หนังตาตก

ความหมาย หนังตาตก

หนังตาตก (Ptosis) เป็นภาวะที่เปลือกตาบนตกลงมาต่ำกว่าปกติ อาจตกลงมาเพียงเล็กน้อยไปจนถึงตกลงมาจนปิดรูม่านตา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น  ในบางรายอาจเพียงแค่ทำให้รูปลักษณ์เปลี่ยนแปลงไปแต่ไม่ส่งผลต่อการมองเห็น

หนังตาตก

หนังตาตกเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ทั้งเด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ และยังเกิดขึ้นได้กับตาทีละข้างหรือพร้อมกัน 2 ข้าง นอกจากนั้น หนังตาตกอาจเป็นสัญญาณเตือนของภาวะที่รุนแรงบางอย่างซึ่งส่งผลกระทบต่อกล้ามเนื้อ ประสาท สมองหรือเบ้าตา โดยเฉพาะหากเกิดเป็นเวลานาน

อย่างไรก็ตาม หนังตาตกเป็นภาวะที่รักษาได้หรือชะลออาการไม่ให้แย่ลงได้ โดยจะใช้การรักษาที่ช่วยให้การมองเห็นกลับมาเป็นปกติหรือช่วยให้รูปลักษณ์ของเปลือกตากลับมาเป็นปกติ

อาการหนังตาตก

อาการสำคัญที่ปรากฎเมื่อเกิดภาวะหนังตาตก มีดังนี้

  • เปลือกตาบนตกลงมาต่ำกว่าปกติ อาจเกิดทีละข้างหรือพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง
  • หนังตาตกไม่ทำให้เจ็บปวด แต่อาจทำให้การมองเห็นลดลง
  • บางรายอาจต้องเงยหน้าขึ้นเพื่อให้มองเห็นได้ชัดเจน หรืออาจทำให้ต้องโก่งคิ้วขึ้นเพื่อช่วยยกหนังตา ซึ่งภาวะเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อศีรษะและคอในระยะยาว ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะและทำให้ตาดำไม่อยู่ในแนวปกติ
  • ลองสังเกตอาการของตนเองได้จากการมองตรงในกระจกไปที่ดวงตาของตนเอง หากหนังตาปกติจะมองเห็นรูม่านตาได้ชัดเจนและมองเห็นตาดำได้ทั้งหมด แต่หากหนังตาตกจะทำให้มองเห็นดวงตาเล็กกว่าปกติ
  • หากเป็นหนังตาตกที่ไม่ซับซ้อนหรือไม่รุนแรง อาจพบว่าไม่ส่งผลให้เกิดอาการใด ๆ แต่หากเกิดจากโรคที่มีความรุนแรงก็อาจพบอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอมจี (Myasthenia gravis) อาจทำให้เกิดอาการมองเห็นภาพซ้อน แขนหรือขาอ่อนแรง พูด หายใจหรือกลืนลำบาก
  • หากหนังตาตกเกิดขึ้นกับเด็ก อาจทำให้เกิดโรคตาขี้เกียจ (Amblyopia)) ถ้าหนังตาตกลงมาปิดมาก อาจปิดกั้นการมองเห็นหรือทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด
  • หากหนังตาตกตั้งแต่แรกเกิด อาจพบว่าเด็กตาเหล่ หรือมีความผิดปกติจนส่งผลกระทบต่อตำแหน่งของดวงตาหรือการเคลื่อนไหวของดวงตา
  • หนังตาตกที่มีสาเหตุจากภาวะฮอร์เนอร์ (Horner’s Syndrome) อาจทำให้รูม่านตาข้างที่มีหนังตาตกเล็กกว่าปกติ และอาจทำให้ใบหน้าซีกที่หนังตาตกสูญเสียความสามารถในการขับเหงื่อ

เมื่อใดที่ควรพบแพทย์

หากพบว่ามีอาการต่อไปนี้ควรไปพบแพทย์ทันที

  • มีอาการหนังตาตกกะทันหัน โดยเกิดขึ้นเป็นเวลา 2-3 วัน หรือ 2-3 ชั่วโมง
  • ปวดศีรษะรุนแรง เห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง แขนหรือขาอ่อนแรง พูดหรือกลืนลำบาก
  • ตาอักเสบ รวมไปถึงมีอาการดังนี้ ตาแดงและเจ็บ เป็นไข้ ตาปูดออก หรือกลอกตาลำบาก

สาเหตุของหนังตาตก

หนังตาตสามารถเกิดขึ้นได้กับเด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้ใหญ่ โดยอาจมีสาเหตุดังต่อนี้

  • หนังตาตกในเด็กแรกเกิด (Congenital Ptosis) อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่หนังตาผิดปกติมาแต่กำเนิด โดยประมาณ 70 เปอร์เซนต์ มักจะเกิดผลกระทบต่อดวงตาเพียงข้างเดียว
  • อาจเกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ผิวหนังและกล้ามเนื้อบริเวณดวงตาจะอ่อนแอลง และอาจทำให้หนังตาตกได้ในที่สุด
  • เกิดจากภาวะแทรกซ้อนระหว่างการผ่าตัดรักษาที่เกี่ยวกับดวงตา เช่น การทำเลสิก (Lasik) หรือการผ่าตัดต้อ ซึ่งอาจทำให้หนังตาขยายออก รวมไปถึงเนื้องอกที่ตาก็อาจทำให้หนังตาตกได้  
  • หนังตาตกเป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อยจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Myasthenia Gravis) ซึ่งนอกจากจะทำให้หนังตาตกหรือกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวอ่อนแรง ยังทำให้กล้ามเนื้อบริเวณอื่น ๆ เช่น กล้ามเนื้อใบหน้า แขน และขา มีอาการอ่อนแรงได้เช่นกัน
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ เช่น โรคกล้ามเนื้อเจริญผิดเพี้ยน (Oculopharyngeal Muscular Dystrophy) เป็นโรคที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของดวงตา และยังทำให้กลืนลำบาก นอกจากนั้น โรคอัมพาตกล้ามเนื้อกลอกตา (External Ophthalmoplegia) สามารถเกิดขึ้นได้ในวัยผู้ใหญ่ที่อายุยังไม่มาก โดยอาจทำให้กล้ามเนื้อตาตกทั้ง 2 ข้าง และทำให้การเคลื่อนไหวดวงตามีปัญหา
  • เนื่องจากกล้ามเนื้อตาควบคุมด้วยระบบประสาทจากสมอง ดังนั้น หากสมองหรือประสาทได้รับบาดเจ็บหรือเกิดความเสียหาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดในสมอง เนื้องอกในสมอง หลอดเลือดในสมองโป่งพอง หรือประสาทเกิดความเสียหายจากการเป็นโรคเบาหวาน เป็นระยะเวลานาน อาจพบว่าทำให้หนังตาตกได้ นอกจากนั้น ภาวะฮอร์เนอร์ (Horner's Syndrome) ก็ทำให้หนังตาตก หรือทำให้ตาดำเล็กกว่าปกติและสูญเสียความสามารถในการขับเหงื่อที่ใบหน้าครึ่งซีกในข้างที่ผิดปกติ
  • เกิดความผิดปกติที่บริเวณตาโดยตรง เช่น การติดเชื้อหรือเนื้องอก เป็นต้น

การวินิจฉัยหนังตาตก
การวินิจฉัยหนังตาตก แพทย์จะถามประวัติอาการของผู้ป่วย เช่น ความถี่หรือระยะเวลาที่เกิดอาการ การมองเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง พูดหรือกลืนลำบาก ปวดศีรษะ อาการกระตุกหรือชาตามร่างกาย นอกจากนั้น แพทย์อาจถามถึงประวัติโรคประจำตัว หรือประวัติของคนในครอบครัวที่หนังตาตกหรือโรคทางกล้ามเนื้อที่เกิดจากกรรมพันธุ์ จากนั้นแพทย์จะตรวจตาและอาจทดสอบอื่น ๆ เพิ่มเติ่มเพื่อหาสาเหตุ ซึ่งแพทย์อาจใช้เครื่องตรวจตา (Slit Lamp) ที่จะช่วยให้มองเห็นดวงตาได้ชัดเจนและละเอียดยิ่งขึ้น หรืออาจใช้การทดสอบเทนซิลอน (Tensilon Test) รวมไปถึงการตรวจอื่น ๆ ได้แก่

  • ตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computerized Tomography) หรือซีทีสแกน (CT-scan)
  • ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: ECG)
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ (Electromyography: EMG)
  • ตรวจทางจอตาด้วยกล้องจุลทรรศน์ (Electroretinogram: ERG) เพื่อประเมิณโรคทางตา
  • การตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ เพื่อวินิจฉัยอาการทางตาจากโรคไทรอยด์ (Thyroid Orbitopathy)

การรักษาหนังตาตก
การรักษาหนังตาตกในกรณีที่ทำให้ปิดกั้นการมองเห็นหรือส่งผลกระทบต่อรูปลักษณ์ภายนอกอย่างเห็นได้ชัด โดยส่วนใหญ่จะแก้ไข้ได้โดยศัลยแพทย์พลาสติก ซึ่งจะจัดการปัญหาด้วยการผ่าตัดยกเปลือกตา และขั้นตอนการผ่าตัดจะใช้เพียงยาชาเฉพาะจุดเท่านั้น

ส่วนผู้ป่วยที่ไม่ต้องการรักษาด้วยการผ่าตัด อาจขอใช้วิธีติดเทปพิเศษที่หนังตา รวมไปถึงใช้น้ำตาเทียมเพื่อหล่อลื่นดวงตา หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือการสวมแว่นตาสำหรับผู้ที่มีหนังตาตกโดยเฉพาะ

ส่วนเด็กแรกเกิดที่มีอาการหนังตาตกรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัดแก้ไขทันที เพราะหากได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในการมองเห็นอย่างถาวร แต่หากเด็กมีอาการที่ไม่รุนแรงหรือไม่ทำให้การมองเห็นบกพร่อง แพทย์อาจแนะนำให้รอจนเด็กมีอายุ 3-5 ปี จึงจะรักษา ซึ่งการผ่าตัดเปลือกตาในเด็ก แพทย์จะใช้ยาสลบก่อนลงมือ

นอกจากนั้น หากผู้ป่วยหนังตาตกที่มีสาเหตุมากจากโรคกล้ามเนื้อ เกี่ยวกับระบบประสาทหรือมีปัญหาบริเวณดวงตา แพทย์จะรักษาโรคหรือความเจ็บป่วยนั้น ๆ ก่อน ในบางรายจะเป็นการรักษาให้หนังตาตกดีขึ้นหรือช่วยไม่ให้อาการแย่ลง

ภาวะแทรกซ้อนของหนังตาตก
ภาวะแทรกซ้อนของหนังตาตก มีทั้งภาวะแทรกซ้อนของโรคนั้น ๆ และภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น ในบางรายที่เป็นมากจนหนังตาตกลงมาปิดลูกตาดำจะไปปิดกั้นการมองเห็นหรือมองเห็นไม่ชัด อย่างไรก็ตาม หนังตาตกไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวด แต่อาจทำให้ผู้ป่วยต้องเงยหน้าและยกคางขึ้นเพื่อจะได้มองเห็นชัด หรือต้องโก่งคิ้วเพื่อช่วยยกเปลือกตาขึ้นให้มองเห็นชัดขึ้น ซึ่งหากมีพฤติกรรมดังกล่าวติดต่อกันเป็นระยะเวลานานก็อาจส่งผลกระทบต่อศีรษะและคอได้

นอกจากนั้น ในขั้นตอนการผ่าตัดแก้ไขหนังตาตกหรือดึงหนังตาให้สูงขึ้น อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่

  • แกรนูโลมา (Granuloma) อาจเกิดจากวัสดุที่ใช้วางอยู่ในตำแหน่งใต้ผิวหนังไม่ดีเท่าที่ควร
  • หนังตาดูไม่สมส่วน
  • เกิดการติดเชื้อ
  • หนังตาดึงรั้งหลังการปรับแก้ทำให้เกิดโรคกระจกตาแบบไม่อักเสบและตาแห้ง

การป้องกันหนังตาตก

เนื่องจากหนังตาตกไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้น จึงควรดูแลและระวังตนเองด้วยการสังเกตอาการและหมั่นตรวจสุขภาพของดวงตาเป็นประจำ เพราะจะช่วยให้ควบคุมอาการได้อย่างทันท่วงที นอกจากนั้น หากสงสัยว่าบุตรหลานของตนเองอาจหนังตาตก ควรรีบพาไปพบแพทย์เพื่อจะได้รับการรักษาและควบคุมอาการได้ทันการณ์

หนังตาตกอาจส่งผลกระทบต่อการมองเห็น ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการขับขี่ยานพาหนะหรือกิจกรรมอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ หรือขึ้นและลงบันได ผู้ป่วยต้องระมัดระวังอย่างมากและควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เป็นการป้องกันอันตรายและดูแลไม่ให้อาการแย่ลง

นอกจากนั้น หากพบว่าหนังตาตกทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ อาจใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ รวมไปถึงผู้ที่เป็นโรคตาบางชนิดที่เป็นสาเหตุให้หนังตาตก ควรพบแพทย์เพื่อรักษาโรคนั้น ๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเพิ่ม