เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)

ความหมาย เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)

โรคเชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis) เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อราภายในช่องคลอดหรือบริเวณปากช่องคลอด โดยผู้ที่ป่วยจะมักพบอาการบริเวณปากช่องคลอดและภายในช่องคลอด เช่น ระคายเคือง คันอย่างรุนแรง ผื่นขึ้น หรือบวมแดง

การติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย โดยการติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนการมีประจำเดือน บางรายอาจเกิดขึ้นหลังการมีเพศสัมพันธ์ หรือบางรายที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ก็อาจมีโอกาสในการพัฒนาโรคให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน

เชื้อราในช่องคลอด

อาการของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดส่วนใหญ่ส่งผลให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เล็กน้อยถึงปานกลาง แต่บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ แม้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งอาการที่พบได้บ่อย เช่น

  • เกิดอาการคันอย่างรุนแรงและระคายเคืองที่ปากช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด
  • มีอาการแสบร้อน โดยเฉพาะในขณะมีเพศสัมพันธ์หรือการปัสสาวะ
  • ตกขาวผิดปกติ อาจมีลักษณะสีขาวข้นคล้ายนมบูด เป็นน้ำใส หรือขาวข้นจับตัวเป็นก้อน
  • บริเวณปากช่องคลอดมีอาการบวม แดง
  • เกิดผื่นแดงทั้งภายในและภายนอกช่องคลอด อาจเกิดการกระจายไปทั่วบริเวณหัวหน่าว อวัยวะเพศ หรือต้นขา

ผู้ป่วยจะมีอาการเหล่านี้ได้ตั้งแต่ไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงเป็นสัปดาห์ หรืออาจนานเป็นเดือนในบางราย แต่พบได้ค่อนข้างน้อย นอกจากนี้ยังพบว่าบางรายอาจมีอาการของโรคกลับเป็นซ้ำในช่วงก่อนมีประจำเดือนและอาจเป็นมากขึ้นหลังจากการมีเพศสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ควรรีบพบแพทย์หากเป็นการติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก อาการที่เป็นอยู่ไม่ดีขึ้นหลังใช้ยารักษา หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมด้วย

นอกจากนี้ อาการอาจรุนแรงมากขึ้นหากไม่รีบรักษา ซึ่งสังเกตได้จากอาการดังต่อไปนี้

  • บริเวณที่เกิดการติดเชื้อมีอาการบวม แดง และคันอย่างรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดรอยแตกเป็นแผล 
  • มีอาการเจ็บหรือปวด
  • ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อราในช่องคลอดบ่อยมากกว่าปกติ หรือมากกว่า 4 ครั้งต่อปี

สาเหตุของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากการเพิ่มจำนวนเชื้อรามากกว่าปกติภายในช่องคลอดจนทำให้สภาพภายในช่องคลอดเสียสมดุล โดยปกติเชื้อราเหล่านี้มักอาศัยอยู่ตามช่องปาก อวัยวะเพศ ระบบทางเดินอาหาร หรือบนผิวหนังของคนเราในปริมาณน้อยและไม่ก่อให้เกิดโรค แต่เมื่อเชื้อราเหล่านี้มีปริมาณมากขึ้นจึงพัฒนาให้เกิดการติดเชื้อขึ้นได้

เชื้อราที่ทำให้เกิดการติดเชื้ออาจเกิดได้จากหลายสายพันธ์ุ แต่สายพันธ์ุที่พบว่าเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในช่องคลอดได้มากที่สุดมีชื่อว่า แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida Albicans) ซึ่งเป็นเชื้อราในกลุ่ม แคนดิดา (Candida) ส่วนเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่พบได้ไม่บ่อยอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงได้มากขึ้น และต้องอาศัยการรักษาที่ซับซ้อนมากขึ้น

การเพิ่มจำนวนเชื้อราอย่างรวดเร็วมาจากหลายสาเหตุดังนี้

  • การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ซึ่งจะไปลดปริมาณแบคทีเรีย แลคโตบาซิลลัส และทำให้ค่าความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอดเสียสมดุล
  • การตั้งครรภ์
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคได้
  • สภาวะของร่างกายที่ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี (HIV)
  • เป็นโรคทางผิวหนังอื่น ๆ นำมาก่อน เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรังอื่น ๆ
  • การรับประทานยาบางประเภท
  • มีภาวะโรคอ้วน 
  • การรักษาด้วยวิธีฮอร์โมนบำบัดหรือการรับประทานยาคุมกำเนิดในปริมาณสูง ซึ่งจะไปเพิ่มระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน 
  • การสวนล้างช่องคลอดหรือการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยบริเวณช่องคลอดบ่อย ๆ อาจทำให้เสียสมดุลภายในช่องคลอด
  • เกิดความอับชื้นบริเวณช่องคลอด

การวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอด

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคเชื้อราในช่องคลอดได้ตามขั้นตอนดังนี้

  • สอบถามข้อมูลและประวัติทางการแพทย์ โดยในขั้นแรกจะมีการสอบถามข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย อาการผิดปกติที่พบ ลักษณะของตกขาว เคยมีประวัติเกิดการติดเชื้อราหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่
  • การตรวจภายใน แพทย์จะตรวจดูลักษณะภายนอกของอวัยวะเพศและบริเวณรอบ ๆ เพื่อหาสัญญาณของการติดเชื้อ ซึ่งบางรายอาจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ขั้นตอนนี้ แต่ในบางรายอาจจะต้องตรวจหาความผิดปกติจากภายในช่องคลอดร่วมด้วย โดยการสอดอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เรียกว่าปากเป็ดเข้าไปในช่องคลอด เพื่อเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งหรือตกขาวออกมาตรวจ
  • การตรวจตัวอย่างสารคัดหลั่ง มักจะใช้ในกรณีตรวจวินิจฉัยผู้ที่เกิดการติดเชื้อบ่อย ๆ หรืออาการของโรคไม่ดีขึ้น โดยแพทย์จะนำตัวอย่างที่เก็บได้ภายในช่องคลอดออกมาตรวจหาประเภทเชื้อราที่ทำให้เกิดอาการของโรค ซึ่งจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาผู้ป่วยที่มีการกลับมาของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

การรักษาโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราในช่องคลอดสามารถรักษาได้โดยการใช้ยาต้านเชื้อรา (Antifungal Drug) เป็นหลัก โดยรูปแบบของยาอาจจะมีทั้งแบบครีม ขี้ผึ้ง ยาเหน็บ หรือยารับประทาน เช่น 

  • ยาคลอไตรมาโซล (Clotrimazole)
  • ยาไมโคโนโซล (Miconazole)
  • ยาไทโอโคนาโซล (Tioconazole)
  • ยาบูโตโคนาโซล (Butoconazole)
  • ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole)
  • กรดบอริก (Boric acid)
  • ยาไนสแตติน (Nystatin)

การเลือกใช้ยาควรต้องมีการพิจารณาระดับความรุนแรงของโรคและประเภทของเชื้อราที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นด้วย โดยระยะเวลาในการใช้ยาจะแตกต่างกันไปตามความแรงของยาและการตอบสนองของผู้ป่วยต่อการรักษา

ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคไม่รุนแรงสามารถซื้อยาต้านเชื้อราที่ขายทั่วไป ควบคู่กับการดูแลตนเองได้จากที่บ้านโดย  

  • ผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาเชื้อราทาช่องคลอดในช่วงที่มีประจำเดือน ควรเลือกใช้ผ้าอนามัยแบบแผ่นแทนการใช้ผ้าอนามัยแบบสอด
  • หลีกเลี่ยงการใช้สบู่หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดบริเวณช่องคลอดเป็นประจำ แต่ควรใช้น้ำสะอาดทำความสะอาดแทน
  • ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด เพราะอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลง
  • หากมีความรู้สึกเจ็บในขณะมีเพศสัมพันธ์ ควรใช้ผลิตภัณฑ์เจลหล่อลื่นที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบหลักในขณะมีเพศสัมพันธ์ เพื่อช่วยลดการระคายเคือง
  • หากบริเวณอวัยวะเพศมีอาการบวมและเจ็บ ไม่ควรเกาหรือถูแรง ๆ แต่อาจนั่งแช่น้ำอุ่น เพื่อช่วยบรรเทาอาการ หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นประคบบริเวณที่มีอาการ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่รักษาด้วยการซื้อยามาใช้เองควรปรึกษาเภสัชกรทุกครั้ง ก่อนการใช้ยาควรศึกษาวิธีอย่างละเอียดและควรใช้ยาติดต่อกันอย่างต่อเนื่องจนครบปริมาณที่แนะนำ ไม่ควรหยุดใช้ยาอย่างกะทันหันแม้ว่ามีอาการดีขึ้น 

นอกจากนี้ ควรระมัดระวังการใช้ยาบางประเภทที่ยังไม่ได้รับการยืนยันทางการแพทย์อย่างชัดเจนว่ามีฤทธิ์ในการต่อต้านเชื้อรา เช่น การทาน้ำมันทีทรี (Tea Tree Oil) บริเวณช่องคลอด หรือการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากกระเทียม เนื่องจากอาจส่งผลให้อาการติดเชื้อแย่ลงได้

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยในกลุ่มดังต่อไปนี้ควรเข้าปรึกษาแพทย์ เนื่องจากอาจต้องมีการใช้ยารักษาในปริมาณที่สูงขึ้นและรักษานานต่อเนื่องตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อช่วยป้องกันการกลับมาของโรค 

  • อาการมีความรุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดอาการปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน
  • ผู้ป่วยอยู่ในช่วงตั้งครรภ์
  • เป็นอาการติดเชื้อครั้งแรก
  • เกิดอาการแพ้
  • อาการของโรคไม่ดีขึ้น
  • มีความกังวลว่าอาการที่เกิดขึ้นอาจมีสาเหตุมาจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ

ทั้งนี้ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลา 2 เดือนหลังอาการหายขาดอาจเป็นสัญญาณบ่งบอกจากโรคอื่นได้

ภาวะแทรกซ้อนของโรคเชื้อราในช่องคลอด

โรคเชื้อราภายในช่องคลอดค่อนข้างพบภาวะแทรกซ้อนได้น้อย โดยทั่วไปมักเกิดการถลอกของผิวหนังจนอาจเป็นแผล เนื่องจากอาการคันและเสี่ยงต่อการเกิดการติดเชื้ออื่น ๆ ที่ผิวหนังได้โดยง่าย ผู้ป่วยบางรายอาจเกิดการติดเชื้อขึ้นใหม่อีกครั้งหลังการรักษา หรือไม่สามารถรักษาโรคให้หายขาด เนื่องจากตัวยาไม่ตอบสนองต่อโรค ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพอื่นตามมา

การป้องกันโรคเชื้อราในช่องคลอด

การติดเชื้อราในช่องคลอดอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ในบางกรณีบอกได้ยากว่าเกิดมาจากสาเหตุใด เพราะแต่ละบุคคลก็มีปัจจัยความเสี่ยงที่แตกต่างกันออกไป การป้องกันโรคจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เพื่อช่วยลดโอกาสการเกิดของโรคตามคำแนะนำต่อไปนี้

  • เลือกสวมใส่กระโปรง กางเกง หรือกางเกงชั้นที่ไม่รัดแน่นมากเกินไป รวมไปถึงเลือกเนื้อผ้าจากเส้นใยธรรมชาติที่มีการถ่ายเทของอากาศได้ดี ซึ่งจะไม่ทำให้เกิดความอับชื้นจนเพิ่มจำนวนเชื้อราขึ้นได้โดยง่าย
  • ไม่ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีความอับชื้นเป็นเวลานาน ควรรีบเปลี่ยนชุดออกทันที เช่น ชุดว่ายน้ำ ชุดออกกำลังกาย
  • หลีกเลี่ยงการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นหรือการสวนล้างช่องคลอดบ่อยเกินความจำเป็น
  • รับประทานอาหารประเภทโยเกิร์ตหรือผลิตภัณฑ์อาหารเสริมอื่น ๆ ที่มีส่วนผสมของแบคทีเรียแลคโตบาซิลลัส (Lactobacillus) ซึ่งจะช่วยปรับสภาพความเป็นกรดด่างภายในช่องคลอด
  • ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่มีความจำเป็น  

ในช่วงมีประจำเดือนควรมีการเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผ้าอนามัยแบบสอด เพื่อไม่ให้เป็นแหล่งอับชื้นที่เป็นที่อยู่ของเชื้อรามากขึ้น