
- ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ ยากลุ่มโอปิออยด์ เช่น ยามอร์ฟีน ยาออกซิโคโดน เป็นต้น
- ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนปลาย ได้แก่ ยากลุ่มเอ็นเสดและยาคอกซ์-ทู อินฮิบิเตอร์ (Cox-2 Inhibitor) เช่น ยาเซเลคอกซิบ เป็นต้น
คำเตือนในการใช้ยาแก้ปวด
ยาแก้ปวดแต่ละประเภทล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบของยาที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วยในปัจจุบัน ประวัติทางการแพทย์ และประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาและคำเตือนบนฉลากให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ เพื่อป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาผิดวิธี
ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาแก้ปวด ได้แก่
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้ยานี้ หากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยาชนิดนี้ รวมถึงยาชนิดอื่น อาหาร หรือสารใด ๆ
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาทุกชนิดที่กำลังใช้อยู่ ทั้งยาที่แพทย์สั่ง ยาที่ซื้อใช้ด้วยตนเอง วิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับยานี้และก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือยามีประสิทธิภาพลดลงได้
- แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับโรคประจำตัวหรืออาการเจ็บป่วยที่กำลังเป็นอยู่ก่อนใช้ยา เพราะการใช้ยานี้อาจส่งผลกระทบต่ออาการป่วยบางชนิด
- ยากลุ่มเอ็นเสดอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเลือดออกในกระเพาะอาหาร โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อความปลอดภัยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงเหล่านี้ก่อนใช้ยา
- ห้ามให้เด็กใช้ยาแอสไพรินเพราะอาจทำให้เกิดกลุ่มอาการไรย์ซินโดรม (Reye's Syndrome) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรง
- ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลเกินกว่า 4,000 มิลลิกรัม/วัน เพราะการใช้ยานี้ในปริมาณมากอาจทำให้เกิดอันตรายต่อตับ
- เมื่อเริ่มใช้ยาโอปิออยด์ให้หลีกเลี่ยงการขับรถและการทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความระมัดระวัง จนกว่าจะแน่ใจว่ายานี้ไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมดังกล่าว
- การใช้ยาโอปิออยด์ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจทำให้เกิดการติดยาได้ หากผู้ป่วยสงสัยว่าตนเองอาจเสพติดยาชนิดนี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
- ผู้ป่วยโรคตับแข็งหรือผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมากกว่า 3 ครั้ง/วัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างที่ใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่รุนแรงกว่าปกติ
- ใช้ยาตามฉลากและตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่ใช้ยานี้ในปริมาณมากกว่าที่แนะนำ และหากสงสัยว่าตนใช้ยาเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
- แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา หากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาแก้ปวดบางชนิด เช่น ยาพาราเซตามอล อาจส่งผลต่อทารกในครรภ์หรือซึมผ่านน้ำนมมารดาและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อทารกได้
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาแก้ปวด
เนื่องจากยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงจากการใช้ยาแตกต่างกันไปด้วย ดังนั้น ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลยาจากฉลากอย่างระมัดระวังและใช้ยาให้ถูกวิธี หากพบอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร และไปพบแพทย์ทันทีหากอาการเหล่านั้นไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาแก้ปวด ได้แก่
ตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ ได้แก่
- คัน
- คลื่นไส้
- ท้องผูก
- ความดันโลหิตต่ำ
- ปัสสาวะไม่ออก
- ภาวะกดการหายใจ ซึ่งเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับการหายใจ เช่น หายใจช้า หายใจไม่อิ่ม เป็นต้น