ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอ

ยาแก้ไอ เป็นกลุ่มยาที่ใช้รักษาและระงับอาการไอ ซึ่งเป็นอาการที่ร่างกายตอบสนองต่อสิ่งที่ก่อให้เกิดความระคายเคืองภายในระบบทางเดินหายใจ ยาแก้ไอแบ่งตามการรักษา ได้แก่ กลุ่มยารักษาอาการไอแบบแห้ง ๆ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายได้รับสารหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไป เช่น ฝุ่น ควัน สารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ และกลุ่มยารักษาอาการไอแบบมีเสมหะ ซึ่งเกิดจากภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จนก่อให้เกิดเสมหะเหนียวข้นขึ้นภายใน

537CoughMedicine

โดยทั่วไป ยาแก้ไอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ ได้แก่

กลุ่มยาระงับอาการไอ หรือ ยากดอาการไอ (Antitussives หรือ Cough Suppressants) คาดว่ายาชนิดนี้อาจทำงานโดยการยับยั้งการทำงานของสมองส่วนที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นจนทำให้เกิดการไอ แต่กลไกที่แท้จริงในการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัด โดยยาจะมีผลรักษาอาการไอแห้ง ๆ ไม่ควรใช้ในอาการไอแบบมีเสมหะ เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้

ตัวอย่างยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ ได้แก่ เด็กซ์โทรเมทอร์แฟน และโคเดอีน

กลุ่มยาขับเสมหะ หรือ ยาละลายเสมหะ (Expectorants) ตัวยาจะเพิ่มสารคัดหลั่งที่ช่วยหล่อลื่นเสมหะข้นเหนียวให้เบาบางลง จนผู้ป่วยสามารถขับเสมหะออกไปจากร่างกายได้ด้วยการไอ มักใช้รักษาผู้ป่วยไข้หวัด หลอดลมอักเสบ หรืออาการป่วยในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ตัวอย่างยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ เช่น ไกวอะเฟนิซิน และบรอมเฮกซีน เป็นต้น

ส่วนกลุ่มยาอื่น ๆ ที่อาจถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอาการไอด้วย คือ

กลุ่มยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) เมื่อมีสารก่อภูมิแพ้เข้าสู่ร่างกาย จะเกิดการหลั่งฮิสตามีนที่ทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่าง ๆ ยากลุ่มนี้จะยับยั้งการหลั่งสารฮิสตามีน ซึ่งช่วยระงับและบรรเทาการเกิดอาการแพ้ต่าง ๆ รวมถึงอาการไอเนื่องจากการระคายเคืองในลำคอ

ตัวอย่างยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ เช่น ไดเฟนไฮดรามีน บรอมเฟนิรามีน โพรเมทาซีน คลอเฟนิรามีน เป็นต้น

กลุ่มยาแก้คัดจมูก (Decongestants) ช่วยลดอาการอักเสบบวมภายในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการไอได้ มักใช้ในผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด เยื่อจมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หรือมีอาการภูมิแพ้ต่าง ๆ

ตัวอย่างยาที่ใช้ในกลุ่มนี้ เช่น เอฟีดรีน ซูโดอีเฟดรีน อ๊อกซิเมตาโซลีน ไซโลเมตาโซลีน เป็นต้น

นอกจากนี้ อาจมีการใช้ยาแก้ไอบางชนิดที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรืออาจใช้สารชนิดอื่น ๆ เพื่อช่วยหล่อลื่นภายในลำคอ และอาจช่วยลดการไอได้ ซึ่งผู้ป่วยหาซื้อเพื่อใช้รักษาและบรรเทาอาการเองได้ที่บ้านภายใต้คำแนะนำของเภสัชกร เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของน้ำผึ้ง มะนาว และสารกลีเซอริน

คำเตือน และ ข้อควรระวังในการใช้ยา

ยาแต่ละชนิดในกลุ่มยาแต่ละประเภท ล้วนมีข้อบ่งชี้ ข้อควรระวังในการใช้ยา และส่วนประกอบในยาที่แตกต่างกันไป ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา และประวัติทางการแพทย์ รวมทั้งศึกษาวิธีการใช้ยาทุกชนิดจากแพทย์และเภสัชกรให้ดีก่อนการใช้ยาเสมอ

ตัวอย่างข้อควรระวังในการใช้ยาแต่ละกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มยาระงับอาการไอ หรือ ยากดอาการไอ

  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอหากเคยแพ้ยาระงับอาการไอตัวใดมาก่อน หรือมีอาการแพ้ยาและสารชนิดใด
  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ เช่น หอบหืด ไอจากการสูบบุหรี่ มีเสมหะจำนวนมาก ไอเป็นเลือด หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง หรือมีปัญหาเกี่ยวกับตับ เป็นต้น
  • อาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาเป็นอาการเวียนหัวหรือง่วงซึม จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินในขณะที่ใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงหรือจำกัดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยา
  • ก่อนเข้ารับการรักษา การผ่าตัด หรือการทำหัตถการใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอว่ากำลังใช้ยา หรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่
  • หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ ผลดี ความเสี่ยง และผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อให้มั่นใจว่ายาชนิดนั้น จะส่งผลดีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้

กลุ่มยาขับเสมหะ หรือ ยาละลายเสมหะ

  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอหากเคยแพ้ยาขับเสมหะตัวใดมาก่อน หรือมีอาการแพ้ยาและสารชนิดใด
  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา ประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ เช่น หอบหืด ไอจากการสูบบุหรี่ มีเสมหะจำนวนมาก ไอเป็นเลือด หลอดลมอักเสบเรื้อรัง ถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
  • หากเป็นยาในรูปแบบยาน้ำบางชนิด ตัวยาอาจมีส่วนผสมของน้ำตาล และ/หรือ แอลกอฮอล์ด้วย ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยกำลังป่วยด้วยโรคเบาหวาน โรคตับ หรือภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่ต้องจำกัดปริมาณน้ำตาลหรือแอลกอฮอล์ในร่างกาย
  • ยาน้ำหรือยาผงบางชนิดอาจมีสารให้ความหวานแอสพาร์เทม (Aspartame) ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหากผู้ป่วยมีภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน หรือโรคฟีนิลคีโตนูเรีย (Phenylketonuria: PKU) และภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต้องจำกัดปริมาณการรับสาร แอสพาร์เทมเข้าสู่ร่างกาย
  • ก่อนเข้ารับการรักษา การผ่าตัด หรือการทำหัตถการใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอว่ากำลังใช้ยา หรืออาหารเสริมชนิดใดอยู่
  • หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ ผลดี ความเสี่ยง และผลข้างเคียงจากการใช้ยา เพื่อให้มั่นใจว่ายาชนิดนั้น จะส่งผลดีมากกว่าความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้
  • ส่วนผู้ป่วยที่กำลังให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ถึงประโยชน์ ผลดี ความเสี่ยง และผลข้างเคียงจากการใช้ยา และปรึกษาว่าควรให้นมบุตรในระหว่างที่ใช้ยารักษาอยู่ได้หรือไม่
  • ห้ามใช้ยาในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยไม่มีคำสั่งหรือความเห็นจากแพทย์

กลุ่มยาต้านฮิสตามีน

  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอหากเคยแพ้ยาต้านฮิสตามีนตัวใดมาก่อน หรือมีอาการแพ้ยาและสารชนิดใด
  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา อาหารเสริม สมุนไพร สารเสพติดใด ๆ และประวัติทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการป่วยที่สำคัญ เช่น ความดันโลหิตสูง มีปัญหาในการถ่ายปัสสาวะ ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าปกติ ต้อหิน โรคเบาหวาน โรคลมชัก ต่อมลูกหมากโต โรคหัวใจ  เป็นต้น
  • ศึกษาขั้นตอนและวิธีการใช้ยาบนฉลาก รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ โดยต้องไม่ใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด หรือที่ระบุไว้บนฉลากยา
  • อาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การใช้เครื่องจักร การทำกิจกรรมที่เป็นอันตราย หรือเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินในขณะที่ใช้ยา
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในขณะใช้ยา เพราะอาจทำให้ผลข้างเคียงจากการใช้ยารุนแรงขึ้นได้
  • หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ หรืออาจตั้งครรภ์ในขณะใช้ยา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรึกษาถึงประโยชน์จากการใช้ยารักษานี้ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นหากผู้ป่วยใช้ยาในระหว่างการตั้งครรภ์
  • สำหรับผู้ป่วยที่กำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรึกษาถึงประโยชน์จากการใช้ยารักษานี้ และความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน

กลุ่มยาแก้คัดจมูก

  • ศึกษาขั้นตอนและวิธีการใช้ยาบนฉลาก รวมทั้งปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรให้ดีก่อนใช้ยาเสมอ โดยต้องไม่ใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์กำหนด หรือที่ระบุไว้บนฉลากยา
  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอหากเคยแพ้ยาแก้คัดจมูกตัวใดมาก่อน หรือมีอาการแพ้ยาและสารชนิดใด
  • ก่อนใช้ยา ผู้ป่วยต้องแจ้งให้แพทย์ทราบถึงอาการป่วย ประวัติการใช้ยา อาหารเสริม สมุนไพร สารเสพติดใด ๆ และประวัติทางการแพทย์ที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้ป่วยกำลังมีปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง ต้อหิน ไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
  • การใช้ยาแก้คัดจมูกอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยที่เป็นเด็กเล็ก จึงควรศึกษาวิธีและปริมาณในการใช้ยาอย่างรอบคอบก่อนให้ยาเด็กเสมอ โดยสามารถปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรได้หากมีข้อสงสัย
  • ยาแก้คัดจมูกอาจทำให้เกิดปฏิกิริยาต่อร่างกายเมื่อใช้ร่วมกับยาชนิดอื่น เช่น กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และกลุ่มยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง จึงควรปรึกษาแพทย์ถึงวิธีการใช้ยา หรือการปรับปริมาณยาเพื่อความเหมาะสมตามดุลยพินิจของแพทย์
  • ห้ามใช้ยาเกินปริมาณที่แพทย์สั่งหรือที่ระบุไว้บนฉลากเด็ดขาด เพื่อป้องกันการเกิดภาวะเยื่อเมือกบวม จนกลับมามีอาการคัดแน่นอุดตันภายในระบบทางเดินหายใจซ้ำอีก หรือมีอาการที่รุนแรงขึ้นกว่าที่เคย ซึ่งอาจเป็นผลจากการดื้อยา
  • ดื่มน้ำเปล่ามาก ๆ หากกำลังใช้ยาร่วมกับการรักษาไข้หวัดและอาการแพ้ต่าง ๆ
  • หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อปรึกษาถึงประโยชน์ ความเสี่ยง และวิธีการใช้ยา

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

เนื่องจากยาแต่ละชนิดล้วนมีส่วนประกอบที่แตกต่างกัน จึงอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่แตกต่างกันไปด้วย ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นหลังการใช้ยา ปรึกษาแพทย์เมื่อมีข้อสงสัย ไปพบแพทย์หากอาการป่วยไม่ทุเลาลง ยังคงเป็นอย่างต่อเนื่อง หรือมีอาการป่วยที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

โดยตัวอย่างผลข้างเคียงที่อาจพบได้จากการใช้ยาแต่ละกลุ่ม ได้แก่

กลุ่มยาระงับอาการไอ หรือ ยากดอาการไอ

  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • ปวดหัว กระสับกระส่าย
  • เวียนหัว ง่วงซึม
  • ท้องผูก ท้องไส้ปั่นป่วน
  • อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คันหรือบวมตามใบหน้า ลิ้น และลำคอ วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ

กลุ่มยาขับเสมหะ หรือ ยาละลายเสมหะ

  • เวียนหัว ง่วงซึม
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อาการแพ้ยา เช่น มีผื่นขึ้น คันหรือบวมตามใบหน้า ลิ้น และลำคอ วิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง มีปัญหาในการหายใจ

กลุ่มยาต้านฮิสตามีน

  • ง่วงซึม หรือ ง่วงนอน
  • เวียนหัว ปวดหัว
  • ปากแห้ง จมูกแห้ง คอแห้ง
  • มีเสมหะเหนียวข้นขึ้น
  • อยากอาหารเพิ่มขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • ท้องไส้ปั่นป่วน
  • รู้สึกวิตกกังวล ตื่นเต้น หงุดหงิดง่าย
  • มีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่เปลี่ยนไป มองเห็นเป็นภาพเบลอ

กลุ่มยาแก้คัดจมูก หรือ ยาหดหลอดเลือด

  • มีทัศนวิสัยในการมองเห็นที่เปลี่ยนไป มองเห็นเป็นภาพเบลอ
  • เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • ปวดหัว เวียนหัว
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • หน้ามืด เป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็ว ช้า หรือเต้นผิดปกติ
  • กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
  • ปวดบริเวณไหล่ แขน กราม หรือลำคอ
  • มีเหงื่อออกมาก
  • เหนื่อยล้าผิดปกติ