การรักษาอีสุกอีใส อีสุกอีใส (Chickenpox)
ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงและมีอาการไม่รุนแรงสามารถดูแลตนเองได้ที่บ้าน แต่ในผู้มีอาการรุนแรงหรือมีเงื่อนไขสุขภาพอื่น ๆ เช่น เด็กเล็ก ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
การรักษาโรคอีสุกอีใสจะเน้นรักษาแบบประคับประคองอาการควบคู่กับการใช้ยาบรรเทาอาการของโรคให้รุนแรงน้อยลง ซึ่งระยะเวลาในการรักษารวมถึงชนิดของยาที่ใช้รักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยสุขภาพของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น อายุของผู้ป่วย ระยะเวลาในการติดเชื้อ หรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยมีการรักษาดังนี้
- ใช้ยาในกลุ่มยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่แอสไพริน (Non-aspirin Medications) เช่น ยาพาราเซตามอล เพื่อลดไข้และบรรเทาความไม่สบายตัวที่เกิดจากอาการไข้ขึ้น เนื่องจากการใช้ยาแอสไพรินในผู้ป่วยที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดกลุ่มอาการราย (Reye's Syndrome) ได้
- ใช้ยาในกลุ่มยาแก้แพ้ (Antihistamine) ชนิดทาภายนอกร่างกาย เช่น คาลาไมน์โลชั่น (Calamine Lotion) เพื่อบรรเทาอาการคันและช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนัง เพราะการเกาบริเวณแผลอาจทำให้เกิดการติดเชื้อบนผิวหนังได้
- อาจใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อทางผิวหนังเกิดขึ้น
- อาจมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสหลังจากได้รับเชื้อภายใน 3–5 วัน เพื่อช่วยให้อาการของโรคทุเลาลงได้
- อาจใช้ยาในกลุ่มยาต้านไวรัส เช่น ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) หรือยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น โดยผู้ป่วยควรได้รับยาภายใน 24 ชั่วโมงหลังเกิดผื่น เพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
- อาจมีการฉีดอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) เพื่อช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจดจำและทำลายเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส ซึ่งเป็นวิธีการรักษาที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์ ทารกแรกเกิด หรือผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ