ความหมาย หัวใจวาย (Heart Failure)
หัวใจวาย (Heart Failure) คือภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียการทำงานจนไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกายได้ โดยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น หลอดเลือดหัวใจตีบ และความดันโลหิตสูงจนทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแอลง โรคหัวใจไม่สามารถรักษาให้หายได้ แต่การได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมจะช่วยควบคุมไม่ให้อาการทรุดลงได้
หัวใจวายเกิดได้ในคนทุกวัย แต่มักพบบ่อยในคนสูงอายุ โดยเฉพาะในเพศชาย หัวใจวายเป็นปัญหาสุขภาพระยะยาวที่ต้องมีการควบคุมและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพราะหากอาการรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อีกทั้งยังสามารถกลับมากำเริบได้ และอาจนำไปสู่โรคอื่น ๆ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง
สาเหตุของหัวใจวาย
หัวใจวายเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมักเกี่ยวข้องกับการทำงานของหัวใจที่ผิดปกติ และปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังนี้
ความผิดปกติของหัวใจ
ความผิดปกติของหัวใจที่ทำให้เกิดหัวใจวาย มีดังนี้
- โรคหลอดเลือดหัวใจ การอุดตันของหลอดเลือด เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหัวใจวายได้
- ความดันโลหิตสูง ทำให้เกิดแรงดันที่หัวใจมากขึ้น หากติดต่อกันเป็นเวลานาน ๆ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจสูญเสียการทำงาน เป็นสาเหตุของหัวใจวาย
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ (Cardiomyopathy) คือสาเหตุโดยตรงที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ไม่เต็มที่
- การเต้นของหัวใจผิดจังหวะ (Arrhythmias) เช่น ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพริ้ว (Atrial Fibrillation) ซึ่งทำให้การเต้นของหัวใจแปรปรวน
- ปัญหาที่ลิ้นหัวใจ ความเสียหายของลิ้นหัวใจหรือปัญหาอื่น ๆ ที่เกิดบริเวณลิ้นหัวใจ ส่งผลให้การทำงานของหัวใจลดลง
- หัวใจพิการโดยกำเนิด (Congenital Heart Disease) ความพิการโดยกำเนิดของหัวใจที่ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ
สาเหตุอื่น ๆ
ผู้ป่วยอาจเกิดหัวใจวายได้หากมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เหล่านี้
- โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงขึ้นจะทำให้ความเสี่ยงโรคความดันโลหิตและโรคหลอดเลือดหัวใจสูงขึ้น
- การหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง และเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อันเป็นหนึ่งในสาเหตุของหัวใจวาย
- โรคอ้วน ยิ่งมีน้ำหนักตัวมากก็ยิ่งเสี่ยงต่อหัวใจวาย
- โรคอื่น ๆ เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ โรคโลหิตจาง ความดันภายในปอดสูง และการติดเชื้อไวรัสบางชนิดที่ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเกิดความเสียหาย
- พฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่มีไขมันและคอเลสเตอรอลสูง การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่ ทำให้กล้ามหัวใจอ่อนแอลง และเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวาย
- การใช้ยาบางชนิด ได้แก่ ยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ยาไพโอกลิตาโซน (Pioglitazone) ซึ่งเป็นยารักษาโรคเบาหวาน ยารักษาโรคมะเร็ง ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสด (NSAIDs) ยารักษาโรคปอด ยาฆ่าเชื้อ ยาเหล่านี้อาจไปกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงหัวใจวายได้
อาการหัวใจวาย
เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจทำงานลดลงเนื่องจากความอ่อนแอหรือการเสื่อมสภาพ ระบบไหลเวียนของเลือดก็จะผิดปกติ เป็นเหตุให้เลือดไม่สามารถไหลเวียนนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ในร่างกายได้ โดยภาวะหัวใจวายแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ หัวใจห้องซ้ายวาย และหัวใจห้องขวาวาย หากหัวใจห้องซ้ายวายมักกระตุ้นให้เกิดหัวใจห้องขวาวายตามไปด้วย โดยหัวใจห้องซ้ายวายแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่
- หัวใจวายชนิดที่การบีบตัวผิดปกติ (Systolic Heart Failure) เป็นอาการหัวใจวายที่ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ดีเท่าที่ควร เลือดจึงไหลกลับเข้าไปในปอด และทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดตามมา
- หัวใจวายชนิดที่การคลายตัวผิดปกติ (Diastolic Heart Failure) อาการหัวใจวายที่ทำให้หัวใจไม่คลายตัว เป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนเข้าสู่หัวใจน้อยลง
อาการหัวใจวายที่พบจะขึ้นอยู่กับประเภทของหัวใจวายและความรุนแรงของอาการ ในระยะแรกอาจไม่มีอาการชัดเจน แต่เมื่อเวลาผ่านไป การทำงานของหัวใจจะยิ่งอ่อนแอลง ซึ่งอาการที่มักพบได้แก่
- หายใจลำบาก หายใจหอบ และหายใจแล้วมีเสียง โดยเฉพาะหลังจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ หากอยู่ในขั้นรุนแรงก็อาจเป็นในระหว่างที่พักด้วย จะยิ่งหนักขึ้นเมื่อผู้ป่วยนอนราบ ซึ่งอาจนำมาสู่การสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะหายใจไม่ออก
- ไอเรื้อรัง และจะไออย่างรุนแรงในเวลากลางคืน
- อ่อนเพลีย ผู้ป่วยอาจมีอาการเหนื่อยเกือบตลอดเวลา และอาจเป็นลมได้หากออกกำลังกาย
- นอนหลับยาก เนื่องจากหายใจติดขัดและไอ
- ขาและข้อเท้าบวม เกิดจากการบวมน้ำ โดยจะมีอาการบวมเกือบตลอดทั้งวัน ยกเว้นในเวลาช่วงเช้าที่จะไม่รุนแรงมากนัก
- ริมฝีปากและนิ้วเปลี่ยนเป็นสีเขียวคล้ำ
- ท้องอืด คลื่นไส้ ความอยากอาหารลดลง
- น้ำหนักตัวลดลงหรือเพิ่มขึ้นหรือผิดปกติ
- รู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย
- มีอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ใจสั่น จากการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ
อาการที่ควรไปพบแพทย์
หากรู้สึกเหนื่อยง่าย หายใจถี่ หรือมีอาการบวมที่ขาและข้อเท้า ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจอย่างละเอียด รวมถึงผู้ป่วยบางคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิตร่วมด้วย เช่น อารมณ์ซึมเศร้า หรือวิตกกังวล ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจเช่นกัน
นอกจากนั้น หากเกิดอาการผิดปกติเหล่านี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นอาการหัวใจวายขั้นรุนแรงที่อาจทำให้เสียชีวิตได้
- เจ็บหน้าอก
- เป็นลม หรือมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงที่ค่อนข้างหนัก
- หัวใจเต้นเร็ว หรือเต้นผิดจังหวะร่วมกับอาการหายใจลำบาก
- ไอออกมาเป็นเสมหะที่มีสีออกชมพูหรือมีเลือดปน
การวินิจฉัยภาวะหัวใจวาย
แพทย์จะทำการซักประวัติในการรักษา รวมทั้งอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และหากสงสัยว่าจะเป็นภาวะหัวใจวายก็จะทำการสั่งตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อยืนยันผล ได้แก่
การตรวจเลือด
แพทย์จะนำตัวอย่างเลือดที่ได้จากผู้ป่วยไปตรวจดูการทำงานของระบบต่าง ๆ เช่น ตับ ไต และไทรอยด์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจวาย นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจระดับสารเคมีในเลือด (N-terminal pro-B-type Natriuretic Peptide: NT-proBNP) ที่ช่วยในการระบุภาวะหัวใจวายได้ง่ายขึ้น
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG)
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นการตรวจโดยบันทึกการทำงานของกระแสไฟฟ้าภายในหัวใจ โดยติดเครื่องมือที่ใช้บริเวณหน้าอก
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงเป็นวิธีการตรวจหาภาวะหัวใจวายที่นิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากได้ผลค่อนข้างชัดเจน โดยแพทย์จะใช้อุปกรณ์พิเศษปล่อยคลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อดูขนาด และความสามารถของหัวใจ (The Ejection Fraction: EF) ทำให้ทราบประสิทธิภาพในการทำงานของหัวใจ การสูบฉีดเลือด รวมถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับหัวใจ
การตรวจด้วยการออกกำลัง (Exercise Test / Stress Test)
การตรวจนี้ใช้เพื่อตรวจสมรรถภาพหัวใจ โดยให้ผู้ป่วยออกกำลังกาย เช่น เดินบนสายพาน และปั่นจักรยานไฟฟ้า เพื่อดูการทำงานของหัวใจขณะออกกำลังกาย
การวินิจฉัยด้วยภาพ
การวินิจฉัยด้วยภาพ เช่น การทำซีที สแกน (CT Scan) และเอ็มอาร์ไอ (MRI) ทรวงอก จะช่วยให้แพทย์เห็นการทำงานของหัวใจ นอกจากนี้ การเอกซเรย์ทรวงอกจะช่วยให้เห็นลักษณะของปอดและหัวใจว่ามีความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับหัวใจวายหรือไม่
โดยผู้ป่วยอาจได้รับการตรวจด้วยการสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiography) ผ่านทางข้อพับและขาหนีบ และฉีดสารทึบรังสีเข้าไปควบคู่กับการเอกซเรย์ด้วย ทำให้เห็นภาพจุดที่หลอดเลือดหัวใจตีบตัน
การตรวจชิ้นกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardial Biopsy)
การตรวจชิ้นกล้ามเนื้อหัวใจเป็นการตรวจด้วยการสอดกล้องขนาดเล็กติดอุปกรณ์เพื่อเก็บตัวอย่างกล้ามเนื้อหัวใจไปตรวจ ซึ่งจะช่วยในการระบุโรคที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจอันเป็นสาเหตุของหัวใจวายได้
ทั้งนี้ ผลการตรวจจะสามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวระบบหัวใจและหลอดเลือด อยู่ในภาวะหัวใจวายหรือไม่ และอยู่ในระยะใด จากนั้นแพทย์ก็จะใช้ผลดังกล่าวประกอบในการวางแผนการรักษา โดยหัวใจวาย แบ่งออกได้เป็น 4 ระยะดังนี้
- ระยะที่ 1 ไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ขณะที่ทำกิจกรรมหรือในอิริยาบถต่าง ๆ
- ระยะที่ 2 ไม่มีอาการใด ๆ ขณะพัก แต่เมื่อทำกิจกรรมปกติในชีวิตประจำวันจะมีอาการของหัวใจวายเกิดขึ้น
- ระยะที่ 3 ไม่มีอาการใด ๆ ขณะพัก แต่เมื่อทำกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ใช้แรงไม่มากจะมีอาการเกิดขึ้น
- ระยะที่ 4 มีอาการกำเริบแม้ในขณะที่พัก และไม่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้
การรักษาหัวใจวาย
หัวใจวายเป็นภาวะที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการไม่ให้รุนแรงมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันมีหลายวิธีการรักษาที่จะช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งต้องทำควบคู่กับการปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เพราะจะช่วยให้บรรเทาอาการหัวใจวายได้ส่วนหนึ่ง อีกทั้งยังลดความเสี่ยงต่ออาการที่ร้ายแรงมากขึ้น
1. การปรับพฤติกรรม
ผู้ป่วยโรคหัวใจควรดูแลตัวเองและปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักผลไม้ เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ธัญพืชขัดสีน้อย นมพร่องมันเนย และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสชาติเค็มจัด เลิกสูบบุหรี่ ควบคุมปริมาณการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และออกกำลังกายเป็นประจำตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
นอกจากนี้ ควรทำกิจกรรมที่ช่วยผ่อนคลายความเครียด ซึ่งจะช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น หากนอนหงายแล้วหายใจลำบาก ควรใช้หมอนอีกใบหนุนศีรษะให้สูงขึ้น หากมีอาการนอนกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาต่อไป
2. การใช้ยา
ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องใช้ยาในการรักษาอาการ และอาจใช้ยาหลาย ๆ ตัวร่วมกันเพื่อควบคุมอาการและลดความเสี่ยง ซึ่งยาที่แพทย์มักสั่งจ่ายให้ผู้ป่วย ได้แก่
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors) เป็นยาลดความดันโลหิต ที่มีฤทธิ์ช่วยลดความดันในหลอดเลือด แต่มีผลข้างเคียงที่อาจทำให้เกิดอาการไอแห้งเนื่องจากการระคายเคืองคอ และความดันโลหิตต่ำลง จึงจำเป็นต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์
- ยาปิดกั้นการทำงานของแองกิโอเทนซิน รีเซฟเตอร์ (Angiotensin Receptor Blockers: ARBs) เป็นยาที่มีคุณสมบัติคล้ายยาเอซีอี อินฮิบิเตอร์ โดยทั่วไปจะใช้ก็ต่อเมื่อยาข้างต้นใช้ไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ ยานี้จะทำให้ความดันโลหิตลดลง และอาจกระทบต่อระดับโพแทสเซียมในร่างกายได้อีกด้วย ดังนั้นหากมีการใช้ยานี้จะต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- ยาปิดกั้นการทำงานของเบต้า (Beta-Blockers) ช่วยชะลอการทำงานของหัวใจ และลดความดันโลหิต รวมทั้งป้องกันผลกระทบจากการที่ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีนและนอร์อะดรีนาลีนออกมาจากร่างกาย ยานี้อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียง เช่น วิงเวียนศีรษะ อาการเหนื่อย หรือมองไม่ชัดได้
- ยาลดการบีบตัวของหัวใจ (Hydralazine with Nitrate) อาจใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ได้ ซึ่งจะต้องใช้ภายใต้คำสั่งของแพทย์เท่านั้น
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) ใช้เพื่อขับน้ำส่วนเกินในร่างกาย และระบายของเหลวออกจากปอดทำให้หายใจได้สะดวกขึ้น
- ยาไดจอกซิน (Digoxin) ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของการบีบตัวของหัวใจ และช่วยลดอัตราการเต้นของหัวใจ สามารถใช้ร่วมกับยาชนิดอื่นได้ แต่มีผลข้างเคียง คืออาจทำให้เวียนศีรษะ และมองเห็นไม่ชัด
3. การติดอุปกรณ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ
ผู้ป่วยบางคนอาจต้องใช้อุปกรณ์เพื่อกระตุ้นการทำงานหรือควบคุมจังหวะบีบและคลายของกล้ามเนื้อหัวใจเพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ อุปกรณ์ที่แพทย์มักเลือกใช้มีดังนี้
- เครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemakers) ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้ากว่าปกติ อุปกรณ์นี้จะช่วยกระตุ้นให้หัวใจเต้นได้ตามปกติด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ เป็นจังหวะไปที่หัวใจ ทั้งนี้ยังไม่พบว่าอุปกรณ์ก่อให้เกิดผลข้างเคียงอันตราย
- เครื่องกระตุ้นหัวใจถาวร (Cardiac Resynchronisation Therapy) ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจวายในระยะที่หัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้แล้ว และส่งผลต่อการทำงานของหัวใจส่วนอื่น ๆ แพทย์จะพิจารณาติดอุปกรณ์ดังกล่าวให้ โดยอุปกรณ์จะช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable Cardioverter Defibrillators) หากแพทย์พบว่าผู้ป่วยมีอาการหรือมีความเสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ การทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้คือ หากหัวใจเริ่มมีจังหวะการเต้นที่ผิดปกติมากเกินไป เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อน ๆ ออกมาเพื่อกระตุ้นให้หัวใจกลับมาเต้นตามปกติ
- เครื่องกระตุ้น และกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (CRT-Ds) สำหรับผู้ป่วยหัวใจวายที่มีอัตราการเต้นของหัวใจที่ช้าและผิดปกติ แพทย์จะใช้อุปกรณ์นี้ในการกระตุ้นการทำงานของหัวใจให้ดีขึ้น โดยจะช่วยกระตุ้นการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ และปรับจังหวะการเต้นให้อยู่ในระดับปกติ
โดยผู้ป่วยจะได้รับยาสลบ และอุปกรณ์จะถูกติดไว้ใต้ผิวหนัง ผู้ป่วยจะต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลจนกว่าแพทย์จะมั่นใจว่าอุปกรณ์ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ
4. การผ่าตัด
การผ่าตัดจะใช้ในผู้ป่วยรายที่แพทย์พิจารณาแล้วว่าการผ่าตัดเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลมากกว่า ซึ่งการรักษาภาวะหัวใจวายด้วยการผ่าตัดจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้หัวใจวาย โดยมีวิธีการผ่าตัดผู้ป่วยที่หัวใจวายมีหลายวิธี ดังนี้
การผ่าตัดลิ้นหัวใจ
หากสาเหตุมาจากความเสียหายที่ลิ้นหัวใจ แพทย์จะพิจารณาให้ทำการผ่าตัดลิ้นหัวใจ โดยการผ่าตัดแบ่งออกเป็น 2 ชนิดคือ การผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจ และการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งในการการเลือกชนิดของการผ่าตัดนั้น แพทย์จะพิจารณาจากความเสียหาย และความรุนแรงของปัญหาของลิ้นหัวใจเป็นหลัก
การผ่าตัดขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูน (Coronary Angioplasty)
การผ่าตัดบอลลูนหัวใจเป็นการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยมุ่งเน้นไปที่การขยายหลอดเลือดที่ตีบหรืออุดตันให้เลือดสามารถไหลเวียนได้ดีขึ้น
การผ่าตัดบายพาสหัวใจ (Coronary Artery Bypass Graft: CABG)
การผ่าตัดบายพาสหัวใจเป็นการผ่าตัดรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยนำหลอดเลือดจากส่วนอื่นของร่างกายมาทำทางเบี่ยงให้หลอดเลือด เพื่อให้เลือดสามารถไหลเวียนไปที่หัวใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การผ่าตัดติดตั้งเครื่องช่วยสูบฉีดเลือด (Left Ventricular Assist Devices)
ในกรณีที่หัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หรือการรักษาด้วยยาไม่ได้ผล แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยผ่าตัดเพื่อติดตั้งเครื่องช่วยสูบฉีดเลือด นอกจากนี้วิธีการผ่าตัดดังกล่าวยังใช้กับผู้ที่ไม่สามารถผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ หรืออยู่ในระหว่างรอรับการปลูกถ่ายหัวใจ ทั้งนี้อุปกรณ์ดังกล่าวจะมีแบตเตอรีอยู่ภายนอก และมีสายที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ผิวหนัง
การผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ (Heart Transplant)
ผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจวายรุนแรง และการรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ ให้ผลไม่เป็นที่น่าพึงพอใจหรือไม่ได้ผล แพทย์จะพิจารณาให้ผู้ป่วยผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจ ทว่าการผ่าตัดชนิดนี้ค่อนข้างซับซ้อนและมีความเสี่ยงสูง อีกทั้งยังต้องรอรับการบริจาคหัวใจจากผู้บริจาค ซึ่งอาจใช้เวลานับปีกว่าจะเจอหัวใจที่เข้ากับผู้ป่วยได้
ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจวาย
ส่วนใหญ่ภาวะแทรกซ้อนจะเกิดขึ้นจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย ทำให้อวัยวะอื่นได้รับเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงไม่เพียงพอจนเกิดการเสื่อมสภาพ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาการรักษาแพทย์จะคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อที่แพทย์จะสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดอาการอื่น ๆ ขึ้น โดยภาวะแทรกซ้อนที่มักพบได้ คือ
อาการอ่อนเพลีย
อาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง เกิดจากการที่ร่างกายสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะได้รับออกซิเจนลดลงจนทำให้อ่อนเพลียอย่างรุนแรงได้
ความเสียหายต่อตับและไต
เมื่อไตไม่ได้รับเลือดและออกซิเจนอย่างเพียงพอ ไตก็จะเริ่มเสื่อม และอาจส่งผลให้ไตวายเรื้อรังได้ในเวลาต่อมา ผู้ป่วยจะต้องใช้วิธีการฟอกไตเข้าช่วย นอกจากนี้ หัวใจวายอาจทำให้ตับเสียหายจากการสะสมของเหลวมากขึ้นทำให้ตับทำงานผิดปกติ และเกิดความเสียหายได้
โรคหัวใจอื่น ๆ
หัวใจวายอาจทำให้เกิดโรคลิ้นหัวใจ โดยลิ้นหัวใจมีหน้าที่ในการควบคุมการไหลเวียนของเลือดที่ผ่านหัวใจ แต่เมื่อหัวใจวาย ก็จะทำให้มีอาการหัวใจโต หรือหัวใจเกิดแรงดันภายในมากขึ้น จนลิ้นหัวใจไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมสภาพตามมาในที่สุด
นอกจากนี้ อาจทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ โดยเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจทำงานผิดปกติ ก็จะส่งผลต่อการเต้นของหัวใจได้ และอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ด้วย
ภาวะขาดสารอาหาร
ภาวะขาดสารอาหารจากอาการคลื่นไส้และบวมในช่องท้อง ผู้ป่วยจะรับประทานอาหารได้ลำบาก รวมถึงการไหลเวียนของเลือดไปที่กระเพาะจะลดลง ซึ่งอาจทำให้การดูดซึมสารอาหารทำได้ยากขึ้น
ภาวะหัวใจวายส่งกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่ในระยะรุนแรง จะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้
การป้องกันหัวใจวาย
การปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเป็นหนึ่งในวิธีสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงภาวะหัวใจวาย ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ยังควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกินเกณฑ์ พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงความเครียด
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัว เช่น โรคเกี่ยวกับหลอดเลือด โรคเบาหวาน หรือโรคความดันโลหิตสูง ควรรับประทานยาและควบคุมอาหารตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยลดความเสี่ยงหัวใจวายได้เช่นกัน