สมาธิสั้น (ADHD)

ความหมาย สมาธิสั้น (ADHD)

สมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder: ADHD) คือ โรคขาดสมาธิในการจดจ่อทำสิ่งใดให้สำเร็จ ขี้ลืม ไม่ใส่ใจคำสั่ง อยู่ไม่นิ่ง ไม่อดทน หุนหันพลันแล่น ผู้ป่วยอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ช่วงอายุ 3–6 ปี โดยอาการจะแสดงออกอย่างชัดเจนและวินิจฉัยได้ในช่วงอายุ 6–12 ปี เนื่องจากเป็นช่วงที่ต้องเริ่มเข้าโรงเรียน ต้องทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เริ่มสื่อสารและเข้าสังคม

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ เด็กบางคนอาจมีพฤติกรรมเข้าข่ายโรคสมาธิสั้น แต่เป็นเพียงพัฒนาการตามช่วงวัย โดยหากไม่ได้มีอาการตามเกณฑ์วินิจฉัย แสดงว่าเด็กไม่ได้เป็นโรคสมาธิสั้น อาการจะดีขึ้นหรือหายไปเมื่อเด็กโตขึ้น ในขณะที่เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะยังคงมีอาการต่อไปจนโตเป็นผู้ใหญ่ และจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างเหมาะสม

สมาธิสั้น

อาการของสมาธิสั้น

อาการของผู้ที่เป็นโรคสมาธิสั้นอาจยังคงอยู่ตลอดจนเข้าสู่วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ โดยรูปแบบอาการอาจเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อยตามวัย และตามการรักษาดูแลที่ผู้ป่วยได้รับ หรืออาจยังมีบางอาการที่ยังคงอยู่และกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน

การแสดงพฤติกรรมของโรคสมาธิสั้นมี 2 รูปแบบหลัก คือ การขาดสมาธิในการจดจ่อหรือตั้งใจทำสิ่งใด และการอยู่ไม่นิ่งและมีความหุนหันพลันแล่น โดยเด็กอาจมีพฤติกรรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แต่มักปรากฏพฤติกรรมทั้งสองรูปแบบรวมกัน โดยพฤติกรรมเหล่านั้นจะเป็นอุปสรรคที่ส่งผลให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน การเรียน การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล

อาการที่พบในเด็กและวัยรุ่น
อาการสมาธิสั้นที่มักพบในเด็กและวัยรุ่นมีดังต่อไปนี้

อาการด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ
ตัวอย่างอาการที่อาจพบ เช่น 

  • ไม่ตั้งใจฟัง ไม่สนใจในขณะที่มีคนพูดด้วย
  • ไม่ทำอะไรไปตามขั้นตอน ชอบทำอะไรง่าย ๆ รวบรัด
  • ไม่ชอบทำอะไรเป็นเวลานาน ๆ มักเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอย่างอื่นแทน
  • ไม่ชอบเรียนรู้เรื่องที่ต้องใช้เวลา เช่น การอ่านเรื่องยาว ๆ
  • มองข้ามเรื่องสำคัญ ไม่ใส่ใจรายละเอียด จนเกิดความผิดพลาดบ่อย ๆ
  • มักลืมอุปกรณ์เครื่องใช้หรือสิ่งของจำเป็น เช่น ลืมดินสอ ยางลบ ปากกา หนังสือ ตอนมาโรงเรียน
  • มักลืมสิ่งที่ต้องทำหรือที่ได้รับมอบหมาย เช่น ลืมทำการบ้าน ลืมการนัดหมาย
  • วอกแวกง่ายเมื่อมีสิ่งเร้ามากระตุ้น หรือมีความคิดอื่นมากระตุ้นในขณะทำกิจกรรมใด ๆ อยู่
  • จัดลำดับความสำคัญไม่เป็น เรียงลำดับสิ่งที่ควรทำไม่ได้
  • บริหารจัดการเวลาได้ไม่ดี ไม่สามารถทำงานเสร็จตามกำหนดการ
  • หลีกเลี่ยงและไม่ชอบงานที่ต้องใช้ความพยายามมาก ๆ อย่างการทำการบ้าน การเขียนรายงานหรือเรียงความ
  • มีปัญหากับการทำงานตามกำหนด หรือการเรียน การเล่น กิจกรรมอะไรก็ตามที่ต้องทำตามกฎระเบียบหรือกรอบคำสั่ง

อาการด้านการตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง และหุนหันพลันแล่น
ตัวอย่างอาการที่อาจพบ เช่น 

  • พูดมาก พูดไม่หยุด
  • นั่งนิ่งอยู่กับที่นาน ๆ ไม่ได้ โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ
  • ว่องไว เคลื่อนไหวรวดเร็ว ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
  • มีปัญหาเกี่ยวกับการรอ ไม่ชอบการรอคอย
  • ลุกออกจากที่นั่งบ่อย ๆ ในสถานการณ์ที่ควรนั่ง เช่น ขณะกำลังอยู่ในชั้นเรียน ขณะอยู่ที่ทำงาน
  • ลุกลี้ลุกลน กระสับกระส่าย จนมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์
  • ไม่สามารถทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกได้เงียบ ๆ ตามลำพัง
  • พูดโต้ตอบสวนขึ้นมาในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดหรือถามไม่จบ ไม่รอให้ผู้อื่นพูดจบแล้วค่อยพูด
  • พูดแทรกหรือรบกวนในขณะที่ผู้อื่นกำลังพูดหรือทำกิจกรรมใด ๆ อยู่

อาการที่พบในผู้ใหญ่
อาการสมาธิสั้นในผู้ใหญ่ที่มักพบบ่อยมีดังต่อไปนี้

  • ประมาทเลินเล่อ ขาดความใส่ใจในรายละเอียด
  • ขี้หลงขี้ลืม
  • ร้อนรน กระสับกระส่าย อยู่ไม่สุข
  • อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
  • ใจร้อน ไม่มีความอดทน
  • ใช้ชีวิตบนความเสี่ยง ประมาท ขับรถเร็ว
  • ไม่สามารถจัดการกับความเครียดได้หรือจัดการได้ไม่ดี
  • ชอบพูดโพล่งออกมา ไม่ชอบการทนอยู่เงียบ ๆ
  • พูดแทรก ไม่รอให้ถึงจังหวะหรือลำดับของตนเอง
  • มักทำงานผิดพลาดอยู่เสมอ
  • มีปัญหาเรื่องการจัดการ การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา
  • มักเริ่มทำงานใหม่โดยที่ยังไม่ได้ทำงานเดิมให้สำเร็จลุล่วง

สาเหตุของสมาธิสั้น

ปัจจุบัน สาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด แต่กำลังมีการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นเหตุให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น หรือเด็กอาจเป็นโรคสมาธิสั้นจากหลายปัจจัยเหล่านี้รวมกัน ได้แก่

พันธุกรรม
ผลการค้นคว้าชี้ว่าผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมักมีพ่อแม่หรือญาติพี่น้องที่เกี่ยวข้องกันทางสายเลือดป่วยเป็นโรคนี้เช่นกัน ดังนั้น จึงมีแนวโน้มที่โรคสมาธิสั้นจะส่งต่อกันผ่านทางพันธุกรรม

โครงสร้างสมอง
อาจเป็นโครงสร้างแต่กำเนิด หรืออาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บกระทบกระเทือนทางสมองตั้งแต่ในครรภ์ หรือในช่วงที่เป็นเด็กเล็ก

จากการสแกนสมองคนทั่วไปเทียบกับผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นพบว่า พื้นที่บางส่วนของสมองผู้ป่วยโรคสมาธิสั้นมีขนาดเล็กกว่า และบางส่วนก็มีขนาดใหญ่กว่า รวมทั้งการขาดความสมดุลของระดับสารสื่อประสาทในสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้เป็นโรคสมาธิสั้น

การตั้งครรภ์และการคลอด
ผู้เป็นแม่อาจสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์ หรืออาจอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษและเต็มไปด้วยมลภาวะ จึงรับเอาสารพิษเข้าสู่ร่างกายจนมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์ รวมไปถึงการคลอดก่อนกำหนดและการมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำ

สภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
ผู้ป่วยอาจได้รับสารพิษและสารเคมีที่เป็นอันตรายเข้าสู่ร่างกายในขณะที่ยังเป็นเด็กเล็ก เช่น ได้รับสารตะกั่วเข้าไปในร่างกายเป็นปริมาณมาก

ส่วนความเชื่อที่ว่าการดูโทรทัศน์และการเล่นวิดีโอเกมจะทำให้เด็กเป็นโรคสมาธิสั้น ในปัจจุบันยังไม่มีผลการค้นคว้าที่ยืนยันได้แน่ชัด แต่สิ่งที่สัมพันธ์กันอย่างชัดเจนระหว่างเด็กสมาธิสั้นกับโทรทัศหรือวิดีโอเกมคือ การดูรายการโทรทัศน์หรือการเล่นเกมบางอย่างจะตอบสนองต่อความต้องการของเด็กสมาธิสั้นที่ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อสนใจอยู่กับสิ่งใดนาน ๆ ทำอะไรฉาบฉวย ปุบปับ แล้วก็เลิกสนใจไป

อย่างไรก็ตาม แม้ไม่มีการอธิบายเชิงสาเหตุ แต่การให้เด็กดูโทรทัศน์ เล่นเกม หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างพอดีทั้งด้านปริมาณและระยะเวลา ย่อมเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการเลี้ยงดูเด็ก

การวินิจฉัยสมาธิสั้น

หากสงสัยว่าบุคคลใดอาจเข้าข่ายของโรคสมาธิสั้น ควรสังเกต บันทึกอาการ แล้วพาไปพบแพทย์ โดยการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ผู้ป่วยต้องมีอาการอยู่ในเกณฑ์วินิจฉัยในด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ หรือในด้านการตื่นตัวอยู่ไม่นิ่งหุนหันพลันแล่น 

โดยมีอาการแสดงทั้งที่บ้าน ที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือต่อเพื่อน ต่อครอบครัว อย่างน้อย 2 สถานการณ์ขึ้นไป จนสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน การเรียน หรือการเข้าสังคม และอาการที่พบต้องไม่ใช่ผลข้างเคียงหรือภาวะของการป่วยโรคทางจิตเวชอื่นใด

เกณฑ์วินิจฉัยโรคสมาธิสั้นตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติความผิดปกติทางจิต ฉบับล่าสุด (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders) ได้แก่

เกณฑ์ด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ
ต้องมีอาการ 6 ข้อขึ้นไปในเด็กถึงวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือมีอาการ 5 ข้อขึ้นไปในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป

  • มักจะล้มเหลวในการทำงานที่ต้องใช้สมาธิ ต้องใส่ใจรายละเอียด เกิดความผิดพลาดอันเป็นผลมาจากความประมาท ทั้งที่โรงเรียน ที่ทำงาน หรือการทำกิจกรรมใด ๆ เสมอ
  • มักมีปัญหาในการจดจ่อตั้งใจทำตามกำหนดการหรือการเข้าร่วมกิจกรรมเสมอ
  • มักไม่สนใจฟังแม้มีคนกำลังคุยด้วยอยู่ข้างหน้า
  • มักไม่ทำอะไรตามขั้นตอน และไม่สามารถทำงานที่โรงเรียน ทำงานบ้าน หรือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้สำเร็จลุล่วง เช่น ขาดการมุ่งความสนใจ หรือพยายามหลีกเลี่ยงการทำตามขั้นตอน
  • มักมีปัญหาในการบริหารจัดการสิ่งที่ต้องทำหรือกิจกรรมที่ต้องทำ
  • มักจะหลีกเลี่ยง ไม่ชอบ หรือไม่เต็มใจทำตามกำหนดการที่ต้องใช้ความพยายามและความอดทนสูงในช่วงเวลานาน ๆ เช่น งานที่ได้รับมอบหมายที่โรงเรียนและการบ้าน
  • มักจะลืมสิ่งของจำเป็นในการเรียน การทำงาน หรือการทำกิจกรรม เช่น อุปกรณ์ในการเรียน ดินสอ หนังสือ เครื่องมือต่าง ๆ กระเป๋าสตางค์ กุญแจ เอกสาร แว่นตา โทรศัพท์มือถือ เป็นต้น
  • ใจลอย วอกแวกง่าย ขาดสมาธิจดจ่อสนใจ
  • มักลืมสิ่งที่ต้องทำในแต่ละวัน

เกณฑ์ด้านการตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่น
ต้องมีอาการ 6 ข้อขึ้นไปในเด็กถึงวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 16 ปี หรือ มีอาการ 5 ข้อขึ้นไป ในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป

  • มักอยู่ไม่สุข อยู่ไม่นิ่ง กระดิกมือหรือเท้าตลอด นั่งนิ่งอยู่กับที่ไม่ได้  
  • มักลุกออกจากที่นั่งในสถานการณ์ที่ไม่ควรลุกออกไป
  • มักวิ่งไปรอบ ๆ หรือปีนป่ายซุกซนในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมในวัยเด็ก หรือรู้สึกอึดอัดกระสับกระส่ายในวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่
  • มักไม่สามารถเล่นหรือทำกิจกรรมสันทนาการอย่างเงียบ ๆ ได้
  • มักจะตื่นตัวหรือลุกลี้ลุกลนตลอดเวลา
  • มักจะพูดมาก พูดไม่หยุด
  • มักจะพูดตอบสวนคำถาม ไม่รอให้ถามคำถามให้จบก่อน
  • มักมีปัญหาเกี่ยวกับการรอให้ถึงจังหวะหรือลำดับของตนเอง
  • มักรบกวนหรือก้าวก่ายเรื่องของผู้อื่น หรือขัดจังหวะในระหว่างบทสนทนา

ทั้งนี้ ผู้ป่วยสมาธิสั้นสามารถป่วยด้วยอาการด้านการขาดสมาธิจดจ่อตั้งใจ หรือด้านการตื่นตัว อยู่ไม่นิ่ง หุนหันพลันแล่นด้านใดด้านหนึ่งเพียงด้านเดียว หรืออาจป่วยด้วยอาการทั้งสองด้านร่วมกัน โดยอาการดังกล่าวจะต้องเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป

การรักษาสมาธิสั้น

การรักษาสามารถทำให้อาการสมาธิสั้นให้ดีขึ้นและลดพฤติกรรมที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตลงได้ แต่ไม่ได้ทำให้อาการหายขาดไปได้อย่างถาวร โดยการรักษาที่มีประสิทธิผลสูงสุดคือการรักษาด้วยยาควบคู่กับการบำบัด

การรักษาด้วยยา
การรักษาด้วยยาจะช่วยปรับอาการและพฤติกรรมให้เด็กมีสมาธิจดจ่อได้ดียิ่งขึ้น และช่วยลดอาการอยู่ไม่นิ่งหุนหันพลันแล่นลง เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับตัวและใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข

กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นในประเทศไทย ได้แก่ กลุ่มยากระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ซึ่งจะออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทภายในสมองส่วนที่ควบคุมสมาธิ ความคิดและพฤติกรรม อย่างโดปามีน และนอพิเนฟรีน เช่น ยาเมทิลเฟนิเดต (Methylphenidate) ที่ใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีไปจนถึงวัยรุ่น และอะโทม็อกซีทีน (Atomoxetine) ใช้กับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ 

โดยออกฤทธิ์ต่างจากยาตัวอื่นคือ ไม่ได้กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง แต่จะยับยั้งการดูดกลับสารนอร์อะดรีนาลีน ทำให้เพิ่มจำนวนสารนอร์อะดรีนาลีนที่ช่วยควบคุมอาการหุนหันพลันแล่นและเพิ่มการจดจ่อสมาธิของเด็ก

ส่วนยาบางกลุ่มที่ออกฤทธิ์ต่อระดับสารโดปามีนและสารนอร์อะดรีนาลีนในสมอง ที่อาจส่งผลต่อการรักษาโรคสมาธิสั้น ได้แก่ โคลนิดีน (Clonidine) และาต้านเศร้า (Antidepressant) แต่เป็นยาที่มีประสิทธิภาพน้อยกว่า และมีข้อมูลการค้นคว้าเกี่ยวกับยาในทางการรักษาโรคสมาธิสั้นน้อยมาก จึงไม่ควรเป็นยาหลักที่ถูกนำมารักษาอาการสมาธิสั้น

การใช้ยารักษาเด็กสมาธิสั้นต้องเป็นไปตามใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น โดยเด็กควรรับประทานยาอย่างถูกต้องตามวิธีและตามปริมาณที่แพทย์กำหนด และต้องไปพบแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษาอยู่เสมอ

การเข้ารับการบำบัด
เด็กควรรับการบำบัดเพื่อเรียนรู้และปรับพฤติกรรมควบคู่ไปกับการรับยา ทั้งเพื่อรักษาบรรเทาอาการสมาธิสั้น และอาการที่อาจเกิดขึ้นร่วมกับโรคสมาธิสั้น อย่างปัญหาทางอารมณ์ ความวิตกกังวล เป็นต้น

วิธีต่าง ๆ ที่เด็กควรเข้ารับการบำบัดภายใต้การดูแลของแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่

การให้ความรู้ทางสุขภาพจิต (Psychoeducation)
เป็นวิธีการที่ให้เด็กกล้าที่จะเผชิญหน้าและพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเป็นโรคสมาธิสั้น เพื่อให้เด็กทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และหาวิธีรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

พฤติกรรมบำบัด (Behavior Therapy)
พฤติกรรมบำบัดเป็นการวางแผนจัดการกับพฤติกรรมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ ผู้ปกครองและครูควรช่วยกันดูแลและปรับพฤติกรรมของเด็ก เช่น การให้รางวัลหรือคำชมเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม และการลงโทษหรือยึดของที่เด็กชอบเมื่อเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่ดีและเลือกที่จะกระทำพฤติกรรมในด้านดี

การเข้าโปรแกรมฝึกหัดและการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง
โดยกลุ่มผู้ปกครองของเด็กสมาธิสั้น หรือผู้ที่ดูแลเด็กจะได้เข้ากลุ่มเพื่อศึกษาทำความเข้าใจเด็กสมาธิสั้น ฝึกหัดดูแลและรับมือพฤติกรรมของเด็กสมาธิสั้น

การบำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT)
สำหรับการบำบัดจิตโดยปรับความคิดและพฤติกรรม นักบำบัดจะพูดคุยให้ผู้ป่วยทำความเข้าใจถึงโรคและอาการที่เผชิญอยู่ แล้วร่วมวางแผนหาทางแก้ไขรับมือกับอาการที่เกิดขึ้น เพื่อปรับมุมมองความคิดที่จะแสดงความรู้สึกต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ให้เหมาะสม และลดพฤติกรรมที่สร้างปัญหาลง อาจทำการบำบัดทั้งแบบรายบุคคลและแบบกลุ่ม

การฝึกทักษะสังคม
พ่อแม่ของเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นสามารถฝึกให้เด็กเรียนรู้การปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ต่าง ๆ

การรับประทานอาหาร
ผู้ป่วยสมาธิสั้นควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ดีต่อสุขภาพและเสริมสร้างสมดุลของสารเคมีภายในร่างกาย เพราะการรับสารอาหารบางประเภทอาจกระตุ้นให้เกิดอาการอยู่ไม่นิ่งหรือหุนหันพลันแล่น เช่น สารปรุงแต่งในอาหาร สีผสมอาหาร น้ำตาล และคาเฟอีน  

ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตและบันทึกข้อมูลอาหารที่รับประทาน และอาการที่เกิดขึ้นหลังรับประทานอาหารแต่ละชนิด ก่อนไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการควบคุมอาหาร

ภาวะแทรกซ้อนของสมาธิสั้น

ผู้ป่วยสมาธิสั้นจะได้รับผลกระทบในด้านการใช้ชีวิต การเรียน การทำงาน การเข้าสังคม และความสัมพันธ์ เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอารมณ์และการแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดความล้มเหลวในการเรียน การทำงาน ความสัมพันธ์ หรืออาจเกิดอุบัติเหตุที่เป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

นอกจากปัญหาและความยากลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยอาจมีแนวโน้มที่จะดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้สารเสพติด ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสุขภาพและปัญหาด้านอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตามมา

การป้องกันสมาธิสั้น

เนื่องด้วยสาเหตุของการเกิดโรคสมาธิสั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด การป้องกันการเกิดโรคสมาธิสั้นจึงทำได้โดยการลดความเสี่ยงของปัจจัยด้านต่าง ๆ ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในครรภ์ ได้แก่

  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา และไม่ใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์
  • หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี หรือการอยู่ในบริเวณที่มีมลพิษและสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ตะกั่ว ทั้งในขณะที่ตั้งครรภ์ ตลอดจนช่วงระยะที่เด็กเกิดและเติบโต

ในด้านการป้องกันไม่ให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคสมาธิสั้นแสดงอาการที่ไม่พึงประสงค์ ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาและการดูแลอย่างถูกวิธี เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรับพฤติกรรมและรับมือกับสถานการณ์ที่แตกต่างได้อย่างเหมาะสม แสดงพฤติกรรมในด้านที่ดีเพิ่มมากขึ้น และลดพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ลง