เจ้าชายนิทรา

ความหมาย เจ้าชายนิทรา

เจ้าชายนิทรา คือ ภาวะสูญเสียสมรรถภาพในการคิดและรับรู้สิ่งรอบข้าง ผู้ประสบภาวะนี้จะสูญเสียการทำงานของสมอง เนื่องจากสมองถูกทำลายหรือได้รับความกระทบกระเทือนจนเสียหายอย่างรุนแรง ส่งผลให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อสิ่งเร้าเพียงบางส่วน แต่ช่วยเหลือตัวเองในการทำสิ่งต่าง ๆ ไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นทั้งหมด จึงจะดำรงชีวิตอยู่ได้ อย่างไรก็ตาม ภาวะเจ้าชายนิทราแตกต่างจากภาวะสมองตาย เนื่องจากระบบการทำงานอื่นยังทำงานได้ปกติ เช่น การหายใจ ระบบไหลเวียนภายในร่างกาย การเคลื่อนไหวต่าง ๆ โดยผู้ป่วยอาจลืมตา ทำใบหน้าบูดเบี้ยว ร้องไห้ หรือหัวเราะได้

เจ้าชายนิทรา

นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบภาวะเจ้าชายนิทราเป็นเวลานาน อาจได้รับการวินิจฉัยว่าเข้าสู่สภาพผักเรื้อรัง หรือสภาพผักถาวร ดังนี้

  • สภาพผักเรื้อรัง (Continuing Vegetative State) ผู้ป่วยประสบภาวะเจ้าชายนิทรานานกว่า 4 สัปดาห์
  • สภาพผักถาวร (Permanent Vegetative State) ผู้ป่วยประสบภาวะเจ้าชายนิทรานานกว่า 6 เดือนในกรณีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บตรงสมอง หรือประสบภาวะเจ้าชายนิทรานานกว่า 12 เดือนในกรณีที่ได้รับบาดเจ็บที่สมอง โดยผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าประสบภาวะเจ้าชายนิทราขั้นนี้ มีแนวโน้มฟื้นตัวหลังรับการรักษาได้น้อย

ทั้งนี้ ภาวะเจ้าชายนิทรายังแตกต่างจากภาวะโคม่า โดยผู้ป่วยโคม่าได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลายที่สมองหรือก้านสมอง ส่งผลให้ลืมตาไม่ได้แม้จะถูกทำให้รู้สึกเจ็บ รวมทั้งไม่สามารถทำตามคำสั่ง พูดสื่อสาร หรือเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความต้องการต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากหายใจเองไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยโคม่าสามารถหายจากอาการป่วยได้ในกรณีที่ได้รับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าวจนหายดี

อาการของเจ้าชายนิทรา

ผู้ประสบภาวะเจ้าชายนิทราจะหายใจและหัวใจเต้นตามปกติ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์สำหรับช่วยหายใจ รวมทั้งมีวงจรการตื่นนอนและนอนหลับ ช่วงที่ตื่นนอนผู้ป่วยอาจแสดงปฏิกิริยาต่าง ๆ เช่น กะพริบตาเมื่อได้ยินเสียงดัง ชักมือกลับเมื่อถูกบีบมือ แสดงปฏิกิริยาต่ออาการเจ็บปวดทางกายบ้าง ซึ่งการเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ได้เกิดจากการรับรู้ของผู้ป่วย นอกจากนี้ ผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการตอบสนองที่มาจากการรับรู้จริง ๆ เช่น กรอกตามองตามสิ่งของ หรือแสดงอารมณ์ความรู้สึกใด ๆ

สาเหตุของเจ้าชายนิทรา

ภาวะเจ้าชายนิทราหรือสภาพผักจัดเป็นภาวะหนึ่งในกลุ่มอาการความผิดปกติเกี่ยวกับความรู้สึกตัว (Disorders of Consciousness) กลุ่มอาการนี้เกิดจากสมองบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกตัวได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลาย แบ่งออกเป็นภาวะสมองบาดเจ็บ ภาวะสมองไม่ได้บาดเจ็บ และภาวะสมองถูกทำลายต่อเนื่อง ดังนี้

  • ภาวะสมองบาดเจ็บ (Traumatic Brain Injury) คือ การได้รับบาดเจ็บจากสิ่งของหรือแรงกระแทกภายนอกที่มากระทบศีรษะอย่างรุนแรง เช่น ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ตกลงมาจากที่สูง หรือถูกทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง
  • ภาวะสมองไม่ได้บาดเจ็บ (Non-Traumatic Brain Injury) คือ การได้รับบาดเจ็บที่สมองอันเนื่องมาจากปัญหาสุขภาพบางอย่าง โดยปัญหาสุขภาพนั้นทำให้สมองขาดออกซิเจนอันส่งผลให้เนื้อเยื่อสมองเริ่มตาย หรือปัญหาสุขภาพส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมองโดยตรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ การติดเชื้อที่สมองอย่างรุนแรง การใช้ยาเกินขนาด สารพิษต่าง ๆ การสูดก๊าซจนทำให้หายใจไม่ออก ภาวะเส้นเลือดแตกอันส่งผลให้เลือดออกภายในสมอง
  • ภาวะสมองถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง (Progressive Brain Damage) คือ ภาวะที่สมองค่อย ๆ ถูกทำลายเป็นระยะเวลานาน เช่น สมองถูกทำลายจากโรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน หรือเนื้องอกในสมอง 

การวินิจฉัยเจ้าชายนิทรา

การวินิจฉัยภาวะเจ้าชายนิทราและภาวะอื่นในกลุ่มอาการความผิดปกติเกี่ยวกับความรู้สึกตัว จะทำได้หลังแพทย์ตรวจและวินิจฉัยระดับการตื่นตัวและการรู้สึกตัวของผู้ป่วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับกลุ่มอาการดังกล่าวจะเป็นผู้ทำการตรวจ วิธีที่ใช้ตรวจสำหรับวินิจฉัยภาวะเจ้าชายนิทราประกอบด้วยการประเมินระดับความรู้สึกตัว และการสแกนสมอง ดังนี้

  • การประเมินระดับความรู้สึกตัว (Glasgow Coma Scale) วิธีนี้ใช้วัดระดับความรู้สึกตัวของผู้ป่วย โดยแพทย์จะประเมินลักษณะ 3 อย่าง ได้แก่
    • การลืมตา ผู้ป่วยที่ไม่ลืมตาจัดอยู่ในระดับ 1 ส่วนผู้ที่ลืมตาขึ้นทันทีอยู่ในระดับ 4
    • การพูดโต้ตอบ ผู้ป่วยที่ไม่พูดโต้ตอบอยู่ในระดับ 1 ส่วนผู้ที่ตื่นตัวและพูดโต้ตอบได้จัดอยู่ระดับ 5
    • การเคลื่อนไหวโต้ตอบ ผู้ป่วยที่ไม่แสดงปฏิกิริยาใด ๆ จัดอยู่ระดับ 1 ส่วนผู้ที่เคลื่อนไหวตามคำสั่งจัดอยู่ระดับ 6

ระดับคะแนนที่ต่ำแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยประสบภาวะไม่รู้สึกตัวอย่างรุนแรง โดยผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินในระดับนี้จะได้รับการติดตามและสังเกตอาการอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูความเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ

  • การสแกนสมอง วิธีนี้จะช่วยประเมินระดับที่สมองถูกทำลาย รวมทั้งตรวจหาอาการหรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) โดยการสแกนสมองสำหรับประเมินโครงสร้างอวัยวะดังกล่าวมีหลายวิธี ทั้งนี้ แพทย์อาจสแกนสมองผู้ป่วยด้วยวิธีเอกซเรย์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน หรือการทำเอ็มอาร์ไอ ในกรณีที่ผู้ป่วยทนกับกระบวนการตรวจดังกล่าวได้

นอกจากนี้ ภาวะเจ้าชายนิทราเป็นภาวะที่ผู้ป่วยตื่นแต่ไม่รู้สึกตัว แพทย์ต้องวินิจฉัยอย่างรอบคอบ เนื่องจากอาจเกิดการวินิจฉัยผิดพลาดได้ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องวินิจฉัยสภาพผักถาวร แพทย์จะวินิจฉัยภาวะเจ้าชายนิทราได้เมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบต่อไปนี้

  • ปรากฏสาเหตุที่สมองถูกทำลายหรือได้รับบาดเจ็บอย่างชัดเจน เช่น ผู้ประสบภาวะเจ้าชายนิทราที่คาดว่าเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จะได้รับการตรวจหาการติดเชื้อสำหรับยืนยันผลการวินิจฉัย
  • ได้รับการยืนยันว่ายาที่ใช้รักษาไม่ตอบสนองต่ออาการป่วย
  • ได้รับการยืนยันว่าปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวกับสารเคมีในร่างกายนั้นไม่เกี่ยวข้องกับภาวะสูญเสียความรู้สึกตัว
  • การสแกนสมองแสดงผลว่าอาการนี้ไม้ได้เกิดจากสาเหตุที่อาจรักษาได้
  • ผู้เชี่ยวชาญด้านกลุ่มอาการความผิดปกติเกี่ยวกับความรู้สึกตัวเป็นผู้ทำการตรวจ

ส่วนผู้ป่วยที่จะได้รับการวินิจฉัยว่าประสบสภาพผักถาวรจะมีหลักวินิจฉัยเพิ่มเติมจากที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กรณี ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพอันส่งผลต่อเนื้อเยื่อสมองโดยตรงและประสบภาวะเจ้าชายนิทราเป็นเวลา 6 เดือน
  • ผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองและประสบภาวะเจ้าชายนิทราเป็นเวลา 12 เดือน

การรักษาเจ้าชายนิทรา

การรักษาภาวะเจ้าชายนิทราขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว โดยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บตรงศีรษะต้องเข้ารับการรักษาเพื่อไม่ให้เลือดออกหรือเกิดอาการบวมที่สมอง ส่วนผู้ที่ได้รับผลจากการป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่างจะได้รับการรักษาอาการป่วยนั้น ๆ หรือหากผู้ป่วยได้รับสารพิษ แพทย์จะให้ยาที่มีฤทธิ์แก้สารพิษดังกล่าว

ทั้งนี้ การดูแลผู้ที่ประสบภาวะเจ้าชายนิทราถือว่าสำคัญอย่างมาก โดยวิธีดูแลผู้ป่วยทำได้ ดังนี้

  • แพทย์อาจต้องเจาะคอผู้ป่วย เพื่อให้ทางเดินหายใจของผู้ป่วยไม่อุดตัน รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะปอดบวมจากการสำลัก (Aspiration Pneumonia)
  • ให้อาหารผ่านสายยาง เพื่อให้ได้รับสารอาหารและน้ำอย่างเพียงพอ โดยแพทย์อาจเจาะสายยางสำหรับให้อาหารผ่านทางจมูก หรือหน้าท้องเพื่อให้อาหารลงกระเพาะอาหารโดยตรง
  • ช่วยขยับหรือเคลื่อนไหวร่างกายผู้ป่วยอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันกล้ามเนื้อแขนขาหด ซึ่งกลายเป็นภาวะรุนแรงสำหรับผู้ที่ประสบภาวะเจ้าชายนิทรา
  • ช่วยผู้ป่วยออกกำลังกายข้อต่อเบา ๆ เพื่อป้องกันอาการข้อติดแข็ง
  • ช่วยให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งดูแลและทำความสะอาดร่างกายผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดแผลกดทับ
  • ดูแลการขับถ่ายและปัสสาวะของผู้ป่วย เพื่อให้เกิดสุขอนามัยที่ดีต่อสุขภาพ โดยอาจสอดท่อหรือสายยางเข้าไปในร่างกายผู้ป่วย เพื่อขับปัสสาวะออกมา
  • แพทย์อาจติดตามอาการและให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดหรือทางเดินปัสสาวะ
  • ช่วยรักษาความสะอาดช่องปากและฟัน
  • หากิจกรรมต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยได้ทำ เช่น ฟังเพลง ดูโทรทัศน์ หรือดูรูปภาพและฟังสมาชิกในครอบครัวพูดคุยกัน

นอกจากนี้ ผู้ป่วยบางรายอาจต้องรับการกระตุ้นประสาทสัมผัส เพื่อเพิ่มระดับการตอบสนองของร่างกาย วิธีนี้จะเน้นกระตุ้นประสาทสัมผัสหลัก ซึ่งทำการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญและอาศัยความร่วมมือจากสมาชิกในครอบครัว เช่น เปิดภาพยนตร์ที่ผู้ป่วยชอบหรือให้ดูรูปของเพื่อน พูดคุยหรือเปิดเพลงให้ผู้ป่วยฟัง ฉีดน้ำหอมหรือจัดดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมไว้ในห้อง รวมทั้งจับมือหรือนำวัสดุลักษณะต่าง ๆ มาสัมผัสผิวผู้ป่วย

การฟื้นตัวหลังรับการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ สาเหตุที่สมองได้รับบาดเจ็บ ความรุนแรงของอาการบาดเจ็บที่สมอง อายุของผู้ป่วย และระยะเวลาที่ผู้ป่วยประสบภาวะเจ้าชายนิทรา โดยผู้ที่ฟื้นขึ้นมาหลังได้รับบาดเจ็บที่สมองและประสบภาวะเจ้าชายนิทราป็นเวลา 1 เดือนมีเพียงครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ผู้ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บที่สมองนั้น มีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 20 ที่ฟื้นขึ้นมาหลังประสบภาวะเจ้าชายนิทรานานกว่า 1 เดือน กล่าวได้ว่าโอกาสฟื้นของผู้ป่วยจะลดลงหากประสบภาวะเจ้าชายนิทราเป็นระยะเวลานาน ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่สมองและประสบภาวะเจ้าชายนิทราเกิน 1 ปี หรือผู้ที่ไม่ได้รับบาดเจ็บที่สมองและประสบภาวะเจ้าชายนิทราเกิน 6 เดือน มีโอกาสฟื้นขึ้นมาได้น้อย หากฟื้นขึ้นมาก็อาจพิการอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ ดุลยพินิจในการรักษาผู้ป่วยจะเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย การตัดสินใจยุติให้ยารักษาโรคบางอย่างที่ส่งผลต่อชีวิตอาจต้องได้รับการตัดสินจากศาล ส่วนการตัดสินใจอื่น ๆ ที่ไม่แทรกแซงการปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หรือการรักษาด้วยอินซูลินนั้น จะได้รับการพิจารณาจากแพทย์ร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ นอกจากนี้ แพทย์อาจยังจ่ายยากดประสาทให้แก่ผู้ป่วยแม้จะปรากฏผลว่าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัวแล้ว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่ได้รับความทรมานจากการประสบภาวะเจ้าชายนิทรา ที่สำคัญ แพทย์จะทำการรักษาตามเจตนารมณ์ของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับประโยชน์จากการรักษาสูงสุดโดยไม่ทุกข์ทรมาน

การป้องกันเจ้าชายนิทรา

การป้องกันภาวะเจ้าชายนิทราและภาวะอื่นที่อยู่ในกลุ่มอาการความผิดปกติเกี่ยวกับความรู้สึกตัว สามารถทำได้โดยเริ่มป้องกันจากสาเหตุที่ก่อให้เกิดภาวะดังกล่าว ควรหาวิธีที่ป้องกันและเลี่ยงในการทำให้สมองได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลาย ดังนี้

  • ขับรถอย่างระมัดระวัง รวมทั้งเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือใช้ยาที่ทำให้เกิดอาการง่วงในกรณีที่ต้องขับรถ เพื่อเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุอันอาจทำให้สมองได้รับบาดเจ็บ
  • สวมหมวกกันน็อคทุกครั้งเมื่อขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
  • ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพอันนำไปสู่การได้รับบาดเจ็บหรือสมองถูกทำลาย ควรดูแลรักษาอาการป่วยของตนให้ดี โดยรับประทานยาตามแพทย์สั่งและเข้ารับการตรวจตามนัดอย่างสม่ำเสมอ