วิตามิน เค
วิตามิน เค (Vitamin K) เป็นวิตามินสำคัญที่ช่วยในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ป้องกันภาวะเลือดไหลมากจนเกินไป ร่างกายสังเคราะห์วิตามิน เค ขึ้นมาได้เอง และยังได้รับวิตามิน เค จากการรับประทานอาหารบางชนิด โดยทั่วไปจึงไม่นิยมบริโภควิตามินเคในรูปแบบอาหารเสริม
ในบางกรณี หากมีความจำเป็น แพทย์อาจต้องให้วิตามิน เค แก่ผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฉีดวิตามิน เค ถือเป็นมาตรฐานปฏิบัติในเด็กทารกแรกเกิด หรืออาจให้วิตามิน เค รักษาอาการข้างเคียงในผู้ที่ใช้ยาต้านการแข็งตัวของตัวของเลือดมากเกินขนาด รักษาผู้ป่วยมะเร็ง รักษาอาการแพ้ท้อง และรักษาอาการเกี่ยวกับเส้นเลือดฝอยที่ผิวหนัง เป็นต้น
โดยทั่วไป ผู้ป่วยที่มีภาวะขาดวิตามิน เค มักพบได้ไม่บ่อยนัก แต่มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเผชิญกับภาวะขาดวิตามิน เคบางกลุ่มซึ่งแพทย์อาจแนะนำให้รับประทานวิตามิน เค ในรูปอาหารเสริม เช่น
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวข้องกับการดูดซึมสารอาหารในระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคแพ้กลูเตน (Celiac disease) และโรคโครห์น (Crohn's disease)
- ผู้ที่ใช้ยารักษาซึ่งอาจรบกวนกระบวนการดูดซึมวิตามิน เค เข้าสู่ร่างกายได้
- ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก
- ผู้ที่มีภาวะทุพโภชนาการ
อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปได้รับวิตามิน เค จากการรับประทานอาหารบางชนิด โดยชนิดที่สำคัญ ได้แก่ วิตามิน เค1 และวิตามิน เค2 ซึ่งได้จากแหล่งอาหารที่สำคัญ เช่น พืชผักใบเขียวอย่างผักโขม บร็อคโคลี่ หน่อไม้ฝรั่ง ถั่ว ถั่วเหลือง สตรอว์เบอร์รี่ ชีส ไข่ และเนื้อสัตว์
เกี่ยวกับ วิตามิน เค
กลุ่มยา | อาหารเสริม |
ประเภทยา | ยาตามคำสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | ช่วยให้เลือดแข็งตัว ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะเลือดไหลมากจนเกินไป |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน ยาฉีด |
คำเตือนของการใช้ วิตามิน เค
- ไม่ควรใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เกินปริมาณหรือเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด
- ไม่ควรใช้อาหารเสริมวิตามิน เค หากมีอาการแพ้พวกสารอาหารเสริม
- หากมีปัญหาสุขภาพอย่างโรคตับ โรคหัวใจ โรคความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด หรือภาวะอาการป่วยอื่น ๆ ที่ต้องระมัดระวังในการบริโภคอาหาร และควบคุมปริมาณวิตามิน เค ที่ร่างกายควรได้รับ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เสมอ
- หากเป็นผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ วางแผนการตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่แน่ชัดว่าอาหารเสริมวิตามิน เค จะเป็นอันตรายต่อมารดาและทารกหรือไม่
- ยารักษาบางชนิดอาจรบกวนประสิทธิภาพของวิตามิน เค เช่น ยาลดกรด ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาปฏิชีวนะ แอสไพริน ยารักษาภาวะไขมันในเลือดสูง ภาวะชัก หรือยารักษาโรคมะเร็ง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เสมอว่ากำลังใช้ยารักษา สมุนไพร หรือวิตามินชนิดใดอยู่บ้าง
- หากผู้ป่วยต้องทำฟัน หรือผ่าตัดรักษา ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเสมอว่ากำลังบริโภคอาหารเสริมวิตามิน เค อยู่
ปริมาณการบริโภค วิตามิน เค
คนทั่วไปได้รับวิตามิน เค ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายจากการรับประทานอาหารที่เป็นแหล่งวิตามิน เค
โดยปริมาณวิตามิน เค ที่ควรบริโภค/วัน ทั้งจากแหล่งอาหาร และจากที่แพทย์กำหนดหรือแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมวิตามิน เค ได้แก่
เด็ก
- ทารกแรกเกิด - 6 เดือน 2 ไมโครกรัม/วัน
- อายุ 7 เดือน - 1 ปี 2.5 ไมโครกรัม/วัน
- อายุ 1-3 ปี 30 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 4-8 ปี 55 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 9-13 ปี 60 ไมโครกรัม/วัน
- เด็กอายุ 14-18 ปี 75 ไมโครกรัม/วัน
ผู้ใหญ่
เพศชาย
- อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป 120 ไมโครกรัม/วัน
เพศหญิง
- อายุตั้งแต่ 19 ปีขึ้นไป 90 ไมโครกรัม/วัน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ที่มีอายุต่ำกว่า 19 ปี 75 ไมโครกรัม/วัน
- ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร ที่มีอายุ 19-50 ปี 90 ไมโครกรัม/วัน
ส่วนตัวอย่างปริมาณวิตามินเคที่แพทย์อาจใช้เพื่อรักษาผู้ป่วยภาวะต่าง ๆ ได้แก่
การฉีดยาเพื่อป้องกันภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิด
ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ 0.5-1 มิลลิกรัม ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด
การฉีดยาเพื่อรักษาภาวะมีเลือดออกในเด็กแรกเกิด
ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง 1 มิลลิกรัม หรือแพทย์อาจเพิ่มปริมาณการให้ยาตามสมควร หากผู้เป็นแม่กำลังรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดด้วย
การรักษาภาวะโพรทรอมบินในเลือดต่ำ (Hypoprothrombinemia) จากการใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือปัจจัยอื่น ๆ
ผู้ใหญ่
สามารถรักษาได้โดยการรับประทานยา ฉีดยาเข้าเส้นเลือด ฉีดยาเข้ากล้ามเนื้อ หรือ ฉีดยาเข้าใต้ผิวหนัง ปริมาณ 2.5-10 มิลลิกรัม แล้วเพิ่มเป็น 25 มิลลิกรัม หรือสูงสุดไม่เกิน 50 มิลลิกรัมตามดุลยพินิจของแพทย์ โดยแพทย์อาจให้ยาซ้ำภายใน 12-48 ชั่วโมง
รูปแบบการใช้ยาวิตามิน เค รักษาภาวะโพรทรอมบินในเลือดต่ำ อาจเป็นไปตามวิธีการดังต่อไปนี้
- ยารับประทาน หากมีความจำเป็น อาจให้ผู้ป่วยรับประทานซ้ำภายใน 12-48 ชั่วโมง
- ยาฉีดเข้าเส้นเลือด การซึมเข้าสู่กระแสเลือดของการให้ยาต้องไม่เกินกว่า 1 มิลลิกรัม/นาที
ทั้งนี้ การใช้ยาวิตามิน เค ในปริมาณมาก (10-15 มิลลิกรัม) อาจมีผลทำให้เกิดภาวะดื้อยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟารินเป็นเวลาประมาณ 1 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นได้ด้วยเช่นกัน
การใช้อาหารเสริม วิตามิน เค
ผู้ป่วยใช้อาหารเสริมวิตามิน เค เมื่อได้รับคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น โดยต้องรับประทานอาหารเสริมวิตามิน เค ภายใต้คำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง ไม่รับประทานเกินขนาด ไม่รับประทานเป็นระยะเวลายาวนานเกินกว่าที่แพทย์กำหนด และสอบถามแพทย์หากอาหารเสริมวิตามิน เค ที่รับประทานอยู่ใกล้หมดลง ในกรณีที่แพทย์อาจต้องมีใบสั่งยาให้รับประทานอาหารเสริมในครั้งต่อไป เพื่อประสิทธิผลสูงสุดทางการรักษา
หากลืมรับประทานอาหารเสริมตามกำหนดเวลา ควรรับประทานทันทีที่นึกขึ้นมาได้ แต่หากเป็นช่วงเวลาที่ใกล้กับการรับประทานอาหารเสริมในครั้งถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในครั้งถัดไปได้เลย โดยการรับประทานอาหารเสริมในปริมาณปกติ และต้องไม่รับประทานอาหารเสริมเพิ่มปริมาณเป็น 2 เท่าเด็ดขาด
ในช่วงระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องรับประทานอาหารเสริม วิตามิน เค แพทย์อาจต้องตรวจเลือดผู้ป่วยเป็นระยะ เพื่อตรวจดูผลและวางแผนการรักษา ผู้ป่วยควรมาพบแพทย์ตามนัดหมายเสมอ
ด้านการเก็บรักษา ควรเก็บบรรจุภัณฑ์อาหารเสริม วิตามิน เค ที่ปิดสนิทไว้ที่อุณหภูมิห้อง ในบริเวณที่ห่างจากความชื้น ความร้อน และแสงแดด
ผลข้างเคียงจากการใช้ อาหารเสริม วิตามิน เค
การใช้อาหารเสริม วิตามิน เค อย่างถูกต้องตามวิธีการที่แพทย์กำหนดมักไม่ทำให้เกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายใด ๆ
ผู้ป่วยบางรายอาจเผชิญกับผลข้างเคียงจากอาการแพ้ยา เช่น มีผดผื่นคัน หายใจลำบาก หน้าบวม ปากบวม ลิ้นบวม คอบวม ปากม่วง ซึ่งผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาในทันที
แม้มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แต่ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการบริโภคอาหารเสริมวิตามิน เค ได้แก่
- ตัวร้อนวูบวาบ ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง รู้สึกเจ็บปวดเหมือนถูกเข็มตำ
- ประสาทรับรสเปลี่ยนไป
- มีเหงื่อไหล
- เวียนหัว
หากอาการป่วยเหล่านี้ไม่หายไป ไม่ดีขึ้น หรือทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หรือผู้ป่วยพบอาการที่อาจเป็นผลข้างเคียงหลังการใช้อาหารเสริมวิตามิน เค ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาเช่นกัน