เนโฟแพม (Nefopam)
Nefopam (เนโฟแพม) เป็นยาบรรเทาปวดระดับปานกลางจากปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อหรือข้อต่อ ปวดจากการบาดเจ็บหรือหลังการผ่าตัด และปวดจากโรคมะเร็ง แม้ปัจจุบันยังไม่ทราบอย่างแน่ชัดว่าตัวยาออกฤทธิ์อย่างไร แต่คาดว่ายา Nefopam อาจช่วยยับยั้งการส่งสัญญาณของความเจ็บปวดไปยังระบบประสาทส่วนกลาง จึงทำให้ร่างกายรู้สึกปวดน้อยลง
นอกจากนี้ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยใช้ยา Nefopam ในกรณีที่ยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ใช้ไม่ได้ผล เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือยาแอสไพริน (Aspirin) โดยจะพิจารณาให้ใช้ยาในระยะสั้นหรือระยะยาวต่างกันไปตามแต่ละคน
เกี่ยวกับยา Nefopam
กลุ่มยา | ยาแก้ปวดที่ไม่ใช่กลุ่มโอปิออยด์หรือกลุ่มเอ็นเสด (Non-Opioid, Non-NSAIDs Analgesics) |
ประเภทยา | ยาตามใบสั่งแพทย์ |
สรรพคุณ | บรรเทาอาการปวดปานกลาง |
กลุ่มผู้ป่วย | ผู้ใหญ่ และเด็กอายุมากกว่า 12 ปี |
การใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์และผู้ให้นมบุตร | ยังไม่มีการจัดหมวดหมู่ของยาชนิดนี้จากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาหรือ FDA ซึ่งยาอาจส่งผลกระทบต่อมารดาหรือทารกในครรภ์ได้ สตรีมีครรภ์ ผู้วางแผนจะตั้งครรภ์ และผู้ให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยานี้ เนื่องจากการศึกษาเกี่ยวกับตัวยานี้ยังมีไม่มากและอาจซึมผ่านน้ำนมมารดาได้แม้ในปริมาณน้อย จึงอาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์และทารกหลังคลอดได้ |
รูปแบบของยา | ยาเม็ด ยาฉีด |
คำเตือนในการใช้ยา Nefopam
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ยา ผู้ป่วยควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- แจ้งให้แพทย์ทราบหากมีประวัติแพ้ยาหรือส่วนประกอบของยา Nefopam รวมถึงยาชนิดอื่น ๆ เพราะอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกาย
- ผู้ป่วยที่มีประวัติทางสุขภาพควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยา เช่น โรคลมชักหรือเคยเกิดอาการชัก ต้อหินมุมปิด โรคหัวใจ ต่อมลูกหมากโต ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะลำบาก โรคไต และโรคตับ
- ห้ามใช้ยา Nefopam ในผู้ป่วยที่มีอาการปวดจากภาวะหัวใจขาดเลือด และผู้ที่กำลังใช้ยาต้านเศร้าในกลุ่มเอ็มเอโอไอ (MAOIs)
- หากผู้ป่วยต้องเข้ารับการตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ ขณะใช้ยานี้ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน โดยเฉพาะการตรวจปัสสาวะ เพราะตัวยาอาจทำให้ปัสสาวะกลายเป็นสีชมพู แม้จะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้ผลตรวจผิดพลาดได้
- แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจเลือด เพื่อดูการทำงานของตับและไตก่อนใช้ยานี้
- ยา Nefopam อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะหรือรู้สึกง่วง จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ การทำงานกับเครื่องจักร หรือการทำกิจกรรมที่ต้องรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ จนกว่าผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้น
- หลีกเลี่ยงหรืองดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้รู้สึกง่วงหรือเวียนศีรษะมากขึ้น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ๆ ในระยะยาวระหว่างที่ใช้ยานี้
- ไม่อนุญาตให้ใช้ยา Nefopam ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี
ปริมาณการใช้ยา Nefopam
ปริมาณและระยะเวลาในการใช้ยาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา โดยตัวอย่างการใช้ยา Nefopam เพื่อรักษาอาการปวดต่าง ๆ มีดังนี้
อาการปวดเฉียบพลันหรือเรื้อรังในระดับปานกลาง
ตัวอย่างการใช้ยา Nefopam เพื่อรักษาอาการปวดหลังผ่าตัด ปวดฟัน ปวดกล้ามเนื้อและข้อต่อ ปวดบาดแผล
เด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่ เริ่มรับประทานยาในปริมาณ 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง จากนั้นปรับไปรับประทานยาในปริมาณปกติที่ 30–90 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย
ผู้สูงอายุ เริ่มรับประทานยาในปริมาณ 30 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง
อาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดหลังผ่าตัด
ตัวอย่างการใช้ยา Nefopam เพื่อรักษาอาการปวดเฉียบพลันและอาการปวดหลังผ่าตัด
ผู้ใหญ่ ฉีดยาบริเวณกล้ามเนื้อในปริมาณ 20 มิลลิกรัม หากจำเป็นให้ฉีดยาซ้ำทุก 6 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 120 มิลลิกรัม หรือฉีดยาเข้าสู่หลอดเลือดดำในปริมาณ 20 มิลลิกรัม โดยหยดยาช้า ๆ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที หากจำเป็นให้ฉีดยาซ้ำทุก 4 ชั่วโมง ปริมาณยาสูงสุดไม่เกินวันละ 120 มิลลิกรัม
การใช้ยา Nefopam
ยา Nefopam รูปแบบฉีดจะต้องฉีดโดยแพทย์หรือพยาบาล ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์หรือพยาบาลอย่างเคร่งครัดทั้งก่อนและหลังการฉีดยา
สำหรับยาชนิดรับประทาน ผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำสั่งแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาเสมอ ไม่ควรปรับเพิ่มหรือลดปริมาณยาและระยะเวลาในการใช้ยาด้วยตนเอง โดยสามารถรับประทานยาพร้อมหรือไม่พร้อมอาหารก็ได้ แต่อาจเลือกรับประทานพร้อมอาหารเพื่อป้องกันอาการไม่สบายท้อง และควรกลืนยาลงไปทั้งเม็ดพร้อมดื่มน้ำตาม
เพื่อป้องกันการลืมรับประทานยา ผู้ป่วยควรรับประทานยาในเวลาเดียวกันของแต่ละวัน แต่หากผู้ป่วยลืมใช้ยา ควรใช้ยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้ถึงช่วงเวลาของยารอบถัดไป ให้ข้ามไปใช้ยาตามเวลาปกติ โดยห้ามเพิ่มปริมาณยาเป็นสองเท่า
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยที่รับประทานยาเกินปริมาณที่กำหนดอาจพบอาการผิดปกติ เช่น รู้สึกง่วงมาก กระวนกระวาย มองเห็นภาพหลอน หรือหัวใจเต้นเร็วมาก และในกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น ชัก หรือหมดสติ ควรรีบไปพบแพทย์หรือนำตัวส่งโรงพยาบาลทันที
การใช้ยา Nefopam ติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเสพติดได้ และหากหยุดใช้ยาเองโดยปราศจากคำแนะนำหรือการดูแลจากแพทย์ ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญกับอาการถอนยา เช่น วิตกกังวล กระสับกระส่าย หรือมีปัญหาในการนอนหลับ
ปฏิกิริยาระหว่างยา Nefopam กับยาอื่น
ยา Nefopam อาจทำปฏิกิริยากับยา วิตามิน หรือสมุนไพรบางชนิด ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงหรือทำให้ยามีประสิทธิภาพลดลง หากกำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ใด ๆ อยู่ ควรแจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบก่อนเสมอ โดยเฉพาะยาต่อไปนี้
- ยาต้านเศร้า เช่น ยากลุ่มเอ็มเอโอไอ (Monoamine Oxidase Inhibitors: MAOI) อย่างยาฟีเนลซีน (phenelzine) หรือยาไอโซคาร์บอกซาซิด (Isocarboxazid) และยากลุ่มไตรไซคลิก (Tricyclics Antidepressants: TCAs) อย่างยาอะมิทริปไทลีน (Amitriptyline)
- ยาเนโฟแพมใช้ร่วมกับยาแก้ปวดทั่วไปอย่างยาพาราเซตามอล และยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดอย่างยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ได้ แต่การใช้ร่วมกับยาแก้ปวดกลุ่มโอปิออยด์อย่างยาโคเดอีน (Codeine) หรือยามอร์ฟีน (Morphine) อาจส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงเพิ่มขึ้น เช่น รู้สึกคลื่นไส้ สับสน หรือเวียนศีรษะ
- ยา สมุนไพร หรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดอื่นที่ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกง่วง ปากแห้ง หรือปัสสาวะลำบาก อย่างยาแก้แพ้ เพราะยา Nefopam อาจส่งผลให้ผลข้างเคียงเหล่านี้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยา Nefopam
ยา Nefopam อาจส่งผลให้คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง ท้องผูก เวียนศีรษะ ง่วงซึม สับสน สั่น มีเหงื่อออกมาก ปากแห้ง ปัสสาวะลำบาก มองเห็นเป็นภาพเบลอ เห็นภาพหลอน มีปัญหาในการนอนหลับ ชาหรือรู้สึกเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงตามมือและเท้า ซึ่งหากอาการเหล่านี้รุนแรงยิ่งขึ้นหรือไม่มีท่าทีจะหายไป ผู้ป่วยควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยเร็ว
ในกรณีที่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น เวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม หมดสติ หัวใจเต้นเร็ว มีปัญหาในการหายใจหรือสื่อสาร หายใจมีเสียงหวีด แน่นหน้าอกหรือในลำคอ เจ็บหน้าอก ปัสสาวะลำบาก ชัก รวมถึงสัญญาณของอาการแพ้ยา เช่น เกิดผื่น คัน หายใจลำบาก และอาการบวมบริเวณใบหน้า ดวงตา ลิ้น หรือปาก ควรรีบไปพบแพทย์ทันที