ความหมาย สมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia)
สมองขาดออกซิเจน (Cerebral Hypoxia) คือ อาการที่สมองได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายอย่างอาการหายใจสั้นและถี่ ความจำเสื่อมชั่วคราว ชัก หรืออาจหมดสติได้
โดยมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น โรคหอบ สำลักควัน โดนบีบรัดบริเวณคอ หรือจมน้ำ เป็นต้น ทั้งนี้ อาการสมองขาดออกซิเจนถือเป็นภาวะอันตราย เพราะอาจสร้างความเสียหายต่อสมองจนถึงขั้นสมองตายและทำให้เสียชีวิตได้
อาการของสมองขาดออกซิเจน
ผู้ที่มีภาวะสมองขาดออกซิเจนจะมีอาการแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและระยะเวลาที่สมองขาดออกซิเจน โดยอาจมีอาการเบื้องต้น เช่น รู้สึกสับสนมึนงง มีเหงื่อออกมาก การตัดสินใจแย่ลง เคลื่อนไหวลำบาก ขาดสมาธิ ความจำเสื่อมชั่วคราว เป็นต้น แต่หากสมองขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ
- หายใจสั้น เร็ว หายใจติดขัด หรือหายใจมีเสียงหวีด
- หัวใจเต้นเร็ว
- ดวงตาไม่มีปฏิกิริยาต่อแสง
- ชัก
- หมดสติ
- หยุดหายใจ หรือถึงขั้นสมองตายและเสียชีวิต
สาเหตุของสมองขาดออกซิเจน
สมองเป็นอวัยวะที่ต้องการออกซิเจนอย่างต่อเนื่อง หากขาดออกซิเจนเพียง 5 นาที ก็อาจทำให้เซลล์สมองค่อย ๆ ตายลงได้ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนนั้นมีหลายประการ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดสมอง ภาวะหัวใจหยุดเต้น และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ออกซิเจนและสารอาหารไปเลี้ยงสมองไม่ได้ตามปกติ
ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจทำให้สมองขาดออกซิเจน ได้แก่
- สำลัก
- จมน้ำ
- โดนบีบรัดที่คอ
- ความดันเลือดต่ำ หรือเป็นโรคโลหิตจาง
- อยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนน้อย เช่น เหตุการณ์ไฟไหม้ หรืออยู่บนที่สูงเกิน 8,000 ฟุต เป็นต้น
- ได้รับพิษจากก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือได้รับสารพิษไซยาไนด์
- ได้รับบาดเจ็บที่สมอง หรือเป็นโรคสมองพิการ
- ได้รับยาในปริมาณมากเกินไป ได้รับยาที่มีผลทำให้หยุดหายใจ หรือได้รับยาสลบ
- เป็นโรคหอบหืด
- เป็นโรคที่มีปัญหาเกี่ยวกับกล้ามเนื้อที่ใช้หายใจ เช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอส เป็นต้น
- เป็นโรคเกี่ยวกับปอด เช่น หลอดลมอักเสบ ถุงลมโป่งพอง ปอดบวม ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือน้ำท่วมปอด เป็นต้น
นอกจากนี้ การทำกิจกรรมบางอย่างก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจนได้ เช่น เล่นฟุตบอล ชกมวย ดำน้ำ หรือปีนเขา เป็นต้น
การวินิจฉัยสมองขาดออกซิเจน
แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการสมองขาดออกซิเจนได้จากการตรวจร่างกาย สอบถามเกี่ยวกับประวัติการเจ็บป่วยและกิจกรรมที่ทำล่าสุดก่อนมาพบแพทย์ รวมถึงอาจใช้วิธีการตรวจอื่น ๆ เพื่อช่วยในการวินิจฉัย ดังนี้
ตรวจเลือด
เพื่อตรวจระดับออกซิเจน ก๊าซต่าง ๆ รวมถึงระดับสารเคมีที่อยู่ในเลือด
ตรวจสมอง
ตรวจดูความผิดปกติภายในสมอง เช่น
- เอกซเรย์หลอดเลือดสมอง โดยฉีดสารทึบรังสีเข้าไปในเส้นเลือด และเอกซเรย์ดูความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) หรือสแกนสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI Scan) เป็นการสร้างภาพเสมือนของสมองเพื่อตรวจสอบความผิดปกติต่าง ๆ เช่น เลือดออกในสมอง เนื้องอกในสมอง สมองขาดเลือด สมองตาย เป็นต้น
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) เป็นการตรวจการทำงานของเซลล์สมอง โดยวิธีนี้สามารถบอกสาเหตุของอาการชักได้
ตรวจหัวใจ
อาจตรวจหาความผิดปกติของหัวใจด้วยวิธีการ ดังนี้
- อัลตราซาวด์ เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงสร้างภาพเสมือนของหัวใจเพื่อตรวจดูความผิดปกติ
- ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้าที่หัวใจปล่อยออกมาทุกจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าหัวใจเต้นผิดจังหวะหรือไม่
การรักษาสมองขาดออกซิเจน
เมื่อเกิดอาการสมองขาดออกซิเจนขึ้น ต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว เพราะยิ่งสมองขาดออกซิเจนนานเท่าใด ความเสี่ยงที่สมองจะถูกทำลายอย่างถาวรตลอดจนโอกาสในการเสียชีวิตจะมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
ส่วนการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยแพทย์จะเน้นไปที่การเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกาย เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อระบบต่าง ๆ ซึ่งอาจใช้เครื่องช่วยหายใจร่วมด้วยในกรณีที่ผู้ป่วยอาการหนัก
นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจหัวใจโดยดูจังหวะการเต้นของหัวใจ อัตราการเต้นของหัวใจ ตรวจความดันเลือดและคอยดูแลอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งอาจต้องให้เลือด ยา หรือสารเหลวอื่น ๆ ผ่านทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ความดันเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในบางครั้งก็อาจต้องให้ยากันชักหรือยาชาในการรักษาด้วย
ภาวะแทรกซ้อนของสมองขาดออกซิเจน
ภาวะแทรกซ้อนของสมองขาดออกซิเจนจะรุนแรงหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่สมองขาดออกซิเจนและความรุนแรงของอาการ หากได้รับการรักษาช้าก็อาจทำให้มีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงขึ้นตามไปด้วย โดยภาวะแทรกซ้อนอันตรายที่อาจเกิดขึ้น คือ ภาวะสมองตายที่เรียกว่าเจ้าชายนิทราหรือภาวะผัก โดยผู้ป่วยจะนอนไม่รู้สึกตัวอีกเลยในขณะที่ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายยังคงทำงานอยู่ เช่น ลืมตา ตื่นนอน หรือหายใจได้ ความดันเลือดเป็นปกติ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะไม่ตอบสนองต่อสิ่งรอบข้าง และบางคนอาจเสียชีวิตภายใน 1 ปีหรือนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ เพิ่มเติมตามมาด้วย เช่น ขาดสารอาหาร มีแผลกดทับ ปอดบวม หลอดเลือดดำอุดตัน เป็นต้น
นอกจากนี้ ภาวะสมองขาดออกซิเจนอาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ทั้งในระหว่างการรักษาและต่อมาในระยะยาว เช่น
- นอนไม่หลับ
- กล้ามเนื้อกระตุก
- เห็นภาพหลอน
- มีพฤติกรรมถดถอย
- ความจำเสื่อม
การป้องกันสมองขาดออกซิเจน
ภาวะสมองขาดออกซิเจนนั้นเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุและไม่สามารถคาดเดาได้ จึงทำให้ป้องกันได้ยาก แต่ในเบื้องต้นสามารถป้องกันได้โดยหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่อาจทำให้เกิดอาการนี้ เช่น หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันอย่างบริเวณท้องถนนที่มีการจราจรติดขัด เพื่อป้องกันก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ หรือระมัดระวังในการลงเล่นน้ำ เพื่อป้องกันการจมน้ำ เป็นต้น ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคซึ่งต้องดูแลอาการอยู่ตลอดอย่างโรคหอบหืด ควรพกยาพ่นหรือยากินติดตัวไว้ตลอดเวลา และพยายามหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้อาการกำเริบ รวมทั้งสังเกตตนเองว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ อย่างรู้สึกจำอะไรไม่ค่อยได้ หายใจถี่ เคลื่อนไหวได้ลำบากมากขึ้นหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ที่สงสัยว่าอาจเผชิญอาการสมองขาดออกซิเจนอยู่ สิ่งที่ควรทำโดยเร็ว คือ การปั๊มหัวใจหรือทำ CPR เพื่อเพิ่มระดับออกซิเจนในร่างกายและป้องกันอาการรุนแรงขึ้น จากนั้นให้รีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด