วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV (HPV Vaccine) เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ช่วยป้องกันมะเร็งปากมดลูก รวมถึงมะเร็งส่วนอื่น ๆ เช่น ช่องคลอด องคชาต ทวารหนัก ช่องปากและคอหอย และป้องหูดที่อวัยวะเพศด้วย วัคซีนมะเร็งปากมดลูกจึงฉีดได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย

เชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันได้โดยการสัมผัสเชื้อโดยตรงผ่านการมีเพศสัมพันธ์ การสัมผัสใกล้ชิด หรือการใช้เซ็กซ์ทอยร่วมกันกับผู้ติดเชื้อ วัคซีนมะเร็งปากมดลูกผลิตจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้ว ซึ่งควรฉีดก่อนถึงวัยที่มีเพศสัมพันธ์ หรือก่อนติดเชื้อไวรัสเอชพีวีจะมีประสิทธิภาพสูงสุด

วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบันวัคซีนชนิดนี้แบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิด 2, 4 และ 9 สายพันธุ์ ดังนี้

  • วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (Cervarix) วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด และมะเร็งช่องคลอดในผู้หญิง
  • วัคซีน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (Gardasil) เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
  • วัคซีน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (Gardasil-9) เป็นวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก มะเร็งคอหอยหลังช่องปาก และหูดหงอนไก่มาก่อน ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง

เกี่ยวกับวัคซีนมะเร็งปากมดลูก

กลุ่มยา วัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศ
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ 
สรรพคุณ ป้องกันไวรัสเอชพีวี (HPV)
กลุ่มผู้ป่วย
  • เด็กอายุ 9 ปี ขึ้นไป และผู้ใหญ่ทั้งหญิงและชายที่อายุไม่เกิน 26 ปี และไม่เคยติดเชื้อไวรัส HPV มาก่อน
  • หญิงและชายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • หญิงที่เคยมีผลแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือผลตรวจ HPV ผิดปกติ หรือมีประวัติโรคก่อนมะเร็งปากมดลูก หรือเคยเป็นหูดหงอนไก่
  • หญิงที่อายุ 26–45 ปี หรือหญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้ว ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับประโยชน์ของการรับวัคซีน
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ และยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไปอย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ผู้ที่ตั้งครรภ์ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หากทราบว่าตนเองตั้งครรภ์หลังฉีดยานี้ไปแล้ว 1–2 เข็ม ควรปรึกษาแพทย์ และหยุดรับวัคซีนเข็มต่อไปจนกว่าจะคลอดบุตร
การใช้ยาในผู้ให้นมบุตร จากการศึกษาในปัจจุบัน เชื้อ HPV มีแนวโน้มส่งผ่านน้ำนมไปสู่ทารกได้น้อย ผู้ที่อยู่ในระหว่างการให้นมบุตรสามารถฉีดวัคซีนนี้ได้ แต่ควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ 
รูปแบบของยา ยาฉีด แบ่งเป็นชนิด 2 เข็ม และ 3 เข็ม

คำเตือนในการใช้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

  • ผู้ที่มีอาการแพ้ส่วนประกอบของวัคซีนมะเร็งปากมดลูก เช่น ยีสต์ ไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดนี้เพราะอาจทำให้อาการแพ้กำเริบได้
  • ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วมีอาการแพ้ ไม่ควรฉีดเข็มต่อไป เพราะจะยิ่งทำให้อาการแพ้กำเริบ
  • วัคซีนมะเร็งปากมดลูกไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ 100% ผู้ได้รับวัคซีนยังอาจมีความเสี่ยงได้รับเชื้อ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน
  • วัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะป้องกันเพียงเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์ที่นำมาใช้ผลิตวัคซีนเท่านั้น
  • วัคซีนชนิดนี้ไม่สามารถป้องกันหรือรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชพีวีไปแล้ว ผู้ที่มีอาการเริมที่อวัยวะเพศกำเริบ รวมถึงผู้ป่วยโรคมะเร็งที่อวัยวะเพศ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก หรือแม้แต่ผู้ที่มีก้อนเนื้อจากการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้
  • วัคซีนมะเร็งปากมดลูกไม่สามารถป้องกันหรือรักษาโรคอื่นที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวีได้

ปริมาณการใช้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

ปริมาณของวัคซีนมะเร็งปากมดลูก หรือวัคซีน HPV ทั้ง 3 ชนิดที่จะได้รับนั้นจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้รับวัคซีน โดยจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มดังนี้

  • อายุ 9–14 ปี ฉีด 2 ครั้ง ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร โดยให้ทั้ง 2 เข็มห่างกันไม่เกิน 6–12 เดือน หรือฉีด 3 ครั้ง ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร โดยให้เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 1 และ 6 เดือนตามลำดับ
  • อายุ 14 ปีขึ้นไป ฉีด 3 ครั้ง ครั้งละ 0.5 มิลลิลิตร โดยให้เข็มที่ 2 และเข็มที่ 3 ห่างจากเข็มแรก 2 และ 6 เดือนตามลำดับ

กระทรวงสาธารณสุขแนะนำให้หญิงอายุ 11–20 ปี รับวัคซีน HPV ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธ์ุ จำนวน 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 6 เดือน โดยมีสิทธิฉีดวัคซีนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามกลุ่มดังต่อไปนี้

กลุ่มที่ 1

นักเรียนหญิงไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หรือเทียบเท่า รับวัคซีนนักเรียน (School-based Vaccination) ได้โดยแจ้งไปยังโรงเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ หรือวอล์คอิน (Walk in) ไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ในวันพุธ เวลา 13.00–15.00 น. รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล

กลุ่มที่ 2

นักศึกษาหญิงไทยระดับอุดมศึกษาปีที่ 1–2 หรือเทียบเท่า และหญิงไทย อายุ 11–20 ปี นอกระบบการศึกษา สามารถวอล์คอิน (Walk in) ไปที่ศูนย์บริการสาธารณสุข 69 แห่ง ในวันพุธ เวลา 13.00–15.00 น. รวมทั้งโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาลได้เช่นกัน

การใช้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

วัคซีนมะเร็งปากมดลูกสามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9–26 ปี แต่ก็อาจยืดหยุ่นได้หากผู้รับวัคซีนยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ หรือไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อน การฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยผู้รับวัคซีนสามารถสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลของวัคซีนได้โดยตรงจากแพทย์ หรือศึกษาจากแผ่นพับ และต้องฉีดวัคซีนนี้ภายในสถานพยาบาลเท่านั้น

ทั้งนี้ ก่อนได้รับการฉีดวัคซีน ผู้เข้ารับวัคซีนไม่จำเป็นต้องตรวจหาเชื้อเอชพีวีหรือตรวจด้วยวิธีแปปสเมียร์ (Pap Test) ก่อน เพราะการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกจากไวรัสเอชพีวีที่ไม่ได้อยู่ในวัคซีนและที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้

ในการฉีดวัคซีน แพทย์จะฉีดเข้าไปในกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน ซึ่งหลังจากเข็มแรกแล้ว แพทย์จะทำการนัดฉีดวัคซีนเข็มต่อไป ผู้รับวัคซีนจะต้องมาฉีดตามกำหนด หากลืมหรือมาไม่ได้ตามนัดควรแจ้งแพทย์ทันทีเพื่อทำการนัดฉีดวัคซีนใหม่ 

ประสิทธิภาพของวัคซีน HPV สามารถป้องกันได้ยาวนานถึง 10 ปี อย่างไรก็ตาม หลังจากฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้ว ผู้รับวัคซีนก็ยังคงต้องเข้ารับการตรวจมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ เพราะยังมีเชื้อไวรัสเอชพีวีสายพันธุ์อื่น ๆ ที่ก่อให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน

ปฏิกิริยาระหว่างวัคซีนมะเร็งปากมดลูกกับยาอื่น

วัคซีนมะเร็งปากมดลูกอาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อการออกฤทธิ์ของยา ดังต่อไปนี้

  • ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซน (Prednisone) และเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone)
  • ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น 5-fluorouracil ไซโคลฟอสฟาไมด์ (Cyclophosphamide) อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) และดาคาร์บาซีน (Dacarbazine)

นอกจากยาที่ได้กล่าวไป ยังอาจมียาชนิดอื่นที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานของทั้งตัวยาและวัคซีนมะเร็งปากมดลูกได้เช่นกัน ผู้ที่กำลังใช้ยาชนิดใด ๆ อยู่ รวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมต่าง ๆ ควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อน

ผลข้างเคียงจากการใช้วัคซีนมะเร็งปากมดลูก

หลังจากได้รับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแล้ว อาจต้องนั่งพักเพื่อดูอาการอย่างน้อย 15 นาที เพื่อสังเกตผลข้างเคียง โดยทั่วไปแล้วผลข้างเคียงที่มักพบได้แก่ ปวดและบวมแดงบริเวณที่ฉีดยา มีไข้ เวียนศีรษะ เป็นลม อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นไส้

หากมีอาการดังต่อไปนี้ควรรีบแจ้งแพทย์หรือพยาบาลโดยทันที

  • วิตกกังวล บ้านหมุน ชัก
  • ผื่นขึ้นตามผิวหนัง มีอาการบวมที่บริเวณดวงตา ใบหน้า ริมฝีปาก และลิ้น ผิวหนังมีรอยแดง ผิวซีด มีอาการบวม เจ็บ หรือสีของผิวหนังเปลี่ยนแปลง
  • เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก หายใจลำบาก
  • มีอาการบวมที่ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ ใต้รักแร้ หรือขาหนีบ
  • กลืนลำบาก ไม่อยากอาหาร อาเจียน
  • อาการอื่น ๆ ปวดหลัง ปวดขา หรือปวดท้อง ตาเหลือง ตัวเหลือง และปัสสาวะมีสีเข้ม