อีโตริคอกซิบ (Etoricoxib)
Etoricoxib (อีโตริคอกซิบ) เป็นยารักษาอาการปวดและอักเสบจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis) ข้ออักเสบจากโรคเก๊าท์ (Gouty Arthritis) ไปจนถึงปวดประจำเดือน (Dysmenorrhoea) และอาจช่วยลดอาการปวดจากโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (Ankylosing Spondylitis) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis)
โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ไซโคลออกซีจีเนส (Cyclooxygenase: COX) ซึ่งทำหน้าที่ผลิตสารพรอสตาแกลนดิน (Prostaglandins) ซึ่งก่อให้เกิดอาการปวดและอักเสบ ส่งผลให้อาการปวดและอักเสบที่เกิดขึ้นบรรเทาลงได้
เกี่ยวกับยา Etoricoxib
กลุ่มยา | ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) |
ประเภทยา | ยาหาซื้อได้เอง ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | รักษาอาการปวดและอักเสบจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | แม้ว่าไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ วางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งตนเองและทารก |
รูปแบบของยา | ยารับประทาน |
คำเตือนในการใช้ยา Etoricoxib
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Etoricoxib หรือยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายตามมาได้
- ผู้ป่วยที่เคยมีประวัติทางสุขภาพหรือเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา เช่น แผลในกระเพาะอาหาร มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ระดับน้ำตาลในเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง ภาวะขาดน้ำ อาการบวมจากภาวะคั่งน้ำ โรคตับ หรือโรคไต
- ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีเลือดออกหรือแผลในกระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบ โรคหัวใจอย่างหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจวาย โรคความดันโลหิตสูงที่ควบคุมไม่ได้ หลอดเลือดตีบหรืออุดตัน โรคหลอดเลือดสมอง โรคตับที่รุนแรง และโรคไต
- ห้ามสตรีมีครรภ์และผู้กำลังให้นมบุตรใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอดได้
- ผู้ป่วยอาจต้องวัดระดับความดันโลหิตเป็นประจำในระหว่างใช้ยานี้ เนื่องจากตัวยาอาจส่งผลให้ระดับความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างที่ใช้ยานี้
- หลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานกับเครื่องจักรที่ต้องอาศัยการตื่นตัวอยู่เสมอ เพราะตัวยาอาจทำให้ง่วงซึมหรือเวียนศีรษะ
- ไม่ควรใช้ยา Etoricoxib ในเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี
- ไม่ควรใช้ยานี้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน เพราะการใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เป็นระยะเวลานานอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงต่าง ๆ ตามมาได้ เช่น ส่งผลเสียต่อไต เกิดแผลในกระเพาะอาหาร เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ปริมาณการใช้ยา Etoricoxib
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยารักษาโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม โรคเก๊าท์ อาการปวด และปวดประจำเดือนจะมีดังนี้
โรคข้อเสื่อม
ตัวอย่างการใช้ยา Etoricoxib เพื่อรักษาโรคข้อเสื่อม
เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 30 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาจนถึง 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยควรใช้ยาในช่วงเวลาสั้น ๆ และใช้ยาในปริมาณต่ำสุดที่เห็นผลในการรักษา
ข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเก๊าท์
ตัวอย่างการใช้ยา Etoricoxib เพื่อรักษาข้ออักเสบเฉียบพลันจากโรคเก๊าท์
เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 120 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ระยะเวลาในการรักษาสูงสุดไม่เกิน 8 วัน
โรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
ตัวอย่างการใช้ยา Etoricoxib เพื่อรักษาโรคข้อกระดูกสันหลังอักเสบยึดติดและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หากจำเป็นอาจเพิ่มปริมาณยาจนถึง 90 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง เมื่อผู้ป่วยอาการคงที่อาจลดปริมาณยาเหลือ 60 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง โดยควรใช้ยาในช่วงเวลาสั้น ๆ และใช้ยาในปริมาณต่ำสุดที่เห็นผลในการรักษา
อาการปวดเฉียบพลัน
ตัวอย่างการใช้ยา Etoricoxib เพื่อรักษาอาการปวดเฉียบพลัน
เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 90 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ระยะเวลาในการรักษาสูงสุดไม่เกิน 3 วัน โดยควรใช้ยาในช่วงที่มีอาการแบบเฉียบพลันเท่านั้น
ปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ
ตัวอย่างการใช้ยา Etoricoxib เพื่อรักษาปวดประจำเดือนชนิดปฐมภูมิ
เด็กอายุ 16 ปีขึ้นไป และผู้ใหญ่ รับประทานยาปริมาณ 120 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ระยะเวลาในการรักษาสูงสุดไม่เกิน 8 วัน โดยควรใช้ยาในช่วงที่มีอาการแบบเฉียบพลันเท่านั้น
การใช้ยา Etoricoxib
ผู้ป่วยควรใช้ยา Etoricoxib ตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามปรับปริมาณยาหรือระยะเวลาในการใช้ยาด้วยตนเองโดยเด็ดขาด ยานี้รับประทานพร้อมอาหารหรือไม่พร้อมก็ได้ แต่ควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน
หากผู้ป่วยลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปรับประทานยาตามเวลาปกติโดยไม่เพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า และควรรีบไปพบแพทย์ทันทีหากใช้ยาเกินปริมาณที่กำหนดแล้วเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดหน้าอก
ปฏิกิริยาระหว่างยา Etoricoxib กับยาอื่น
หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาที่แพทย์สั่งจ่าย ยาหาซื้อได้เอง วิตามิน สมุนไพรบางชนิด และผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ เนื่องจากยา Etoricoxib อาจทำปฏิกิริยากับยาหรือผลิตภัณฑ์อื่น ๆ จนทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลงหรือก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะตัวอย่างต่อไปนี้
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างยาวาร์ฟาริน (Warfarin)
- ยาขับปัสสาวะ
- ยารักษาโรคซึมเศร้าอย่างยาลิเทียม (Lithium)
- ยารักษาการอักเสบของข้อต่อหรือโรคมะเร็งอย่างยาเมโธเทรกเซท (Methotrexate)
- ยารักษาหอบหืดอย่างยาซาลบูทามอล (Salbutamol)
- ยารักษาวัณโรคอย่างยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin)
- ยารักษาหัวใจวายหรือความดันโลหิตสูงอย่างยาเอซีอีอินฮิบิเตอร์ (ACE Inhibitors)
- ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) และ ยาคุมกำเนิดอย่างยาเอทินิลเอสตราไดออล (Ethinylestradiol)
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Etoricoxib
การใช้ยาอีโตริคอกซิบอาจส่งผลให้ปวดศีรษะ ปวดท้อง ไม่สบายท้อง ท้องผูก ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย คลื่นไส้ อาเจียน แผลในปาก เหนื่อยล้า หรือความดันโลหิตสูง ซึ่งหากอาการเหล่านี้ไม่หายไปหรือแย่ลงควรแจ้งให้แพทย์ทราบตั้งแต่เนิ่น ๆ ในกรณีที่พบอาการรุนแรงดังต่อไปนี้ ควรหยุดใช้ยาแล้วไปพบแพทย์โดยเร็ว
- มีสัญญาณของการแพ้ยา เช่น ผื่น ลมพิษ มีปัญหาในการหายใจ อาการบวมบริเณใบหน้า เปลือกตา หรือปาก
- มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง ผิวหนังลอก ผิวหนังเป็นจ้ำ หรือมีเลือดออกผิดปกติ
- อุจจาระปนเลือดหรือมีลักษณะคล้ายยางมะตอย อาเจียนเป็นเลือด อาเจียนออกมาคล้ายกากกาแฟ
- ตาเหลือง ตัวเหลือง ปัสสาวะเป็นสีเข้ม อาการบวมบริเวณขาหรือข้อเท้า
- หัวใจเต้นผิดปกติ หัวใจล้มเหลว ใจสั่น
- แผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ที่อาจรุนแรงและมีเลือดออก อาจสังเกตได้จากอุจจาระเป็นสีดำ หรือมีเลือดปน
อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยใช้ยาแล้วพบผลข้างเคียงหรือความผิดปกติอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ควรไปปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรด้วยเช่นกัน