อกไก่

ความหมาย อกไก่

อกไก่ (Pectus Carinatum) หรือหน้าอกไก่ เป็นภาวะที่กระดูกหน้าอกและซี่โครงโป่งยื่นออกมาคล้ายอกไก่ ซึ่งเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของกระดูกอ่อน จึงทำให้กระดูกหน้าอกโค้งนูนออกมาทางด้านหน้ามากผิดปกติ ส่วนใหญ่มักส่งผลต่อลักษณะทางกายภาพของหน้าอกเท่านั้น ไม่มีอันตรายใด ๆ แต่ในกรณีที่มีอาการรุนแรงก็อาจส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน

Pectus Car

อาการของอกไก่

อาการที่พบได้ส่วนใหญ่ คือ หน้าอกโค้งนูนออกมามากกว่าปกติ ซึ่งอาจเริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติได้ตั้งแต่วัยเด็กหรือในช่วงวัยรุ่น ซึ่งความผิดปกติของกระดูกซี่โครงที่เกิดขึ้นมักไม่ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ แต่อาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ โดยอาจทำให้ไม่สามารถหายใจออกได้อย่างเต็มที่ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นใจในรูปลักษณ์ของตนเองโดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น และอาจส่งผลต่อการเข้าสังคมได้ด้วยเช่นกัน

สาเหตุของอกไก่

ในปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้ว่าอกไก่เกิดจากสาเหตุใด แต่คาดการณ์ว่าอาจเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วของกระดูกอ่อนที่เชื่อมต่อกับกระดูกหน้าอกและซี่โครง จึงทำให้กระดูกหน้าอกโค้งนูนออกมาทางด้านหน้ามากผิดปกติ แต่ก็ยังมีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ไม่เพียงพอที่จะยืนยันเหตุผลดังกล่าว บุคคลที่อาจเสี่ยงต่อการมีปัญหาอกไก่ เช่น

  • ผู้ชาย อาจเสี่ยงเกิดปัญหาอกไก่มากกว่าผู้หญิงถึง 4 เท่า
  • เด็ก เป็นวัยที่พบปัญหาอกไก่ได้มากกว่าช่วงวัยอื่น ๆ และจะสังเกตเห็นอาการได้ชัดในช่วงอายุ 11-15 ปี
  • คนผิวขาว อาจเสี่ยงเกิดอกไก่ได้มากกว่าคนผิวดำและคนเอเชีย
  • ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวมีปัญหาอกไก่ หรือมีความผิดปกติของผนังทรวงอก
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพบางชนิด เช่น ดาวน์ซินโดรม มาร์แฟนซินโดรม เอ็ดเวิร์ดซินโดรม หรือโรคกระดูกเปราะจากพันธุกรรม เป็นต้น

การวินิจฉัยอกไก่

แพทย์จะวินิจฉัยปัญหาอกไก่จากการตรวจร่างกายร่วมกับการซักประวัติทางการแพทย์และอาการที่เกิดขึ้น เช่น เริ่มสังเกตเห็นความผิดปกติของหน้าอกตั้งแต่เมื่อไหร่ มีอาการคงที่ ดีขึ้น หรือแย่ลง และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น

นอกจากนี้ แพทย์อาจวินิจฉัยอกไก่ด้วยวิธีการอื่น ๆ หากสงสัยว่ามีความผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น

  • การเอกซเรย์ทรวงอกทั้งด้านหน้าและด้านข้าง
  • การเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์
  • การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
  • การตรวจการทำงานของปอดและหัวใจ
  • การตรวจอื่น ๆ เช่น ตรวจโครโมโซม ตรวจเอนไซม์ เป็นต้น

การรักษาอกไก่

หากความผิดปกติของซี่โครงไม่ได้ส่งผลให้เกิดปัญหาทางจิตใจ หรือไม่ได้กระทบต่อการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาอาการอกไก่ แต่หากผู้ป่วยเกิดปัญหาสุขภาพใด ๆ จนต้องเข้ารับการรักษา แพทย์จะพิจารณาการรักษาตามอาการและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งทำได้ตั้งแต่การใส่กายอุปกรณ์เพื่อช่วยปรับความโค้งของกระดูก หรือการผ่าตัดเพื่อรักษากระดูกอ่อนที่ดันกระดูกหน้าอกให้โค้งนูน โดยแต่ละวิธีมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การใส่กายอุปกรณ์ เป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอกไก่แบบไม่รุนแรง หรือผู้ป่วยเด็กที่กระดูกมีความยืดหยุ่นมากกว่าผู้ใหญ่ เพื่อแก้ไขความโค้งนูนของกระดูกหน้าอก วิธีนี้มีแนวโน้มประสบความสำเร็จในการรักษาประมาณ 65-80 เปอร์เซ็นต์ โดยแพทย์จะปรับอุปกรณ์ให้มีแรงดันที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องใส่กายอุปกรณ์อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลาประมาณ 6 เดือน แต่อาจสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ตั้งแต่ในช่วง 2-3 เดือนแรก
  • การผ่าตัด ในการผ่าตัดกระดูกอ่อนที่ดันกระดูกหน้าอกให้โค้งนูนออกมาด้านหน้า แพทย์อาจต้องผ่าตัดบริเวณกระดูกหน้าอกส่วนกลาง และให้ผู้ป่วยใส่อุปกรณ์ค้ำยันที่กระดูกหน้าอกหลังการผ่าตัด ซึ่งผู้ป่วยควรระมัดระวังการทำกิจกรรมต่าง ๆ หลังผ่าตัด เช่น ไม่เคลื่อนไหวหรือบิดหน้าอกมากเกินไป และหลีกเลี่ยงการยกแขนขึ้นเหนือศีรษะอย่างรวดเร็วอย่างน้อย 4 เดือนหลังผ่าตัด เป็นต้น โดยผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังการผ่าตัดได้เช่นกัน แต่จำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง

นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ที่มีปัญหาอกไก่รักษาด้วยการออกกำลังกาย โดยมุ่งเน้นที่การบริหารกล้ามเนื้อบริเวณอกเพื่อลดการโค้งนูนที่มากผิดปกติ แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ยังไม่มีงานค้นคว้าที่รองรับ อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ที่มีปัญหาอกไก่ระดับปานกลางหรือรุนแรง และผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอว่าการรักษาด้วยการออกกำลังกายนั้นเหมาะสมกับลักษณะอาการและสุขภาพของผู้ป่วยหรือไม่

ภาวะแทรกซ้อนของอกไก่

โดยทั่วไป อาการอกไก่มักไม่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ แต่หากมีอกไก่ร่วมกับการเจ็บป่วยอย่างดาวน์ซินโดรมหรือโรคอื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคนั้นได้

นอกจากนี้ การรักษาอกไก่แต่ละวิธีอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย ดังนี้

  • การรักษาด้วยการใส่กายอุปกรณ์อาจทำให้ผิวหนังเกิดการระคายหรือเป็นแผลในบริเวณที่เกิดการถูและเสียดสี
  • การรักษาด้วยการผ่าตัด อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากมาย เช่น เจ็บปวดหลังการผ่าตัด มีเลือดออกมาก แผลติดเชื้อ ภาวะปอดรั่ว หรือเนื้อเยื่อบริเวณที่ผ่าตัดได้รับความเสียหาย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อน แต่การรักษาอกไก่ด้วยวิธีข้างต้นนับเป็นวิธีที่ค่อนข้างประสบความสำเร็จดี ผู้ป่วยมักฟื้นตัวหลังการรักษาได้ดี รวมทั้งมีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาเป็นอกไก่ซ้ำอีกครั้ง

การป้องกันอกไก่

ปัญหาอกไก่ไม่สามารถป้องกันได้ เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด และความเสี่ยงบางประการที่อาจทำให้เกิดอกไก่ก็เป็นปัจจัยที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น เพศ อายุ เชื้อชาติ และปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับโครโมโซม เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีปัญหาอกไก่ก็สามารถมีสุขภาพที่แข็งแรงได้หากมีการรักษาอย่างเหมาะสม และดูแลตนเองให้มีสุขภาพดีอยู่เสมอเพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนต่าง ๆ โดยผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับแนวทางการรับประทานอาหารหรือการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับตนเองด้วย