ความหมาย รกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำ (Placenta Previa) คือภาวะที่รกเกาะต่ำลงมาบริเวณส่วนล่างของมดลูก และอาจปิดขวางปากมดลูก ซึ่งเป็นทางคลอดทารกไว้บางส่วนหรือคลุมปากมดลูกทั้งหมด ผู้ตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำจะเสี่ยงต่อการมีเลือดออกทางช่องคลอดมากทั้งก่อนหรือในขณะคลอด การเสียเลือดมากถือเป็นภาวะอันตรายต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์
รกเป็นส่วนที่เชื่อมต่อกับทารกในครรภ์ด้วยสายสะดือ ทำหน้าที่นำสารอาหารและออกซิเจนไปสู่ทารก และช่วยกำจัดของเสียออกจากเลือดของทารก โดยปกติแล้ว รกจะอยู่บริเวณส่วนบนของมดลูกและห่างจากปากมดลูก เพื่อไม่ให้ปิดกั้นปากมดลูกขณะคลอด หากตั้งครรภ์และมีภาวะรกเกาะต่ำอาจเป็นอันตรายต่อผู้ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ แพทย์ให้ผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำผ่าคลอดก่อนกำหนดเพื่อความปลอดภัย
สาเหตุของรกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำเกิดจากการที่ตัวอ่อนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วฝังตัวอยู่ที่บริเวณมดลูกส่วนล่าง เมื่อทารกเติบโตขึ้นตามอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น รกจะขยายตัวตามและไปปิดขวางบริเวณปากมดลูก โดยในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดภาวะรกเกาะต่ำ แต่เชื่อว่ามาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การมีแผลที่มดลูกจากการผ่าคลอดมาก่อน หรือจากการขูดมดลูก เนื่องจากการแท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด
- การตั้งครรภ์แฝด เช่น แฝดสอง หรือแฝดสาม
- การตั้งครรภ์ตั้งแต่ครรภ์ที่ 2 เป็นต้นไป
- มดลูกที่มีขนาดใหญ่หรือมีรูปร่างที่ผิดปกติ
- ตำแหน่งที่ผิดปกติของทารกในครรภ์ เช่น อยู่ในท่าก้นลง (Breech) หรือท่าขวาง (Transverse)
- ผู้มีบุตรยากที่ตั้งครรภ์หลังจากใช้เทคโนโลยีช่วยในการตั้งครรภ์
- หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป
- หญิงตั้งครรภ์ที่สูบบุหรี่ หรือใช้สารเสพติด เช่น โคเคน
อาการของรกเกาะต่ำ
รกเกาะต่ำอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงระหว่างปลายไตรมาสที่ 2 ถึงต้นไตรมาสที่ 3 ของการตั้งครรภ์ โดยอาจพบอาการดังต่อไปนี้
- มีเลือดไหลออกมาจากทางช่องคลอดเล็กน้อยหรือปริมาณมาก ตั้งแต่อายุครรภ์ 20 สัปดาห์เป็นต้นไป โดยเลือดอาจหยุดไหลช่วงหนึ่ง แล้วกลับมาไหลอีกในช่วง 2-3 วันหรือในช่วงสัปดาห์ต่อมา
- ส่วนมากมักไม่มีความเจ็บปวดใด ๆ แต่บางรายอาจมีอาการปวดเล็กน้อย รู้สึกเจ็บแปลบ หรือมีการบีบตัวของมดลูกร่วมด้วย
หากเสียเลือดมากเกินไปอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น ผิวซีด หายใจหอบถี่ ชีพจรอ่อนหรือเต้นเร็วกว่าปกติ ความดันในเลือดลดต่ำลง โลหิตจาง เป็นต้น
โดยลักษณะการเกิดภาวะรกเกาะต่ำแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
- Low-Lying รกจะอยู่บริเวณด้านล่างใกล้กับขอบของปากมดลูก จะเกิดขึ้นในช่วงเริ่มต้นถึงช่วงกลางของการตั้งครรภ์ แต่ยังคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ
- Marginal รกจะอยู่ที่บริเวณส่วนล่างของมดลูก และจะดันถูกปากมดลูก อาจทำให้เสียเลือดมากขณะคลอด มีโอกาสคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ หรืออาจต้องผ่าคลอด
- Partial รกจะปิดขวางหรือคลุมที่บริเวณปากมดลูกบางส่วน มักจะต้องผ่าคลอด
- Complete รกจะปิดหรือคลุมที่บริเวณปากมดลูกทั้งหมด ทำให้คลอดทางช่องคลอดตามปกติไม่ได้ จึงต้องผ่าคลอด แต่อาจทำให้เสียเลือดมาก รวมถึงมีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด
อาการรกเกาะต่ำที่ควรไปพบแพทย์
ภาวะรกเกาะต่ำในหญิงตั้งครรภ์ในระยะแรก ๆ ส่วนมากมักจะดีขึ้นเอง เพราะเมื่อมดลูกโตขึ้นจะดึงให้รกเคลื่อนตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ในตำแหน่งที่ปกติ คือด้านบนของมดลูก แต่กรณีที่มีเลือดไหลจากช่องคลอดในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของการตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจและรักษา ทั้งนี้ หากมีอาการเลือดไหลจากช่องคลอดมาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
การวินิจฉัยรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำส่วนมากมักจะเกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 20 ของการตั้งครรภ์ โดยแพทย์จะวินิจฉัยด้วยการอัลตราซาวด์เมื่อถึงเวลานัดหมายของการฝากครรภ์ หรือหลังจากพบว่ามีเลือดไหลออกจากช่องคลอด ซึ่งเป็นอาการของภาวะรกเกาะต่ำ โดยอัลตราซาวด์มี 2 วิธีหลัก ดังต่อไปนี้
- ตรวจทางช่องคลอด แพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าไปในช่องคลอดเพื่อตรวจภายในช่องคลอดและปากมดลูก
- ตรวจทางหน้าท้อง โดยแพทย์จะทาเจลที่บริเวณหน้าท้อง จากนั้นจะใช้เครื่องมือตรวจ (Transducer) เพื่อตรวจอวัยวะในอุ้งเชิงกราน และหาตำแหน่งของรก
การรักษารกเกาะต่ำ
การรักษาภาวะรกเกาะต่ำจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอด และอาจพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น สุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และทารก อายุครรภ์ ตำแหน่งของทารกในครรภ์มารดา แพทย์จะรักษาโดยพิจารณาถึงลักษณะและปริมาณของเลือดที่ไหลออกมาจากช่องคลอดเป็นหลัก โดยมีแนวทางในการรักษาดังต่อไปนี้
ผู้ที่ไม่มีเลือดหรือมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย
ในกรณีนี้มีโอกาสคลอดทางช่องคลอดได้ตามปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยดูแลตัวเอง เพื่อรอให้ใกล้ถึงวันกำหนดคลอดมากที่สุด และป้องกันการมีเลือดออกทางช่องคลอดรุนแรง เช่น
- นอนพักอยู่บนเตียงที่บ้าน ลุกขึ้นหรือนั่งลงได้ในเฉพาะเวลาที่จำเป็น
- ลดการเคลื่อนไหวของร่างกาย หลีกเลี่ยงการยกของหนักและออกกำลังกายหนัก
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ การใส่ผ้าอนามัยแบบสอด และการสวนล้างช่องคลอด และ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดเลือดออกที่บริเวณช่องคลอด
- ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อตรวจติดตามอาการเป็นระยะ
ผู้ที่มีเลือดออกมาก
แพทย์อาจให้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และให้เลือดเพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป แพทย์อาจให้ยาป้องกันการคลอดก่อนกำหนด หรือมีการเตรียมผ่าคลอดในกรณีที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของมารดาและทารกเป็นสำคัญ และแพทย์จะมีการใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เพื่อเร่งการพัฒนาปอดของทารก
ในกรณีที่มีเลือดออกไม่หยุด รวมถึงเกิดภาวะเครียดของทารกในครรภ์ (Fetal Distress) แพทย์จะผ่าคลอดฉุกเฉิน ถึงแม้ว่าจะยังไม่ครบกำหนดคลอดก็ตาม
ภาวะแทรกซ้อนของรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำจะส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์ได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้ มีดังนี้
- การมีเลือดออกทางช่องคลอด อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างตั้งครรภ์ ระหว่างการคลอด หรือในช่วง 2-3 ชั่วโมงแรกหลังคลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะโลหิตจาง ความดันต่ำ ตัวซีด หายใจหอบถี่
- การคลอดก่อนกำหนด เพื่อป้องกันรกฉีกขาดหรือมีเลือดออกมาก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ผู้ที่มีภาวะรกเกาะต่ำจึงอาจจำเป็นต้องผ่าคลอดฉุกเฉินก่อนถึงกำหนดคลอด
- ภาวะรกเกาะแน่น (Placenta Accreta) คือภาวะที่รกเจริญเติบโตเข้าไปในเนื้อเยื่อมดลูก หรือเกาะติดกับผนังมดลูกมากผิดปกติ เพิ่มความเสี่ยงของการเสียเลือดมากระหว่างคลอดหรือหลังคลอด
- รกลอกตัวก่อนกำหนด อาจทำให้ทารกในครรภ์ขาดออกซิเจนและสารอาหาร
- ปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดกับทารกหลังคลอด เช่น ทารกน้ำหนักตัวน้อย และทารกเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับปอด
การป้องกันรกเกาะต่ำ
ภาวะรกเกาะต่ำในปัจจุบันยังไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้การยึดเกาะของรกในมดลูกผิดปกติ แต่อาจปรับพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะรกเกาะต่ำได้ เช่น รักษาสุขภาพขณะตั้งครรภ์ งดสูบบุหรี่ ไม่ใช้สารเสพติดขณะตั้งครรภ์ และไปตรวจครรภ์ตามที่แพทย์นัดหมาย