เท้าแบน

ความหมาย เท้าแบน

เท้าแบน (Flat Feet) คือลักษณะของเท้าที่มีอุ้งเท้าเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ซึ่งอุ้งเท้าเป็นส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า เมื่อยืนลงน้ำหนักจะพบว่าฝ่าเท้าราบไปกับพื้นทั้งหมด เท้าแบนมีหลายประเภท ทั้งประเภทที่เป็นแต่กำเนิด เป็นในวัยเด็ก หรือเป็นภายหลังเมื่อเป็นผู้ใหญ่ บางคนอาจไม่มีอาการใด ๆ แต่บางคนอาจรู้สึกเจ็บปวด ขึ้นอยู่กับประเภทและความรุนแรงของอาการ

กรณีที่ไม่มีอาการเจ็บปวด ผู้ป่วยเท้าแบนอาจไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีอการเจ็บปวดมาก และไม่สามารถยืน เดิน หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น

เท้าแบน

สาเหตุของเท้าแบน

โดยปกติ ฝ่าเท้าของคนเราจะมีส่วนตรงกลางที่โค้งขึ้นมาเมื่อลุกขึ้นยืน ซึ่งส่วนที่โค้งขึ้นมานี้เรียกว่าอุ้งเท้า (Arch) อุ้งเท้าเกิดจากการยึดกันระหว่างเส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกเท้า โดยเส้นเอ็นที่เท้าและเส้นเอ็นส่วนที่ต่อจากขาส่วนล่างจะยึดกระดูกตรงกลางเท้าเข้ากับส้นเท้า ทำให้กลางฝ่าเท้าโค้งขึ้นและไม่ราบไปกับพื้น

ภาวะเท้าแบนเกิดจากความผิดปกติต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเนื้อเยื่อและกระดูกของฝ่าเท้าและขาส่วนล่าง ทำให้เท้าราบแนบไปกับพื้นทั้งหมดเมื่อลงน้ำหนักที่เท้า ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังต่อไปนี้

เท้าแบนในเด็ก

ภาวะเท้าแบนในเด็กเล็กอาจเกิดจากฝ่าเท้าของเด็กมีไขมันและเนื้อเยื่ออ่อน ทำให้มองเห็นอุ้งเท้าตรงฝ่าเท้าได้ไม่ชัด แต่เมื่อโตขึ้นช่องโค้งตรงอุ้งเท้าก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมาและไม่มีอาการเท้าแบน

อย่างไรก็ตาม เด็กบางคนอาจเกิดจากความผิดปกติตั้งแต่เกิด กระดูกเท้าเจริญไม่เต็มที่เมื่ออยู่ในครรภ์ หรือมีโรคที่ได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคกล้ามเนื้อเสื่อม (Muscular Dystrophy) โรคหนังยืดผิดปกติ (Ehlers-Danlos Syndrome) กลุ่มอาการที่ข้อต่อหย่อน (Joint Hypermobility Syndrome)

นอกจากนี้ เด็กที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น โรคสมองพิการ (Cerebral Palsy) ความบกพร่องของกระดูกไขสันหลัง (Spina Bifida) อาจมีภาวะเท้าแบนเช่นกัน และหากคนในครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นภาวะเท้าแบนก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเท้าแบนมากขึ้น

เท้าแบนในผู้ใหญ่

เท้าแบนในวัยผู้ใหญ่อาจเกิดจากปัจจัยด้านสุขภาพอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ 

  • คนที่เล่นกีฬาหรือต้องทำกิจกรรมหนัก ๆ ที่ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บที่เท้าและข้อเท้า เช่น เอ็นเท้าการอักเสบ (Posterior Tibial Tendon Dysfunction)
  • คนที่มีโรคกระดูกสันหลังกดทับเส้นประสาทขา ซึ่งส่งผลให้กล้ามเนื้อเท้าอ่อนแรงลง 
  • คนที่กระดูกหักหรือกระดูกงอกผิดที่
  • ผู้ป่วยโรคอ้วน เนื่องจากเอ็นที่รองรับอุ้งเท้าต้องแบกน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ทำให้ไม่สามารถทรงตัวได้
  • ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เนื่องจากโรคนี้จะส่งผลต่อเลือดที่ไหลไปเลี้ยงเอ็นที่เท้า
  • ผู้ป่วยเบาหวาน เนื่องจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานส่งผลต่อเส้นประสาทที่เท้า และยังทำให้เส้นเอ็นอ่อนแรง
  • สตรีมีครรภ์ เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นและผลกระทบจากฮอร์โมนทำให้เอ็นยึดข้ออ่อนลง
  • ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบ และรูมาตอยด์ เนื่องจากโรคนี้ส่งผลต่อข้อต่อหรือทำให้เอ็นอ่อนแอลง
  • ผู้ที่อายุมาก เนื่องจากเส้นเอ็นจะเสื่อมและยืดออกตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น หากล้มหรือได้รับบาดเจ็บที่ร่างกาย อาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะเท้าแบนได้

อาการของเท้าแบน

อาการเท้าแบนอาจแตกต่างกันตามประเภทของภาวะเท้าแบน คนส่วนใหญ่มักไม่ปรากฏสัญญาณหรืออาการใด ๆ อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกเจ็บเท้า โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้าหรืออุ้งเท้า อาการเจ็บนั้นจะยิ่งแย่ลงเมื่อต้องทำกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งเกิดอาการบวมที่ข้อเท้าด้านในร่วมด้วย ภาวะเท้าแบนแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ดังนี้

  • เท้าแบนแบบนิ่ม (Flexible Flat Foot) ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้จัดเป็นภาวะเท้าแบนที่พบได้มากที่สุด พบตอนเป็นเด็ก ฝ่าเท้าจะราบไปกับพื้นทั้งหมดขณะที่ยืน แต่เมื่อยกเท้าขึ้นมาจะเห็นช่องโค้งของฝ่าเท้า เท้าแบนแบบนิ่มมักไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด
  • เท้าแบนแบบแข็ง (Rigid Flat Foot) เท้าแบนลักษณะนี้พบได้น้อย โดยเท้าจะไม่มีส่วนโค้งเว้าตรงกลางเท้า ไม่ว่าจะลงน้ำหนักที่เท้าขณะยืน หรือไม่ได้ลงน้ำหนักที่เท้า เช่น เมื่อนั่งหรือยกเท้าขึ้น เท้าแบนแบบแข็งมักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น และอาการจะแย่ลงตามอายุ ผู้ป่วยมักรู้สึกเจ็บปวดที่เท้า ไม่สามารถกระดกเท้าขึ้นลงหรือบิดข้อเท้าได้
  • เอ็นร้อยหวายสั้น (Short/Tight Archilles Tendon) คือภาวะที่เอ็นร้อยหวายที่ยึดกระดูกส้นเท้ากับกล้ามเนื้อน่องสั้นเกินไป ส้นเท้าของผู้ป่วยจึงยกขึ้นจากพื้นก่อนส่วนอื่นของฝ่าเท้าเมื่อเดินหรือวิ่ง มักทำให้เกิดอากาเจ็บปวดเท้ามื่อลงน้ำหนักที่เท้า
  • เอ็นเท้าอักเสบ (Posterior Tibial Tendon Dysfunction) ภาวะเท้าแบนลักษณะนี้เกิดจากเอ็นที่ยึดกล้ามเนื้อน่องกับด้านในข้อเท้าได้รับบาดเจ็บ บวม หรือฉีกขาด หากอุ้งเท้าได้รับการกระแทก จะทำให้รู้สึกเจ็บด้านในฝ่าเท้าและข้อเท้า

อาการเท้าแบนที่ควรไปพบแพทย์

โดยทั่วไปแล้ว ผู้ที่ประสบภาวะเท้าแบนไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาหากไม่ได้มีอาการเจ็บปวดใด ๆ ที่เท้า แต่ผู้ที่เกิดภาวะเท้าแบนควรไปพบแพทย์หากมีอาการต่อไปนี้

  • รู้สึกเจ็บฝ่าเท้าแม้จะสวมรองเท้าที่ใส่สบายและรองรับเท้าแล้ว
  • รู้สึกเจ็บที่อุ้งเท้าและส้นเท้า
  • ฝ่าเท้าด้านในบวมขึ้น ไม่สามารถสวมรองเท้าที่เคยใส่ได้ 
  • ยืนไม่ค่อยได้ เดินและทรงตัวลำบาก
  • เจ็บหลังและขา
  • ฝ่าเท้าอ่อนแรง รู้สึกชา หรือเกิดอาการฝ่าเท้าแข็ง

การวินิจฉัยภาวะเท้าแบน

แพทย์จะตรวจและวินิจฉัยภาวะเท้าแบนโดยสังเกตลักษณะเท้าตั้งแต่ด้านหน้าและหลังเท้า รวมทั้งให้ผู้ป่วยลองยืนขึ้นเพื่อดูลักษณะเท้าตอนยืน และดูรองเท้าที่สวมว่ามีลักษณะการสวมที่ผิดปกติหรือไม่ รวมถึงสอบถามประวัติการรักษาของผู้ป่วยประกอบด้วย เนื่องจากภาวะเท้าแบนอาจเกี่ยวข้องกับอาการเจ็บป่วยหรือการได้รับบาดเจ็บที่ผู้ป่วยเคยประสบมา

หากผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดที่เท้า อาจได้รับการตรวจด้วยภาพสแกนต่าง ๆ เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน ดังนี้

  • เอกซเรย์ แพทย์จะเอกซเรย์กระดูกและข้อต่อของเท้า เพื่อตรวจหาอาการข้ออักเสบ
  • ซีที สแกน (CT Scan) วิธีนี้จะทำโดยเอกซเรย์เท้าของผู้ป่วยหลายมุม ซึ่งจะช่วยให้ได้ข้อมูลมากขึ้น
  • อัลตราซาวด์ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่เอ็นจะต้องทำอัลตราซาวด์ โดยการใช้คลื่นเสียงประมวลภาพเนื้อเยื่ออ่อนภายในร่างกายออกมา
  • เอ็มอาร์ไอ (MRI) ซึ่งเป็นการใช้คลื่นวิทยุและสนามแม่เหล็กประมวลภาพของเนื้อเยื่อในร่างกาย

การรักษาภาวะเท้าแบน

วิธีรักษาภาวะเท้าแบนขึ้นอยู่กับสาเหตุและระดับความรุนแรงของอาการ ซึ่งมีดังรายละเอียดต่อไปนี้

การปรับพฤติกรรม

แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยงดยืนหรือเดินเป็นเวลานาน และหลีกเลี่ยงการวิ่งหรือกระโดดที่ทำให้เกิดแรงกระแทกที่เท้า รวมทั้งให้ผู้ป่วยควบคุมน้ำหนักตัว โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และออกกำลังกาย เพื่อช่วยลดแรงกดทับที่ฝ่าเท้า

การเลือกรองเท้าและใส่อุปกรณ์เสริม

การใส่อุปกรณ์เสริมที่เท้า (Orthotic) นับเป็นขั้นแรกของการรักษาภาวะเท้าแบน โดยอุปกรณ์เสริมจะบรรเทาอาการเจ็บเท้าและช่วยหนุนเท้า ผู้ป่วยจะสอดอุปกรณ์เสริมนี้ไว้ในรองเท้า ส่วนเด็กเล็กจะได้รับรองเท้าที่ออกแบบมาโดยเฉพาะจากแพทย์ เพื่อสวมใส่จนกว่าฝ่าเท้าจะเจริญเต็มที่

นอกจากนี้ ผู้ป่วยควรเลือกสวมรองเท้าที่เหมาะกับผู้มีเท้าแบน เพราะการสวมรองเท้าที่พอดีและรับกับรูปเท้าจะทำให้รู้สึกสบายเท้ามากกว่าการสวมรองเท้าแตะ หรือรองเท้าทั่วไปที่ไม่รองรับเท้าของผู้สวม

กายภาพบำบัด

การรักษาภาวะเท้าแบนด้วยกายภาพบำบัดจะช่วยเสริมความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของเอ็นและกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยเท้าแบนจากเอ็นร้อยหวายสั้นเกินไป ควรออกกำลังกายยืดกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันของขาส่วนล่าง โดยนักกายภาพบำบัดจะช่วยแนะนำการออกกำลังกายยืดเส้นให้แก่ผู้ป่วย 

ท่าออกกำลังกายยืดเอ็นร้อยหวายเริ่มจากโน้มตัวไปข้างหน้ายันผนังไว้ ก้าวขาข้างหนึ่งมาด้านหน้า งอเข่า ส่วนขาที่อยู่ข้างหลังยืดตรงและลงน้ำหนักที่ส้นเท้า ทำค้างไว้ 15–30 วินาที ระหว่างที่ทำท่านี้ ควรให้ส้นเท้าราบไปกับพื้นทั้งหมด ปลายนิ้วเท้าของขาหลังอยู่ในทิศทางเดียวกับส้นเท้าของขาที่อยู่ด้านหน้า

นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นนักวิ่งอาจได้รับบาดเจ็บจากการวิ่งมากขึ้น นักกายภาพบำบัดจะช่วยวิเคราะห์ลักษณะการวิ่งของผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยเข้ารับการทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปรับลักษณะและเทคนิคการวิ่งให้ดีขึ้น

การรักษาด้วยยา

ผู้ป่วยที่เกิดอาการเจ็บเท้าเรื้อรังและเท้าอักเสบ จะได้รับยาแก้อักเสบกลุ่ม NSAIDs เพื่อให้อาการปวดบวมที่เท้าทุเลาลง

การผ่าตัด

การผ่าตัดจะใช้ในกรณีที่การรักษาภาวะเท้าแบนวิธีอื่น ๆ ไม่ช่วยบรรเทาอาการให้ทุเลาลง หรือสาเหตุของภาวะดังกล่าวทำให้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด

วิธีผ่าตัดจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุ เช่น  ผู้ป่วยเท้าแบนที่มีรูปกระดูกผิดปกติหรือติดกัน จำเป็นต้องผ่าตัดแยกกระดูกและยืดให้ตรง ส่วนผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับเนื้อเยื่อที่ยึดเชื่อมกันจะได้รับการผ่าตัดรักษาเนื้อเยื่อที่เกิดปัญหา หรือผู้ที่เอ็นร้อยหวายสั้นเกินไป อาจได้รับการผ่าตัดเพื่อยืดเอ็นและลดอาการเจ็บปวดที่เท้า

ภาวะแทรกซ้อนของเท้าแบน

ภาวะเท้าแบนก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ดังนี้

  • ส่งผลกระทบต่อการเดินของผู้ป่วย สูญเสียความสามารถในการทรงตัวและดีดตัวของเท้า หากภาวะเท้าแบนเกิดอาการแย่ลง ซึ่งจะทำให้ปวดเท้า หลัง รวมถึงอาการปวดของกล้ามเนื้อ ข้อต่อ และอาการอักเสบของเส้นเอ็นตามมา
  • เกิดความผิดปกติของเท้า เช่น นิ้วหัวแม่เท้าผิดรูป หนังหนาด้าน ข้อนิ้วเท้าเกิดงอและติดกันแน่น หรือเกิดปุ่มกระดูกขึ้นมา ซึ่งเกิดจากลักษณะการเดินและรูปเท้าที่เปลี่ยนไป
  • กล้ามเนื้อหน้าขาเกิดการอักเสบ เนื่องจากไม่สามารถลงแรงไปที่เท้าได้เต็มที่ แรงกระแทกจากการเคลื่อนไหวจึงไปลงที่ขามากขึ้น 
  • เกิดอาการติดเชื้อหลังเข้ารับการผ่าตัด มีอาการเจ็บปวด ข้อเท้าเคลื่อนไหวได้ไม่ดี แต่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดที่พบได้ไม่บ่อยนัก

การป้องกันภาวะเท้าแบน

สาเหตุของภาวะเท้าแบนที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมนั้นไม่มีวิธีป้องกันได้โดยตรง อย่างไรก็ดี การควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดแรงกระแทกที่เท้า ซึ่งทำให้เกิดภาวะเท้าแบน ผู้ที่ตั้งครรภ์ หรือมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง รูมาตอยด์ ควรได้รับการดูแลรักษากับแพทย์อย่างเหมาะสม ซึ่งอาจช่วยป้องกันการเกิดภาวะเท้าแบนได้