ความหมาย ลำไส้อุดตัน
ลำไส้อุดตัน (Intestinal Obstruction) คือภาวะที่มีสิ่งอุดตันหรือมีการรบกวนการบีบตัวของลำไส้ ทำให้อาหารหรือของเหลวต่าง ๆ ไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านไปได้ตามปกติ ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้อง แน่นท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรืออาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพรุนแรงมากขึ้นตามมา
ภาวะลำไส้อุดตันสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อาการท้องผูกรุนแรง การมีพังผืดในลำไส้ หรือเกิดจากการที่ลำไส้ทำงานผิดปกติ โดยอาจเกิดการอุดตันเพียงบางส่วนของลำไส้หรืออุดตันในลำไส้ทั้งหมดก็ได้ ทั้งนี้ หากมีสัญญาณของการเกิดภาวะลำไส้อุดตัน เช่น อาการปวดท้องอย่างรุนแรง ควรรีบไปแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างทันท่วงที
สาเหตุของลำไส้อุดตัน
ลำไส้อุดตันแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ภาวะลำไส้ตีบตันและภาวะลำไส้อืด โดยแต่ละประเภทมีสาเหตุที่แตกต่างกันออกไปดังนี้
ภาวะลำไส้ตีบตัน (Mechanical Obstructions)
ภาวะลำไส้ตีบตัน คือ ภาวะที่เกิดจากบางสิ่งไปอุดตันทางเดินของลำไส้ โดยเฉพาะการเกิดพังผืดในลำไส้ซึ่งมักเกิดภายหลังการผ่าตัดภายในช่องท้อง เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการอุดตันของลำไส้ หรืออาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
สาเหตุของการเกิดลำไส้อุดตันที่พบได้ในผู้ใหญ่ เช่น โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื้องอกในลำไส้เล็ก ภาวะไส้เลื่อน หรือนิ่วในถุงน้ำดี ส่วนสาเหตุของการเกิดลำไส้อุดตันที่พบได้ในเด็ก เช่น ภาวะลำไส้กลืนกัน การกลืนสิ่งแปลกปลอมจนเข้าไปอุดตันในลำไส้ หรืออาจเกิดจากความผิดปกติของลำไส้ในทารกแรกเกิดก็ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุที่พบได้น้อย เช่น อาการลำไส้อักเสบ เช่น โรคโครห์น (Crohn’s Disease) ภาวะอุจจาระตกค้าง การตีบของลำไส้ใหญ่ที่เป็นผลมาจากแผลหรือการอักเสบ รวมถึงอาการขี้เทาในทารกแรกเกิดด้วย
ภาวะลำไส้อืด (Nonmechanical Obstructions)
ภาวะลำไส้อืดคือภาวะการทำงานผิดปกติของลำไส้ ซึ่งทำให้ไม่สามารถบีบตัวและเคลื่อนไหวได้ตามปกติ ส่งผลต่อการทำงานของระบบขับถ่าย หรือเรียกภาวะนี้ว่า Paralytic Ileus โดยมีสาเหตุมาจากปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- การผ่าตัดในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน
- การติดเชื้อ เช่น กระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า กลุ่มยาระงับปวดโอปิออยด์ (Opioids) หรือกลุ่มยาแอนตี้มัสคารินิก (Antimuscarinics)
- ความไม่สมดุลของแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย เช่น ระดับโพแทสเซียมในเลือดที่ลดลง
- ความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s Disease) โรคเบาหวาน
- โรคลำไส้ใหญ่โป่งพอง (Hirschsprung's Disease) ซึ่งผิดปกติที่เส้นประสาทส่วนลำไส้ในทารกแรกเกิด
อาการลำไส้อุดตัน
ลำไส้อุดตันอาจแสดงออกได้หลายอาการ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของลำไส้ที่อุดตัน เช่น เบื่ออาหาร ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ช่องท้องมีเสียงดังผิดปกติ หรืออาจแสดงอาการอื่น ๆ ดังต่อไปนี้
อาการซึ่งเป็นผลมาจากการอุดตันที่ลำไส้เล็ก
- ปวดท้องรุนแรงบริเวณใต้ซี่โครงหรือสะดือ และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ
- มีอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจที่เร็วกว่าปกติร่วมด้วย
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ไม่สามารถผายลมได้
- ท้องอืด แน่นท้อง หรือมีอาการกดแล้วเจ็บที่บริเวณท้อง
อาการที่เป็นผลมาจากการอุดตันที่ลำไส้ใหญ่
- ท้องอืด แน่นท้อง
- ปวดท้อง โดยอาการจะรุนแรงหรือไม่ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการอุดตัน
- ท้องผูกในช่วงที่เกิดการอุดตันของลำไส้หรือก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลายเดือน
- มีเลือดออกทางทวารหนัก
- มีอาการท้องเสีย หรือของเหลวในอุจจาระเล็ดลอดผ่านลำไส้ที่เกิดการอุดตันเพียงบางส่วน
อาการลำไส้อุดตันที่ควรไปพบแพทย์
เนื่องจากภาวะลำไส้อุดตันสามารถนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพได้ จึงควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากมีอาการปวดท้ออย่างงรุนแรง หรือมีอาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นสัญญาณของการเกิดภาวะลำไส้อุดตันเกิดขึ้น
การวินิจฉัยลำไส้อุดตัน
ในการวินิจฉัยตำแหน่งและสาเหตุของการเกิดภาวะลำไส้อุดตัน แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ว่าผู้ป่วยเคยมีประวัติการผ่าตัดหรือฉายรังสีที่บริเวณช่องท้องมาก่อนหรือไม่ รวมถึงสอบถามเกี่ยวกับระยะเวลาที่เริ่มเกิดอาการและลักษณะอาการที่เกิดขึ้น ว่ามีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือเป็น ๆ หาย ๆ มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เป็นไข้ อุจจาระเป็นเลือด ท้องผูก หรือท้องเสียร่วมด้วยหรือไม่
จากนั้นแพทย์จะทำการตรวจอาการบวมที่ช่องท้อง ตรวจฟังเสียงการทำงานของลำไส้ หรืออาจมีแนวทางการวินิจฉัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ดังต่อไปนี้
- การเอกซเรย์ที่บริเวณช่องท้อง เพื่อยืนยันการเกิดลำไส้อุดตัน
- การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ร่วมกับการเอกซเรย์ในองศาต่างๆ ภายในช่องท้อง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวินิจฉัยหาสาเหตุและตำแหน่งที่ลำไส้อุดตัน
- การอัลตราซาวด์ มักใช้วินิจฉัยลำไส้อุดตันที่พบในเด็กหรือเด็กที่มีภาวะลำไส้กลืนกันร่วมด้วย
- การสวนโดยใช้ลมหรือแป้งแบเรี่ยมเข้าไปที่ลำไส้ผ่านทางทวารหนักเพื่อแสดงลักษณะของลำไส้
- การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Colonoscopy) ในกรณีที่ลำไส้ใหญ่อุดตัน
การรักษาลำไส้อุดตัน
การรักษาภาวะลำไส้อุดตันจำเป็นต้องตรวจหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยในเบื้องต้นแพทย์จะบรรเทาอาการท้องอืดโดยใส่สายยางผ่านทางจมูกเพื่อดูดเอาอากาศและของเหลวออกจากกระเพาะอาหาร ทำให้อาการบวมบริเวณช่องท้องและอาการปวดท้องลดลง
นอกจากนี้ แพทย์จะให้น้ำเกลือผ่านทางเส้นเลือดที่บริเวณแขน เพื่อช่วยเพิ่มสมดุลของระดับแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกาย รวมถึงใส่ท่อเพื่อระบายปัสสาวะและนำตัวอย่างปัสสาวะไปตรวจ จากนั้นแพทย์จะรักษาภาวะลำไส้อุดตันตามสาเหตุและอาการของผู้ป่วย โดยมีแนวทางดังต่อไปนี้
การรักษาลำไส้อุดตันบางส่วน
ในขั้นนี้น้ำหรืออาหารยังเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้บ้าง แพทย์อาจให้รับประทานอาหารเหลวในระยะแรก หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการดีขึ้น ในระยะยาวแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย เช่น เนื้อแดงปรุงสุก ปลา ไข่ นม โยเกิร์ต ผักกาดหอม กล้วยสุก น้ำผลไม้ เป็นต้น หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้น อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดร่วมด้วย
การรักษาลำไส้อุดตันทั้งหมด
ในขั้นนี้น้ำหรืออาหารจะไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ได้เลย แพทย์จะผ่าตัดเพื่อนำสิ่งอุดตันออกจากลำไส้ หรือผ่าตัดลำไส้ส่วนที่เสียหายออก หรือแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใส่ขดลวดถ่างขยายลำไส้ (Metal Stents) เพื่อประคองอาการระหว่างรอผ่าตัด
การรักษาภาวะลำไส้อืด
อาการอาจดีขึ้นได้โดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์อาจให้อาหารทางสายยางเพื่อป้องกันภาวะขาดสารอาหาร หากพบว่าอาการไม่ดีขึ้นอาจต้องใช้ยาช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ หากอาการยังไม่ดีขึ้นหลังการรักษาด้วยยา อาจต้องผ่าตัดลำไส้ในส่วนที่เกิดความเสียหายออก หากพบว่าผู้ป่วยเกิดภาวะลำไส้ขยายตัว แพทย์จะรักษาด้วยการบีบไล่อุจจาระร่วมกับการส่องกล้อง
ภาวะแทรกซ้อนของลำไส้อุดตัน
หากภาวะลำไส้อุดตันไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ เช่น ภาวะขาดน้ำ ภาวะแร่ธาตุและอิเล็กโทรไลต์ในร่างกายไม่สมดุล ลำไส้ทะลุ หรือภาวะไตวาย
ยิ่งไปกว่านั้น หากการอุดตันที่เกิดขึ้นไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดไม่ให้ไปยังส่วนต่าง ๆ ของลำไส้อาจทำให้เป็นอันตรายต่อชีวิต เช่น เนื้อเยื่อในลำไส้ตาย ลำไส้ทะลุและเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด การทำงานของอวัยวะภายในล้มเหลว หรือเสียชีวิตได้
การป้องกันลำไส้อุดตัน
ภาวะลำไส้อุดตันอาจป้องกันได้โดยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต เช่น
- เลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ผักผลไม้ ธัญพืช และถั่ว เพราะใยอาหารจะช่วยเสริมการทำงานของลำไส้และระบบย่อยอาหาร
- งดหรือหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้
- หลี่กเลี่ยงการยกของหนักเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดไส้เลื่อน ซึ่งจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มขึ้นและส่งผลต่อการทำงานของลำไส้
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ควรไปตรวจหาโรคมะเร็งลำไส้ปีละ 1 ครั้ง เป็นประจำทุกปี
- ผู้ที่มีประวัติการผ่าตัดในช่องท้องควรไปพบแพทย์ตามนัดอย่างต่อเนื่อง และไปพบแพทย์หากพบว่ามีอาการท้องอืด แน่นท้อง อาเจียนเกิดขึ้นด้วย