เบาหวานขึ้นตา

ความหมาย เบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตา (Diabetic Retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน ทำให้เส้นเลือดที่เรตินาหรือจอตาได้รับความเสียหายจากน้ำตาลอุดตันและเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ในช่วงแรกอาจไม่พบอาการหรืออาจมองเห็นผิดปกติเพียงเล็กน้อย แต่หากมีอาการรุนแรง แล้วปล่อยไว้ไม่เข้ารับการรักษาอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นได้ในที่สุด

เบาหวานขึ้นตา

อาการของเบาหวานขึ้นตา

ในระยะแรกของภาวะเบาหวานขึ้นตาอาจจะยังไม่พบอาการหรือความผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อ

มีความรุนแรงมากขึ้น อาจพบอาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นได้ เช่น มองเห็นจุดหรือเส้นสีดำคล้ายหยากไย่ลอยไปมา ตามัว วิสัยทัศน์การมองเห็นแย่ลง สายตาไม่คงที่ แยกแยะสีได้ยากขึ้น หรือสูญเสียการมองเห็น เป็นต้น ซึ่งการดูแลและจัดการกับโรคเบาหวานอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการมองเห็นได้

ผู้ป่วยเบาหวานควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจตาเป็นประจำทุกปีถึงแม้ว่าการมองเห็นจะยังคงเป็นปกติก็ตาม รวมถึงในผู้ที่กำลังตั้งครรภ์เพราะการตั้งครรภ์ออาจทำให้อาการต่าง ๆ ของเบาหวานขึ้นตารุนแรงขึ้นได้ และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นอย่างฉับพลัน

สาเหตุของเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตามีสาเหตุมาจากระดับน้ำตาลในเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเวลานาน ส่งผลให้เส้นเลือดฝอยที่ไปหล่อเลี้ยงจอตาอุดตัน และทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นเพื่อทดแทนเส้นเลือดเก่าที่ได้รับความเสียหาย แต่เส้นเลือดใหม่เหล่านี้ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้เลือดหรือสารน้ำอื่น ๆ รั่วไหลเข้าเรตินาได้

ทั้งนี้ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเกิดภาวะเบาหวานขึ้นตาได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานขึ้นตา เช่น ระยะเวลาของการเป็นโรคเบาหวาน ยิ่งเป็นนานก็ยิ่งมีความเสี่ยงสูง การไม่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ หรือมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ เป็นต้น

ภาวะเบาหวานขึ้นตาอาจแบ่งได้หลายแบบ แต่ในที่นี้แบ่งเป็น 2 ชนิด ได้แก่

  • เบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก หรือระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ (Nonproliferative Diabetic Retinopathy: NPDR) เป็นระยะที่ผนังของเส้นเลือดที่จอตาไม่แข็งแรง ส่งผลให้เส้นเลือดโป่งขึ้น อาจทำให้เลือดหรือของเหลวรั่วออกมาในจอตา และเส้นเลือดใหญ่ที่จอตาจะเริ่มขยายตัวใหญ่ขึ้นผิดปกติ รวมถึงเส้นใยประสาทของจอตาและจุดภาพชัด (Macula) อาจเริ่มมีอาการบวม ในระยะเริ่มแรกอาจมีอาการเพียงเล็กน้อย แต่หากมีการอุดตันของเส้นเลือดที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้มีอาการรุนแรงได้
  • เบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า หรือระยะที่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ (Proliferative Diabetic Retinopathy: PDR) เป็นระยะที่เส้นเลือดเกิดการอุดตันจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนได้ตามปกติ ทำให้เกิดการสร้างเส้นเลือดใหม่ขึ้นมาทดแทน ซึ่งเส้นเลือดที่สร้างขึ้นใหม่เหล่านี้อาจไม่ได้พัฒนาอย่างเหมาะสม ทำให้มีเลือดรั่วซึมออกมาที่บริเวณวุ้นตา และอาจทำให้เกิดแผลเป็นซึ่งเป็นสาเหตุให้จอตาลอกออกจากด้านหลังของดวงตา หรือถ้าหากเส้นเลือดใหม่ที่เกิดขึ้นไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง และเป็นสาเหตุให้เกิดโรคต้อหินได้

การวินิจฉัยเบาหวานขึ้นตา

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นตา คือ การตรวจโดยขยายม่านตา (Dilated Eye Exam) ซึ่งแพทย์จะหยดน้ำยาเพื่อขยายรูม่านตาให้กว้างขึ้น แล้วตรวจหาความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น ความผิดปกติของเส้นเลือดในดวงตา การอุดตันของเส้นเลือด อาการบวมของจอตา แผลเป็นหรือเส้นเลือดที่สร้างขึ้นใหม่ เลือดที่รั่วออกมาบริเวณวุ้นตา จอตาลอก หรือความผิดปกติของประสาทตา เป็นต้น หลังการตรวจผู้ป่วยอาจมีอาการตามัวเป็นเวลา 4-6 ชั่วโมง ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะด้วยตนเองในช่วงเวลาดังกล่าว ควรพาญาติไปด้วยเพื่อความปลอดภัย รวมถึงอาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจสายตา ความดันตา หลักฐานการเกิดต้อกระจก รวมถึงการตรวจจอประสาทตาโดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

  • การตรวจจอประสาทตาโดยการฉีดสี (Fluorescein Angiography) แพทย์จะฉีดสีเข้าเส้นเลือดที่บริเวณแขน เพื่อให้สีเข้าสู่กระแสเลือดและไหลไปที่ดวงตา จากนั้นแพทย์จะถ่ายภาพภายในดวงตาเพื่อตรวจหาเส้นเลือดที่มีการอุดตัน รั่วซึม หรือเส้นเลือดที่แตก
  • การสแกนจอประสาทตา (Optical Coherence Tomography) โดยจะแสดงภาพตัดขวางเพื่อแสดงให้เห็นความหนาของจอตา ซึ่งช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่ามีการรั่วซึมของเลือดหรือของเหลวเข้าสู่บริเวณจอตาหรือไม่ นอกจากการสแกนจอประสาทตาจะช่วยวินิจฉัยสาเหตุของการเกิดโรคแล้ว ยังช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพของการรักษาได้อีกด้วย

การรักษาเบาหวานขึ้นตา

การรักษามีจุดประสงค์เพื่อชะลอหรือยับยั้งอาการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยวิธีการรักษาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของอาการ โดยวิธีรักษาแต่ละวิธีจะมีลักษณะดังต่อไปนี้

  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นระยะที่ยังไม่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ หากมีอาการเพียงเล็กน้อยจนถึงอาการในระดับปานกลาง อาจยังไม่จำเป็นต้องรักษาในทันที แต่แพทย์จะคอยสังเกตอาการหรือความผิดปกติของดวงตาอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อยับยั้งไม่ให้อาการลุกลาม
  • การรักษาเบาหวานขึ้นตาระยะก้าวหน้า ซึ่งเป็นระยะที่มีเส้นเลือดเกิดใหม่ ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจต้องรักษาด้วยเลเซอร์หรือผ่าตัด ซึ่งวิธีการก็จะแตกต่างกันออกไปโดยขึ้นอยู่กับแต่ละปัญหาของจอตา ได้แก่
    • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ มี 2 แบบ คือ
      • Focal Laser จะช่วยชะลอหรือยับยั้งการรั่วซึมของเลือดและของเหลวในดวงตา หากผู้ป่วยมีอาการตามัวหรือมองไม่ชัดที่เป็นผลมาจากภาวะเบาหวานขึ้นตา การรักษาด้วยวิธีนี้อาจไม่ช่วยให้อาการเหล่านี้หายไป แต่อาจช่วยลดโอกาสของอาการตามัวหรือมองไม่ชัด ไม่ให้มีอาการที่รุนแรงกว่าเดิม
      • Scatter Laser จะช่วยหดกระชับเส้นเลือดที่มีความโป่งผิดปกติ โดยจะยิงเลเซอร์ที่จอตา ยกเว้นบริเวณจุดภาพชัด หลังการรักษาด้วยวิธีนี้อาจส่งผลต่อการมองเห็น รวมถึงการมองเห็นในตอนกลางคืนของผู้ป่วย
  • การผ่าตัดวุ้นตา (Vitrectomy) เพื่อนำเลือดออกจากวุ้นตาและกำจัดแผลเป็นที่บริเวณจอตา การผ่าตัดวุ้นตาไม่ได้เป็นการรักษา เป็นเพียงการชะลอหรือยับยั้งอาการ ซึ่งจะยังคงมีโอกาสเกิดความเสียหายต่อจอตาและสูญเสียการมองเห็นได้อยู่

ภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานขึ้นตา

เบาหวานขึ้นตาอาจนำไปสูู่ภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับดวงตาและการมองเห็นได้อีกหลายประการ เช่น

  • เลือดออกในวุ้นตา เนื่องจากเส้นเลือดใหม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนเส้นเลือดเก่าที่ได้รับความเสียหายอาจสร้างขึ้นอย่างไม่เหมาะสม จึงอาจทำให้มีเลือดรั่วซึมออกมาที่วุ้นตา หากเลือดที่ซึมออกมามีปริมาณไม่มากอาจทำให้ผู้ป่วยมองเห็นเป็นจุดสีดำลอยไปมา แต่หากมีเลือดซึมออกมาในปริมาณมาก ปริมาณเลือดอาจไปบังการมองเห็นทั้งหมดได้ โดยปกติแล้วผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวุ้นตาจะไม่สูญเสียการมองเห็นแบบถาวร อาจใช้เวลาในการกำจัดเลือดออกจากวุ้นตาประมาณ 2-3 สัปดาห์หรือไม่กี่เดือน ผู้ป่วยก็อาจกลับมามองเห็นได้อย่างชัดเจน
  • จอตาลอก เป็นผลมาจากแผลเป็นที่เกิดขึ้นนั้นดึงจอตาให้หลุดลอกออกจากด้านหลังของดวงตา ซึ่งอาจทำให้เกิดจุดดำลอยไปมาในเวลามองสิ่งต่าง ๆ มองเห็นแสงวาบ หรือสูญเสียการมองเห็นขั้นรุนแรง
  • ต้อหิน เป็นผลมาจากกลุ่มเส้นเลือดใหม่ที่อาจเกิดขึ้นบริเวณด้านหน้าของดวงตา และไปแทรกแซงการระบายน้ำออกจากลูกตา ส่งผลให้ความดันตาสูงขึ้น เกิดความเสียหายต่อเส้นประสาทที่ทำหน้าที่ส่งภาพจากดวงตาไปยังสมอง
  • สูญเสียการมองเห็น ภาวะเบาหวานขึ้นตาหรือต้อหิน สุดท้ายแล้วอาจนำไปสู่การสูญเสียการมองเห็นได้

การป้องกันเบาหวานขึ้นตา

การป้องกันทำได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่ภาวะเบาหวานขึ้นตา และป้องกันอาการที่อาจรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งปฏิบัติได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้

  • จัดการกับเบาหวานด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น
  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ลดอาหารที่มีรสเค็ม หวาน และมีไขมันสูง
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ควบคุมน้ำหนักโดยให้มีค่าดัชนีมวลร่างกาย (BMI) อยู่ที่ระหว่าง 18.5-24.9
  • ลดละเลิกการสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
  • รับประทานยารักษาเบาหวานตามกำหนดที่แพทย์สั่ง
  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ป่วยอาจต้องตรวจและบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดวันละหลายครั้งเพราะค่าอาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอดโดยเฉพาะเวลาป่วยหรือเครียด หรือสามารถตรวจสอบเองที่บ้านโดยค่าระดับน้ำตาลในเลือดตอนอดอาหารแบบคุมเข้มมากจะอยู่ที่ 70-110 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์(mg%) และไปคลินิกหรือสถานพยาบาลเพื่อหาค่าเฉลี่ยของช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นค่าที่จำเป็นสำหรับการควบคุมเบาหวาน โดยที่ค่าน้ำตาลสะสม (HbA1c) ของผู้ป่วยเบาหวานควรอยู่ที่ประมาณ 6.5 เปอร์เซ็นต์
  • ควบคุมระดับความดันโลหิต สามารถตรวจได้ที่คลินิก สถานพยาบาล หรือซื้อเครื่องมาตรวจเองที่บ้านก็ได้เช่นกัน โดยที่ระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยเบาหวานไม่ควรเกิน 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) หรือผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวานขึ้นตา ควรมีระดับความดันโลหิตต่ำกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท
  • ควบคุมระดับไขมันในเลือด ผู้ป่วยเบาหวานควรมีระดับไขมันในเลือดไม่เกินกว่าค่าปกติซึ่งสามารถตรวจได้ที่คลินิกหรือสถานพยาบาลทั่วไป
  • สังเกตความเปลี่ยนแปลงของการมองเห็น และควรไปพบแพทย์โดยด่วนหากพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของการมองเห็นอย่างฉับพลัน เช่น ตามัว มองไม่ชัด หรือมองเห็นเป็นจุดดำ เป็นต้น