เจ็บท้อง

ความหมาย เจ็บท้อง

เจ็บท้อง (Labor Pain) เจ็บท้องคลอด หรือ เจ็บครรภ์คลอด เป็นอาการที่เกิดขึ้นในสตรีมีครรภ์ที่อยู่ในช่วงใกล้คลอด ซึ่งถือเป็นสัญญาณเตือนให้ว่าที่คุณแม่เตรียมตัวสำหรับการคลอดบุตรที่กำลังใกล้เข้ามา โดยอาการนี้แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เจ็บท้องเตือน (False Labor Pain) เป็นอาการเจ็บท้องจากการที่กล้ามเนื้อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตรที่ใกล้เข้ามา ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอและไม่มีการเปิดขยายตัวของปากมดลูกแต่อย่างใด โดยมีอาการบ่อยในช่วงการตั้งครรภ์ไตรมาสสุดท้าย
  • เจ็บท้องจริง (Real Labor Pain) เป็นอาการเจ็บท้องจากการหดตัวของมดลูกที่เตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร ซึ่งเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและเจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเวลาคลอด และจะเกิดควบคู่กับการขยายออกของปากมดลูก
เจ็บท้อง

ทั้งนี้อาการเจ็บท้องทั้ง 2 แบบถือเป็นอาการที่ว่าที่คุณแม่ควรเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด อาการเจ็บท้องเตือนนั้นบรรเทาอาการด้วยการใช้ยา แต่อาการเจ็บท้องจริงนั้นยากจะบรรเทา เพราะเป็นการเตรียมพร้อมของร่างกายในการคลอดบุตร ควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนที่สุด

อาการเจ็บท้อง

เนื่องจากสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการเจ็บท้องเตือนและเจ็บท้องจริงนั้นไม่เหมือนกัน อาการเจ็บท้องทั้ง 2 ชนิดจึงแสดงในลักษณะที่แตกต่างกัน สังเกตได้ดังนี้

  • อาการเจ็บท้องเตือน อาการที่โดดเด่นคือความรู้สึกแน่นที่บริเวณช่วงท้องซึ่งเกิดขึ้นไม่สม่ำเสมอ การเจ็บแต่ละครั้งมีระยะห่างไม่เท่ากัน อีกทั้งความรุนแรงจะไม่คงที่ตามการบีบคลายของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ บริเวณที่เจ็บอาจเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โดยจะหายไปเมื่อคุณแม่เดิน หรือหยุดพัก บางครั้งอาการอาจดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถ
  • อาการเจ็บท้องจริง มีอาการไม่ตายตัว โดยจะมีขึ้นร่วมกับการขยายตัวของปากมดลูก และรู้สึกเจ็บแตกต่างกันไปในแต่ละคน ซึ่งอาการที่พบได้บ่อยคือปวดตื้อ ๆ บริเวณหลังและท้องส่วนล่าง นอกจากนี้ ผู้หญิงบางคนอาจมีอาการปวดบริเวณข้างตัวและต้นขา บางรายอธิบายว่ารู้สึกปวดคล้ายกับอาการปวดประจำเดือน แต่มีความรุนแรงมากกว่า หรือบางรายก็ว่าคล้ายกับอาการปวดเหมือนคนท้องเสีย ทั้งนี้ อาการเจ็บท้องจริงจะเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ แล้วค่อย ๆ รุนแรงขึ้นตามการหดตัวของมดลูก และยากจะบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยาหรือเปลี่ยนอิริยาบถ
อย่างไรก็ตาม แม้อาการปวดทั้ง 2 ชนิดนี้จะเกิดขึ้น แต่ก็ไม่อาจระบุได้ว่าคุณแม่เข้าสู่ช่วงใกล้คลอดแล้วหรือไม่ เพราะหญิงตั้งครรภ์บางรายอาจมีอาการปวดติดต่อกันหลายวัน แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของบริเวณอุ้งเชิงกรานซึ่งเป็นสัญญาณเตรียมพร้อมการคลอดบุตร และบางรายอาจมีอาการเจ็บท้องเตือนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทว่าหากมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์โดยทันที เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณของการคลอดบุตรชนิดอื่น ๆ ที่ร้ายแรงได้ โดยอาการเหล่านี้ ได้แก่
  • มีเลือดสีแดงสดไหลออกมาจากช่องคลอด
  • มีอาการน้ำเดิน ลักษณะเป็นน้ำใส ๆ คล้ายน้ำปัสสาวะไหลออกมาทางช่องคลอดจำนวนมาก
  • มีอาการเจ็บท้องทุก ๆ 5 นาทีติดต่อกัน 1 ชั่วโมง
  • อาการเจ็บท้องส่งผลให้คุณแม่ไม่สามารถเดินได้ตามปกติ
  • เด็กมีการขยับตัวน้อยกว่า 6-10 ครั้ง ในช่วงระยะเวลา 1 ชั่วโมง
สาเหตุของอาการเจ็บท้อง

สาเหตุสำคัญของอาการเจ็บท้องเกิดจากร่างกายอยู่ในช่วงปรับตัวเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่าอาการเจ็บท้องเตือนเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตัวของกล้ามเนื้อมดลูก และเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังรก ซึ่งถือเป็นสัญญาณของร่างกายที่บ่งบอกให้ทราบว่าใกล้ถึงเวลาคลอดบุตรแล้ว ทั้งนี้ อาการเจ็บท้องเตือนอาจเกิดขึ้นจากสภาพอารมณ์ของคุณแม่หรือเกิดจากปัจจัยทางร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การตรวจอัลตราซาวด์หรือการที่ทารกดิ้น เป็นต้น

ส่วนการเจ็บท้องจริงนั้นมีสาเหตุมาจากมดลูกหดรัดตัว ทำให้ปากมดลูกขยายตัวออกเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการคลอดบุตร จึงก่อให้เกิดอาการเจ็บที่ค่อนข้างรุนแรง เนื่องจากกล้ามเนื้อของมดลูกจะค่อย ๆ บีบรัดเพื่อเพิ่มแรงส่งให้ทารกเคลื่อนที่ออกมาจากในครรภ์ได้

การวินิจฉัยอาการเจ็บท้อง

อาการเจ็บหรือปวดบริเวณช่องท้องเป็นอาการที่ช่วยให้คุณแม่สันนิษฐานการคลอดได้เบื้องต้น แต่ก็ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นการเจ็บท้องเตือนหรือเจ็บท้องจริง ดังนั้น เมื่อมีอาการเจ็บท้อง คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ โดยแพทย์จะพิจารณาจากประวัติอาการและตรวจภายในเพื่อดูความเปลี่ยนแปลงของปากมดลูก รวมทั้งสัญญาณการคลอดอื่น ๆ ทั้งนี้ คุณแม่อาจจดบันทึกเวลาและลักษณะของอาการเมื่อรู้สึกเจ็บท้องไว้ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งหากตรวจพบว่าคุณแม่กำลังเข้าสู่ระยะการคลอดแล้ว แพทย์ก็จะส่งตัวเข้าสู่ห้องคลอดเพื่อเตรียมตัวสำหรับการคลอดบุตรต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่คุณแม่ไม่แน่ใจว่าอาการเจ็บท้องนั้นเป็นสัญญาณของการคลอดบุตรหรือไม่ ไม่ควรลังเลที่จะปรึกษาแพทย์ เพราะบางครั้งอาการเจ็บท้องอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่เกิดขึ้นกับทารกได้เช่นกัน

การรักษาอาการเจ็บท้อง

เนื่องจากอาการเจ็บท้องนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติและเป็นสัญญาณของการเตรียมพร้อมเพื่อคลอดบุตร จึงไม่อาจรักษาให้หาย แต่บรรเทาอาการได้ในเบื้องต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • เคลื่อนไหวร่างกาย ในกรณีที่เป็นอาการเจ็บท้องเตือน การขยับตัวหรือเคลื่อนไหวร่างกายจะช่วยหยุดอาการเจ็บท้องได้ ส่วนอาการเจ็บท้องจริง การเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการเดิน การย่อเข่า หรือการแกว่งตัวเบา ๆ ไปด้านหน้าหรือด้านหลัง อาจช่วยบรรเทาอาการให้เบาบางลงได้เช่นกัน
  • นวดเพื่อผ่อนคลาย อาการเจ็บท้องนั้นก่อให้เกิดความตึงเครียดต่อคุณแม่ค่อนข้างมาก การนวดจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นและลืมความรู้สึกเจ็บปวดลงได้ในระยะหนึ่ง โดยควรนวดที่บริเวณไหล่และหลังส่วนล่างเป็นหลัก
  • อาบน้ำ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกสบายตัวมากขึ้น
ทั้งนี้ การศึกษาเกี่ยวกับการคลอด การฝึกสมาธิ และการฝึกลมหายใจก็เป็นวิธีที่จะช่วยให้คุณแม่รับมือกับอาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน แต่หากใช้ทุกวิธีแล้วอาการปวดยังคงไม่ดีขึ้นก็อาจเป็นสัญญาณของการคลอดบุตรที่จำเป็นต้องใช้การรักษาวิธีอื่น ๆ เช่น การใช้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด ยาที่แพทย์มักใช้ ได้แก่
  • ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดในกรณีเจ็บท้องเตือน แต่หากเป็นอาการเจ็บท้องจริงอาจต้องใช้ยาระงับปวดที่มีฤทธิ์รุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ได้แก่ ยาระงับปวดชนิดเสพติด (Narcotics) เช่น ยาฉีดเพทิดีน (Pethidine Injections) ซึ่งเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดและช่วยให้คุณแม่รู้สึกผ่อนคลาย โดยยาชนิดนี้จะออกฤทธิ์หลังจากฉีดเข้าร่างกายเป็นระยะเวลา 20 นาที และมีประสิทธิภาพยาวนาน 2-4 ชั่วโมง ทว่าการใช้ยาชนิดนี้ไม่แนะนำสำหรับคุณแม่ที่เข้าสู่ระยะคลอดที่ 2 เพราะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น เกิดปัญหาการหายใจของทารก ส่วนคุณแม่อาจเกิดอาการหน้ามืด รู้สึกไม่สบาย และมีอาการหลงลืม อีกทั้งการให้ยาในช่วงใกล้คลอดมาก ๆ อาจทำให้ยาเจือปนในน้ำนมได้
  • ยาชา ใช้เพื่อช่วยให้คุณแม่รู้สึกชาและไม่รู้สึกเจ็บ ทั้งในขณะก่อนคลอดหรือระหว่างการคลอดบุตร
นอกจากนี้ ยังมีการรักษาวิธีอื่น ๆ ที่แพทย์มักใช้ภายในห้องคลอดเพื่อบรรเทาอาการเจ็บท้องในระหว่างการคลอด คือ
  • การใช้แก๊สอีโทน็อกซ์ แก๊สชนิดนี้เกิดขึ้นจากการผสมกันระหว่างออกซิเจนและแก๊สไนตรัสออกไซด์ ใช้สำหรับช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด โดยการสูดแก๊สดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายแต่ละครั้งจะใช้เวลา15-20 วินาที กว่าแก๊สจะเริ่มออกฤทธิ์ ทั้งนี้ แก๊สดังกล่าวอาจไม่ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ทั้งหมด บางครั้งต้องใช้ยาแก้ปวดชนิดฉีดร่วมด้วย และอาจมีผลข้างเคียงบางประการจากการใช้ เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ ทำให้รู้สึกไม่สบาย ง่วงซึม และมีสมาธิลดลงได้
  • การบล็อกหลัง (Epidural Block) เป็นวิธีบรรเทาอาการเจ็บท้องในขณะคลอดที่ได้ผลดี เนื่องจากยาจะทำให้เกิดอาการชาบริเวณหลัง แต่ไม่ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกง่วงซึม และนิยมใช้กับผู้ป่วยที่ต้องการบรรเทาอาการเจ็บปวดจากการคลอด ทั้งนี้ วิธีดังกล่าวจะต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เนื่องจากยาชาอาจส่งผลข้างเคียงให้คุณแม่รู้สึกหนักขา ความดันโลหิตลดต่ำ เบ่งคลอดได้ไม่เต็มที่ หรือปัสสาวะลำบาก บางรายมีอาการปวดศีรษะและปวดหลัง นอกจากนี้ การบล็อกหลังยังอาจทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บเหมือนถูกเข็มตำบริเวณขา แต่พบได้น้อย
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บท้อง

ภาวะแทรกซ้อนจากการเจ็บท้องที่เห็นได้ชัดคือ อาการเจ็บอาจส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันของคุณแม่ ทำให้รู้สึกไม่สะดวกสบายเท่าที่ควร อารมณ์ไม่ดี และเกิดความเครียดจนส่งผลต่อทารกได้ นอกจากนี้ อาการเจ็บท้องยังอาจเป็นสัญญาณแสดงถึงความผิดปกติของครรภ์ โดยอาการเจ็บท้องที่รุนแรงหรือบ่อยครั้งขึ้นในช่วงก่อนสัปดาห์ที่ 37 ของการตั้งครรภ์ มีเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำเดิน อาจเป็นสัญญาณของการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงต่อมารดาและทารกในครรภ์สูง

การป้องกันอาการเจ็บท้อง

อาการเจ็บท้องป้องกันไม่ได้ เนื่องจากเป็นสัญญาณเตือนของการคลอด แต่ว่าที่คุณแม่ควรเฝ้าระวังอาการและแยกออกให้ชัดเจนว่าอาการดังกล่าวเป็นเพียงการเจ็บเตือนหรือการเจ็บท้องคลอดจริง นอกจากนี้ ควรปรึกษาแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการบรรเทาอาการเจ็บ ส่วนในกรณีที่ใกล้ครบกำหนดคลอด แพทย์จะแนะนำให้ไปโรงพยาบาลเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญคุณแม่ควรหมั่นสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมกับอาการเจ็บท้อง ต้องรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด เพราะนั่นอาจเป็นสัญญาณอันตรายที่คุกคามชีวิตลูกน้อยโดยไม่รู้ตัว