รังแค (Dandruff)

ความหมาย รังแค (Dandruff)

รังแค (Dandruff) เป็นภาวะเรื้อรังที่เกิดขึ้นกับหนังศีรษะและพบได้บ่อยกับคนทุกเพศทุกวัย ก่อให้เกิดอาการคัน หนังศีรษะแห้ง โดยรังแคมีลักษณะเป็นสะเก็ดสีขาว แบน และบางที่เส้นผมหรือหนังศีรษะ มักจะพบเห็นและสังเกตสะเก็ดขาวนี้ได้บริเวณบ่า เนื่องจากรังแคร่วงหล่นลงมาจากศีรษะ

รังแคเกิดได้จากหลายสาเหตุ และพบได้ทั่วไป โดยมักเกิดในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง อย่างไรก็ตาม รังแคไม่ใช่โรคติดต่อและไม่เป็นอันตราย ส่วนใหญ่สามารถรักษาและควบคุมอาการด้วยตนเองได้ไม่ยาก ด้วยการสระผมเป็นประจำและเลือกใช้แชมพูที่เหมาะสม

Dandruff

สาเหตุของรังแค

โดยปกติผิวหนังของคนเราจะมีการสร้างและผลัดเซลล์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งรังแคจะเกิดขึ้นเมื่อวงจรการสร้างและผลัดเซลล์ผิวดังกล่าวเร็วกว่าปกติ ทำให้เซลล์ผิวที่ตายแล้วก่อตัวเป็นแผ่นและเป็นสะเก็ด โดยอาจเกิดจากสาเหตุ ดังต่อไปนี้

  • สระผมน้อยเกินไป หากไม่ได้สระผมเป็นประจำ อาจทำให้น้ำมันและเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วก่อตัวจนทำให้เกิดเป็นรังแคได้ โดยเฉพาะหากมีความเครียดหรือสัมผัสกับอากาศหนาวเย็น ก็อาจทำให้เป็นมากขึ้นได้
  • ผิวและหนังศีรษะแห้ง หนังศีรษะแห้งอาจทำให้มีเกล็ดผิวหนังคล้ายรังแค แต่จะมีขนาดเล็กและมีความมันน้อยกว่า และโดยปกติจะไม่ทำให้เกิดอาการแดงหรืออักเสบ นอกจากนั้นจะพบว่าผิวหนังส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย เช่น แขนและขา ก็จะแห้งเช่นกัน
  • เชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia) ปกติเชื้อราชนิดนี้จะอาศัยที่หนังศีรษะอยู่แล้ว แต่หากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้เกิดการสร้างและผลัดเซลล์ผิวหนังที่เร็วกว่าปกติ ซึ่งทำให้เกิดรังแค และปัจจัยที่ทำให้เชื้อราชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้น ได้แก่ อายุ ฮอร์โมน และความเครียด
  • ผิวหนังอักเสบจากการแพ้ เป็นอาการหรือปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับศีรษะ เช่น สเปรย์ เจล หรือมูสจัดแต่งทรงผม
  • โรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) เป็นภาวะที่ทำให้ผิวหนังมัน แดง และเป็นสะเก็ด สามารถเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณในร่างกายที่มีต่อมน้ำมัน รวมไปถึง คิ้ว ขาหนีบ รักแร้ หรือบริเวณข้างจมูก สำหรับภาวะผิวหนังอักเสบในเด็กจะเรียกว่า ภาวะผิวหนังอักเสบในเด็กทารก (Cradle Cap)
  • เชื้อราบนหนังศีรษะ (Tinea Capitis) หรือกลากบนหนังศีรษะ เป็นภาวะที่เชื้อราได้กระจายตัวลึกลงไปยังรูขุมขน ก่อให้เกิดอาการคันที่หนังศีรษะและอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมได้
  • โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) เป็นโรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังชนิดหนึ่ง ทำให้เกิดอาการคันและผิวหนังตกสะเก็ด ซึ่งคล้ายกันกับรังแคแต่จะมีความรุนแรงกว่า
  • ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นภาวะทางผิวหนังที่พบได้บ่อย สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น สัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ โดยทำให้ผิวแห้ง แดง ตกสะเก็ด และคัน

ปัจจัยที่ทำให้มีโอกาสเป็นรังแคเพิ่มขึ้น ได้แก่ 

  • อายุ โดยทั่วไปมักจะเกิดกับวัยหนุ่มสาวจนไปถึงวัยกลางคน แต่ก็สามารถเกิดในช่วงวัยอื่น ๆ ได้ และบางรายสามารถเป็นได้ตลอดชีวิต 
  • เพศชายมีโอกาสเป็นรังแคได้มากกว่าเพศหญิง โดยฮอร์โมนเพศชายอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดรังแค
  • มีน้ำมันที่เส้นผมและหนังศีรษะมาก เชื้อรามาลาสซีเซียสามารถเติบโตได้จากน้ำมันบนหนังศีรษะ เมื่อเชื้อราชนิดนี้มีมากกว่าปกติก็จะทำให้เกิดรังแค
  • โรคบางชนิด เช่น โรคพาร์กินสัน ทำให้มีโอกาสเกิดโรคผิวหนังอักเสบและรังแค แต่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด รวมไปถึงการติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือภาวะที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ก็อาจทำให้เกิดรังแคได้เช่นกัน

นอกจากนี้ กรรมพันธุ์ การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป การรับประทานอาหารที่มีน้ำตาลสูง เผ็ด หรือมีเกลือมาก การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น กรดไขมัน และวิตามินบี การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความเครียด ก็อาจส่งผลให้เกิดรังแคได้มากขึ้นเช่นกัน 

อาการของรังแค

รังแคมีอาการที่สำคัญ ได้แก่

  • มีสะเก็ดสีขาวหรือเหลือง ลักษณะเป็นแผ่นแบนและบางมันวาว มักพบบริเวณหนังศีรษะ เส้นผม หรือไหล่
  • มีอาการคันศีรษะ หนังศีรษะมัน แดงหรือเป็นสะเก็ด
  • มักจะพบว่าเป็นมากในช่วงฤดูหนาวและอาการจะดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน

อาการรังแคที่ควรไปพบแพทย์ 

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีรังแคไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เพราะสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากรักษาด้วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น หรือพบว่าหนังศีรษะมีอาการแดงหรือบวม ซึ่งผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคผิวหนังอักเสบ (Seborrheic Dermatitis) หรือภาวะอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับรังแค ในกรณีนี้ผู้ป่วยจึงควรไปพบแพทย์โรคผิวหนัง 

การวินิจฉัยรังแค

การวินิจฉัยรังแค สามารถทำได้โดยแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งส่วนใหญ่แพทย์จะวินิจฉัยได้จากการตรวจดูที่เส้นผมหรือหนังศีรษะ 

สำหรับผู้ที่มีภาวะทางผิวหนัง เช่น ภาวะผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) หรือโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis) ซึ่งเป็นภาวะที่มีความรุนแรงกว่ารังแคทั่วไป หรือผู้ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ขจัดรังแคมาใช้เองและไม่ทำให้อาการดีขึ้น ควรจะได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์โรคผิวหนัง ซึ่งแพทย์จะสามารถตรวจหาสาเหตุ พร้อมให้คำแนะนำและให้การรักษาที่เหมาะสมได้

การรักษารังแค

การรักษารังแคสามารถทำได้เองด้วยหลายวิธี ดังนี้

แชมพูขจัดรังแค

ซื้อแชมพูขจัดรังแคจากร้านขายยาหรือร้านค้าทั่วไป โดยควรเลือกใช้แชมพูที่มีส่วนประกอบ ดังต่อไปนี้

  • ซีลีเนียม (Selenium) จะช่วยชะลอการผลัดเซลล์ผิวและช่วยลดเชื้อรามาลาสซีเซีย (Malassezia)
  • ซิงค์ไพริไทออน (Zinc Pyrithione) สามารถช่วยลดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นต้นเหตุให้เกิดรังแคและผิวหนังอักเสบได้
  • ยาคีโตโคนาโซล มีฤทธิ์ต้านเชื้อราได้หลายชนิด ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อกำจัดเชื้อราบนหนังศีรษะที่เป็นต้นเหตุให้เกิดรังแคได้
  • น้ำมันดิน (Coal Tar) เป็นผลพลอยได้ที่มาจากกระบวนการผลิตถ่านหิน ซึ่งถูกนำมาใช้ช่วยรักษาภาวะทางผิวหนัง เช่น รังแค ผิวหนังอักเสบ และโรคสะเก็ดเงิน โดยมีฤทธิ์ในการชะลอการผลัดเซลล์ผิวไม่ให้เร็วเกินไป
  • กรดซาลิไซลิก (Salicylic Acid) ช่วยขจัดเกล็ดผิวหนังส่วนเกินออกก่อนที่จะก่อตัวเป็นสะเก็ดและเป็นรังแค แต่อาจทำให้ผิวแห้งและทำให้เกิดสะเก็ดมากขึ้นสำหรับบางราย แต่สามารถใช้ครีมนวดผมหลังจากใช้แชมพูที่มีกรดซาลิไซลิกเป็นส่วนประกอบ เพื่อป้องกันไม่ให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป

ก่อนใช้ผลิตภัณฑ์กำจัดรังแค ควรอ่านฉลากให้ละเอียดและหากมีข้อสงสัยควรสอบถามกับเภสัชกรให้เข้าใจ ควรลองใช้แชมพูให้หลากหลายชนิดและใช้เป็นระยะเวลาประมาณ 4–6 สัปดาห์ เพื่อให้ทราบว่าชนิดใดเหมาะสมกับตนเองที่สุด เมื่อพบว่าอาการดีขึ้นแล้วก็อาจใช้น้อยครั้งลงได้ แต่ไม่ควรหยุดใช้ทันทีเพราะอาจทำให้เป็นรังแคได้อีกครั้ง

รักษาด้วยวัตถุดิบธรรมชาติ 

นอกจากการรักษาโดยใช้แชมพูขจัดรังแคแล้ว ผู้ที่มีรังแคยังสามารถรักษารังแคด้วยวิธีธรรมชาติตนได้ โดยใช้วิธีต่าง ๆ เช่น

  • ใช้เบกกิ้งโซดา (Baking Soda) 1 กำมือทาลงบนหนังศีรษะ รอ 2–3 นาทีแล้วล้างออกให้สะอาด
  • ใช้น้ำมะนาว (Lemon Juice) 2 ช้อนชาเทลงบนหนังศีรษะ นวดแล้วล้างให้สะอาด จากนั้นผสมน้ำมะนาว 1 ช้อนชากับน้ำเปล่าแล้วใช้ล้างหนังศีรษะทุกวัน
  • ใช้แอปเปิ้ล ไซเดอร์ (Apple Cider Vinegar) ¼ ถ้วย ผสมกับน้ำเปล่า ¼ ถ้วย ทาลงหนังศีรษะแล้วปล่อยทิ้งไว้ 15–60 นาที จากนั้นล้างให้สะอาด ทำทุก 2 ครั้งต่อสัปดาห์ จะช่วยรักษาเชื้อมาลาสซีเซียให้มีจำนวนปกติ และไม่เพิ่มขึ้นจนเกิดรังแค
  • ใช้น้ำมันมะกอกหยดลงหนังศีรษะ 10 หยด แล้วคลุมผมด้วยหมวกคลุมทิ้งไว้ 1 คืน ค่อยสระผมด้วยแชมพูเพื่อล้างออก น้ำมันมะกอกจะช่วยทำให้หนังศีรษะชุ่มฉ่ำขึ้น 

ถึงแม้ว่ารังแคจะสามารถรักษาได้ด้วยตนเอง แต่หากพบว่าเกิดปัญหา เช่น ใช้แชมพูขจัดรังแคมาเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน และอาการไม่ดีขึ้นหรืออาการแย่ลง เป็นรังแคอย่างรุนแรงและมีอาการคันศีรษะมาก หนังศีรษะแดงหรือบวม หรือมีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอจากโรคและการใช้ยา ควรไปพบแพทย์ 

โดยแพทย์จะเริ่มต้นรักษาด้วยการวินิจฉัย ตรวจดูสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เกิดรังแค หากพบว่ามีอาการรุนแรง แพทย์อาจสั่งจ่ายยาขจัดรังแคที่มีความเข้มข้นสูงกว่าที่ซื้อใช้เอง เช่น โลชั่น แชมพู ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันมะพร้าว กรดซาลิไซลิก ร่วมกับสเตียรอยด์ หรืออาจจำเป็นต้องใช้ยาอื่น ๆ เช่น แชมพูต้านเชื้อรา ยาคอร์ติโซนใช้เฉพาะที่ ยาชนิดโฟม ยาสารละลาย ยาครีมหรือขี้ผึ้ง เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อนของรังแค

รังแคไม่ได้ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงหรือเป็นอันตราย แต่อาจทำให้เกิดความรำคาญใจจากอาการคันหนังศีรษะ และเนื่องจากรังแคสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายบริเวณบ่าและไหล่ หรือที่หนังศีรษะ จึงอาจทำให้ผู้ที่เป็นเสียความมั่นใจและทำให้เสียบุคลิกได้ นอกจากนั้น รังแคยังเป็นเป็นภาวะเรื้อรังที่รักษาได้ยากหรือรักษาไม่หายขาดในบางราย

การป้องกันรังแค

การป้องกันรังแคสามารถทำได้ไม่ยากด้วยวิธีดูแลตนเอง ดังต่อไปนี้

  • ควรสระผมด้วยแชมพูขจัดรังแคเป็นประจำ เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการระคายเคืองและไม่ให้หนังศีรษะแห้งจนเกินไป แต่ไม่ควรสระผมบ่อยจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับผมและหนังศีรษะที่มีส่วนประกอบของสารเคมีซึ่งอาจก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น แอลกอฮอล์หรือสารฟอกขาว เพราะส่วนผสมดังกล่าวสามารถทำให้หนังศีรษะแห้งได้ รวมถึงหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดความมันบนหนังศีรษะ เพราะอาจทำให้เกิดรังแค
  • ควรออกไปสัมผัสกับแสงแดดเล็กน้อยเป็นประจำทุกวัน เพราะแสงแดดอาจช่วยควบคุมการเกิดรังแคได้ แต่ควรใช้ครีมกันแดดปกป้องผิวทุกครั้ง 
  • เนื่องจากความเครียดเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดรังแคหรือทำให้มีอาการที่แย่ลง และยังส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม ดังนั้นควรหาทางจัดการกับความเครียดด้วยวิธีผ่อนคลายต่าง ๆ เช่น การฝึกหายใจ โยคะ หรือการทำสมาธิ