เลือดกำเดาไหล (Nosebleed)

ความหมาย เลือดกำเดาไหล (Nosebleed)

เลือดกำเดาไหล เป็นอาการเลือดไหลที่ออกจากรูจมูกเนื่องมาจากเส้นเลือดภายในโพรงจมูกแตก ซึ่งอาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง โดยอาการนี้ส่วนใหญ่มักไม่ใช่สัญญาณอันตรายของโรคร้ายแรง เพราะเส้นเลือดภายในโพรงจมูกค่อนข้างเปราะบาง แต่ก็มีบางกรณีเช่นกันที่อาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยรุนแรงได้เช่นกัน

เลือดกำเดาไหลสามารถแบ่งออกเป็นสองชนิด ตามลักษณะการเกิด ได้แก่ ชนิดเลือดที่ออกมาจากโพรงจมูกทางส่วนหน้า ซึ่งเกิดจากเส้นเลือดบริเวณจมูกส่วนหน้าแตกและมักไม่ก่อให้เกิดอันตราย และชนิดเลือดที่ออกมาจากโพรงจมูกทางส่วนหลัง ซึ่งเป็นชนิดที่เกิดจากเส้นเลือดบริเวณที่อยู่ลึกเข้าไปในโพรงจมูกแตกและมักไหลเข้าไปในลำคอจนอาจเป็นอันตรายได้

เลือดกำเดาไหล

อาการของเลือดกำเดาไหล

ผู้ที่มีอาการเลือดกำเดาไหลมักพบว่า มีเลือดไหลออกจากรูจมูก โดยอาจไหลออกมาเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ซึ่งปริมาณของเลือดอาจไหลออกมามากหรือน้อยก็ได้ ขึ้นอยู่กับลักษณะของเส้นเลือดที่แตก และเลือดมักจะไหลในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วหยุดไหลไปเองภายในเวลาประมาณ 10–15 นาที หรืออาจมากกว่านั้น ตามแต่กรณี

ทั้งนี้ แม้อาการเลือดกำเดาไหลส่วนใหญ่จะไม่ได้เป็นอันตรายร้ายแรง แต่หากผู้ป่วยมีเลือดกำเดาไหลออกมาอย่างผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย โดยสังเกตจากอาการสำคัญดังต่อไปนี้

  • เลือดกำเดาไหลไม่หยุดแม้ผ่านไปแล้วกว่า 20 นาที
  • เลือดกำเดาไหลซ้ำอีกหลายรอบ
  • รู้สึกเวียนหัว หน้ามืด คล้ายจะเป็นลม
  • หัวใจเต้นเร็ว หรือหายใจไม่ออก
  • กระอักเลือด หรืออาเจียนเป็นเลือด 
  • มีผื่นขึ้นตามตัว หรือมีไข้สูง

สาเหตุของเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหลเกิดจากเส้นเลือดฝอยหรือเส้นเลือดใหญ่ภายในจมูกแตก ซึ่งโดยทั่วไปมักมีสาเหตุมาจากปัจจัยดังต่อไปนี้

  • ล้วงหรือแคะจมูก
  • จามบ่อย ๆ
  • สั่งน้ำมูกแรงเกินไป
  • จมูกได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง หรือการประสบอุบัติเหตุ
  • อุณหภูมิและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะในอากาศหนาว หรืออากาศแห้ง โดยผู้ป่วยในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักเป็นเด็กที่มีอายุอยู่ในช่วง 2–10 ปี และผู้สูงวัยที่มีอายุอยู่ในช่วง 50–80 ปี
  • การใช้ยาบางชนิดที่มีผลทำให้โพรงจมูกแห้ง เช่น กลุ่มยารักษาโรคภูมิแพ้ ยารักษาไข้หวัด รวมทั้งยารักษาไซนัสอักเสบ อย่างยาต้านฮิสตามีน (Antihistamines) และยาแก้คัดจมูก (Decongestants)
  • การใช้ยาแอสไพรินในปริมาณมาก

ในกรณีที่เลือดกำเดาไหลบ่อย ผู้ป่วยควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการป่วยรุนแรงหรือความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น

  • มีสิ่งแปลกปลอมติดค้างอยู่ภายในจมูก
  • ปฏิกิริยาแพ้ต่อสารเคมี
  • โรคภูมิแพ้ หรือปฏิริยาต่อสารก่อภูมิแพ้
  • ภาวะความดันโลหิตสูง 
  • ภาวะเลือดออกผิดปกติ
  • ภาวะการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) เป็นโรคที่เกิดความผิดปกติของร่างกายส่งผลทำให้เลือดไม่แข็งตัว
  • ภาวะหลอดหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis)
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน
  • การเกิดมะเร็งในโพรงจมูก

การวินิจฉัยอาการเลือดกำเดาไหล

ในขั้นแรก แพทย์จะซักประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ประวัติการรักษา หรืออุบัติเหตุที่ประสบมา แล้วใช้สำลีชุบยาสอดเข้าไปในรูจมูก เพื่อให้หลอดเลือดภายในโพรงจมูกหดตัวและลดอาการบวมลง ซึ่งจะช่วยให้แพทย์สามารถมองเห็นและตรวจหาสิ่งแปลกปลอมหรือความผิดปกติภายในโพรงจมูกที่อาจเป็นสาเหตุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในกรณีที่แพทย์ต้องการผลที่แน่ชัด แพทย์อาจต้องใช้วิธีการอื่นในการตรวจวินิจฉัยร่วมด้วย ได้แก่

  • กล้องส่องตรวจภายในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy) แพทย์จะสอดกล้องขนาดเล็กเข้าไปทางรูจมูก เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในโพรงจมูกในบริเวณที่ยากต่อการมองเห็น
  • การตรวจเลือดเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC) เพื่อตรวจหาโรคเลือด หรือความผิดปกติเกี่ยวกับเลือด เช่น ตรวจดูปริมาณของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด
  • การตรวจเลือดเพื่อวัดระยะเวลาที่เลือดจะแข็งตัว (Partial Thromboplastin Time: PTT) โดยทั่วไปเลือดจะแข็งตัวที่เวลาประมาณ 25–35 วินาที แต่หากผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด อาจใช้เวลานานกว่านั้น
  • การตรวจวินิจฉัยภาพถ่ายจากการฉายรังสีบริเวณโพรงจมูก เช่น การเอกซเรย์ (X–ray) หรือการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan)

การรักษาอาการเลือดกำเดาไหล

อาการเลือดกำเดาไหลรักษาได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ คือ การรักษาด้วยตัวเองในเบื้องต้น และการรักษาทางการแพทย์ โดยมีวิธีดังต่อไปนี้

การรักษาด้วยตนเอง

โดยปกติ เลือดกำเดาที่ไหลมักเป็นอาการที่ไม่รุนแรงและไม่เป็นอันตราย ซึ่งร่างกายจะมีกลไกที่ทำให้เลือดแข็งตัวและหยุดไหลไปเอง แต่ผู้ป่วยสามารถดูแลรักษาอาการได้ด้วยตนเองที่บ้าน โดยไม่ต้องไปพบแพทย์ ซึ่งสามารถทำได้โดยขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • นั่งอยู่กับที่นิ่ง ๆ เอนตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบรูจมูก แล้วหายใจทางปากประมาณ 10 นาทีแล้วปล่อยมือ โดยหากเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล ให้ทำตามขั้นตอนเดิมซ้ำอีกครั้ง
  • หากมีเลือดที่ไหลลงในปากหรือลำคอ ให้คายเลือดออกมา อย่ากลืนเลือดลงไป รวมถึงต้องไม่นอนราบ และไม่เงยหน้าขึ้นในขณะที่เลือดกำเดาไหล เพราะอาจกลืนเลือดลงไปในกระเพาะ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองที่อาจนำไปสู่อาการป่วยอื่น ๆ ตามมา เช่น การอาเจียน 
  • ในระหว่างนี้ อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือผ้าห่อน้ำแข็งวางไว้บริเวณดั้งจมูก และไม่พ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะจมูก เพราะจะทำให้อาการแย่ลง

หลังจากเลือดหยุดไหล ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการพ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือจามเป็นเวลา 24 ชั่วโมง และหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่อากาศแห้งหรือหนาวเย็นไปก่อน แต่ในกรณีที่พยายามห้ามเลือดกำเดาด้วยตนเองด้วยวิธีดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาต่อไป

การรักษาโดยแพทย์

หากเลือดกำเดาไม่หยุดไหล เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์อาจทำการรักษาด้วยวิธีการดังต่อไปนี้

  • ในเบื้องต้น แพทย์อาจใช้สำลีหรือผ้าก๊อซอุดรูจมูก เพื่อให้เลือดหยุดไหล หรืออาจใช้วัสดุอุดห้ามเลือดอื่น ๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ หลังจากนั้นแพทย์จะอนุญาตให้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านได้ โดยผู้ป่วยต้องใส่วัสดุอุดห้ามเลือดไว้ 2–3 วัน
  • กรณีที่มีสิ่งแปลกปลอมติดอยู่ภายในโพรงจมูกอันเป็นเหตุทำให้เกิดเลือดกำเดาไหล แพทย์จะหาวิธีนำสิ่งแปลกปลอมนั้นออกมา
  • หากเส้นเลือดที่แตกและเป็นสาเหตุของเลือดกำเดาไหลสามารถมองเห็นได้ชัดเจน แพทย์จะห้ามเลือดด้วยการจี้หยุดเลือดนั้นด้วยสารซิลเวอร์ไนเตรท (Silver Nitrate)

หากเลือดกำเดาเป็นชนิดเลือดที่ออกมาจากโพรงจมูกทางส่วนหลัง แพทย์อาจต้องใช้วัสดุกดห้ามเลือดสำหรับชนิดนี้โดยเฉพาะ ซึ่งแพทย์อาจใช้ยาระงับความรู้สึกและให้ยาแก้ปวดร่วมด้วย เนื่องจากการใช้วัสดุชนิดนี้อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการเจ็บปวดได้ โดยผู้ป่วยจะต้องใส่วัสดุกดห้ามเลือดทิ้งไว้ 2–3 วัน และพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลภายใต้การดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด

หลังรักษาด้วยการใส่วัสดุกดห้ามเลือด 2–3 วันแล้วเลือดกำเดายังไม่หยุดไหล แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดหรือใช้วิธีการทางรังสีวิทยาเพื่อรักษาผู้ป่วยต่อไป

ภาวะแทรกซ้อนของเลือดกำเดาไหล

เลือดกำเดาไหลอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง หรือภาวะแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น

  • สำลักเลือด หรืออาเจียน เนื่องจากกลืนเลือดลงไปในกระเพาะอาหารแล้วเกิดอาการแพ้
  • ภาวะโลหิตจาง (Anemia) เนื่องจากการสูญเสียเลือดปริมาณมากเป็นเวลานาน

การป้องกันการเกิดเลือดกำเดาไหล

อาการเลือดกำเดาไหลอาจป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • ไม่พ่นจมูก สั่งน้ำมูก หรือล้วงแคะจมูกแรง ๆ และควรตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
  • หลีกเลี่ยงการเผชิญกับอากาศแห้งและหนาวเย็น หรือหากเลี่ยงไม่ได้ก็ควรทาปิโตรเลียมเจลลี่ (Petroleum Jelly) เพื่อไม่ให้ภายในโพรงจมูกแห้ง
  • ไม่สูบบุหรี่ เพราะบุหรี่ทำให้จมูกแห้งและอาจทำให้เกิดอาการแพ้
  • หากเลือดกำเดาไหลเกิดจากการรับประทานยา ให้ปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณและการใช้ยานั้นอย่างเหมาะสม เช่น ยาแอสไพริน ยาต้านฮิสตามีน และยาแก้คัดจมูก
  • หากเลือดกำเดาไหลเกิดจากปัจจัยทางการแพทย์ เช่น เป็นภูมิแพ้จมูก ป่วยไซนัสเรื้อรัง หรือป่วยด้วยโรคตับ ให้ปฏิบัติตามกระบวนการรักษาที่แพทย์กำหนดอย่างเคร่งครัด
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นและกระทบกระเทือนต่อจมูก เช่น สวมใส่อุปกรณ์ป้องกันศีรษะในขณะเล่นกีฬาหรือต้องทำกิจกรรมที่อาจได้รับการกระทบกระเทือน