ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation)

ความหมาย ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation)

ลิ้นหัวใจรั่ว (Heart Valve Regurgitation) เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจ ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท ซึ่งอาจส่งผลให้เลือดไหลย้อนกลับ และหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอ ซึ่งการรักษาโรคนี้มีทั้งการรรักษาด้วยยา การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ และการผ่าตัดเพื่อใส่อุปกรณ์บางชนิดที่ช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ตามปกติ

โรคลิ้นหัวใจรั่วอาจไม่แสดงอาการใด ๆ ในกรณีที่ลิ้นหัวใจไม่ได้มีความเสียหายที่รุนแรง แต่เมื่อเวลาผ่านไปหรือเมื่อลิ้นหัวใจเกิดความเสียหายมากขึ้น อาจแสดงอาการออกมาอย่างรุนแรงและเป็นอันตรายได้ เช่น เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ใจสั่น หรือเจ็บหน้าอก ดังนั้น ทุกคนควรหมั่นสังเกตตัวเองอยู่เสมอและไปพบแพทย์หากมีความผิดปกติใด ๆ เกิดขึ้น

ลิ้นหัวใจรั่ว

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ลิ้นหัวใจรั่วสามารถแบ่งตามตำแหน่งของลิ้นที่มีการรั่ว ได้แก่

1. ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral Regurgitation) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่หัวใจห้องบนซ้ายหลังจากสูบฉีดเลือด

2. ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว (Aortic Regurgitation) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องล่างซ้ายและหลอดเลือดเอออตาร์ ทำให้เลือดที่ไหลไปยังหลอดเลือดเกิดการไหลย้อนกลับขึ้นมาที่หัวใจห้องล่างซ้าย

3. ลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว (Tricuspid Regurgitation) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจไตรคัสปิดที่อยู่ระหว่างห้องหัวใจขวาบนและล่าง ทำให้เลือดไหลย้อนกลับขึ้นไป และทำให้ปริมาณเลือดที่ส่งไปยังปอดลดลง

4. ลิ้นหัวใจพัลโมนารีรั่ว (Pulmonary Regurgitation) เกิดจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจพัลโมนารีที่อยู่ระหว่างหัวใจห้องขวาล่างและปอด ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปที่หัวใจห้องล่างขวา จนปอดได้รับออกซิเจนที่ถูกลำเลียงไปกับเลือดไม่เพียงพอ

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่วเกิดจากความผิดปกติของหัวใจที่อาจเกิดจากโรคหรือเกิดจากความบกพร่องแต่กำเนิด ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

สาเหตุปฐมภูมิ (Primary Cause)

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่วแบบปฐมภูมิเกิดจากโครงสร้างของลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ ทำให้ลิ้นหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่ และปิดไม่สนิทขณะสูบฉีดเลือด นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากการสะสมของแคลเซียมที่ลิ้นหัวใจมากผิดปกติ หรือเกิดผู้ที่มีลิ้นหัวใจยาวได้ด้วย

สาเหตุทุติยภูมิ (Secondary Cause)

สาเหตุของโรคลิ้นหัวใจรั่วแบบทุติยภูมิมักมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งส่งผลให้ลิ้นหัวใจทำงานผิดปกติ โดยสาเหตุที่มักพบบ่อย เช่น ลิ้นหัวใจยาว เนื้อเยื่อที่ไขสันหลังเสียหาย เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ ภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคไข้รูมาติก รวมถึงอาจเกิดจากการบาดเจ็บ การใช้ยาบางชนิด หรือการใช้รังสีรักษาด้วย

นอกจากนี้ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาจเพิ่มความเสี่ยงในการการเกิดโรคลิ้นหัวใจผิดปกติได้ เช่น

  • ภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่มีความดันโลหิตสูงจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว เพราะความดันโลหิตที่สูงอาจทำให้เกิดการขยายตัวของหลอดเลือด และเกิดลิ้นหัวใจรั่วตามมาได้
  • โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (Congenital Heart Valve Disease) เพราะความผิดปกติของหัวใจอาจส่งผลกระทบถึงการทำงานทั้งหมดของหัวใจ
  • โรคไข้รูมาติก เป็นการติดเชื้อที่ส่งผลต่อหัวใจได้โดยตรง และทำให้ลิ้นหัวใจเกิดความเสียหาย
  • โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เพราะอาจทำให้หัวใจเกิดความเสียหายและส่งผลกระทบถึงลิ้นหัวใจได้
  • การมีประวัติครอบครัวป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับลิ้นหัวใจ จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่วมากขึ้น แต่หากควบคุมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ได้ก็อาจช่วยลดความเสี่ยงได้
  • การใช้ยาบางชนิด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่วได้
  • การมีอายุมากขึ้น อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจรั่ว เพราะลิ้นหัวใจเกิดความเสื่อมลงตามธรรมชาติ

อาการโรคลิ้นหัวใจรั่ว

โดยส่วนใหญ่แล้ว หากลิ้นหัวใจเกิดการรั่วไม่มากก็มักจะไม่แสดงอาการใด ๆ ให้เห็น แต่หากเริ่มมีการรั่วที่รุนแรงขึ้นก็อาจปรากฏอาการต่าง ๆ ดังนี้

  • รู้สึกเหนื่อยง่าย โดยหากไม่รุนแรงจะรู้สึกเหนื่อยง่ายเมื่อออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่ใช้แรงมากเท่านั้น แต่หากมีอาการรุนแรงอาจรู้สึกเหนื่อยง่ายแม้ในขณะพักด้วย
  • รู้สึกวิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม 
  • รู้สึกเจ็บหน้าอก และลามไปยังบริเวณแขนข้างซ้ายหรือหน้าท้อง
  • รู้สึกหัวใจเต้นผิดปกติ คล้ายกับมีอาการใจสั่น 
  • มีอาการบวมเกิดขึ้นที่เท้าและข้อเท้า

ทั้งนี้ โรคลิ้นหัวใจรั่วแต่ละชนิดยังมีอาการอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออก เนื่องจากลิ้นหัวใจแต่ละชนิดทำหน้าที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • ลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว อาจมีอาการใจสั่น โดยเฉพาะเมื่อนอนตะแคงซ้ายจะมีอาการใจสั่นมากขึ้น
  • ลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่ว อาจมีอาการหายใจลำบากขณะนอนหงาย มีอาการอ่อนแรง มีอาการบวมที่ข้อเท้าและเท้า หากอาการรุนแรงขึ้นจะทำให้หัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และอาจเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันได้
  • ลิ้นหัวใจไตรคัสปิดรั่ว อาจทำให้เลือดที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่เพียงพอ จนเกิดการบีบตัวของหลอดเลือดดำที่คอ ตับโต หรือมีอาการบวมที่ผิดปกติบริเวณหน้าท้อง ขา เท้า และข้อเท้าด้วย
  • ลิ้นหัวใจพัลโมนารีรั่ว ลิ้นหัวใจรั่วชนิดนี้จะแตกต่างจากชนิดอื่น ๆ เพราะมักตรวจพบจากการตรวจร่างกายในลักษณะมีเสียงหัวใจที่ผิดปกติ หรือตรวจพบอาการรั่วของลิ้นหัวใจส่วนนี้จากการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ

อาการของโรคลิ้นหัวใจรั่วที่ควรไปพบแพทย์

เนื่องจากลิ้นหัวใจมีความสำคัญต่อการทำงานของหัวใจโดยรวม และมีความสำคัญต่อการสูบฉีดเลือดที่มีออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น หากหัวใจทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และเกิดอาการต่าง ๆ ที่ผิดปกติขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและการรักษาอย่างเหมาะสม

โดยเฉพาะอาการที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรืออาการที่มีความรุนแรงและอันตรายถึงแก่ชีวิต เช่น 

  • มีอาการชีพจรเต้นเร็วกว่าปกติ
  • มีปัญหาในการนอนหลับเนื่องจากหายใจไม่สะดวก
  • มีอาการปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
  • มีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของภาวะหัวใจวาย เช่น อาการเหนื่อยผิดปกติ อาการหายใจสั้น เจ็บหน้าอก หรืออาการบวมภายในร่างกายจากการมีของเหลวคั่งค้าง

การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว

ในปัจจุบัน แพทย์มีวิธีการตรวจวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่วหลากหลายวิธี ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจวินิจฉัยเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถระบุความรุนแรงของโรค และสามารถวางแผนการรักษาในขั้นต่อไปได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว มีดังนี้

  • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram) เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นความผิดปกติของลิ้นหัวใจ และสามารถระบุได้ว่ามีความรุนแรงมากเพียงใด
  • การทดสอบสมรรถภาพหัวใจ (Exercise Stress Test) เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นว่าหัวใจของผู้ป่วยทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) เป็นการตรวจโดยบันทึกการทำงานของกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจจากเครื่องมือที่ติดบริเวณหน้าอกของผู้ป่วย เพื่อช่วยให้แพทย์ทราบว่าผู้ป่วยมีอาการหัวใจโตหรือไม่
  • การตรวจหัวใจด้วยภาพคลื่นสะท้อนในสนามแม่เหล็ก (Cardiac Magnetic Resonance Imaging) โดยจะฉายให้เห็นภาพรายละเอียดของหัวใจ เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นการทำงานและความผิดปกติของหัวใจได้อย่างชัดเจนมากขึ้น
  • การเอกซเรย์ทรวงอก เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นว่าผู้ป่วยมีภาวะหัวใจโตหรือมีปัญหาเกี่ยวกับปอดหรือไม่
  • การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization) โดยการสอดท่อและฉีดสารทึบแสงผ่านทางข้อพับและขาหนีบ จากนั้นจึงถ่ายภาพเอกซเรย์เพื่อช่วยให้แพทย์เห็นการทำงานของหลอดเลือดหัวใจ

การรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว

แพทย์จะเลือกวิธีการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วจากความรุนแรงของโรค โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อควบคุมไม่ให้อาการรุนแรงมากขึ้น และฟื้นฟูการทำงานของหัวใจ โดยวิธีที่แพทย์มักใช้ในการควบคุมและรักษาอาการของโรคลิ้นหัวใจมีดังนี้

การใช้ยา

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไม่รุนแรงมากนัก แพทย์จะสั่งจ่ายยาเพื่อช่วยเสริมการทำงานของหัวใจให้เต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ยาที่ใช้ในการรักษาส่วนใหญ่ เช่น

  • ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อช่วยขับของเหลวส่วนเกินที่สะสมอยู่ในปอดและส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ทำให้ปริมาณน้ำในร่างกายลดลง และช่วยลดอาการเหนื่อยและอาการบวมได้
  • ยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitor) เพื่อช่วยปรับสภาพการทำงานของหัวใจ ช่วยชะลอการเกิดอาการหัวใจโต รวมถึงช่วยลดความดันโลหิตไม่ให้หัวใจทำงานหนักมากเกินไปด้วย
  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulation Medication) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะหัวใจสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ร่วมด้วย โดยการใช้ยาชนิดนี้จะช่วยป้องกันลิ่มเลือดที่เกิดจากอาการดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีความจำเป็นที่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย เพื่อช่วยป้องกันอาการลิ้นหัวใจอักเสบ โดยแพทย์จะสั่งจ่ายยาให้ผู้ป่วยก่อนทำการรักษาทันตกรรม และผู้ป่วยควรแจ้งทันตแพทย์ก่อนทำการรักษาด้วยว่าป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่ว เพื่อความปลอดภัย

การผ่าตัด

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรง แพทย์อาจทำการผ่าตัดเพื่อรักษาอาการ เพราะเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากกว่า ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  • การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ เพื่อซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติให้กลับมาทำงานได้ แต่เป็นวิธีการรักษาที่ใช้ในบางกรณีเท่านั้น
  • การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ จะทำในกรณีที่ลิ้นหัวใจไม่สามารถกลับมาทำงานตามปกติได้ ซึ่งลิ้นหัวใจที่ใช้ในการผ่าตัดอาจผลิตมาจากไทเทเนียม หรือใช้ลิ้นหัวใจของสัตว์ เช่น หมู หรืออาจใช้ลิ้นหัวใจของคนที่ได้รับการบริจาคมาก็ได้เช่นกัน

หลังจากผ่าตัดแล้ว แพทย์จะติดตามอาการอย่างใกล้ชิดจนกว่าหัวใจจะกลับมาทำงานได้เป็นปกติโดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ และผู้ป่วยจะต้องมาพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นได้

การเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมด้วยการใช้สายสวน (Transcatheter Aortic Valve Implantation: TAVI) 

วิธีการรักษานี้เป็นการเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมโดยการสวนท่อเข้าไปในหลอดเลือดเอออร์ต้าเพื่อใส่ลิ้นหัวใจเทียม วิธีนี้จะใช้กับผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงในการผ่าตัดสูง และมีอาการเกี่ยวกับลิ้นหัวใจที่รุนแรง แต่อาจมีผลข้างเคียงคือทำให้หลอดเลือดเกิดความเสียหายเนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้ในการผ่าตัด

การสวนหัวใจด้วยสายสวน (Cardiac Catheterization) 

วิธีการรักษานี้เป็นการรักษาปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ โดยการสอดสายสวนเข้าไปที่หลอดเลือดหัวใจผ่านทางข้อมือและขาหนีบ เพื่อขยายหลอดเลือดและช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในระหว่างการรักษาด้วยวิธีข้างต้น ผู้ป่วยควรดูแลตัวเองให้มากขึ้นด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ควบคุมระดับความดันโลหิต เพราะระดับความดันโลหิตที่เป็นปกติจะช่วยให้หัวใจทำงานไม่หนักจนเกินไป และทำให้ลิ้นหัวใจที่มีความผิดปกติไม่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อหัวใจ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ โดยอาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคืออาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีน้ำตาลสูง และอาหารที่มีรสเค็มจัด 
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อช่วยให้หัวใจทำงานได้มากขึ้น แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อหาการออกกำลังกายที่เหมาะสมและไม่ทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกินไป
  • ควบคุมน้ำหนัก เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค เนื่องจากน้ำหนักตัวที่มากขึ้นอาจทำให้เกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง 
  • ลดปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยควรปรึกษาแพทย์เพื่อควบคุมปริมาณการดื่มให้ลดลงเหลือเพียงตามความเหมาะสม หรือเลิกดื่มแอลกอฮอล์ไปเลยจะดีที่สุด
  • ป้องกันภาวะลิ้นหัวใจอักเสบในกรณีที่ผู้ป่วยทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ โดยอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะควบคู่ไปด้วยเมื่อต้องเข้ารับการรักษาทางทันตกรรม เพื่อป้องกันการติดเชื้อที่อาจส่งผลต่อลิ้นหัวใจ
  • พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามอาการและความผิดปกติต่าง ๆ ได้อย่างใกล้ชิด

ภาวะแทรกซ้อนของโรคลิ้นหัวใจรั่ว

หากผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจรั่วได้รับการรักษาที่ล่าช้าหรือการรักษาที่ไม่ต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรงต่าง ๆ ได้ เช่น

  • ภาวะหัวใจวาย โดยเมื่อลิ้นหัวใจทำงานได้น้อยลงจะส่งผลให้เกิดอาการลิ้นหัวใจรั่วเพิ่มขึ้น ทำให้หัวใจทำงานหนักจนเกิดภาวะน้ำท่วมปอด หรืออาจส่งผลให้เสียชีวิตได้
  • ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว (Atrial Fibrillation) โดยมักเกิดในผู้ที่มีอาการลิ้นหัวใจรั่วอย่างรุนแรง จนทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ รวมถึงอาจส่งผลให้เกิดอาการหายใจไม่สะดวกด้วย
  • ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน โดยภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้วอาจทำให้เกิดลิ่มเลือด และเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดภาวะหลอดเลือดอุดตัน จนอาจทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
  • ภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอดสูง (Pulmonary Hypertension) เพราะโรคลิ้นหัวใจรั่วที่ไม่ได้ทำการรักษาอาจส่งผลให้เกิดความดันในปอด และอาจทำให้เกิดภาวะหัวใจห้องขวาวายได้
  • การติดเชื้อที่ลิ้นหัวใจ (Endocarditis) เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้น้อย แต่ก็อาจเกิดขึ้นได้หากไม่ได้รับการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่วอย่างเหมาะสมและทันท่วงที

การป้องกันโรคลิ้นหัวใจรั่ว

โรคลิ้นหัวใจรั่วอาจสามารถป้องกันได้ด้วยการลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ โดยเฉพาะการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการควบคุมความเสี่ยงที่อาจเกิดจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และภาวะคอเลสเตอรอลสูง

สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือดหรือมีความผิดปกติของหัวใจแต่กำเนิด ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อติดตามอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์จะได้ทำการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากมีสัญญาณของโรคลิ้นหัวใจรั่วเกิดขึ้น รวมถึงควรระมัดระวังความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติหรือสร้างความเสียหายแก่ลิ้นหัวใจได้ เช่น

  • การป้องกันโรคไข้รูมาติก โดยหากเริ่มมีอาการเจ็บคออย่างรุนแรงควรรีบไปพบแพทย์ เพราะหากไม่รักษาอาการคออักเสบนี้ อาจทำให้เกิดโรคไข้รูมาติกได้
  • การควบคุมระดับความดันโลหิต เพราะระดับความดันโลหิตที่ปกติจะส่งผลดีต่อแรงดันภายในหัวใจ และช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคลิ้นหัวใจเอออร์ติกรั่วได้

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้เข็มฉีดยาที่ไม่สะอาด และหากเข้ารับการรักษาทางทันตกรรมควรแจ้งแก่ทันตแพทย์ถึงความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคหัวใจก่อนการรักษา เพราะผู้ป่วยบางรายอาจจำเป็นต้องได้รับยาปฏิชีวนะหลังจากการรักษาเพื่อป้องกันการติดเชื้อ