ความหมาย เยื่อหุ้มปอดอักเสบ
เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (Pleuritis) คือการอักเสบของชั้นเนื้อเยื่อที่หุ้มรอบปอดทั้งสองข้าง ทำให้ผู้ป่วยเจ็บแปลบหรือเจ็บเหมือนถูกแทงที่หน้าอก อาการมักแย่ลงขณะหายใจเข้าออก ไอ หรือจาม สาเหตุส่วนใหญ่ของเยื่อหุ้มปอดอักเสบเกิดจากการติดเชื้อโรคอย่างไวรัส แบคทีเรีย และเชื้อรา ซึ่งสามารถรักษาให้หายดีได้ด้วยการรับยาที่ตรงตามสาเหตุนั้น ๆ
โดยปกติ เยื่อหุ้มปอดของมนุษย์จะมีด้วยกันอยู่สองชั้น ได้แก่ เยื่อหุ้มรอบปอดและเยื่อหุ้มผนังทรวงอก ซึ่งช่องว่างระหว่างชั้นเยื่อหุ้มปอดทั้งสองชั้นนี้จะมีลักษณะเป็นโพรงและจะมีของเหลวสะสมอยู่เล็กน้อย หากมีการอักเสบหรือการติดเชื้อเกิดขึ้น ชั้นเยื่อหุ้มปอดเหล่านี้จะมีอาการบวม และจะเสียดสีกันขณะที่ปอดขยายตัวจากการหายใจเข้าออก ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดตามมาในที่สุด
อาการของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
ผู้ป่วยเยื่อหุ้มปอดอักเสบอาจมีอาการ ดังต่อไปนี้
- เจ็บแปลบหรือเจ็บเหมือนถูกแทงที่หน้าอก โดยอาการจะแย่ลงขณะหายใจเข้าลึก ๆ ไอ หรือจาม แต่มักหายไปเมื่อกลั้นหายใจ
- เจ็บหน้าอกข้างใดข้างหนึ่ง
- อาการเจ็บปวดลามไปยังหัวไหล่หรือแผ่นหลัง
- หายใจไม่อิ่ม เนื่องจากผู้ป่วยพยายามหายใจให้น้อยลงเพื่อลดอาการเจ็บปวด
- ไอ
- มีไข้ หนาวสั่น
- ปวดศีรษะ
- ปวดข้อต่อหรือปวดกล้ามเนื้อ
ทั้งนี้ เยื่อหุ้มปอดอักเสบอาจเกิดร่วมกันกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ และก่อให้เกิดอาการที่ต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ปอดแฟบ และภาวะหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด เป็นต้น หากมีอาการเจ็บหน้าอกโดยไม่ทราบสาเหตุและเจ็บหน้าอกขณะหายใจอย่างรุนแรง ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยปอด เยื่อหุ้มปอด และหัวใจอย่างถี่ถ้วน
สาเหตุของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
โดยทั่วไป เยื่อหุ้มปอดอักเสบมักเกิดจากการติดเชื้อโรคในปอดโดยเฉพาะไวรัสอย่างไข้หวัดใหญ่ เชื้อแบคทีเรียอย่างปอดบวมหรือวัณโรค รวมไปถึงพยาธิ และเชื้อราด้วย ก่อนจะก่อให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มปอดอักเสบตามมา ซึ่งนอกจากเชื้อโรคพวกนี้แล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพมากมายที่เป็นต้นเหตุของภาวะนี้ เช่น
- หลอดลมอักเสบ
- โรคความผิดปกของระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอย่างโรคลูปัสและโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์
- โรคทางพันธุกรรมอย่างโรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว
- โรคเกี่ยวกับปอด เช่น โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด มะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด เนื้องอกที่หน้าอกหรือในปอด เป็นต้น
- การบาดเจ็บที่หน้าอกหรือผนังทรวงอก มีบาดแผลที่หน้าอก
- กระดูกซี่โครงหัก
- ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดหัวใจ
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด
การวินิจฉัยเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
ในเบื้องต้นแพทย์จะซักถามถึงประวัติสุขภาพ อาการเจ็บปวดขณะหายใจหรือไอ และใช้อุปกรณ์สเต็ตโทสโคป (Stethoscope) เพื่อฟังเสียงการทำงานของปอดในขณะที่ผู้ป่วยหายใจ จากนั้นอาจพิจารณาให้ใช้วิธีตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมตามอาการของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น
การตรวจเลือด
การตรวจเลือดเป็นวิธีที่ช่วยตรวจหาการติดเชื้อในร่างกาย รวมถึงตรวจความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันตนเองอย่างโรคลูปัสหรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
การเอกซเรย์ปอด
แพทย์อาจใช้วิธีนี้เพื่อตรวจสอบการอักเสบของปอด การทำงานของปอด รวมถึงดูว่ามีอากาศและของเหลวในพื้นที่ระหว่างปอดและซี่โครงหรือไม่
การตรวจ CT Scan
เป็นการตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ โดยแพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์ไปที่ปอดแล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพความละเอียดสูงที่จะแสดงความผิดปกติภายในปอดหรือเยื่อหุ้มปอดออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งจะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของอาการเจ็บหน้าอกในผู้ป่วยแต่ละคนได้ง่ายขึ้น
การอัลตราซาวด์
การอัลตราซาวด์เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อสร้างภาพภายในช่องอกหรืออวัยวะภายในร่างกายของผู้ป่วย แพทย์จึงอาจใช้วิธีนี้เพื่อวินิจฉัยภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอดด้วย
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG)
ผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจคลื่นไฟฟ้าร่วมด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าอาการเจ็บหน้าอกนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพหัวใจ
การตัดชิ้นเนื้อ
แพทย์จะใช้เข็มขนาดเล็กเจาะผ่านผิวหนังเพื่อตัดชิ้นเนื้อเยื่อขนาดเล็กบริเวณเยื่อหุ้มปอดออกมาตรวจหาสาเหตุในห้องปฏิบัติการต่อไป
การเจาะโพรงเยื่อหุ้มปอด (Thoracentesis)
แพทย์จะสอดเข็มขนาดเล็กผ่านผนังทรวงอกเพื่อระบายของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดออกมาตรวจในห้องปฏิบัตอการ ซึ่งการระบายของเหลวนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยหายใจเข้าออกได้ง่ายขึ้นด้วย
การส่องกล้องในช่องอก (Thoracoscopy)
การส่องกล้องมักใช้ในผู้ป่วยที่อาจมีสาเหตุมาจากมะเร็งหรือวัณโรค โดยแพทย์จะสอดท่อขนาดเล็กพร้อมกล้องผ่านทางผนังทรวงอกเพื่อตรวจดูความผิดปกติภายในช่องอกหรือเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติมต่อไป
การรักษาเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
การรักษาเยื่อหุ้มปอดอักเสบจะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค จึงทำให้มีการรักษาที่แตกต่างกันไป ซึ่งหากพบสาเหตุได้เร็ว การรักษาก็จะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเท่านั้น ส่วนอาการเจ็บหน้าอกและอาการอื่น ๆ โดยทั่วไปอาจรักษาได้ด้วยยาแก้ปวดและแก้อักเสบที่หาซื้อได้เอง เช่น ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน ยาในกลุ่มเอ็นเสดอื่น ๆ หรือใช้เป็นยาแก้ปวดและแก้ไอที่สั่งจ่ายโดยแพทย์อย่างยาโคเดอีน ร่วมกับการพักผ่อนให้เพียงพอและงดสูบบุหรี่อันเป็นสาเหตุของการระคายเคืองในปอดก็จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้
ในกรณีที่เยื่อหุ้มปอดอักเสบเกิดจากปัญหาสุขภาพ แพทย์อาจพิจารณายารักษาและแนวทางรักษาดังนี้
- หากมีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสอาจหายได้เองภายใน 2-3 วัน หรือภายใน 1 สัปดาห์โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์ทันที
- ใช้ยาปฏิชีวนะหากมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ใช้ยาต้านเชื้อราหากมีสาเหตุจากการติดเชื้อรา
- ใช้ยาละลายลิ่มเลือดหากมีสาเหตุจากโรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด
- ใช้ยาขยายหลอดลมชนิดสูดหากผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยหอบ หรือหายใจลำบาก
- ผู้ป่วยที่มีปริมาณของเหลวในโพรงเยื่อหุ้มปอดมากจนเกินไปอาจต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพื่อคอยระบายของเหลวให้อยู่ในปริมาณปกติ
ภาวะแทรกซ้อนของเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
ผู้ป่วยเยื่อหุ้มปอดอักเสบอาจมีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น ภาวะปอดแฟบ ภาวะหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด ภาวะช็อก และติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ อาการอักเสบยังอาจก่อให้เกิดภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด ทำให้ผู้ป่วยหายใจลำบากกว่าปกติเนื่องจากปอดขยายตัวได้ไม่เต็มที่ ซึ่งแพทย์อาจรักษาและบรรเทาอาการด้วยยาขับปัสสาวะหรือใช้เครื่องมือทางการแพทย์ดูดของเหลวในช่องเยื่อหุ้มปอดอออกมา
การป้องกันเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
แม้ในปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีป้องกันภาวะนี้ได้โดยตรง แต่อาจปรับพฤติกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่อการเกิดเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้ เช่น การงดสูบบุหรี่ ยาเสพติด ระมัดระวังตัวเองอยู่เสมอเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บบริเวณหน้าอกหรือซี่โครง รวมไปถึงผู้ที่มีปัญหาสุขภาพที่อาจนำไปสู่เยื่อหุ้มปอดอักเสบก็ควรเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ และควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด