หมากัด

ความหมาย หมากัด

หมากัดหรือสุนัขกัด สามารถพบได้บ่อยโดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่ผู้ปกครองควรเฝ้าดูอย่างระมัดระวัง เนื่องจากสุนัขเป็นสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับมนุษย์มากที่สุด พบได้ทั่วไปตามบ้านเรือน โดยแผลถูกกัดจากเขี้ยวสุนัขอาจลึกไปถึงกล้ามเนื้อ กระดูก เส้นประสาท หรือหลอดเลือด และอาจนำไปสู่การติดเชื้ออย่างโรคพิษสุนัขบ้าและโรคบาดทะยักได้

หมากัด

อาการของการถูกหมากัด

สุนัขเป็นสัตว์ที่มีเขี้ยวกลม ออกแรงกัดโดยใช้ขากรรไกร ซึ่งหากรุนแรงอาจสร้างความเสียหายต่อเนื้อเยื่อภายใต้ผิวหนัง รวมไปถึงบริเวณกระดูก กล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ หลอดเลือด และเส้นประสาทได้ โดยหากเป็นการถูกกัดที่ทำให้เกิดแผลลึก ผิวหนังเสียหาย  มีเลือดออก ควรไปพบแพทย์ทันทีหลังจากทำความสะอาดแผลเบื้องต้นแล้ว

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่สังเกตเห็นอาการที่บ่งบอกถึงการติดเชื้อของแผล ดังนี้

  • มีอาการแดงและบวมรอบ ๆ แผลถูกกัด
  • รู้สึกอุ่น ๆ ที่แผลและเจ็บขึ้นเรื่อย ๆ
  • มีของเหลวหรือน้ำหนองไหลออกจากแผล
  • มีเหงื่อออกและหนาวสั่น
  • มีไข้ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • มีอาการบวมของต่อมน้ำเหลืองใต้คาง ในลำคอ ใต้วงแขน หรือขาหนีบ
  • อาการแดงที่แผลถูกกัด และแดงลามไปยังผิวหนังบริเวณอื่น ๆ

สาเหตุของการถูกหมากัด

ในจำนวนผู้ที่ถูกสุนัขกัด กว่าครึ่งถูกกัดโดยสุนัขที่คุ้นเคยดีแถว ๆ บริเวณบ้าน เช่น สุนัขของเพื่อนบ้าน หรือสุนัขเร่ร่อนในพื้นที่นั้น และทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในบ้านที่เลี้ยงสุนัขจะเสี่ยงต่อการถูกกัดมากกว่าบ้านที่ไม่เลี้ยงสุนัข โดยพบว่าผู้ใหญ่ที่เลี้ยงสุนัขตั้งแต่ 2 ตัวขึ้นไปมีโอกาสถูกกัดมากกว่าผู้ที่ไม่มีสุนัขอยู่ภายในบ้านถึง 5 เท่า

ยิ่งจำนวนสุนัขที่เลี้ยงมีมากเท่าไรก็ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกัดมากเท่านั้น เนื่องจากสุนัขหรือสัตว์ใด ๆ ก็ตามล้วนอาจมีพฤติกรรมไม่คาดฝันและกัดคนได้ แม้ไม่ได้ถูกยั่วยุให้โกรธ โดยปัจจัยที่อาจทำให้สุนัขหันมากัดมนุษย์ ได้แก่ การถูกรบกวนและคุกคาม หรือเมื่อพวกมันรู้สึกตื่นเต้นจนเกินไป

กลุ่มช่วงอายุที่ถูกสุนัขกัดนั้นพบได้มากที่สุดในเด็กอายุ 5-9 ปี ซึ่งการที่เด็กถูกสุนัขกัดนั้นควรได้รับการดูแลรักษาแผลถูกกัดอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ และเมื่อเทียบแนวโน้มระหว่างเพศชายและเพศหญิง จะพบว่าเพศชายมีโอกาสถูกสุนัขกัดได้มากกว่า

การรักษาแผลหมากัด

การถูกสุนัขกัดควรต้องได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ในทุกกรณี ไม่ว่ารอยกัดจะทำให้เกิดแผลที่ผิวหนัง หรือกัดลึกไปถึงกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และกระดูก รวมทั้งเมื่อมีสัญญาณของการติดเชื้อที่แผลตามมา หรือคาดว่าอาจได้รับเชื้อบาดทะยักหรือพิษสุนัขบ้า

เมื่อถูกสุนัขกัดควรใช้กระเป๋า เสื้อคลุมหรืออุปกรณ์ใด ๆ ที่มีติดตัวอยู่ในขณะนั้นกันตัวเองจากการถูกกัด หรือหากล้มลงควรป้องกันด้วยการม้วนตัวเก็บศีรษะ ใช้มือปิดใบหูและลำคอไว้ เมื่อปลอดภัยจากสุนัขแล้วให้รีบล้างแผลที่ถูกกัดด้วยสบู่และน้ำสะอาดทันที หากแผลกัดไม่รุนแรงอาจทายาปฏิชีวนะชนิดครีมเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย และปิดแผลด้วยผ้าพันแผลสะอาด แต่หากแผลลึกควรใช้ผ้าสะอาดห้ามเลือด เมื่อทำความสะอาดแผลเบื้องต้นตามขั้นตอนดังกล่าวแล้วจึงไปพบแพทย์ โดยเฉพาะในกรณีต่อไปนี้ที่ควรไปรับการตรวจรักษาโดยทันที

  • เป็นแผลรุนแรง มีเลือดออกไม่หยุด รู้สึกเจ็บมาก แผลถูกกัดเปิดออกจนเห็นกระดูก กล้ามเนื้อ หรือพบว่าบริเวณดังกล่าวใช้การไม่ได้ เช่น การถูกกัดบริเวณมือจนเอ็นกล้ามเนื้อฉีกขาดที่อาจทำให้ขยับนิ้วมือไม่ได้
  • แผลถูกกัดแดงขึ้น รู้สึกอุ่น ๆ บริเวณนั้น มีอาการเจ็บ บวม หรือมีไข้
  • ถูกกัดเป็นแผลลึกและผู้ถูกกัดไม่ได้รับการฉีดบาดทะยักใน 5 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การถูกสุนัขกัดมีความเสี่ยงหลายประการ ได้แก่ การติดเชื้อพิษสุนัขบ้า บาดทะยัก การฉีกขาดของผิวหนังหรือกล้ามเนื้อ และการมีแผลติดเชื้อ แพทย์อาจให้การรักษาผู้ป่วยที่ถูกสุนัขกัดตามความเหมาะสม ดังนี้

การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

ใครก็ตามที่ถูกสุนัขกัดล้วนมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อพิษสุนัขบ้า หากไม่แน่ใจว่าสุนัขที่ถูกกัดได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อพิษสุนัขบ้าครบแล้วหรือไม่ หรือสุนัขที่กัดดูป่วยหรือมีพฤติกรรมผิดปกติ จะได้รับการฉีดวัคซีน 2 ชนิด คือ

  • การฉีดอิมมูโนโกลบูลิน เป็นวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้าที่แพทย์จะฉีดให้โดยเร็วที่สุดในกรณีที่แผลมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคพิษสุนัขบ้า เช่น มีจำนวนหลายแผล แผลกัดลึก หรือแผลบริเวณใบหน้าหรือเยื่อบุต่าง ๆ โดยฉีดบริเวณใกล้แผลถูกกัดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือจึงจะฉีดเข้ากล้ามเนื้อ ทั้งนี้ปริมาณการฉีดคำนวนตามน้ำหนักตัวของผู้ป่วย
  • การฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้า โดยฉีดทั้งหมดจำนวน 5 ครั้ง ได้แก่ วันแรกที่ถูกกัด วันที่ 3 วันที่ 7 วันที่ 14 และวันที่ 30 โดยฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณหัวไหล่ หรือหากเป็นเด็กเล็กจะฉีดให้ที่บริเวณกล้ามเนื้อต้นขาด้านหน้าเฉียงข้าง แต่ไม่แนะนำให้ฉีดบริเวณสะโพก

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ในอดีตเคยฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้าจนครบแล้ว จะได้รับการฉีดวัคซีนกระตุ้น 2 ครั้ง คือวันแรกและวันที่ 3 ของการถูกกัด และไม่จำเป็นต้องได้รับวัคซีนอิมมูโนโกลบูลินแต่อย่างใด

การฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยัก

การป้องกันการติดเชื้อบาดทะยักจากแผลถูกกัด แพทย์จะฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักกระตุ้นให้ในกรณีที่พิจารณาว่าแผลมีความเสี่ยง หรือเมื่อผู้ป่วยไม่แน่ใจว่าได้รับวัคซีนครั้งสุดท้ายเมื่อใด โดยจะต้องได้รับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก (Tetanus Toxoi) หรือวัคซีน T จนครบ หากแผลมีขนาดใหญ่และสกปรกจะให้วัคซีน TAT และ TIG ด้วย ส่วนผู้ที่เคยได้รับวัคซีนจนครบ 4-5 ครั้งใน 5-10 ปีที่ผ่านมาจะได้รับวัคซีน T ปริมาณ 0.5 มิลลิลิตร ฉีดเข้ากล้ามเนื้อเพียงครั้งเดียว แต่สำหรับแผลที่นานกว่า 24 ชั่วโมง แพทย์จะฉีดวัคซีน T 0.5 มิลลิลิตร 1 ครั้ง พร้อมกับให้วัคซีน TAT

การรักษาแผลสุนัขกัด

แพทย์จะตรวจประเมินดูว่ากล้ามเนื้อ เอ็นกล้ามเนื้อ เส้นประสาท หรือกระดูกได้รับความเสียหายหรือไม่ โดยทั่วไปมักมีการฉีดยาชาก่อนเปิดดูโครงสร้างดังกล่าวภายใน เพื่อให้แน่ใจว่ายังอยู่ในสภาพใช้การได้ดี จากนั้นจึงใช้น้ำเกลือล้างแผลเพื่อขจัดสิ่งสกปรกและแบคทีเรียออกไปให้มากที่สุด

เมื่อทำความสะอาดแผลเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงพิจารณาว่าจะปิดแผลด้วยวิธีใด การเย็บแผลนั้นสามารถช่วยให้แผลเป็นที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดูดีขึ้น แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งการจะเลือกลดความเสี่ยงจากการเกิดแผลเป็นหรือการติดเชื้อนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณของแผลและความเห็นของแพทย์ เช่น การถูกกัดบริเวณใบหน้าอาจใช้การเย็บแผลเพื่อลดการเกิดรอยแผลเป็น แต่การถูกกัดบริเวณอื่น ๆ ของร่างกายที่สังเกตได้ไม่ชัด แพทย์อาจปล่อยให้แผลหายเองโดยไม่ต้องเย็บ

บางครั้งแผลถูกกัดอาจต้องได้รับการรักษาภายในห้องผ่าตัด หากผิวหนังถูกกัดเสียหาย ถูกกัดจนผิวหนังหรือเนื้อฉีกขาด หรือเกิดการได้รับบาดเจ็บอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องและต้องได้รับการรักษา รวมถึงทารกหรือเด็กเล็กที่ถูกสุนัขกัด ซึ่งอาจต้องได้รับยาชาเพื่อให้ผู้ป่วยอยู่นิ่งขณะรับการรักษา

นอกจากการรักษาดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้ป่วยที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออาจได้รับยาปฏิชีวนะป้องกันล่วงหน้าหรือเมื่อมีสัญญาณของการติดเชื้อแสดงให้เห็นแล้ว รวมถึงยาบรรเทาอาการปวดจากแผลถูกกัด เช่น ยาพาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน  

ภาวะแทรกซ้อนของหมากัด

นอกจากแผลบาดเจ็บ การถูกสุนัขกัดอาจเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อต่าง ๆ โดยประมาณ 18 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่ถูกกัดพบว่าเกิดการติดเชื้อจากแบคทีเรีย และภายในปากของสุนัขสามารถพบแบคทีเรียชนิดต่าง ๆ มากกว่า 60 ชนิด เช่นเดียวกับในปากของคน แต่ในจำนวนนี้ก็มีแบคทีเรียเพียงบางชนิดเท่านั้นที่อาจทำให้เกิดอาการป่วย โดยโรคที่อาจได้รับจากสุนัขที่ควรพึงระวัง มีดังนี้

  • โรคพิษสุนัขบ้า เป็นหนึ่งในโรคร้ายแรงที่อาจได้รับการแพร่เชื้อจากการถูกสุนัขกัด แม้ปัจจุบันจะพบได้น้อยลงแล้ว แต่ก็ยังต้องเฝ้าระวัง เพราะเป็นโรคที่ร้ายแรง โดยอาจส่งผลต่อสมองและทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งวิธีการแพร่กระจายของเชื้อพิษสุนัขบ้านี้ก็มักเกิดจากการถูกกัดและได้รับน้ำลายของสัตว์ที่ติดเชื้อ โรคนี้สามารถควบคุมโรคด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันให้กับสุนัข
  • บาดทะยัก เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีพิษร้ายแรง จนอาจส่งผลให้เกิดอัมพาตและปัญหาอื่น ๆ เมื่อถูกกัดลึก
  • การติดเชื้อ Capnocytophaga spp ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ภายในปากของมนุษย์ สุนัข และแมว โดยจะไม่ทำให้สุนัขหรือแมวได้รับเชื้อจนป่วย แต่สามารถแพร่ไปสู่มนุษย์ผ่านแผลถูกกัดและรอยขีดข่วน จนเกิดอาการเจ็บป่วยได้ อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่ที่สัมผัสใกล้ชิดกับสุนัขมักไม่ได้รับผลกระทบจากเชื้อนี้ แต่อาจมีความเสี่ยงสูงในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ
  • โรคแบคทีเรีย Pasteurella เป็นแบคทีเรียที่พบได้ในแผลติดเชื้อสุนัขสัตว์กัดกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ มักส่งผลให้เกิดการติดเชื้อที่มีอาการปวดและแดงบริเวณแผลถูกกัด และมักพบร่วมกับอาการต่อมน้ำเหลืองบวม ข้อต่อบวม และเคลื่อนไหวลำบาก นอกจากนี้ยังอาจก่อให้เกิดโรคร้ายแรงได้ในผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอได้
  • การติดเชื้อเมธิซิลลิน รีซิสแตนท์ สแตฟีโลค็อคคัส ออรีอัส (MASA) เป็นเชื้อที่ดื้อยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม สุนัขและสัตว์อื่น ๆ อาจเป็นพาหะเชื้อนี้โดยไม่ปรากฏอาการ หรือบางคนที่มีสุขภาพดีก็อาจมีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้โดยไม่มีอาการหรือติดเชื้อ แต่สำหรับบางคน แบคทีเรียนี้อาจส่งผลให้มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ปอด และในระบบทางเดินปัสสาวะ หรือในขั้นรุนแรง เชื้ออาจแพร่กระจายไปยังกระแสเลือดหรือปอดจนเกิดการติดเชื้อที่ส่งผลต่อชีวิตได้

การป้องกันหมากัด

เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด ควรเลือกเลี้ยงสุนัขสายพันธุ์ที่เป็นมิตร และไม่ควรเลี้ยงสุนัขที่มีนิสัยค่อนข้างก้าวร้าวในบ้านที่มีทารกหรือเด็กเล็กอยู่ ทั้งนี้สุนัขนั้นเป็นสัตว์สังคมที่สามารถเข้าสังคมและเป็นมิตรได้หากได้รับการฝึกที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การป้องกันไม่ให้สุนัขกัด มีข้อควรระมัดระวังดังนี้

  • ไม่เข้าใกล้สุนัขเร่ร่อนหรือสุนัขที่ไม่คุ้นเคย โดยเฉพาะเมื่อเจ้าของสุนัขไม่อยู่
  • ควรถามเจ้าของสุนัขก่อนว่าจะสามารถเล่นกับสุนัขได้หรือไม่
  • อย่าเข้าใกล้สุนัขที่ไม่คุ้นเคยขณะที่มันกำลังกินอาหาร นอนหลับ หรือเลี้ยงดูลูก
  • ไม่เข้าใกล้สุนัขอย่างรวดเร็วจนเกินไป หรือเข้าหาจากด้านบน และควรรอเวลาให้สุนัขทำความคุ้นชินหรือดมเสียก่อนจะเล่นด้วย
  • อย่าปล่อยให้ทารกหรือเด็กเล็กอยู่กับสุนัขตามลำพังโดยไม่มีคนคอยเฝ้าดู ไม่ว่าจะเป็นสุนัขพันธุ์ใด หรือแม้สุนัขดังกล่าวจะไม่เคยมีพฤติกรรมก้าวร้าวหรือกัดมาก่อน

ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญหน้ากับสุนัข สุนัขเห่า วิ่งไล่ หรือมีท่าทีเป็นศัตรูควรทำดังนี้

  • หยุดและอยู่เฉย ๆ ควบคุมสติให้สงบ และอย่าวิ่งหนีหรือกรีดร้อง
  • หลีกเลี่ยงการมองสบตาหรือจ้องสุนัขโดยตรง
  • ยืนให้ลำตัวด้านข้างหันเข้าหาสุนัข เพราะการหันหน้าเข้าโดยตรงอาจทำให้สุนัขคิดว่ามีเจตนาร้ายหรือต้องการคุกคาม
  • พูดไล่สุนัขด้วยเสียงดุ ต่ำ มั่นใจ อย่าแสดงความหวาดกลัว
  • ค่อย ๆ ยกมือขึ้นไปแตะลำคอในลักษณะงอข้อพับแขนเข้า
  • รอจนสุนัขเดินผ่านไปหรือถอยกลับไปยังที่เดิม