ความหมาย อหิวาตกโรค (Cholera)
อหิวาตกโรค (Cholera) คือโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่าวิบริโอ โคเลอรี (Vibrio Cholerae) โดยได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนแบคทีเรียชนิดนี้ ทำให้เกิดอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำและอาเจียนอย่างรุนแรง ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วจนนำไปสู่การเกิดภาวะขาดน้ำ ในกรณีที่รุนแรงอาจเกิดอาการช็อคและเสียชีวิตได้
อหิวาตกโรคสามารถติดต่อสู่คนได้ทุกเพศทุกวัย เป็นโรคที่มักพบการระบาดในพื้นที่ที่การจัดการด้านสุขาภิบาลไม่ดี โดยส่วนใหญ่สาเหตุของการแพร่ระบาดมาจากการดูแลสุขอนามัยที่ไม่เหมาะสม เช่น การไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำ การประกอบอาหาร หรือการรับประทานอาหาร รวมถึงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ถูกสุขลักษณะด้วย
อาการของอหิวาตกโรค
เชื้ออหิวาตกโรคสามารถทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง โดยจะแสดงอาการของโรคภายใน 12 ชั่วโมง ถึง 5 วันหลังจากที่ลำไส้ได้ดูดซึมอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าไป อาการของโรคที่เกิดขึ้นจะมีตั้งแต่ระดับไม่รุนแรงไปจนถึงระดับรุนแรง ดังนี้
- ท้องร่วง โดยลักษณะของอุจจาระจะเหมือนน้ำซาวข้าว ภายในอุจจาระมีเกล็ดสีขาวซึ่งเป็นเมือกหรือเนื้อเยื่อของกระเพาะอาหารขนาดเท่าเมล็ดข้าว และอาจมีกลิ่นเหม็นคาวร่วมด้วย
- คลื่นไส้และอาเจียน โดยอาการมักเกิดขึ้นหลายชั่วโมงในช่วงเริ่มต้นของการแสดงอาการ
- เกิดภาวะขาดน้ำ จากการสูญเสียน้ำและเกลือแร่ภายในร่างกายผ่านทางอุจจาระและอาเจียน ซึ่งหากผู้ป่วยสูญเสียน้ำในร่างกายไปมากกว่า 10% ของน้ำหนักตัว อาจเกิดอาการขาดน้ำขั้นรุนแรงได้
- อาการอื่น ๆ ที่อาจเป็นผลมาจากภาวะขาดน้ำเช่น อารมณ์แปรปรวน ตาโหล กระหายน้ำมาก ริมฝีปากแห้ง ผิวแห้ง ปัสสาวะน้อย ความดันโลหิตต่ำ และหัวใจเต้นผิดจังหวะ
นอกจากนี้ หากร่างกายอาจสูญเสียเกลือแร่อย่างรวดเร็วเกินไป อาจนำไปสู่การเกิดภาวะไม่สมดุลของอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte Imbalance) และปรากฏอาการต่าง ๆ ที่อาจรุนแรงมากขึ้น เช่น เป็นตะคริว เกิดภาวะช็อคจากความดันโลหิตและระดับออกซิเจนในร่างกายลดต่ำลงมาก ซึ่งเป็นภาวะที่อันตรายถึงแก่ชีวิต
และในกรณีของเด็กที่เป็นโรคนี้ อาจมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ร่วมด้วย โดยเกิดจากการสูญเสียน้ำในเกลือแร่ในร่างกายปริมาณมาก แต่ไม่สามารถรับประทานอาหารเข้าไปทดแทนได้ ส่งผลให้เด็กเกิดอาการซึม ชัก และหมดสติได้เช่นกัน
สาเหตุของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่าวิบริโอโคเลอรี (Vibrio Cholerae) โดยแบคทีเรียชนิดนี้จะผลิตสารชีวพิษซิกัวทอกซิน (Ciguatoxin: CTX) ขึ้นในลำไส้เล็ก และกระตุ้นร่างกายให้ขับน้ำออกจากตัว ทำให้เกิดอาการท้องร่วงและเกิดภาวะขาดน้ำตามมา เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้มักพบในแหล่งน้ำหรืออาหารบางชนิดที่ปนเปื้อนสิ่งปฏิกูลหรืออุจจาระที่มีเชื้ออยู่ ดังนี้
- แหล่งน้ำ โดยเฉพาะแหล่งน้ำในชุมชนแออัดที่ไม่มีการจัดการด้านสุขาภิบาลที่ดี ซึ่งเชื้อสามารถลอยอยู่บนผิวน้ำได้ในระยะเวลานาน ทำให้แหล่งน้ำเหล่านี้เป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคชั้นดี
- อาหารทะเล โดยเฉพาะอาหารทะเลจำพวกหอยที่อาจมีการปนเปื้อนจากแหล่งน้ำ หากนำมารับประทานแบบดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ ก็อาจทำให้ร่างกายได้รับเชื้อได้
- ผักและผลไม้สดที่ไม่ได้ปอกเปลือก เนื่องจากผักผลไม้เหล่านี้อาจมีกระบวนการปลูกโดยใช้ปุ๋ยคอก ทำให้สามารถเกิดการปนเปื้อนของเชื้อได้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยบางประการที่อาจกระตุ้นให้ร่างกายติดเชื้ออหิวาตกโรคได้ง่ายขึ้น และเสี่ยงที่จะเกิดอาการอย่างรุนแรงด้วย ได้แก่
- การจัดการสุขาภิบาลที่ไม่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประสบภาวะอดอยาก ขาดแคลนอาหาร เกิดสงคราม หรือประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ
- การรับประทานอาหารทะเลดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
- การอยู่อาศัยร่วมกับผู้ป่วยอหิวาตกโรค
- ภาวะไม่มีกรดในกระเพาะอาหาร (Hypochlorhydria) เพราะเชื้อไม่สามารถอยู่ได้ในสภาวะที่มีกรด ผู้ที่มีกรดในกระเพาะอาหารต่ำอย่างเด็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่ใช้ยาลดกรดจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง
การวินิจฉัยอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่มีการระบาดได้ง่ายและมีความรุนแรง การวินิจฉัยโรคจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะการวินิจฉัยโรคอย่างถูกต้องจะช่วยให้สามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจนว่าอาการท้องร่วงที่เกิดขึ้นนั้นเกิดมาจากเชื้ออหิวาตกโรคหรือเชื้อแบคทีเรียชนิดอื่น ตัวอย่างการตรวจเพื่อวินิจฉัยอหิวาตกโรค มีดังนี้
การตรวจตัวอย่างอุจจาระ
การตรวจตัวอย่างอุจจาระเป็นวิธีพื้นฐานที่สุดที่แพทย์จะใช้ในการวินิจฉัยอหิวาตกโรค โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างอุจจาระและนำไปตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ เพื่อแยกแยะและหาเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรี ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรค
การเพาะเชื้อจากอุจจาระ
การเพาะเชื้อจากอุจจาระเป็นวิธีที่ใช้เพื่อตรวจหาว่ามีการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียวิบริโอ โคเลอรีเกิดขึ้นในอุจจาระของคนไข้หรือไม่ รวมถึงเป็นการตรวจหาสาเหตุอื่น ๆ ของอหิวาตกโรค ซึ่งวิธีนี้จะทำในห้องปฏิบัติการ และใช้อาหารเลี้ยงเชื้อที่มีชื่อว่า Thiosulfate Citrate Bile Salts Sucrose (TCBS) ในการเพาะเชื้อ
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดจะเป็นวิธีการตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (complete blood count: CBC) ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ปกติหรือไม่ รวมถึงเป็นวิธีการที่แพทย์ใช้เพื่อตรวจดูระดับของเกลือแร่ในร่างกายด้วย
การตรวจด้วยแถบตรวจอหิวาตกโรค
การตรวจด้วยแถบตรวจอหิวาตกโรคมักใช้วินิจฉัยโรคในพื้นที่ทุรกันดารที่ไม่สามารถเข้ารับการวินิจฉัยด้วยวิธีตรวจตัวอย่างอุจจาระได้ แม้ว่าการตรวจด้วยวิธีนี้จะไม่แม่นยำเท่ากับการตรวจอุจจาระในห้องปฏิบัติการ แต่ก็สามารถช่วยให้แพทย์แยกแยะผู้ติดเชื้อในพื้นที่ระบาดในเบื้องต้น และให้การรักษาได้อย่างทันท่วงที
การรักษาอหิวาตกโรค
ผู้ป่วยอหิวาตกโรคควรได้รับการรักษาทันที เพราะผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่ชั่วโมงจากการเกิดภาวะขาดน้ำอย่างกะทันหัน วิธีรักษาอหิวาตกโรคมีรายละเอียดดังนี้
- ให้ผู้ป่วยจิบผงละลายเกลือแร่ (Oral Dehydration Salt: ORS) ที่ผสมในน้ำต้มสุก เพื่อทดแทนน้ำและเกลือแร่ในเลือดที่ร่างกายสูญเสียไป
- ให้สารน้ำทดแทน (Intravenouse Fluids) ทางน้ำเกลือในกรณีที่เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่มาก เพื่อรักษาภาวะขาดน้ำและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะช็อคจากการขาดน้ำเฉียบพลัน
- ให้ยาปฏิชีวนะบางชนิดเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการท้องร่วง เช่น ยาดอกซีไซคลิน (Doxycycline) หรือยาอะซีโธรมัยซิน (Azithromycin)
- ให้แร่ธาตุสังกะสีเพื่อช่วยลดระยะเวลาในการเกิดอาการท้องร่วง ซึ่งมักใช้รักษาอาการท้องร่วงในเด็ก
ภาวะแทรกซ้อนของอหิวาตกโรค
อหิวาตกโรคเป็นโรคที่รุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจทำให้ผู้ป่วยสูญเสียน้ำและเกลือแร่ในเลือด เกิดภาวะขาดน้ำ มีอาการช็อค และนำไปสู่การเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่ไม่ชั่วโมงหรือหลายวันหลังจากที่ปรากฏอาการของโรคแล้ว ซึ่งในกรณีที่รุนแรงอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ภายใน 2–3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
นอกจากนี้ อหิวาตกโรคยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ซึ่งเกิดจากการที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับประทานอาหารได้จนทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง ภาวะเกลือโพแทสเซียมต่ำ (Hypokalemia) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายสูญเสียเกลือแร่จำนวนมากจากอาการท้องเสียอย่างรุนแรง รวมถึงภาวะไตวายที่ทำให้ไตไม่สามารถกรองของเสียในร่างกายได้อีกต่อไป
การป้องกันอหิวาตกโรค
ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอหิวาตกโรคชนิดรับประทาน ผู้ที่จำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคจึงควรรับวัคซีนให้ครบถ้วนเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค นอกจากนี้ สามารถป้องกันตัวเองเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้
- ควรล้างมือให้สะอาดทุกครั้งทั้งก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำ รับประทานอาหาร และประกอบอาหาร หรืออาจใช้แอลกอฮอล์ล้างมือแทนชั่วคราวได้ในกรณีที่พื้นที่ที่เดินทางไปขาดแคลนน้ำและไม่มีสบู่
- ควรดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มให้เดือดประมาณ 1 นาที รวมถึงควรใช้น้ำต้มสุกในการล้างผักผลไม้ แปรงฟัน ล้างหน้า หรือล้างมือด้วย
- ควรดื่มเครื่องดื่มที่บรรจุในกระป๋องหรือขวดมิดชิด โดยเช็ดตัวบรรจุภัณฑ์ภายนอกให้สะอาดก่อนดื่ม
- ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกสะอาด และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปลาดิบและอาหารทะเลอื่น ๆ
- ควรรับประทานผลไม้ที่สามารถปอกเปลือกได้ก่อนรับประทานอย่างกล้วยหรือส้ม และหลีกเลี่ยงการรับประทานผลไม้ที่รับประทานได้ทั้งเปลือกอย่างฝรั่งหรือแอปเปิ้ล
- ระมัดระวังการรับประทานผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น นม เนย หรือโยเกิร์ต และไม่ควรรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ เพราะอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย