วัคซีนซิโนแวค / วัคซีนโคโรนาแวค (Sinovac-CoronaVac COVID-19 Vaccine)
วัคซีนซิโนแวคหรือวัคซีนโคโรนาแวค (Sinovac-CoronaVac COVID-19 Vaccine) เป็นวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตวัคซีนแบบเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
วัคซีนซิโนแวคมีชื่อเป็นทางการว่า วัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ที่ผลิตโดยบริษัทซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) ในปัจจุบันยังไม่มีรายงานที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของวัคซีนนี้ในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ที่กลายพันธุ์ แต่จากการทดลองใช้ในหลายประเทศพบว่า วัคซีนซิโนแวคอาจช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้
*บทความนี้จะเรียกวัคซีนโคโรนาแวคแทนเป็นวัคซีนซิโนแวค*
เกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค
กลุ่มยา | วัคซีนป้องกันโรค |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ลดความเสี่ยงการเกิดโรคขั้นรุนแรงและการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 |
กลุ่มผู้ป่วย | ตั้งแต่อายุ 18 ปีขึ้นไป |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ ดังนั้น ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ในไตรมาสแรก ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน แต่ผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรสามารถรับวัคซีนได้ตามปกติ |
คำเตือนในการใช้วัคซีนซิโนแวค
เพื่อความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนซิโนแวค ผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังนี้
- ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้หรือเกิดภาวะแอแนฟิแล็กซิส (Anaphylaxis) ต่อส่วนประกอบของวัคซีนซิโนแวคไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้
- ผู้ที่กำลังป่วยหรือมีประวัติป่วยเป็นโรคโควิด-19 ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 3 เดือนหลังจากรักษาหายก่อนจะเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค
- หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนซิโนแวค แต่หากตั้งครรภ์ภายหลังฉีดวัคซีน ให้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 หลังจากที่อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน
- ควรเว้นระยะระหว่างการฉีดวัคซีนซิโนแวคและวัคซีนชนิดอื่นเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 สัปดาห์ แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้ทันทีโดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะห่าง รวมถึงผู้ที่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนที่มีความจำเป็น อย่างวัคซีนพิษสุนัขบ้าเมื่อถูกสัตว์กัด หรือวัคซีนบาดทะยักเมื่อมีบาดแผล ให้ฉีดวัคซีนได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องทิ้งช่วงเวลา
- ผู้ที่มีไข้หรืออุณหภูมิของร่างกายสูงเกิน 37.5 องศาเซลเซียสควรรักษาตัวให้หายก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค
- ผู้ที่มีภาวะเกล็ดเลือดน้อย (Thrombocytopenia) ภาวะการแข็งตัวของเลือดบกพร่อง (Coagulation Disorders) และผู้ที่กำลังใช้ยาต้านภาวะแข็งตัวของเลือด (Anticoagulation Therapy) ควรแจ้งให้แพทย์ทราบการเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาแก้ปวด อย่างยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวค
ปริมาณการใช้วัคซีนซิโนแวค
ปริมาณการฉีดวัคซีนซิโนแวค คือ ฉีด 2 เข็ม ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตรเข้ากล้ามเนื้อ โดยให้ทั้ง 2 เข็มห่างกันไม่เกิน 2–4 สัปดาห์ แต่หากการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ห่างจากการฉีดครั้งที่ 1 น้อยกว่า 2 สัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนซ้ำอีก หรือหากการฉีดวัคซีนครั้งที่ 2 ล่าช้าจากการฉีดครั้งที่ 1 มากกว่า 4 สัปดาห์ ควรรีบเข้ารับการฉีดครั้งที่ 2 ให้เร็วที่สุด
การฉีดวัคซีนซิโนแวค
วัคซีนซิโนแวคเป็นวัคซีนที่ต้องฉีดเข้ากล้ามเนื้อโดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น และเพื่อความปลอดภัย ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ภายหลังการฉีดวัคซีน ผู้เข้ารับการฉีควัคซีนต้องคอยระวังอาการผิดปกติต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีนในจุดที่กำหนดอย่างน้อย 30 นาที และเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ภายในระยะเวลาที่แพทย์กำหนด แต่หากลืมหรือจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็ม 2 ล่าช้ากว่ากำหนด ควรรีบเข้ารับการฉีดเข็มที่ 2 ให้เร็วที่สุด
ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนซิโนแวค
ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคอาจพบผลข้างเคียงบางอย่าง โดยอาจเป็นผลมาจากทั้งการฉีดวัคซีนและการตอบสนองของร่างกายต่อความเครียดหลังฉีดวัคซีน ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง เช่น มีไข้เล็กน้อย อ่อนเพลีย ปวดแขน ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดศีรษะ เป็นลม ปวดเกร็งท้อง คลื่นไส้ ตามัว ความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นเร็ว เป็นต้น
ในบางกรณี ผู้ที่เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคอาจพบผลข้างเคียงทางระบบประสาทหลังฉีดวัคซีน เช่น แขนขาอ่อนแรง ชาครึ่งซีก พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว การเคลื่อนไหวของร่างกายผิดปกติ การทรงตัวผิดปกติและเกร็ง มีอาการคล้ายโรคหลอดเลือดสมอง แต่ไม่ได้เป็นโรคหลอดเลือดสมองที่แท้จริงโดยยังไม่ทราบกลไกการเกิดที่แน่ชัด เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ทันที หากอาการหลังฉีดวัคซีนไม่ดีขึ้นภายใน 2–3 วัน พบอาการทางระบบประสาทในลักษณะข้างต้น อาการปวดและรอยแดงบริเวณที่ฉีดวัคซีนมีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังฉีดวัคซีน หรือพบอาการที่รุนแรง เช่น ปากและคอบวม หายใจลำบาก ไข้ขึ้นสูง มีจุดเลือดออกตามร่างกาย แน่นหน้าอก ผื่นขึ้น ปวดศีรษะรุนแรง อาเจียนบ่อย หรือชักหมดสติ เป็นต้น