ความหมาย Absence Seizure
Absence Seizure หรือลมชักชนิดเหม่อ เป็นรูปแบบหนึ่งของโรคลมชัก ซึ่งจะก่อให้เกิดอาการเหม่อลอย เช่น หยุดพูดในขณะที่กำลังเล่าเรื่อง หรือหยุดเดินแบบกะทันหัน แต่อาการมักจะหายไปภายในไม่กี่วินาที โดยลมชักชนิดเหม่ออาจเกิดร่วมกับอาการชักรูปแบบอื่น ๆ ได้
ลมชักชนิดเหม่อพบมากในเด็ก แต่ก็สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกช่วงวัย โดยส่วนใหญ่มักหายไปเมื่อโตขึ้น การรักษาเบื้องต้นอาจใช้ยากันชักร่วมกับการดูแลตนเอง อย่างไรก็ตาม หากพบมีอาการของลมชักชนิดนี้ ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เนื่องจากอาการนี้อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้
อาการ Absence Seizure
อาการส่วนใหญ่จะเป็นการหยุดชะงักและเหม่อลอยเป็นพัก ๆ ซึ่งอาจเกิดขึ้นระหว่างนั่ง ยืน เดิน หรืออิริยาบถอื่น ๆ แต่จะหยุดนิ่งโดยไม่ล้มหรืออ่อนแรง ยกเว้นในกรณีที่เกิดร่วมกับอาการของโรคลมชักแบบอื่น ๆ อย่างตัวสั่น กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือเป็นลมบ้าหมู ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ อาการเหม่อลอยมักเกิดขึ้นและหายไปภายในเวลาไม่ถึง 15 วินาที หรืออาจนานกว่านั้น แต่ก็เป็นกรณีที่พบได้ยาก
ในขณะเหม่อลอย ผู้ป่วยอาจมีการเคลื่อนไหวเฉพาะส่วนที่ต่างออกไปจากเดิม เช่น ท่าเหมือนกำลังเคี้ยวอาหาร กะพริบตาถี่ เม้มปาก นิ้วมือและมือขยับ เป็นต้น ภายหลังหายจากอาการเหม่อก็จะกลับมาทำกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ อย่างการเดินหรือพูดคุย โดยที่ไม่มีความทรงจำในช่วงที่เหม่อลอย
นอกจากนี้ อาการลมชักชนิดเหม่อที่เกิดในเด็กอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนและการใช้ชีวิตได้ ดังนั้น หากบุตรหลานหรือคนในครอบครัวคนอื่น ๆ มีอาการเหม่อในลักษณะดังกล่าววันละหลายครั้ง เป็นต่อเนื่องกันหลายสัปดาห์ หรือมีผลกระทบต่อการเรียน ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย สำหรับผู้ที่ทราบว่าตนเองมีอาการดังกล่าว หากใช้ยาเป็นประจำแล้วมีอาการชัก อาการชักรุนแรงขึ้น หรือมีอาการชักชนิดอื่น ๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยก็ควรไปพบแพทย์เช่นเดียวกัน
สาเหตุของ Absence Seizure
ลมชักชนิดเหม่อเกิดจากภาวะผิดปกติของสมองและระบบประสาทที่มีสาเหตุมาจากสารสื่อประสาทและประจุไฟฟ้าภายในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน จึงส่งผลต่อกระบวนการทำงานของสมองและการเคลื่อนไหวร่างกาย ส่วนสาเหตุที่สารสื่อประสาทและประจุไฟฟ้าในสมองเกิดการเปลี่ยนแปลงก็อาจมาจากพันธุกรรมที่ผิดปกติ หรือได้รับแรงกระตุ้นจากสิ่งเร้า อย่างแสงแฟลชหรือภาวะหายใจเกิน (Hyperventilation)
นอกจากนี้ ปัจจัยอื่น ๆ ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงของอาการชักในรูปแบบนี้ เช่น ช่วงวัยและเพศ เพราะอาการนี้มักพบในเด็กที่อายุ 4-14 ปี โดยจะพบได้ในเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย รวมทั้งผู้ที่มีประวัติการเป็นโรคลมชักในครอบครัวก็อาจมีความเสี่ยงของอาการนี้เพิ่มขึ้น เป็นต้น
การวินิจฉัย Absence Seizure
ในเบื้องต้นแพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจสอบประวัติการรักษา และทำการตรวจร่างกายเพื่อหาวิเคราะห์ลักษณะของโรค จากนั้นแพทย์อาจทำการตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีตรวจคลื่นสมองไฟฟ้า EEG (Electroencephalogram) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการตรวจอาการลมชักชนิดเหม่อมากที่สุด โดยจะใช้เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของสัญญาณไฟฟ้าภายในสมอง
นอกจากนี้ แพทย์อาจทำการตรวจเพื่อหาโรคอื่น ๆ ที่อาจทำให้เกิดอาการชักชนิดเหม่อหรือมีอาการคล้ายคลึงกัน เช่น
- การตรวจเลือด
- การตรวจการทำงานของตับและไต
- การถ่ายภาพด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)
- การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
- การเจาะตรวจน้ำไขสันหลัง
การรักษา Absence Seizure
หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักชนิดเหม่อ แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยากันชัก อย่างยาวาลโพรอิค แอซิด (Valproic Acid) หรือยาเอโธซักซิไมด์ (Ethosuximide) โดยแพทย์จะให้ใช้ยาในปริมาณที่ต่ำสุดก่อนเพื่อป้องกันผลข้างเคียงของยา สำหรับระยะเวลาในการใช้ยาอาจขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย โดยในบางรายหากมีความจำเป็น แพทย์อาจแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัด
ภาวะแทรกซ้อนจาก Absence Seizure
อาการลมชักชนิดเหม่อในเด็กอาจส่งผลกระทบต่อการเรียน ตัวเด็กเกิดความรู้สึกแปลกแยก มีปัญหาด้านพฤติกรรม เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหากมีอาการเหม่อลอยขณะข้ามถนน ขับรถ หรือว่ายน้ำ ซึ่งปัญหาเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลเสียในอนาคต นอกจากนี้ เด็กบางรายอาจไม่หายขาดจากอาการของโรค แม้ว่าจะโตเป็นผู้ใหญ่ก็ยังจำเป็นต้องใช้ยากันชักอยู่ตลอด หรืออาจมีอาการชักอาจรุนแรงขึ้นจนพัฒนาไปเป็นโรคลมชักในรูปแบบอื่น ๆ
การป้องกัน Absence Seizure
ลมชักแบบเหม่อในผู้ป่วยบางคนอาจเกิดจากกรรมพันธุ์ที่รับมาจากคนในครอบครัว จึงไม่สามารถป้องกันได้ สำหรับผู้ป่วยที่ทราบและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีอาการนี้แล้ว ควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันอาการดังกล่าว โดยแพทย์อาจแนะนำให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการใช้ยา ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการขึ้นซ้ำ เช่น รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะไขมันชนิดดีและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอันตรายอย่างการขับรถหรือว่ายน้ำ เป็นต้น
นอกจากนี้ การป้องกันภาวะแทรกซ้อนในด้านของการเรียน พฤติกรรม และอารมณ์ เนื่องจากอาการนี้มักเกิดในเด็ก พ่อแม่ควรพูดคุยกับผู้ป่วยและคนรอบตัวของเขาเพื่อสร้างความเข้าใจในอาการของโรคและช่วยกันวางแผนการดูแล โดยอาจปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเพิ่มเติม