หูอื้อจากแรงดันอากาศ

ความหมาย หูอื้อจากแรงดันอากาศ

หูอื้อจากแรงดันอากาศ เป็นอาการหูอื้อที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ มักมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงระดับความสูงอย่างกะทันหัน จนทำให้เกิดแรงดันที่แก้วหูและเนื้อเยื่อของหูชั้นกลาง เช่น ระหว่างเครื่องบินขึ้นหรือลง ระหว่างที่ปีนเขา เป็นต้น เมื่อความดันอากาศภายในหูชั้นกลางกับความดันอากาศภายนอกไม่เท่ากัน จะส่งผลให้รู้สึกเจ็บหรือแน่นตื้อภายในหู ไม่สบายหู หรือได้ยินเสียงเบาลง

Airplane Ear

อาการหูอื้อจากแรงดันอากาศ

หูอื้อจากแรงดันอากาศอาจเกิดกับหูเพียงข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง โดยมีอาการบ่งชี้ ดังนี้

  • รู้สึกไม่สบายหู หรือรู้สึกเจ็บภายในหู
  • รู้สึกแน่นตื้อภายในหู
  • ได้ยินเสียงเบาลง

ส่วนผู้ที่มีอาการหูอื้อรุนแรง หรืออาการหูอื้อเกิดขึ้นอย่างยาวนานโดยไม่ดีขึ้น อาจมีอาการดังต่อไปนี้

  • รู้สึกเจ็บภายในหูอย่างรุนแรง
  • รู้สึกแน่นตื้อภายในหูอย่างมากคล้ายเวลาดำน้ำลึก
  • ได้ยินเสียงภายในหูคล้ายเสียงจิ้งหรีดหรือแมลงหวี่
  • ไม่ค่อยได้ยินเสียงจากภายนอก หรือได้ยินเสียงเบามาก
  • วิงเวียนศีรษะหรือมีอาการบ้านหมุน ซึ่งอาจมีอาการคลื่นไส้และอาเจียนตามมา
  • มีเลือดออกจากจมูกหรือหู

สาเหตุของหูอื้อจากแรงดันอากาศ

หูของคนเราจะรับรู้ถึงความดันอากาศและความดันน้ำภายนอกที่เปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว โดยภายในหูนั้นมีท่อยูสเตเชียนที่เป็นท่อเล็ก ๆ อยู่ภายในหูชั้นกลาง ซึ่งเชื่อมต่อไปยังโพรงจมูกส่วนหลังและช่องคอส่วนบน ท่อนี้มีหน้าที่ปรับความดันอากาศภายในหูให้สมดุลกับความดันอากาศภายนอก แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่มีระดับความสูงจากพื้นดินเปลี่ยนไปอย่างกะทันหันระหว่างนั่งเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นหรือลง ระหว่างที่ขับรถขึ้นภูเขา หรือขณะดำน้ำ ท่อยูสเตเชียนอาจตอบสนองต่อความดันอากาศที่เปลี่ยนไปไม่ทัน ความดันอากาศภายในกับภายนอกหูจึงไม่เท่ากัน ทำให้แรงดันอากาศในท่อยูสเตเชียนผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการหูอื้อตามมา

ทั้งนี้ ผู้ที่มีปัจจัยต่อไปนี้ อาจเสี่ยงเกิดอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศมากกว่าปกติ

  • มีท่อยูสเตเชียนขนาดเล็กและแคบ เช่น ทารก หรือเด็กเล็ก เป็นต้น
  • ป่วยเป็นหวัด หูชั้นกลางอักเสบ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ
  • นอนหลับระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือบินลง ทำให้ไม่มีการเตรียมรับมือกับแรงดันอากาศที่เปลี่ยนไป

การวินิจฉัยหูอื้อจากแรงดันอากาศ

หากหูอื้อจากการเปลี่ยนแปลงของแรงดันอากาศโดยมีอาการไม่รุนแรง อาการอาจหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่หากมีอาการหูอื้อร่วมกับอาการเจ็บในหูหรือมีเลือดออกมาจากหู ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาทันที โดยในขั้นแรกแพทย์จะสอบถามถึงอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น และอาจใช้กล้องส่องตรวจหู (Otoscope) รวมถึงตรวจดูลักษณะแก้วหู เพราะแก้วหูของผู้ป่วยมักโป่งออกหรือยุบตัวผิดปกติ และอาจพบรอยฉีกขาดที่แก้วหูด้วย

นอกจากนี้ แพทย์อาจฉีดลมเข้าไปในช่องหู เพื่อตรวจหาว่ามีของเหลวอย่างเลือดอยู่ภายในหูชั้นกลางบริเวณที่ลึกเข้าไปจากแก้วหูหรือไม่ ส่วนผู้ป่วยหูอื้อที่มีอาการบ้านหมุนร่วมด้วย แพทย์จะตรวจสมรรถภาพการได้ยิน เพื่อตรวจหาความเสียหายภายในโครงสร้างของหูชั้นใน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติ

การรักษาหูอื้อจากแรงดันอากาศ

โดยส่วนใหญ่ อาการหูอื้อจะค่อย ๆ ทุเลาลงและหายไปได้เอง อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้ อาจช่วยบรรเทาอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศได้

  • หาว
  • กลืนน้ำลาย
  • เคี้ยวหมากฝรั่ง
  • ใช้เทคนิคการปรับแรงดันหู โดยใช้มือบีบจมูก ปิดปากให้สนิท จากนั้นพยายามพ่นลมออกทางจมูก วิธีนี้จะช่วยกระตุ้นให้ท่อยูสเตเชียนเปิดออก และสามารถปรับความดันอากาศภายในหูให้เท่ากับภายนอกได้ตามปกติ

ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือมีอาการอย่างเรื้อรัง อาจจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การใช้ยา แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาเพื่อกระตุ้นให้ท่อยูสเตเชียนกลับมาทำงานได้ตามปกติ หรือให้ใช้ยาที่ช่วยรักษาการติดเชื้อหรือการอักเสบที่อาจเป็นสาเหตุของอาการหูอื้อ เช่น สเปรย์แก้คัดจมูก ยาแก้คัดจมูก ยาต้านฮิสทามีน ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เป็นต้น
  • การผ่าตัด ในรายที่มีอาการรุนแรงมาก แพทย์อาจผ่าตัดกรีดแก้วหูให้เป็นแผลเล็ก ๆ เพื่อเปิดช่องให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าหูชั้นกลางและให้เกิดการปรับสมดุลของความดันอากาศ รวมถึงระบายของเหลวหรือเลือดที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวออก นอกจากนั้น แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ที่เสี่ยงต่ออาการหูอื้ออย่างเด็กเล็ก ผู้ที่ต้องโดยสารเครื่องบินเป็นประจำ และผู้ป่วยหูอื้อเรื้อรัง เข้ารับการเจาะเยื่อแก้วหูและใส่ท่อระบาย เพื่อป้องกันหูชั้นกลางติดเชื้อเมื่อเกิดภาวะท่อยูสเตเชียนทำงานผิดปกติ

ภาวะแทรกซ้อนของหูอื้อจากแรงดันอากาศ

โดยปกติอาการหูอื้อจากแรงดันอากาศนั้นจะไม่ส่งผลกระทบระยะยาวต่อผู้ป่วย แต่หากมีอาการหูอื้อที่รุนแรง หูอื้ออย่างเรื้อรัง หรือมีโครงสร้างของหูชั้นกลางและหูชั้นในเกิดความเสียหายร่วมด้วย อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตราย เช่น การติดเชื้อในหู แก้วหูทะลุ ปวดหูเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนเรื้อรัง ภาวะมีเสียงในหูเรื้อรัง ภาวะสูญเสียการได้ยิน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ที่มีอาการหูอื้อร่วมกับอาการปวดหู ได้ยินเสียงเบาลงอย่างต่อเนื่องหรือเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที

การป้องกันหูอื้อจากแรงดันอากาศ

อาการหูอื้อจากแรงดันอากาศสามารถป้องกันได้ เพียงปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • หาว กลืนน้ำลาย กลืนอาหาร อมลูกอม หรือเคี้ยวหมากฝรั่งในระหว่างที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือบินลง และหลีกเลี่ยงการนอนหลับในช่วงเวลาดังกล่าว
  • ใช้เทคนิคการปรับแรงดันหูระหว่างนั่งเครื่องบินที่กำลังบินขึ้นหรือบินลง
  • หากต้องดำน้ำลึก ควรเพิ่มระดับความลึกทีละน้อย เพื่อให้ร่างกายปรับตัวต่อความดันที่เปลี่ยนไปได้ทัน
  • หลีกเลี่ยงการใส่ที่อุดหูเมื่อต้องอยู่ในสถานการณ์หรือสถานที่ที่เสี่ยงเกิดอาการหูอื้อ เช่น ขณะดำน้ำหรือนั่งเครื่องบิน เป็นต้น
  • หลีกเลี่ยงการนั่งเครื่องบินเมื่อเป็นหวัด ไซนัสอักเสบ หูอักเสบ หรือหลังจากเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหู
  • รับประทานยาแก้แพ้ ใช้สเปรย์แก้คัดจมูก หรือรับประทานยาแก้คัดจมูกก่อนเครื่องบินจะบินขึ้นหรือลง แต่ควรปรึกษาแพทย์ถึงผลข้างเคียง ข้อจำกัด และคำแนะนำในการใช้ยาที่ถูกต้องก่อนใช้ยาด้วย