วัคซีนพิษสุนัขบ้า
วัคซีนพิษสุนัขบ้า คือวัคซีนที่ใช้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสเรบี (Rabies) โดยมีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะ เช่น สุนัข แมว ลิง ค้างคาว ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะได้รับเชื้อจากการถูกกัดหรือข่วน การฉีดวัคซีนนี้จะช่วยป้องกันผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า โดยผลิตขึ้นมาจากเชื้อไวรัสเรบีที่ตายแล้ว เมื่อเข้าไปในร่างกาย เชื้อจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อพิษสุนัขบ้าหรือไวรัสเรบี
ในปัจจุบันวัคซีนพิษสุนัขบ้าที่ใช้ในประเทศไทยแบ่งออกเป็นทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่
- วัคซีนไข่ไก่ฟักชนิดบริสุทธิ์ (Purified Chick Embryo Cell Vaccine: PCECV) คือวัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อในไข่ไก่
- วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ (Purified Vero Cell Rabies Vaccine: PVRV) คือวัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อภายในวีโรเซลล์ (Vero Cells)
- วัคซีนเซลล์เพาะเลี้ยงบริสุทธิ์ชนิดโครมาโทกราฟี (Chromatographically Purified vero cell Rabies Vaccine: CPRV) วัคซีนที่ผลิตโดยวิธีการเพาะเลี้ยงเชื้อภายในวีโรเซลล์ (Vero Cells) และผ่านกรรมวิธีโครมาโทกราฟี เพื่อสกัดออกมาเป็นวัคซีน
เกี่ยวกับวัคซีนพิษสุนัขบ้า
กลุ่มยา | วัคซีนป้องกันโรค |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ป้องกันเชื้อไวรัสเรบี้ (Rabies) |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาฉีด |
คำเตือนการใช้วัคซีนพิษสุนัขบ้า
- ห้ามใช้วัคซีนดังกล่าวกับผู้ที่มีประวัติแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบของวัคซีนพิษสุนัขบ้า
- ผู้ที่มีประวัติแพ้อาหารจำพวกโปรตีนไข่ ผลิตภัณฑ์จากไข่ ยานีโอไมซิน (Neomycin) ยาคลอเททราไซคลิน (Chlortetracycline) หรือยาแอมโฟเทอริซิน บี (Amphotericin B)
- สตรีมีครรภ์ หรือวางแผนตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนได้รับวัคซีนดังกล่าว
- สตรีที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนพิษสุนัขบ้าก่อนได้รับคำแนะนำจากแพทย์
- ก่อนได้รับวัคซีนควรแจ้งแพทย์ถึงยาที่ใช้ ไม่ว่าจะเป็นยาที่ซื้อใช้เอง หรือยาตามใบสั่งแพทย์ เพราะยาบางชนิดอาจส่งผลต่อวัคซีนได้ เช่น ยาป้องกันโรคมาลาเรีย ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น คอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) เป็นต้น
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ต้องรับการรักษาด้วยวิธีเคมีบำบัด หรือรังสีบำบัด ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ ควรแจ้งแพทย์ก่อนได้รับวัคซีน
- ผู้ป่วยกลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome: GBS) ควรปรึกษาแพทย์หากต้องได้รับวัคซีนดังกล่าว
- หากมีอาการไข้ ไข้หวัด อาการติดเชื้ออื่น ๆ หรือมีอาการป่วยจากสาเหตุควรแจ้งแพทย์ก่อนเข้ารับวัคซีน
ปริมาณการใช้วัคซีนพิษสุนัขบ้า
- ฉีดเพื่อป้องกันก่อนได้รับโรคพิษสุนัขบ้า ฉีดเข้ากล้ามเนื้อครั้งละ 1 มิลลิลิตร ห่างกัน 3 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 7 วัน และเข็มที่ 3 หากจากเข็มแรก 21 วัน หรือ 28 วัน หลังจากฉีดครบแล้ว อาจมีการฉีดเพิ่มอีก 1 เข็มเพื่อกระตุ้นการป้องกัน โดยในกลุ่มเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อตลอดเวลาอาจต้องได้รับวัคซีนทุก ๆ 6 เดือนขึ้นอยู่กับระดับแอติบอดีในร่างกาย ถ้ามีความเสี่ยงในการได้รับเชื้อแต่ไม่ได้สัมผัสกับเชื้อตลอดเวลาก็อาจฉีดซ้ำทุก ๆ 2 ปี
- ฉีดหลังหรือเมื่อต้องสงสัยว่าจะได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า ควรฉีดโดยเร็วที่สุดหลังจากสงสัยว่าจะได้รับเชื้อ โดยวัคซีนจะมีการฉีด 2 วิธีคือ
- ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน หรือหากเป็นเด็กให้ฉีดที่กล้ามเนื้อขาด้านหน้า ครั้งละ 0.5 หรือ 1 มิลลิลิตร ขึ้นอยู่กับชนิดของวัคซีน ติดต่อกัน 5 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 วัน ส่วนเข็มต่อ ๆ ไป ฉีดห่างจากเข็มแรก 7, 14 และ 30 วัน ตามลำดับ
- ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ฉีดเข้าใต้ผิวหนังบริเวณต้นแขนซ้าย และต้นแขนขวา อย่างละ 1 จุด ในปริมาณจุดละ 0.1 มิลลิลิตร ติดต่อกัน 4 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 วัน ส่วนเข็มต่อ ๆ ไป ฉีดห่างจากเข็มแรก 7, 30 วัน ตามลำดับ
-
ฉีดเพื่อกระตุ้นผู้ที่สัมผัสกับโรคหรือเคยได้รับวัคซีนจนครบมาก่อนแล้ว ในกรณีที่ผู้ป่วยเคยได้รับวัคซีนแบบก่อนสัมผัสโรค หรือหลังสัมผัสโรคจนครบชุดแล้ว มีการสัมผัสกับโรคซ้ำ แพทย์จะฉีดวัคซีนให้ผู้ป่วยซ้ำ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้
- สัมผัสโรคภายใน 6 เดือน หลังจากได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ 1 เข็ม ครั้งเดียว หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง 1 จุด ปริมาณ 0.1 มิลลิลิตรครั้งเดียว
- สัมผัสโรคหลังจากได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย 6 เดือนขึ้นไป ฉีด 2 ครั้ง โดยเข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 3 วัน โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อ หรือฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ทั้งนี้ในการฉีดเข้าใต้ผิวหนังให้ฉีดครั้งละ 1 จุดปริมาณ 0.1 มิลลิลิตร
การใช้วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
วัคซีนนี้เป็นวัคซีนที่จะต้องฉีดภายใต้คำแนะนำของแพทย์ และต้องเข้ารับการฉีดโดยผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งก่อนฉีดจะต้องอ่านเอกสารกำกับยาให้ชัดเจน เพื่อปริมาณการใช้ยาที่ถูกต้อง การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า ทำได้ 2 แบบคือ
- ฉีดเพื่อป้องกันก่อนได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า ผู้ซึ่งสมควรได้รับวัคซีนนี้ได้แก่ผู้ที่ต้องเดินทางไปยังบริเวณที่มีการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ต้องทำงานและอยู่ใกล้ชิดสัตว์ป่า ผู้ที่ทำงานในพื้นที่ปฏิบัติการที่ต้องสัมผัสเชื้อไวรัสดังกล่าว หรือผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับเชื้อ เช่น บุรุษไปรษณีย์ สัตว์แพทย์ ครูฝึกสอนสัตว์เลี้ยง หรือผู้ดูแลสัตว์
- ฉีดเพื่อป้องกันเมื่อต้องสงสัยว่าอาจได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า แพทย์จะพิจารณาให้รับวัคซีนนี้เมื่อถูกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกัด หรือข่วน ซึ่งจะต้องได้รับวัคซีนเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
ก่อนฉีดควรสังเกตลักษณะหรือความผิดปกติของวัคซีนอย่างละเอียด หากตัววัคซีนมีสีและลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หรือบรรจุภัณฑ์แตกร้าวไม่ควรนำมาใช้ เพราะตัวยาอาจเสื่อมสภาพแล้ว การได้รับวัคซีนพิษสุนัขบ้าอาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานกับเครื่องจักรเพื่อความปลอดภัย
ในการฉีดวัคซีน ผู้เข้ารับวัคซีนจะต้องได้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กำหนด และควรได้รับจนกว่าจะครบ เพื่อประสิทธิภาพของวัคซีนที่สมบูรณ์ หากเป็นการฉีดวัคซีนชนิดฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อ ไม่ควรฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อสะโพกเนื่องจากเป็นบริเวณที่มีไขมันมาก อาจทำให้ยาดูดซึมช้า และตัวยาไม่สามารถกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนวัคซีนชนิดฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ควรฉีดให้ในกรณีที่มีการสันนิษฐานว่าอาจได้รับเชื้อจากพร้อม ๆ กันหลายคน และไม่ควรใช้กับผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างใช้ยาคลอโรควิน (Chloroquine) ยากดภูมิคุ้มกัน หรือผู้ติดเชื้อเอชไอวี
ทั้งนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือไม่สามารถมาฉีดได้ตามกำหนดควรแจ้งแพทย์โดยทันที ซึ่งหากคลาดจากกำหนดเดิมเพียง 2-3 วันก็สามารฉีดต่อไปโดยไม่ต้องเริ่มใหม่
ประสิทธิภาพของวัคซีนอาจลดลงได้หากใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน อีกทั้งวัคซีนอาจไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อพิษสุนัขได้ 100% นอกจากนี้ส่วนประกอบของอัลบูมิน ที่อยู่ในวัคซีนอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อหรือโรคเกี่ยวกับประสาทส่วนกลางได้ แต่เป็นไปได้น้อยมาก ดังนั้นจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้วัคซีนดังกล่าว ไม่ว่าจะมีสุขภาพปกติ หรือมีปัญหาสุขภาพหรือไม่เพื่อความปลอดภัยจากอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์
สตรีมีครรภ์หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร หากจำเป็นต้องได้รับวัคซีนควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึงประโยชน์และโทษที่จะได้รับจากการฉีดวัคซีนนี้ เพราะตัวยาอาจปนไปในน้ำนม หรือถ่ายทอดจากแม่สู่ทารกในครรภ์
ในเรื่องการเก็บรักษา ควรเก็บวัคซีนให้ห่างจากเด็กและสัตว์เลี้ยง ไม่ควรใช้เข็มซ้ำเพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อตามมาได้
ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนพิษสุนัขบ้า
วัคซีนพิษสุนัขบ้ามีผลข้างเคียงเช่นเดียวกับการใช้ยา หรือวัคซีนชนิดอื่น ๆ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ที่ได้รับวัคซีนจะไม่มีอาการข้างเคียง หรือหากมีก็จะเกิดขึ้นไม่รุนแรง ที่มักพบบ่อย คือ
- วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
- บริเวณที่ฉีดวัคซีนมีอาการบวมแดงหรือรู้สึกปวด
- เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ และข้อต่อ
- คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง
- มีอาการเหนื่อย หรืออ่อนแรงมากผิดปกติ
หากผู้ป่วยมีอาการหรือความผิดปกติที่รุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เช่น
- มีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือเหน็บชา
- กล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าอ่อนแรง
- มีไข้ หนาวสั่น
- หัวใจเต้นผิดปกติ
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- มีอาการชัก
- มีแผลฟกช้ำ ปวด หรือบวมบริเวณที่ได้รับวัคซีน
- ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและเรื้อรัง
- หายใจถี่ หรือหายใจมีเสียงหวีด
- คอติด หรือมีอาการแขนและขาบวม
- ต่อมน้ำเหลืองบวม
- การมองเห็นผิดปกติ