วิตามินบี 3

วิตามินบี 3

วิตามินบี 3 เรียกอีกชื่อหนึ่งว่าไนอะซิน (Niacin) หรือกรดนิโคตินิก (Nicotinic acid) เป็นสารที่พบได้ตามธรรมชาติทั้งในพืชและสัตว์ หรือสังเคราะห์ขึ้นในรูปแบบอาหารเสริม เช่น วิตามินรวมและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต่าง ๆ นำมาใช้ป้องกันและรักษาภาวะขาดวิตามินบี 3 ลดระดับไขมันคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจจากภาวะคอเลสเตอรอลสูงและรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ตามดุลยพินิจของแพทย์

วิตามินบี 3 ในรูปแบบอาหารเสริม อาจมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยบางรายและอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ

Vitamin B3

เกี่ยวกับวิตามินบี 3

กลุ่มยา วิตามินเสริม
ประเภทยา ยาตามใบสั่งแพทย์ ยาที่หาซื้อได้เอง
สรรพคุณ ป้องกันและรักษาการขาดวิตามินบี 3
กลุ่มผู้ป่วย ผู้ใหญ่ เด็ก
รูปแบบของยา ยารับประทาน ยาใช้เฉพาะที่

คำเตือนในการใช้วิตามินบี 3

  • ผู้ที่มีประวัติแพ้วิตามินบี 3 หรือเป็นโรคตับชนิดรุนแรง มีแผลหรือมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ไม่ควรใช้อาหารเสริมชนิดนี้
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้วิตามินบี 3 หากเป็นโรคตับ โรคไต โรคหัวใจ โรคเบาหวาน แผลในกระเพาะอาหาร เก๊าท์ หรือโรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบเกี่ยวกับยาที่กำลังใช้ทุกชนิด เพราะยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับวิตามินบี 3 และก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ยาอะโทรวาสแตติน ยาโลวาสแตติน ยาซิมวาสแตติน เป็นต้น
  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้วิตามินบี 3 ก่อนเข้ารับการทดสอบทางการแพทย์ เพราะวิตามินบี 3 อาจทำให้ผลการทดสอบบางชนิดคลาดเคลื่อนได้ โดยเฉพาะการตรวจปัสสาวะ
  • ระหว่างที่ใช้วิตามินบี 3 ควรหลีกเลี่ยงการลุกขึ้นจากท่านั่งหรือท่านอนเร็วเกินไป เพราะอาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลดไขมันคอเลสทิพอลหรือยาคอเลสไทรามีนในเวลาเดียวกันกับวิตามินบี 3 ควรใช้ยาทั้ง 2 ชนิดนี้ห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังใช้วิตามินบี 3
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มร้อนในทันทีหลังจากใช้วิตามินบี 3 เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดผลข้างเคียง เช่น คัน แดง รู้สึกอุ่น หรือรู้สึกเจ็บคล้ายเข็มทิ่มตามผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้วิตามิินบี 3 เพราะอาจเสี่ยงทำให้ตับเกิดความเสียหายและเกิดผลข้างเคียงจากการใช้มากขึ้น
  • ในระหว่างที่ใช้วิตามินบี 3 ผู้ป่วยอาจต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อทดสอบการทำงานของตับหรือไตเป็นประจำ
  • การใช้วิตามินบี 3 เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการรักษา ผู้ป่วยควรปรับพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การควบคุมน้ำหนัก และการใช้ยาชนิดอื่น ตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • ผู้ที่ตั้งครรภ์หรือวางแผนมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ถึงข้อดีและข้อเสียของการใช้วิตามินบี 3
  • แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้วิตามินบี 3 หากกำลังให้นมบุตร เพราะวิตามินบี 3 สามารถซึมผ่านน้ำนมมารดาและอาจเป็นอันตรายต่อทารกได้

ปริมาณการใช้วิตามินบี 3
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้

ป้องกันและรักษาการขาดวิตามินบี 3
ผู้ใหญ่ สำหรับรักษาโรคเพลแลกรา (Pellagra) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการขาดวิตามินบี 3 รับประทานปริมาณ 300-500 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน
สำหรับควบคุมอาการของโรค Hartnup ซึ่งเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับระบบเผาผลาญอาหารที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมกรดอะมิโนบางชนิดได้ รับประทานปริมาณ 50-200 มิลลิกรัม/วัน
เด็ก สำหรับรักษาโรคเพลแลกรา รับประทานปริมาณ 100-300 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งรับประทาน

ขยายหลอดเลือด
ผู้ใหญ่ รับประทานปริมาณ 100-150 มิลลิกรัม 3-5 ครั้ง/วัน หากเป็นยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน รับประทานปริมาณ 300-400 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง

รักษาภาวะไขมันในเลือดสูง
ผู้ใหญ่ รับประทานปริมาณเริ่มต้น 250 มิลลิกรัม/วัน ในมื้อเย็น และเพิ่มปริมาณยาทุก 4-7 วัน จนกว่าระดับไขมันชนิดไม่ดีหรือไขมันไตรกลีเซอไรด์จะลดลงในระดับที่ต้องการ หรือเพิ่มปริมาณจนถึง 1.5-2 กรัม/วัน หากผ่านไป 2 เดือนแล้วยังไม่ได้ผลดีพอ สามารถเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 1 กรัม วันละ 3 ครั้ง ในช่วงเวลา 2-4 สัปดาห์ ปริมาณสูงสุดไม่เกิน 6 กรัม/วัน
ส่วนยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน รับประทานปริมาณเริ่มต้น 500 มิลลิกรัม ก่อนนอน และค่อย ๆ เพิ่มเป็นปริมาณปกติ คือ 1-2 กรัม ก่อนนอน

รักษาสิวอักเสบปานกลางจนถึงรุนแรง
ผู้ใหญ่ ใช้เจลความเข้มข้น 4 เปอร์เซ็นต์ ทาบริเวณที่เป็นสิว

การใช้วิตามินบี 3

  • ใช้วิตามินบี 3 ตามฉลากและตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ใช้ในปริมาณมากกว่าหรือติดต่อกันนานกว่าที่กำหนด หากมีข้อสงสัยควรสอบถามแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้เสมอ
  • ควรรับประทานวิตามินบี 3 พร้อมอาหาร
  • รับประทานวิตามินบี 3 พร้อมน้ำเย็น 1 แก้ว โดยกลืนลงไปทั้งเม็ด ห้ามบด เคี้ยว หัก หรือเปิดยาแคปซูลออก
  • หากผู้ป่วยหยุดใช้วิตามินบี 3 ด้วยตนเอง ให้แจ้งแพทย์ก่อนจะกลับมาใช้อีกครั้ง เพราะอาจจำเป็นต้องลดปริมาณการใช้เมื่อเริ่มใช้ใหม่
  • หากลืมรับประทานตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานได้ทันที แต่หากใกล้กับเวลาที่ต้องรับประทานในรอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานรอบต่อไป ไม่เพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่า
  • หากสงสัยว่าตนเองใช้วิตามินบี 3 เกินปริมาณที่กำหนด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
  • ควรเก็บบรรจุภัณฑ์ไว้ที่อุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากแสงแดดและความชื้น

ผลข้างเคียงจากการใช้วิตามินบี 3

วิตามินบี 3 อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ คัน ผิวแห้ง มีรอยแดง เหงื่อออกมาก หนาวสั่น คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องเสีย ปวดกล้ามเนื้อ ตะคริว นอนไม่หลับ เป็นต้น หากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือแย่ลง ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

หากพบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการใช้วิตามินบี 3 ดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที

  • อาการแพ้ยา เช่น ลมพิษ หายใจลำบาก หน้า ริมฝีปาก ลิ้น หรือคอบวม เป็นต้น
  • รู้สึกคล้ายจะหมดสติ
  • หัวใจเต้นผิดปกติ
  • หายใจไม่อิ่ม
  • ดีซ่าน
  • บวม
  • ปวดกล้ามเนื้อ อ่อนแรง พร้อมกับมีไข้
  • มีอาการคล้ายไข้หวัด
  • ปัสสาวะสีเข้ม

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยพบอาการผิดปกติใด ๆ เพิ่มเติม ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบด้วยเช่นกัน