ความหมาย เมื่อย
เมื่อย หรือเมื่อยล้า เป็นอาการเหน็ดเหนื่อย หมดแรง ขาดพลังงาน กล้ามเนื้ออ่อนล้า หรือปวดเมื่อยตามตัว เมื่อเกิดอาการขึ้นแล้วจะทำให้ตัวบุคคลนั้น ๆ สูญเสียสมาธิ ไม่มีแรงกระตุ้น มีพลังงานในการกระทำสิ่งใด ๆ ลดน้อยลง รวมถึงอาจกระทบต่อสภาพอารมณ์และสุขภาพจิตของบุคคลนั้นได้ด้วย
อาการเมื่อยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ร่างกายทำงานหรือกิจกรรมอย่างหนักติดต่อกันนาน ๆ นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ การใช้ยาบางชนิด ขาดการออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย หรือการเจ็บป่วยด้วยโรคต่าง ๆ โดยในกรณีที่อาการนี้เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว ผู้ที่มีอาการมักไม่เกิดปัญหาอื่น ๆ ตามมา แต่หากเกิดขึ้นแบบเรื้อรัง อาการนี้อาจเป็นสัญญาณของโรคบางชนิดได้
สาเหตุของอาการเมื่อย
อาการเมื่อยสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
การใช้ชีวิตหรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน
พฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างอาจนำไปสู่อาการเมื่อยล้าได้ เช่น
- ทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงอย่างหนัก เช่น ออกกำลังกายอย่างหนัก ยกของหนัก ลากของหนักเป็นเวลานาน ๆ
- การทำงานติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ขาดการออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมที่เพิ่มความแข็งแรงให้แก่กล้ามเนื้อร่างกายส่วนต่าง ๆ
- นอนน้อย พักผ่อนไม่เพียงพอ
- น้ำหนักเกิน หรืออยู่ในภาวะอ้วน
- อยู่ในช่วงมีประจำเดือน ซึ่งมีสภาวะทางอารมณ์ไม่คงที่
- รับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขอนามัย
- การบริโภคคาเฟอีนจากกาแฟหรือชามากจนเกินไป
- ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ หรือการใช้ยาเสพติด
- การเดินทางข้ามเขตเวลาโลก (Jet lag)
การใช้ยาและการรักษาทางการแพทย์
ในบางครั้ง อาการเมื่อยล้าก็อาจเป็นผลมาจากการใช้ยารักษาโรค หรือการรักษาทางการแพทย์บางอย่างได้ เช่น
- การใช้ยาที่ทำให้เกิดผลข้างเคียงเป็นอาการเมื่อยล้าหมดแรง เช่น ยาแก้ไอ ยาแก้ปวด ยาต้านฮิสตามีน ยารักษาความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ ยารักษาโรคหัวใจ ยาสเตียรอยด์ ยาคลายกังวล ยาต้านเศร้า ยานอนหลับ
- การบำบัดรักษาโรค เช่น เคมีบำบัด รังสีบำบัด
การเจ็บป่วยด้วยโรคและปัญหาสุขภาพทางร่างกาย
ตัวอย่างโรคหรือภาวะผิดปกติทางกายที่อาจส่งผลให้เกิดความรู้สึกเมื่อยล้าได้ เช่น
- ป่วยด้วยโรคหวัด หรือไข้หวัดใหญ่
- การขาดสารอาหารบางชนิด เช่น การขาดธาตุเหล็ก
- โรคโลหิตจาง
- โรคเบาหวาน
- โรคปวดกล้ามเนื้อ หรือมีอาการเจ็บปวดบริเวณใดบริเวณหนึ่งอย่างเรื้อรัง
- มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน เช่น นอนไม่หลับ ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ โรคลมหลับ
- ต่อมไทรอยด์ทำงานมากกว่าหรือน้อยกว่าปกติ
- ภาวะข้ออักเสบ หรือข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคแอดดิสัน (Addison Disease) ที่ต่อมหมวกไตทำงานได้น้อยกว่าปกติ
- ความผิดปกติเกี่ยวกับการกิน เช่น โรคคลั่งผอมหรือโรคกลัวอ้วน (Anorexia Nervosa) ทำให้ผู้ป่วยอดอาหาร
- โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง
- โรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคพุ่มพวง (Lupus)
- เจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับตับหรือไต เช่น ตับวายเฉียบพลัน โรคไตเรื้อรัง
- ป่วยด้วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือโรคถุงลมโป่งพอง ซึ่งมักเกิดจากการสูบบุหรี่อย่างต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน
- ภาวะติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อจากปรสิต โรคไวรัสตับอักเสบ วัณโรค การติดเชื้อเอชไอวี ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย
- ศีรษะกระแทก สมองถูกกระทบกระเทือนหรือได้รับบาดเจ็บ
- โรคทางเส้นประสาท เช่น เส้นประสาทส่วยปลายถูกกด โรคปลอกประสาทอักเสบ
- โรคมะเร็งต่าง ๆ
- โรคหัวใจ เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลว ภาวะเยื่อบุหัวใจอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย
- กลุ่มอาการล้าเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) ซึ่งเป็นอาการเมื่อยล้าอย่างต่อเนื่องยาวนานกว่า 6 เดือนขึ้นไป
การเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพทางจิตใจ
นอกจากปัญหาสุขภาพทางกายแล้ว ปัญหาสุขภาพจิตก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเมื่อยล้าได้กัน เช่น
- เกิดความเบื่อหน่าย
- มีความวิตกกังวล ความเครียด
- ภาวะซึมเศร้า หรือเผชิญกับความเศร้าโศกเสียใจอย่างหนัก
- โรคทางอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาล ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ซึมเศร้า หดหู่ ไม่มีแรง เฉพาะในช่วงฤดูกาลนั้นของทุกปีมาถึง และจะมีอาการดีขึ้นเมื่อผ่านพ้นไป ผู้ป่วยแต่ละคนจะมีอาการป่วยในช่วงฤดูที่แตกต่างกันไป โดยผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการในช่วงฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่
อาการเมื่อย
ผู้ที่มีอาการเมื่อยหรือเมื่อยล้าจะพบว่าร่างกายไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง อ่อนล้า อ่อนเพลีย และมักพบอาการในลักษณะดังต่อไปนี้ร่วมด้วย เช่น ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ หรือเกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
สัญญาณสำคัญของอาการเมื่อยที่ควรไปพบแพทย์
เมื่อผู้ป่วยมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นร่วมกับอาการเมื่อย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษา
- มีอาการเมื่อยล้าที่หาสาเหตุไม่ได้ ร่วมกับมีไข้ น้ำหนักลด
- ปัสสาวะน้อยมาก หรือไม่ปัสสาวะเลย
- ท้องผูก น้ำหนักขึ้น ผิวแห้ง หนาวง่าย
- ตัวบวมขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน
- นอนไม่หลับ หลับ ๆ ตื่น ๆ ตลอดทั้งคืน
- เวียนศีรษะ สับสนมึนงง
- สายตาพร่ามัว มองเห็นเป็นภาพเบลอ
- เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก
- หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม
- หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หรือหัวใจเต้นแรง
- ปวดศีรษะตลอดเวลา
- ปวดท้อง ปวดท้องน้อย หรือปวดหลังอย่างรุนแรง
- รู้สึกเหมือนจะเป็นลม หรือรู้สึกเหมือนกำลังจะขาดใจตาย
- มีภาวะเลือดออก เช่น อาเจียนเป็นเลือด หรือมีเลือดไหลออกจากทวาร
- รู้สึกเศร้าโศกเสียใจ
- มีความคิดเกี่ยวกับการฆ่าตัวตาย หรือการทำร้ายตัวเอง
- มีความคิดหรือความกังวลว่าจะทำร้ายผู้อื่น
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการเมื่อยล้าอย่างเรื้อรังยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ โดยที่อาการไม่ดีขึ้นแม้จะผ่านการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และผ่อนคลายความตึงเครียดไปแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาเช่นกัน
การวินิจฉัยอาการเมื่อย
ในเบื้องต้น แพทย์จะสอบถามอาการและความรู้สึกที่เกิดขึ้น ประวัติทางการแพทย์และการรักษา ตลอดจนการใช้ชีวิตและกิจกรรมในชีวิตประจำวันที่อาจเกี่ยวข้องกับอาการเมื่อย และจะทำการตรวจร่างกาย โดยจะเน้นตรวจบริเวณที่เกี่ยวข้องกับระบบหัวใจ น้ำเหลือง ต่อมไทรอยด์ บริเวณช่องท้อง และระบบประสาทต่าง ๆ ที่อาจเกิดการเจ็บป่วยซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเมื่อยได้
จากนั้น แพทย์อาจส่งตรวจเพิ่มเติมหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคหรือการเจ็บป่วยที่เป็นสาเหตุของอาการเมื่อย เช่น
ตรวจเลือด
แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดไปตรววจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจหาภาวะอักเสบ ภาวะติดเชื้อ หรือตรวจการทำงานของอวัยวะภายในระบบต่าง ๆ เช่น ตรวจการทำงานของไต ตับ ต่อมไทรอยด์ หรือตรวจหาภาวะโลหิตจาง โรคเบาหวาน
ตรวจปัสสาวะ
เช่น ในการตรวจการทำงานของไต อาจใช้วิธีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะในขณะนั้น หรือให้ผู้ป่วยเก็บตัวอย่างปัสสาวะ 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจหาโปรตีนที่อยู่ในปัสสาวะซึ่งอาจแสดงถึงอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้อง
การรักษาอาการเมื่อย
อาการเมื่อยสามารถรักษาได้จากสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ หากเป็นอาการเมื่อยที่ไม่รุนแรง ซึ่งเกิดจากลักษณะการใช้ชีวิต หรือการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาบรรเทาอาการให้ดีขึ้น และยังเป็นแนวทางที่อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการเมื่อยขึ้นได้ด้วยตนเอง เช่น
- นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ดื่มน้ำเปล่าในปริมาณมาก ๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการและสุขอนามัยในปริมาณที่เหมาะสม
- ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้ยาเสพติด
- ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ ไม่ออกกำลังกายอย่างหนักจนเกินไป
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรงอย่างหนัก ไม่หักโหมทำงานหนัก หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ มากจนเกินไป
- พักผ่อนร่างกายด้วยกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น การเล่นโยคะ หรือการนั่งสมาธิ
- หลีกเลี่ยงการเผชิญกับความเครียด หรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความเครียด
- เรียนรู้วิธีจัดการกับความเครียด แก้ไขปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่อย่างเหมาะสม
- ผ่อนคลายจากความเครียดด้วยการพักผ่อน การไปท่องเที่ยว หรือการทำกิจกรรมที่สร้างความบันเทิง
- หากกำลังเจ็บป่วยและอยู่ในระหว่างการพักฟื้นรักษาตัว ต้องรับประทานยา และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
หากผู้ป่วยดูแลตนเองและปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวแล้วอาการไม่ทุเลาลง หรือยังคงมีอาการเมื่อยปรากฏอยู่อย่างต่อเนื่อง ควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อทำการตรวจรักษา
ส่วนอาการเมื่อยที่เกิดจากการเจ็บป่วยและปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ แพทย์จะพิจารณาวิธีการรักษาตามโรคหรือภาวะผิดปกติที่เป็นสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
ภาวะแทรกซ้อนของอาการเมื่อย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากอาการเมื่อยมักเกี่ยวข้องกับการทำกิจกรรมหรือการใช้ชีวิตในประจำวัน เช่น อาจเกิดอาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุต่าง ๆ
การป้องกันอาการเมื่อย
สำหรับการป้องกันหรือลดความเสี่ยงต่อการเกิดอาการเมื่อย ปวดเมื่อย หรืออ่อนล้า การทำตามคำแนะนำต่อไปนี้อาจช่วยได้ เช่น
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- ดื่มน้ำให้เพียงพอหรือประมาณ 6–8 แก้ว/วัน
- ออกกำลังกายเป็นประจำ