ความหมาย ลิ้นอักเสบ
ลิ้นอักเสบ (Glossitis) คือ ภาวะที่ลิ้นมีอาการอักเสบ บวม เปลี่ยนสี ผิวลิ้นมีลักษณะเปลี่ยนไปจากเดิม หรือปุ่มเล็ก ๆ บนลิ้นที่มีต่อมรับรสอยู่อาจได้รับความเสียหายจนทำให้ผิวลิ้นดูเรียบต่างไปจากปกติ ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งบริเวณข้างลิ้น ปลายลิ้น หลังลิ้น หรือทั่วทั้งลิ้น หากการอักเสบรุนแรงก็อาจส่งผลให้ลิ้นบวมแดง เกิดอาการปวด และส่งผลกระทบต่อการรับรสชาติอาหารหรือการพูดได้ โดยมักมีสาเหตุมาจากการแพ้อาหาร การแพ้ยา การระคายเคือง การติดเชื้อ หรือภาวะเจ็บป่วยต่าง ๆ
อาการของลิ้นอักเสบ
เมื่อเกิดลิ้นอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการต่าง ๆ ทั้งที่เกิดในทันทีหรือเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ซึ่งอาการมักขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบด้วย โดยผู้ป่วยอาจมีอาการ เช่น ลิ้นบวม ลิ้นมีสีซีดหรือสีแดงสด ผิวลิ้นเรียบเนียนหรือนิ่ม และอาจมีแผลที่ลิ้น เป็นต้น
ทั้งนี้ ลิ้นอักเสบแบ่งออกเป็นหลายประเภท เช่น
- ลิ้นอักเสบแบบเฉียบพลัน เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน มักมีอาการรุนแรง และมักเกิดในระหว่างที่มีอาการภูมิแพ้
- ลิ้นอักเสบแบบเรื้อรัง เป็นอาการอักเสบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง ซึ่งอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้
- ลิ้นเลี่ยน เกิดขึ้นเมื่อปุ่มบนผิวลิ้นหายไป ทำให้สีลิ้นและลักษณะของลิ้นเปลี่ยนไป ซึ่งมักทำให้ลิ้นดูเป็นมันวาว
สาเหตุของลิ้นอักเสบ
โดยทั่วไปแล้ว ลิ้นอักเสบมักเกิดจากภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ โดยสาเหตุบางประการที่อาจทำให้เกิดลิ้นอักเสบ ได้แก่
- อาการแพ้ อาจเกิดจากการแพ้ยา โดยเฉพาะยาที่ใช้รักษาความดันเลือด หรืออาจแพ้อาหาร แพ้ผลิตภัณฑ์ดูแลช่องปากอย่างยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก และแพ้สารอื่น ๆ ที่ทำให้ปุ่มบนผิวลิ้นระคายเคือง
- พฤติกรรมการบริโภค เช่น รับประทานเครื่องเทศ อาหารร้อน ๆ หรือสารอื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดอาการปวดแสบปวดร้อน สูบบุหรี่ หรือดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
- การบาดเจ็บ แผลที่เกิดจากการบาดเจ็บบริเวณปากอาจส่งผลต่อลิ้นและทำให้เกิดแผลที่ลิ้นได้เช่นกัน ซึ่งอาจเป็นเพราะถูกของมีคมบาด ผิวฟันไม่เรียบ ใส่เหล็กจัดฟัน หรือใส่ฟันปลอมที่มีขนาดไม่พอดีกับปาก
- การเจ็บป่วย โรคบางอย่างอาจส่งผลต่อภูมิคุ้มกันร่างกาย ทำให้เนื้อเยื่อกล้ามเนื้อที่ลิ้นและปุ่มบนผิวลิ้นได้รับผลกระทบ เช่น โรคเริม โรคมือเท้าปาก ซึ่งทำให้เกิดแผลพุพองรอบปากและอาจทำให้ปวดลิ้นหรือลิ้นบวม และกลุ่มอาการโจเกรน (Sjogren Syndrome) เป็นต้น
- การขาดสารอาหาร อาจเป็นผลมาจากการขาดธาตุเหล็กที่ทำหน้าที่เสริมสร้างเม็ดเลือดแดง ซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีนไมโอโกลบิน (Myoglobin) ที่จำเป็นต่อเนื้อเยื่อกล้ามเนื้อในร่างกายรวมถึงเนื้อเยื่อลิ้น นอกจากนี้ ภาวะขาดวิตามินก็สามารถทำให้เกิดอาการลิ้นอักเสบได้เช่นกัน
- การติดเชื้อ ลิ้นอักเสบอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือเชื้อไวรัส
- สาเหตุอื่น ๆ ลิ้นอักเสบอาจเกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมน หรือจากพันธุกรรมที่ถ่ายทอดกันภายในครอบครัว
การวินิจฉัยลิ้นอักเสบ
เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์อาจซักประวัติหรือสอบถามเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของผู้ป่วย เพื่อหาสาเหตุของการอักเสบ รวมถึงตรวจหาความผิดปกติของปุ่มบนลิ้น หรือแผลพุพองที่ลิ้น เหงือก และเนื้อเยื่ออ่อนที่อยู่ในปาก นอกจากนี้ แพทย์อาจขูดบริเวณลิ้น หรือนำตัวอย่างเลือดและน้ำลายไปส่งตรวจในห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย
การรักษาลิ้นอักเสบ
ภาวะลิ้นอักเสบสามารถหายขาดได้หากรักษาที่ต้นเหตุ โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เว้นแต่ว่าหากมีอาการลิ้นบวมอย่างรุนแรง ซึ่งการรักษาจะมุ่งเน้นไปที่การลดอาการปวดบวมที่ลิ้นเป็นหลัก
วิธีการรักษาภาวะลิ้นอักเสบ ทำได้ดังนี้
ดูแลสุขภาพช่องปาก
หมั่นแปรงฟันให้สะอาดทั่วถึงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และใช้ไหมขัดฟันวันละ 1 ครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดีของลิ้น ฟัน และเหงือก ซึ่งอาจช่วยลดอาการอักเสบที่ลิ้นหรือช่วยไม่ให้เกิดลิ้นอักเสบอีก
ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค
ผู้ป่วยควรเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม โดยหลีกเลี่ยงสิ่งที่เสี่ยงกระตุ้นให้เกิดลิ้นอักเสบ และอาจรับประทานอาหารเสริมภายใต้คำแนะนำของแพทย์และเภสัชกร เพื่อเพิ่มสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย
ใช้ยารักษา
หากลิ้นอักเสบเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือไวรัส แพทย์อาจต้องให้ยารักษาอย่างยาปฏิชีวนะและยาอื่น ๆ ที่ช่วยรักษาการติดเชื้อ หรืออาจให้ยาสเตียรอยด์แบบรักษาเฉพาะที่ เพื่อช่วยบรรเทาอาการบวมแดงหรืออาการปวดด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของลิ้นอักเสบ
ภาวะลิ้นอักเสบที่รุนแรงอาจทำให้เกิดอาการบวมแดงที่ลิ้นจนสร้างความเจ็บปวด และยังอาจส่งผลกระทบต่อการรับประทานอาหารหรือการพูดได้ และหากลิ้นบวมจนปิดทางผ่านของอากาศที่ใช้หายใจก็อาจทำให้หายใจลำบากด้วย
การป้องกันลิ้นอักเสบ
อาจป้องกันภาวะลิ้นอักเสบได้ด้วยการทำตามวิธีดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเผ็ด อาหารที่ร้อนจัด และสารที่ก่อให้เกิดอาการแสบร้อนหรือระคายเคืองต่อลิ้น
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือการสูบบุหรี่
- หมั่นรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กในปริมาณที่เหมาะสม
- ระวังไม่ให้เกิดการบาดเจ็บภายในช่องปาก
ดูแลสุขภาพช่องปากด้วยการแปรงฟันให้สะอาด ใช้ไหมขัดฟัน รวมทั้งเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพช่องปากเป็นระยะ