สาเหตุของ มะเร็งเต้านม
ในปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปแน่นอนถึงสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดมะเร็งเต้านม แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ส่งเสริมให้เกิดโรคได้มากขึ้น ซึ่งสามารถสรุปปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดโรคมะเร็งเต้านมได้ ดังนี้
- เพศ เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดมะเร็งเต้านม โดยจะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากเพศหญิงมีฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) ที่มีส่วนช่วยในการเจริญเติบโตของเต้านม
- อายุ อายุที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีขึ้นไป
- พันธุกรรม ผู้หญิงส่วนใหญ่ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงกว่าผู้หญิงที่ไม่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งชนิดนี้
- เชื้อชาติ มะเร็งเต้านมมักพบในคนเชื้อชาติในประเทศตะวันตกมากกว่าเอเชีย
- มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างใดข้างหนึ่งมาก่อนมีโอกาสเกิดมะเร็งกับเต้านมอีกข้างมากขึ้น หรืออาจเกิดกับเต้านมข้างเดิมได้เช่นกัน รวมถึงหากเคยตรวจพบการเปลี่ยนแปลงของเนื้อเยื่อเต้านมบางชนิดก็อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งเต้านมได้มากขึ้น
- ช่วงอายุของการมีประจำเดือนนาน ผู้ที่มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หรือหมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากขึ้น โดยเป็นผลมาจากการได้รับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนที่มีผลต่อการพัฒนาเต้านมเป็นระยะเวลานาน
- มีประวัติเข้ารับการรักษาด้วยวิธีรังสีรักษา (Radiation Theraphy) หรือฮอร์โมนบำบัด (Hormone Replacement Therapy)
- มีประวัติการใช้ยาฮอร์โมนไดอีธีลสติลเบสทรอล (Diethylstilbestrol)
- พฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม พฤติกรรมที่ทำร้ายสุขภาพและสภาพแวดล้อมที่ปนเปื้อนกับสารเคมีอาจเป็นปัจจัยเสริมในการเกิดมะเร็งเต้านมได้ เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ การไม่ออกกำลังกาย การกินอาหารไขมันสูง รวมทั้งการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี
- สาเหตุอื่น เช่น ความผิดปกติหรือการกลายพันธุ์ของยีน ความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน หน้าอกมีความหนาแน่นของเนื้อเยื่อสูง มีปัญหาน้ำหนักเกิน มีบุตรหลังอายุ 30 ปี ไม่เคยมีบุตร หรือไม่เคยมีน้ำนม