ความหมาย เด็ก LD
เด็ก LD หมายถึงเด็กที่บกพร่องทางการเรียนรู้ เนื่องจากมีความผิดปกติของระบบประสาทชนิดถาวร ทำให้สมองถูกจำกัดความสามารถในการเรียนรู้ การทำความเข้าใจ หรือการจดจำ และอาจพบร่วมกับโรคทางจิตเวชอื่น ๆ ได้ถึงร้อยละ 40-50 เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) พ่อแม่อาจสังเกตสัญญาณของความผิดปกติจากการที่เด็กไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้นาน มีปัญหาในการพูด การอ่าน การเขียน การคำนวณ ส่งผลให้อาจมีทักษะในการเรียนรู้ด้อยกว่าเด็กในวัยเดียวกัน ทั้งนี้ ความเอาใจใส่ของคนใกล้ชิดและการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ อาจช่วยให้ผู้ป่วยเด็ก LD พัฒนาทักษะทางด้านต่าง ๆ ได้อย่างเต็มศักยภาพและใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้เหมือนเด็กปกติ
อาการของเด็ก LD
กลุ่มอาการบกพร่องทางการเรียนรู้แบ่งเป็นหลายชนิดตามความบกพร่องทางทักษะด้านต่าง ๆ ส่งผลให้เด็ก LD แสดงอาการผิดปกติแตกต่างกันไป ดังนี้
- ความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว (Dyspraxia) คือความบกพร่องของทักษะการเคลื่อนไหวและการประสานงานระหว่างสมองกับอวัยวะเป้าหมาย เด็กอาจใช้งานช้อนส้อมหรือดินสอลำบาก ผูกเชือกรองเท้าด้วยตนเองไม่ได้ พูดติดขัด เคลื่อนไหวลูกตาลำบาก ร่างกายไวต่อแสง การสัมผัส รสชาติ หรือกลิ่น เป็นต้น
- ความบกพร่องด้านการคำนวน (Dyscalculia) คือความบกพร่องของทักษะทางคณิตศาสตร์ เด็กอาจจดจำตัวเลข ตารางสูตรคูณ นับเลข หรือแก้โจทย์ปัญหาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ได้ช้าหรือทำไม่ได้เลย
- ความบกพร่องด้านการเขียน (Dysgraphia) อาจมีปัญหาด้านการเขียนหนังสือ การสะกดคำ และไม่สามารถคิดและเขียนไปพร้อมกันได้
- ความบกพร่องด้านการใช้ภาษา (Dyslexia) คือความบกพร่องของทักษะการตีความภาษา ส่งผลให้มีปัญหาในการอ่านหรือการเขียน เด็กอาจอ่านหนังสือไม่ได้หรืออ่านได้ช้า จับใจความเรื่องที่อ่านไม่ได้ หรือไม่สามารถสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจผ่านการเขียนหรือการพูด
- ความบกพร่องด้านการฟัง เด็กได้ยินเสียงเป็นปกติแต่ไม่สามารถตีความได้ ส่งผลให้อาจมีปัญหาในการอ่าน แยกแยะเสียงไม่ได้ จดจำคำพูดไม่ได้ หรือไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่ได้ยิน
- ความบกพร่องด้านการมองเห็น เด็กอาจขาดทักษะในการตีความข้อมูลภาพ ทำให้แยกแยะความแตกต่างระหว่างสิ่งของ 2 สิ่งไม่ได้หรือทำได้ช้า หรือตากับมือเคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองหรือคนใกล้ชิดที่พบว่าบุตรหลานมีสัญญาณของความบกพร่องทางการเรียนรู้ต่อไปนี้ ควรพาไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยทันที
- มีปัญหาในการจดจำข้อมูล การอ่าน การเขียน การคำนวณ และทำการบ้านเองไม่ได้ ผู้ปกครองต้องช่วยทำทุกครั้ง
- เข้าใจความคิดที่เป็นนามธรรมได้ยาก
- ไม่ใส่ใจรายละเอียดของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ทว่าบางรายอาจช่างสังเกตและให้ความสนใจต่อสิ่งต่าง ๆ มากเกินไปได้เช่นกัน
- ขาดทักษะการเข้าสังคม
- ไม่เข้าใจและไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำหรือคำสั่งสอน
- อวัยวะต่าง ๆ เคลื่อนไหวไม่ประสานงานกัน ทำให้อาจมีปัญหาในการเดิน เล่นกีฬา จับดินสอ หรือใช้ช้อนส้อม
- ไม่เข้าใจแบบแผนของเวลา
- ทำของใช้ส่วนตัวหายเป็นประจำ
- แสดงพฤติกรรมต่อต้านหรือมีอารมณ์ก้าวร้าวที่โรงเรียน
- ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ยอมทำการบ้านหรือกิจกรรมที่ต้องใช้ทักษะบางประการ เช่น การอ่าน การเขียน การคำนวณ เป็นต้น
สาเหตุของความบกพร่องทางการเรียนรู้
ภาวะความบกพร่องทางการเรียนรู้ยังไม่อาจระบุสาเหตุการเกิดที่แน่ชัด แต่นักวิจัยเชื่อว่าอาจมีปัจจัยบางอย่างกระตุ้นให้เกิดความผิดปกติ ดังนี้
- พันธุกรรม คาดว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เด็กมีความบกพร่องทางการเรียนรู้ ทั้งนี้ นักวิจัยบางส่วนโต้แย้งว่าเด็ก LD อาจไม่ได้เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่เกิดจากการเรียนรู้และเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่
- พัฒนาการสมอง บางทฤษฎีกล่าวว่าเด็กที่มีพัฒนาการสมองผิดปกติ เช่น เด็กที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำกว่ามาตรฐาน คลอดก่อนกำหนด สมองขาดออกซิเจน หรือได้รับอุบัติเหตุที่กระทบกระเทือนสมอง อาจมีแนวโน้มเกิดภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้มากกว่าเด็กทั่วไป
- สิ่งแวดล้อม การสูดดมหรือสัมผัสสารพิษจากสิ่งแวดล้อมเป็นประจำ เช่น สารตะกั่ว รวมถึงโภชนาการที่ไม่ดีตั้งแต่เด็ก อาจส่งผลให้เกิดความพร่องทางการเรียนรู้
การวินิจฉัยเด็ก LD
พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดมักพบสัญญาณของความบกพร่องทางการเรียนรู้เมื่อเด็กเริ่มเข้าสู่วัยเรียน หากคาดว่าเด็กมีความผิดปกติควรพาไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะตรวจดูประวัติการเรียนและพัฒนาการด้านการเรียนรู้แต่ละด้าน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน รายงานจากครูประจำชั้น และตรวจวัดระดับสติปัญญาเพื่อประกอบการวินิจฉัย รวมทั้งตรวจหาความบกพร่องของกระบวนการฟังและกระบวนการมองเห็น จากนั้นอาจให้นักจิตวิทยาหรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางวินิจฉัยโดยใช้การทดสอบเฉพาะ เช่น คู่มือทดสอบการตอบสนองต่อการให้ความช่วยเหลือ (Response To Intervention: RTI) ซึ่งเป็นการเฝ้าดูพัฒนาการด้านการเรียนรู้ของเด็กอย่างใกล้ชิด เพื่อระบุชนิดของความผิดปกติและเสนอแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
การรักษาเด็ก LD
ปัจจุบันไม่มีวิธีรักษาความบกพร่องทางการเรียนรู้ให้หายขาด แต่เทคนิคการสอนที่เหมาะสมกับเด็ก LD ความเอาใจใส่จากพ่อแม่และคนใกล้ชิด รวมถึงการใช้ยาและการเยียวยาตามคำแนะนำของแพทย์อาจช่วยบรรเทาอาการผิดปกติและพัฒนาศักยภาพทางการเรียนรู้ได้ การรักษาเด็ก LD แบ่งออกเป็นด้านต่าง ๆ ดังนี้
- การศึกษา แผนการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualized Education Plan: IEP) คือเทคนิคการสอนและการใช้สื่อการสอนที่เน้นพัฒนาทักษะด้านที่บกพร่องของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การนำหนังสือเสียงมาใช้กับเด็กที่ขาดทักษะทางการอ่าน การจัดกิจกรรมการสอนที่สอดคล้องกับความสามารถของเด็ก เป็นต้น
- ครอบครัว ควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นของเด็ก LD ว่าบุตรหลานบกพร่องทักษะชนิดใดและมีอาการผิดปกติอย่างไร เพื่อให้การดูแลได้อย่างเหมาะสม รวมถึงส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง เช่น กระตุ้นให้ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และนอนหลับให้เพียงพอ นอกจากนั้น คนในครอบครัวควรสนับสนุนให้เด็กมีความภูมิใจและมั่นใจในตนเอง หมั่นชื่นชมเมื่อเด็กทำได้ดีแม้เรื่องเล็กน้อย เปลี่ยนจากการตำหนิหรือลงโทษเป็นการอธิบายให้เข้าใจถึงผลเสียของการกระทำที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งคอยสังเกตว่าเด็กมีภาวะซึมเศร้าจากความรู้สึกแปลกแยกหรือไม่มั่นใจในตนเองหรือไม่
- การแพทย์ แพทย์อาจแนะนำให้เด็ก LD บางรายรับประทานยาช่วยเพิ่มสมาธิ ทำให้เด็กจดจ่อกับสิ่งที่ทำอยู่ได้นานขึ้น รวมถึงแนะนำยาแก้โรคซึมเศร้าให้เด็กที่มีภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
- การรักษาแพทย์ทางเลือก มีงานวิจัยอ้างว่าการบำบัดด้วยดนตรีอาจช่วยรักษาความบกพร่องทางการเรียนรู้ได้เช่นกัน
ภาวะแทรกซ้อนของความบกพร่องทางการเรียนรู้
เด็ก LD บางรายอาจแสดงพฤติกรรมทางลบหรือมีแนวโน้มตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง อีกทั้งการดูแลเด็กที่มีภาวะนี้อาจส่งผลกระทบต่อครอบครัวหรือคนใกล้ตัว มีรายละเอียดดังนี้
- เด็กแสดงความอยากรู้อยากเห็นทางด้านร่างกาย ทำให้ผู้อื่นอาจมองว่าเด็กฝักใฝ่เรื่องเพศ
- มีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น การสำเร็จความใคร่ในที่สาธารณะ
- ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง เช่น โดนรังแก โดนล้อเลียน ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งอาจส่งผลให้มีปัญหาทางสุขภาพจิต เกิดการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ หรือติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
- ครอบครัวหรือคนใกล้ตัวที่เป็นผู้ดูแลเด็ก LD อาจเกิดความเครียด ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต รวมทั้งอาจมีปัญหาด้านความสัมพันธ์ระหว่างคนในครอบครัวหรือเครือญาติ
การป้องกันความบกพร่องทางการเรียนรู้
ความบกพร่องทางการเรียนรู้ในเด็กอาจป้องกันได้ตั้งแต่ลูกน้อยอยู่ในครรภ์มารดา หากรู้ตัวว่าตั้งครรภ์ควรไปฝากครรภ์ให้เร็วที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติระหว่างตั้งครรภ์ นอกจากนั้น การให้การดูแลเอาใจใส่อย่างเหมาะสมตั้งแต่ช่วงวัยทารกและวัยเด็กตอนต้นก็เป็นอีกวิธีที่อาจช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็กให้สมบูรณ์