ความหมาย เบื่ออาหาร
เบื่ออาหาร (Loss of Appetite) คือ อาการไม่รู้สึกอยากอาหาร หรือความต้องการรับประทานอาหารลดลง โดยอาจจากปัญหาสุขภาพที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารชั่วคราว เช่น ภาวะเบื่ออาหารจากการใช้ยาบางอย่าง และสาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหารอย่างรุนแรง เช่น ภาวะเบื่ออาหารจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งบางชนิด
ทั้งนี้ ผู้ที่เบื่ออาหารอาจเกิดอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด และอ่อนเพลีย หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาจทำให้อาการแย่ลง และเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะขาดสารอาหารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตามมาได้ ผู้ป่วยจึงควรพบแพทย์ให้ตรวจวินิจฉัยสาเหตุของอาการดังกล่าว เพื่อรับการรักษาต่อไป
สาเหตุของการเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ผู้ที่เกิดอาการเบื่ออาหารจะกลับมาเจริญอาหารและรับประทานได้ตามปกติเมื่อได้รับการรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว โดยสาเหตุที่ทำให้เบื่ออาหารแบ่งออกเป็น 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ปัญหาสุขภาพกาย ปัญหาสุขภาพจิต และการใช้ยา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้
1. ปัญหาสุขภาพกาย
โดยทั่วไปแล้ว อาการเบื่ออาหารมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ อาหารเป็นพิษ โรคกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) และลำไส้อักเสบ (Ulcerative Colitis)
ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารจากการติดเชื้อดังอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไอ อ่อนเพลีย จาม ปวดท้อง ท้องผูก และท้องเสีย อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยจะกลับมารู้สึกอยากอาหารและรับประทานได้ตามปกติภายในเวลาไม่นาน หลังจากหายจากโรคที่ติดเชื้อเหล่านี้
นอกจากนี้ โรคประจำตัวที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารยังมีอีกโรค เช่น
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย เช่น ท้องผูก อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อน โรคลำไส้แปรปรวน (IBS)
- แพ้อาหาร หรือร่างกายไม่สามารถย่อยอาหารบางชนิดได้ (Food Intolerances)
- โรคเบาหวาน
- โรคมะเร็ง เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งรังไข่ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน
- สมองเสื่อม
- โรคหัวใจ ตับและไตเรื้อรัง
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
- ไวรัสตับอักเสบ และเชื้อเอชไอวี (HIV)
- โรคไทรอยด์ เช่น ไฮโปไทรอยด์ (Hypothyroidism) และภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (Hyperthyroidism)
- ปวดฟัน หรือมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพช่องปาก
นอกจากนี้ อาการเบื่ออาหารยังพบบ่อยในผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ช่วงแรก ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรืออยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด
2. ปัญหาสุขภาพจิต
ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารอาจมีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด โรคซึมเศร้า และโรควิตกกังวล มักมีแนวโน้มรู้สึกอยากอาหารน้อยลง โดยอาการซึมเศร้าจะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ซึ่งรวมไปถึงการรับประทานอาหาร อาการเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพจิตมักเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย และไม่มีแรงจูงใจทำสิ่งต่าง ๆ
นอกจากนี้ ผู้ที่ประสบภาวะการรับประทานผิดปกติ (Eating Disorders) เช่น อะนอเร็กเซีย (Anorexia Nervosa) มักอดอาหารหรือทำทุกวิธีเพื่อควบคุมน้ำหนักให้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์และกลัวว่าน้ำหนักตัวจะเพิ่มอยู่เสมอ ผู้ป่วยอะนอเร็กเซียอาจประสบภาวะขาดสารอาหารได้หากอดอาหารไปเรื่อย ๆ และไม่รับการบำบัดรักษา
3. การใช้ยา
ยารักษาปัญหาสุขภาพบางอย่างส่งผลให้ผู้ป่วยที่ได้รับยานั้นอยากอาหารน้อยลง โดยยาที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้แก่ ยาปฏิชีวนะ เคมีบำบัดสำหรับรักษามะเร็ง ยาโคเดอีน (Codeine) และมอร์ฟีน ทั้งนี้ การใช้สารเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน และแอมเฟตามีน ก็ส่งผลให้เกิดอาการเบื่ออาหารเช่นกัน
อาการเบื่ออาหาร
ผู้ที่เบื่ออาหารมักมีอาการดังต่อไปนี้
- รู้สึกไม่เจริญอาหาร อยากอาหารน้อยลง ไม่อยากรับประทานหรือปฏิเสธอาหารที่เคยชอบ
- รับประทานอาหารไม่ครบทุกมื้อ
- น้ำหนักตัวลดลง
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
- คลื่นไส้ อาเจียน
- กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ท้องผูก ท้องเสีย
- ผิว เส้นผม และเล็บเปลี่ยนแปลงไป
ส่วนผู้ที่เบื่ออาหารจากความเครียดหรือโรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในการรับประทาน มักเกิดอาการอื่นร่วมด้วย เช่น รู้สึกเศร้าเสียใจ หรือรู้สึกผิดต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เบื่อหน่ายหรือไม่มีแรงจูงใจทำสิ่งที่เคยชอบ นอนไม่หลับ และคิดฆ่าตัวตาย
อาการเบื่ออาหารที่ควรไปพบแพทย์
ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาทันทีในกรณีที่เกิดอาการต่อไปนี้
- คลื่นไส้และรับประทานอาหารไม่ได้หลายวัน
- น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ทราบสาเหตุ
- รู้สึกเจ็บเมื่อรับประทานอาหาร ไม่สามารถดื่มน้ำหรือกลืนของเหลวลงคอได้
- ปัสสาวะออกน้อย ปัสสาวะกะปริบกะปรอย ไม่ได้ปัสสาวะทุกวัน ปัสสาวะมีกลิ่นแรงหรือมีสีเข้ม
- ไม่ได้ขับถ่ายมา 2 วันหรือมากกว่านั้น
- อาเจียนต่อเนื่องกันมากกว่า 24 ชั่วโมง
- ประจำเดือนขาด
- มีความผิดปกติอื่น ๆ เช่น มีไข้ หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
การวินิจฉัยอาการเบื่ออาหาร
ในเบื้องต้นแพทย์จะชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงของผู้ป่วย เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวทั่วไป และจะสอบถามประวัติการรักษา ประวัติการใช้ยา และการรับประทานอาหารของผู้ป่วย รวมทั้งถามคำถามอื่น ๆ เช่น ช่วงเวลาที่เริ่มเกิดอาการเบื่ออาหาร ระดับความรุนแรงของอาการ และอาการอื่น ๆ หรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่ผู้ป่วยเป็น
นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติมเพื่อวินิจฉัยสาเหตุของภาวะเบื่ออาหาร โดยการตรวจประกอบด้วย
- อัลตราซาวด์บริเวณท้อง
- ตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยการทำงานของตับ ต่อมไทรอยด์ และไต และตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด
- ตรวจระบบทางเดินอาหาร โดยเอกซเรย์ดูหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็ก
- ตรวจครรภ์หรือเชื้อเอชไอวีสำหรับผู้ป่วยบางราย
การรักษาอาการเบื่ออาหาร
วิธีรักษาอาการเบื่ออาหารมีหลายวิธี โดยแต่ละวิธีจะแตกต่างกันไปตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ดังนี้
อาการเบื่ออาหารจากการติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส
การติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัส เช่น โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ และอาหารเป็นพิษ มักหายได้เองหากผู้ป่วยดูแลตัวเองด้วยการพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมาก ๆ รับประทานอาหารอ่อนย่อยง่าย
รวมทั้งอาจรับประทานยาที่ช่วยบรรเทาอาการ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาแก้ไอ ยาแก้ปวดลดไข้ และผงเกลือแร่สำหรับผู้ที่ท้องเสีย ซึ่งหากอาการไม่รุนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่จำเป็นต้องรับการรักษาโดยแพทย์
อาการเบื่ออาหารจากโรคประจำตัว
ผู้ที่รู้สึกเบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพกายและสุขภาพจิต ควรปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการใช้ชีวิต ดังนี้
- รับประทานอาหารกับครอบครัวหรือเพื่อน โดยทำอาหารที่ผู้ป่วยชอบรับประทาน หรือออกไปรับประทานนอกบ้าน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมากขึ้น
- พยายามรับประทานอาหารให้ได้มากตามที่ต้องการ แต่ไม่ควรฝืนรับประทานมากเกินไป
- รับประทานอาหารมื้อย่อยบ่อย ๆ จะช่วยให้กระเพาะอาหารย่อยได้ง่าย โดยแบ่งเป็น 5-6 มื้อย่อยแทนการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ 3 มื้อต่อวัน และรับประทานของว่างเสริมระหว่างวัน
- ควรรับประทานอาหารที่ให้พลังงานและโปรตีนสูง หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีโปรตีน เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอเพื่อเลี่ยงภาวะขาดน้ำและป้องกันท้องผูก โดยดื่มน้ำระหว่างมื้ออาหาร และเลี่ยงดื่มน้ำขณะรับประทานอาหาร เนื่องจากจะทำให้อิ่มเร็ว
- ดื่มชาสมุนไพร เช่น ชามินต์ หรือน้ำขิง ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการท้องอืด และกระตุ้นความอยากอาหาร
- ออกกำลังกายเบา ๆ ก่อนมื้ออาหารประมาณหนึ่งชั่วโมง เพื่อกระตุ้นน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
การรักษาโดยแพทย์
ผู้ป่วยที่เกิดอาการเบื่ออาหารและได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า เครียด หรือป่วยเป็นโรคที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร อาจต้องปรึกษาและรักษากับจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต
ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารจากการใช้ยารักษาโรคบางอย่าง อาจต้องพบแพทย์เพื่อปรึกษาขอเปลี่ยนปริมาณยาหรือให้สั่งจ่ายยาตัวอื่นมาใช้รักษาแทน อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยไม่ควรเปลี่ยนยาหรือหยุดใช้ยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน ส่วนผู้ที่เบื่ออาหารอันเนื่องมาจากการใช้สารเสพติดจะต้องเข้ารับการบำบัดกับนักจิตวิทยาหรือผู้ที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการรักษาอาการติดยาเสพติด
ผู้ป่วยที่เบื่ออาหารอย่างรุนแรงเป็นเวลานาน และประสบภาวะขาดสารอาหารหรือมีเกลือแร่ในร่างกายต่ำ จะได้รับการให้น้ำเกลือหรือสารอาหารเข้าทางหลอดเลือดดำ
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเบื่ออาหาร
ผู้ที่เบื่ออาหารจากปัญหาสุขภาพซึ่งเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นนั้น จะกลับมาเจริญอาหารและรับประทานได้ตามปกติเมื่อได้รับการรักษาและหายจากปัญหาสุขภาพดังกล่าว โดยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนใด ๆ ตามมาภายหลัง
อย่างไรก็ตาม ปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารอาจทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลงหากไม่เข้ารับการรักษาให้หาย โดยผู้ป่วยจะเกิดอาการอื่น ๆ ที่รุนแรงขึ้น ดังนี้
- อ่อนเพลียมากกว่าปกติ
- น้ำหนักตัวลดลง
- หัวใจเต้นเร็วมาก หรือเต้นช้าจนผิดปกติ
- มีไข้ หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำลง
- รู้สึกไม่สบายตัว
- เกิดอาการป่วยหรือไม่สบายอย่างอื่น รวมทั้งมีอาการขาดสารอาหาร
การป้องกันอาการเบื่ออาหาร
อาการเบื่ออาหารเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จึงป้องกันได้ยาก แต่อาจลดความเสี่ยงของการเกิดอาการเบื่ออาหารได้ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทุกมื้อ หลีกเลี่ยงการอดอาหาร หากมีโรคประจำตัว มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต หรือใช้ยาใด ๆ แล้วมีอาการเบื่ออาหาร ควรปรึกษาแพทย์