ออกซีบิวไทนิน (Oxybutynin)
Oxybutynin (ออกซีบิวไทนิน) เป็นยาในกลุ่มลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อกระเพาะปัสสาวะ โดยนำมาใช้ควบคุมการทำงานของกระเพาะปัสสาวะจากความผิดปกติของไขสันหลัง อาการที่เกิดจากภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน (Overactive Bladder) อย่างปัสสาวะบ่อยเกินไปหรือการกลั้นปัสสาวะผิดปกติ หรืออาจใช้รักษาโรคอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์
เกี่ยวกับยา Oxybutynin
กลุ่มยา | ยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการปัสสาวะบ่อย |
กลุ่มผู้ป่วย | เด็กอายุ 5 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | Category B จากการศึกษาในสัตว์ ไม่พบความเสี่ยงในการทำให้เกิดความผิดปกติของตัวอ่อนในครรภ์สัตว์ แต่ไม่มีการศึกษาในมนุษย์ หรืออาจพบผลไม่พึงประสงค์ในสัตว์ แต่ยังไม่พบความเสี่ยงในมนุษย์เมื่อใช้ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่มีหลักฐานทางการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงเมื่อใช้ในช่วงหลังเดือนที่สามเป็นต้นไป ดังนั้น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา Oxybutynin |
คำเตือนในการใช้ยา Oxybutynin
เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากมีประวัติการแพ้ยา Oxybutynin หรือยาอื่น ๆ
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทุกครั้งหากกำลังใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร วิตามิน หรือยาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ยารักษาไข้หวัด ยาแก้แพ้ ยาต้านเชื้อรา ยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคหัวใจ ยารักษาความผิดปกติทางอารมณ์ ยารักษาภาวะซึมเศร้า ยารักษาโรคพาร์กินสัน
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบก่อนทุกครั้งหากผู้ป่วยกำลังป่วยหรือเคยเป็นโรคเกี่ยวกับตับ ไต หัวใจ มีความผิดปกติทางระบบประสาท โรคต่อมลูกหมากโต โรคต่อมไทรอยด์ โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงไมแอสทีเนียเกรวิส (Myasthenia Gravis) ไส้เลื่อนกระบังลม สมองเสื่อม พาร์กินสัน มีอาการแสบร้อนกลางอก ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Ulcerative Colitis) หรือกรดไหลย้อน
- ผู้ที่ป่วยที่เป็นต้อหินมุมปิด ลำไส้อุดตัน หรือปัสสาวะไม่ออกไม่ควรใช้ยานี้
- ผู้สูงอายุที่ต้องรับประทานยาอาจไวต่อยาและเกิดอาการข้างเคียงได้ง่าย โดยเฉพาะอาการง่วงซึม สับสน ท้องผูก หรืออาการที่เกี่ยวกับระบบปัสสาวะ
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากกำลังตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากดื่มแอลกอฮอล์หรือกำลังใช้ยาที่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึม เช่น ยาในกลุ่มโอปิออยด์ ยาแก้ไอ ยานอนหลับ ยาคลายความกังวล ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาแก้แพ้
- ยา Oxybutynin อาจส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น สาเหตุจากร่างกายมีเหงื่อออกน้อยลง หากต้องทำงานหรือทำกิจกรรมในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูง หรือมีการออกกำลังกายเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยานี้
- ยานี้อาจส่งผลให้สายตาพร่ามัว หรือส่งผลกระทบต่อกระบวนการคิดและการตอบสนอง ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือการทำกิจกรรมที่ต้องตื่นตัวและใช้สายตาอยู่ตลอดเวลา
ปริมาณการใช้ยา Oxybutynin
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับช่วงอายุ โรคของผู้ป่วย และดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยมีตัวอย่างการใช้ยา ดังนี้
ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ตัวอย่างการใช้ยา Oxybutynin เพื่อรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 2.5–5 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง หรืออาจเพิ่มปริมาณสูงสุดเป็นครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 4 ครั้ง ในกรณีที่เป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน (Extend–release) เริ่มรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากมีความจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณครั้งละ 5 มิลลิกรัมสัปดาห์ แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน
เด็ก อายุ 7 ปีขึ้นไปที่มีอาการปัสสาวะรดที่นอน รับประทานครั้งละ 2.5–3 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หากมีความจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง โดยการรับประทานยาครั้งสุดท้ายควรเป็นช่วงก่อนนอน ในกรณีที่รับประทานยาชนิดออกฤทธิ์นาน ควรรับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือหากมีความจำเป็น อาจเพิ่มปริมาณครั้งละ 5 มิลลิกรัมทุกสัปดาห์ แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 20 มิลลิกรัมต่อวัน
ผู้สูงอายุ ควรเริ่มรับประทานยาที่ครั้งละ 2.5–3 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หากมีความจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณเป็นครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
ภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท
ตัวอย่างการใช้ยา Oxybutynin เพื่อรักษาภาวะกระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาท
เด็ก อายุ 5 ปีขึ้นไป รับประทานยาชนิดออกฤทธิ์ทันทีครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 2–3 ครั้ง ในกรณีที่เป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน รับประทานยาครั้งละ 5 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรืออาจเพิ่มปริมาณครั้งละ 5 มิลลิกรัมต่อวัน แต่ไม่ควรรับประทานเกิน 15 มิลลิกรัมต่อวัน
การใช้ยา Oxybutynin
ผู้ป่วยที่รับประทานยา Oxybutynin ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือฉลากยาอย่างเคร่งครัด และไม่ควรหยุดรับประทานยาเอง เนื่องจากการรับประทานยานี้ให้เห็นผลควรรับประทานอย่างต่อเนื่อง หากผู้ป่วยรับประทานยาเม็ดชนิดออกฤทธิ์นาน ควรรับประทานยาทั้งเม็ดโดยไม่แบ่งหรือเคี้ยวยา
ผู้ป่วยสามารถเลือกรับประทานยา Oxybutynin ได้ทั้งก่อนหรืออาหาร โดยอาจเลือกรับประทานยาในเวลาเดิมของทุกวันเพื่อจดจำเวลาและป้องกันการลืมรับประทานยา หากลืมรับประทานยาตามเวลาที่กำหนด ให้รับประทานยาทันที แต่หากใกล้ถึงเวลารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานในรอบถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
สำหรับการเก็บรักษายา ควรเก็บยาไว้ในบรรจุภัณฑ์เดิมของยาและปิดให้สนิท โดยเก็บยาไว้ในอุณหภูมิห้อง หลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน เก็บให้พ้นมือเด็ก และไม่ควรใช้หากยาหมดอายุ
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Oxybutynin
ยา Oxybutynin อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่น ปากแห้ง ปวดท้อง ท้องเสีย ท้องผูก คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย ตาแห้ง สายตาพร่ามัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ง่วงซึม ผิวแห้ง มีผื่นคัน การรับรสชาติอาหารเปลี่ยนไป ร่างกายอ่อนเพลีย นอนไม่หลับ สับสน ความดันโลหิตสูง ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งหากอาการต่าง ๆ ไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงควรแจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบทันที
นอกจากนี้ ควรหยุดใช้ยาและไปพบแพทย์ทันที หากพบการเกิดอาการรุนแรงต่อไปนี้
- หายใจลำบาก
- ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม
- หัวใจเต้นแรง
- รู้สึกเจ็บขณะปัสสาวะ หรือปัสสาวะบ่อย
- เกิดอาการประสาทหลอน