เปลือกตาอักเสบ

ความหมาย เปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบ (Blepharitis) คือ ภาวะที่มีการอักเสบเกิดขึ้นที่เปลือกตา มักมีสาเหตุจากต่อมไขมันใกล้ฐานขนตาอุดตัน หรือผลิตน้ำมันมากเกินไป ทำให้ตาบวม มีอาการระคายเคือง เจ็บ และแดง นอกจากนี้ อาการป่วยและเชื้อโรคต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดการอักเสบได้เช่นกัน เปลือกตาอักเสบเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาให้หายยาก อาจสร้างความรำคาญให้แก่ผู้ป่วย แต่ไม่ทำลายความสามารถในการมองเห็น และแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากมีอาการควรไปพบแพทย์ เพราะอาจทำให้เป็นโรคตาแดง กระจกตาถลอก หรือเกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมาได้

Blepharitis

อาการของเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบนั้นอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยอาการทั่วไปที่พบได้จะมีลักษณะดังนี้

  • แสบตา มีอาการระคายเคือง และตาแดง
  • เจ็บเปลือกตา ส่วนใหญ่แล้วจะอักเสบพร้อมกันทั้ง 2 ข้าง แต่ข้างใดข้างหนึ่งอาจมีอาการรุนแรงกว่า
  • มีอาการอักเสบและหนังตามีลักษณะมัน
  • มีขี้ตามากโดยเฉพาะตอนเช้า  รู้สึกเหนอะหนะที่ตาเนื่องจากมีของเหลวถูกขับออกมา
  • มีสะเก็ดเล็กๆ คล้ายรังแคที่เปลือกตา
  • กะพริบตาบ่อยกว่าปกติ
  • ตาแฉะ
  • ขนตาร่วง
  • ขนตาขึ้นผิดปกติ โดยงอกแล้วงอเข้าด้านในทำให้ทิ่มตา
  • ดวงตาไวต่อแสง

สาเหตุของเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบแบ่งออกได้ตามสาเหตุซึ่งแตกต่างกันไป เช่น ภาวะอักเสบ ติดเชื้อ การเกิดเนื้องอก และอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งสาเหตุของเปลือกตาอักเสบที่พบมากที่สุด มีทั้งหมด 3 ชนิด  แต่ละชนิดมีอาการที่คล้ายกัน แตกต่างกันในรายละเอียด ดังนี้

  • Seborrhoeic Blepharitis การอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมไขมัน เปลือกตาอักเสบชนิดนี้คล้ายกับโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม (Seborrhoeic Dermatitis) ทำให้ผิวมัน ตกสะเก็ดคล้ายรังแค และมีผื่นคันบนหน้าหรือร่างกาย สาเหตุของโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์มยังไม่แน่ชัด ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อรา Malassezia Furfur เป็นเชื้อราที่ชอบไขมัน พบได้ทั่วไปในผิวหนังและไม่ก่ออันตรายใด ๆ อย่างไรก็ตาม เชื้อราชนิดนี้กระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้
  • Meibomian Blepharitis เปลือกตาอักเสบจากต่อมน้ำตามัยโบเบียนทำงานผิดปกติ โดยปกติคนเราจะมีต่อมน้ำตาเล็ก ๆ บริเวณใต้เปลือกตาข้างละ 25-30 ต่อม ซึ่งผลิตของเหลวที่มีความมันออกมา ทำหน้าที่จัดเรียงแผ่นน้ำตาชั้นนอกช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น อาการอักเสบชนิดนี้ทำให้ผลิตสารหล่อลื่นดวงตาได้ไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้ป่วยมีอาการตาแห้ง
  • Staphylococcal Blepharitis เปลือกตาอักเสบจากแบคทีเรียสตาไฟโลคอคคัส ซึ่งเป็นแบคทีเรียอาศัยอยู่บนผิวหนังซึ่งไม่สร้างสารพิษและไม่ก่อให้เกิดอันตราย เพียงแต่อาจทำให้เปลือกตาอักเสบได้ ซึ่งสาเหตุยังไม่ทราบไม่แน่ชัด

ผู้ป่วยอาจมีอาการเปลือกตาอักเสบทั้ง 3 ชนิดร่วมกันได้ เนื่องจากการอักเสบของผิวหนังรอบ ๆ ต่อมไขมัน และต่อมน้ำตามัยโบเมียนทำงานปกติ มักเกิดขึ้นพร้อมกัน นอกจากนี้ อาการเปลือกตาอักเสบมักติดเชื้อแบคทีเรียสตาไฟโลคอคคัสร่วมด้วย

การวินิจฉัยเปลือกตาอักเสบ

ในเบื้องต้น ผู้ป่วยควรสังเกตตัวเอง หากสงสัยว่าเป็นเปลือกตาอักเสบควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะถ้ามีอาการอักเสบเรื้อรัง แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักถามประวัติ เช่น อาการเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไร ใส่คอนแทคเลนส์หรือไม่ รวมถึงยี่ห้อยาสระผมและสบู่ที่ใช้ ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการตาอักเสบได้ แพทย์อาจส่งตัวผู้ป่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญและตรวจเพิ่มเติม เช่น ตรวจเปลือกตา เก็บตัวอย่างตรวจ โดยใช้สำลีเช็ดเปลือกตาเก็บน้ำมันหรือสะเก็ดรอบเปลือกตาเพื่อตรวจหาสาเหตุที่ทำให้เปลือกตาอักเสบ เช่น แบคทีเรีย เชื้อรา หรืออาการแพ้ เป็นต้น

การรักษาเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบเป็นอาการเรื้อรังและไม่สามารถรักษาได้ แต่ควบคุมอาการได้ด้วยการดูแลที่ดีดังวิธีต่อไปนี้

  • นวดเปลือกตา นวดเปลือกตาอย่างอ่อนโยนด้วยนิ้วก้อยเป็นวงกลม กลิ้งคอตตอนบัดจากบนลงล่างที่เปลือกตาบน เพื่อขับน้ำมันที่อุดตันออกจากต่อมใต้เปลือกตา วิธีนี้จะทำให้ตาระคายเคืองเล็กน้อย แต่จะมีอาการดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป
  • ทำความสะอาดขอบเปลือกตา จุ่มคอตตอนบัดในน้ำอุ่นที่ผสมกับแชมพูสระผมเด็ก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเปลือกตาโดยเฉพาะ ซึ่งอาจอยู่ในรูปของโฟม เจล หรือใช้แผ่นสำลีชุบน้ำยาทำความสะอาด โดยค่อย ๆ เช็ดเอาสะเก็ดที่เปลือกตาออก โดยเฉพาะบริเวณขนตา จากนั้นใช้คอตตอนบัดทำความสะอาดขอบเปลือกตาด้วยการเช็ดเบา ๆ ที่ฐานและซอกขนตา ควรทำ 2-3 ครั้งต่ออาทิตย์ เพื่อป้องกันการอักเสบ
  • ประคบร้อน ใช้ผ้าจุ่มน้ำอุ่นประคบตาประมาณ 10 นาที จุ่มน้ำอุ่นซ้ำเมื่อผ้าเย็น
  • น้ำตาเทียม เปลือกตาอักเสบทำให้ตาแห้ง เนื่องจากต่อมน้ำตาถูกปิด ทำให้ผลิตแผ่นน้ำตาไม่ได้ ดวงตาจึงไม่มีน้ำหล่อลื่น น้ำตาเทียมจึงช่วยบรรเทาอาการตาแห้งได้
  • หยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะ หากติดเชื้อแพทย์อาจให้ยาปฏิชีวนะหยอดตาร่วมด้วย โดยหยอดลงบนขอบเปลือกตาหลังเช็ดทำความสะอาดแล้ว และอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย
  • การรักษาอื่น ๆ เช่น การผ่าตัดเปิดรูท่อต่อมไขมัน การผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของเปลือกตาที่ทำให้ขนตาโค้งเข้าดวงตา เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการเปลือกตาอักเสบควรปฏิบัติตนตามคำแนะนำต่อไปนี้ เพื่อให้การรักษาได้ผลเร็วขึ้น

  • หลีกเลี่ยงการขยี้ตา
  • หลีกเลี่ยงการแต่งหน้าบริเวณรอบดวงตา เช่น เขียนอายไลน์เนอร์ หรือปัดมาสคาร่า เพราะทำให้อาการแย่ลง
  • รับประทานโอเมก้า 3 ในน้ำมันตับปลา เพื่อช่วยให้การอักเสบและอาการตาแห้งดีขึ้น

ภาวะแทรกซ้อนของเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนหรืออาการอื่นตามมาได้ แต่มักไม่ใช่อาการรุนแรง เช่น

  • ตาแห้ง เป็นภาวะที่พบบ่อยเมื่อเป็นเปลือกตาอักเสบ เกิดจากต่อมน้ำตาผลิตน้ำตาไม่เพียงพอ หรือน้ำตาระเหยเร็วเกินไป ทำให้ตาแห้ง อักเสบ และเจ็บตา นอกจากนี้ ปัญหาโรคผิวหนังที่ทำให้เปลือกตาอักเสบ เช่น โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม และโรคโรซาเซีย (Rosacea) ก็ทำให้ตาแห้งเช่นเดียวกัน
  • เยื่อบุตาอักเสบ เกิดขึ้นเมื่อเยื่อบุตาติดเชื้อแบคทีเรียจากเปลือกตา แต่อาการไม่ร้ายแรงและไม่ทำลายการมองเห็น อาการจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ และไม่จำเป็นต้องรักษา อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์หากคิดว่าเป็นเยื่อบุตาอักเสบ และหลีกเลี่ยงการใส่คอนแทคเลนส์จนกว่าจะหายเป็นปกติ แพทย์อาจสั่งให้หยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะหากอาการไม่ดีขึ้นหรือติดเชื้อ
  • ตากุ้งยิง เป็นอาการอักเสบบริเวณขอบเปลือกตา และเป็นตุ่มบวม มีหนอง เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หากไม่รุนแรงมากก็รักษาได้ด้วยการประคบร้อน แต่ควรไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น ซึ่งแพทย์อาจต้องเจาะหนองออก
  • ถุงน้ำมัยโบเมียน เป็นผลจากต่อมน้ำตามัยโบเมียนซึ่งมีหน้าที่ผลิตไขมันเกิดอาการอักเสบ ทำให้มีอาการบวมภายในเปลือกตา การประคบร้อนช่วยลดอาการบวมได้ แต่ปกติแล้วถุงน้ำจะหายไปเอง หากติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์เพื่อใช้ยาปฏิชีวนะรักษาอาการ
  • กระจกตาเสียหาย กรณีที่อาการเปลือกตาอักเสบรุนแรงมาก และไม่ตอบสนองต่อวิธีการรักษา อาจทำให้ผิวของกระจกตาเสียหาย หรือกระจกตาอักเสบได้ ผู้ป่วยควรรีบพบแพทย์หากมีอาการเจ็บตาอย่างฉับพลัน มองเห็นไม่ชัด และตาไวต่อแสง เพราะอาจเป็นกระจกตาอักเสบ

การป้องกันการเกิดเปลือกตาอักเสบ

เปลือกตาอักเสบนั้นไม่สามารถป้องกัน แต่ควบคุมได้ด้วยการดูแลสุขอนามัยของเปลือกตา ประคบร้อน นวดเปลือกตาเบา ๆ และหมั่นทำความสะอาด ซึ่งรวมถึงการสระผมและล้างหน้าให้สะอาด เปลือกตาอักเสบไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เปลือกตาอักเสบที่ไม่ได้รับการรักษาอาจเป็นเรื้อรังติดต่อกันหลายปี และมีอาการเป็น ๆ หาย ๆ หลายครั้ง