ความหมาย เลือดคั่งในสมอง
เลือดคั่งในสมอง (Intracerebral Hemorrhage) เป็นภาวะอาการที่เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก หรือฉีกขาด จนทำให้มีเลือดไหลออกมายังเนื้อเยื่อส่วนที่ใกล้เคียง ทำให้เซลล์สมองบริเวณนั้นได้รับความเสียหายอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เนื่องจากเลือดที่ไหลออกมาอาจไปกดทับเนื้อเยื่อสมอง และรบกวนการขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงสมองด้วย ทำให้เกิดอาการป่วยที่รุนแรงตามมา จนอาจถึงขั้นเป็นอัมพาตหรือถึงแก่ชีวิตได้หากรักษาไม่ทันการณ์
อาการของเลือดคั่งในสมอง
เมื่อเส้นเลือดในสมองแตกหรือฉีกขาด จนเกิดเลือดออก และต่อมากลายเป็นเลือดคั่งในสมอง ผู้ป่วยมักมีอาการป่วยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด หรืออาจเกิดขึ้นหลังจากเวลาผ่านไประยะหนึ่งแล้วอาการค่อย ๆ ทรุดหนักลง ซึ่งลักษณะอาการที่ปรากฏนั้นขึ้นอยู่กับบริเวณสมองที่เกิดเลือดคั่ง ความรุนแรงของอาการเลือดคั่ง และปริมาณเนื้อเยื่อที่ได้รับความเสียหายด้วย
อาการที่มักเกิดขึ้นกับผู้ป่วยเลือดคั่งในสมอง ได้แก่
- ปวดหัวรุนแรงในทันที
- อ่อนเพลีย หมดแรง
- เฉยชา เซื่องซึม
- สับสนมึนงง เพ้อ กระวนกระวาย
- กลืนอาหารลำบาก
- ลำบากในการพูดคุยสื่อสาร หรือการทำความเข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นพูด
- เขียนหรืออ่านได้ยากลำบาก
- เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียน
- ทัศนวิสัยในการมองเห็นเปลี่ยนไป ตาข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้างอาจมีปัญหาในการมองเห็น
- แขนขาอ่อนแรง ร่างกายสูญเสียความสามารถในการเคลื่อนไหว
- ร่างกายสูญเสียความสามารถในการประสานสัมพันธ์ประสาทกล้ามเนื้อ
- เสียการทรงตัว
- รู้สึกปวดชาเหมือนมีเข็มตำ ตัวชา หรือเป็นอัมพาตบริเวณใบหน้า แขน ขา ซึ่งอาการเกิดขึ้นกับร่างกายเพียงฝั่งเดียว
- มีอาการชัก ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยประสบภาวะชักมาก่อนหน้านี้
- หมดสติ
สาเหตุของเลือดคั่งในสมอง
เลือดคั่งในสมอง เกิดจากเส้นเลือดในสมองแตกหรือฉีกขาด ทำให้เลือดไหลเข้าสู่เนื้อเยื่อสมองในบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เนื้อเยื่อในบริเวณนั้นเกิดความเสียหายจนนำไปสู่ภาวะสมองบวม (Cerebral Edema) หรือเกิดเป็นก้อนเลือด (Hematoma) กดทับในเยื่อหุ้มสมอง โดยภาวะอาการเหล่านี้จะสร้างแรงกดทับแก่เนื้อเยื่อสมอง รบกวนการไหลเวียนเลือดที่จะนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง และเบียดทำลายเนื้อเยื่อสมอง โดยภาวะเลือดคั่งในสมองสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งภายในเนื้อสมอง ระหว่างเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมอง ระหว่างสมองแต่ละชั้น หรือระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะ
โดยอาจมีปัจจัยสาเหตุที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกจนเกิดเลือดคั่งในสมอง เช่น
- ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อการเกิดเลือดคั่งในสมองที่พบได้บ่อยที่สุด เนื่องจากเป็นอาการป่วยเรื้อรังที่ทำให้ผนังหลอดเลือดอ่อนแอ
- ศีรษะได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง มักเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยที่มีอายุน้อยเกิดภาวะเลือดคั่งในสมอง
- เส้นเลือดในสมองโป่งพอง (Aneurysm) ผนังหลอดเลือดที่อ่อนแอเกิดอาการบวม จนอาจทำให้เส้นเลือดแตกและเกิดเลือดคั่งในสมอง หรือนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้
- ความผิดปกติของเส้นเลือดในสมอง (Arteriovenous Malformations) เส้นเลือดในสมองหรือบริเวณที่ใกล้เคียงกับสมองอาจมีความผิดปกติ ผิดรูปผิดร่าง จนรบกวนการไหลเวียนของเลือด ซึ่งอาจเป็นมาแต่กำเนิด แต่มักตรวจพบได้ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการป่วยที่แสดงออกมาแล้ว
- ผนังหลอดเลือดสมองเปราะ (Amyloid Angiopathy) เป็นความผิดปกติของผนังหลอดเลือดที่อาจทำให้เกิดเลือดไหลออกมาเพียงเล็กน้อยแต่หลายจุด จนทำให้เกิดเลือดคั่งในสมองในที่สุด
- เนื้องอกในสมอง หากมีเนื้องอกในสมอง อาจทำให้เกิดการกดทับเส้นเลือดสมองในบริเวณนั้น หรือเส้นเลือดในสมองอาจเกิดความเสียหายจนมีเลือดไหล และทำให้เกิดภาวะเลือดคั่งในสมองได้ในที่สุด
- โรคเกี่ยวกับความผิดปกติของเลือด หรือภาวะมีเลือดไหลผิดปกติ เช่น โรคฮีโมฟีเลีย (Hemophilia) ซึ่งผู้ป่วยมีปัญหาในด้านการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดไหลออกมาได้ง่ายและหยุดไหลยาก
- โรคตับ ผู้ป่วยโรคตับมีความเสี่ยงต่อภาวะมีเลือดไหลเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดคั่งในสมอง
- การใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจส่งผลต่อภาวะเลือดไหล จนทำให้เกิดเลือดคั่งในสมองได้เช่นกัน
- การใช้ยาเสพติด เช่น ยาบ้า หรือโคเคน อาจทำให้มีภาวะความดันโลหิตสูงอย่างรุนแรง จนเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดแตกและมีเลือดคั่งในสมองได้
การวินิจฉัยเลือดคั่งในสมอง
หากผู้ป่วยหรือผู้ที่เกี่ยวข้องพบเห็นอาการข้างต้นที่อาจเกี่ยวข้องกับภาวะเลือดคั่งในสมอง ควรรีบพบแพทย์หรือนำตัวผู้ป่วยไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจรักษา หากแพทย์วินิจฉัยอาการว่าผู้ป่วยอาจมีภาวะเลือดคั่งในสมอง แพทย์จะตรวจระบบประสาทด้วยการฉายภาพ เพื่อตรวจหาว่าผู้ป่วยมีอาการโรคหลอดเลือดสมองดังกล่าวจากสาเหตุเส้นเลือดในสมองแตกหรือมีภาวะเส้นเลือดอุดตัน โดยวิธีการตรวจที่แพทย์อาจใช้ ได้แก่
- CT Scan เป็นการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งแพทย์จะฉายรังสีเอกซเรย์บริเวณสมอง แล้วใช้คอมพิวเตอร์สร้างเป็นภาพฉาย เพื่อตรวจหาความผิดปกติภายในสมองและศีรษะที่อาจได้รับความเสียหาย โดยวิธีการนี้จะได้ภาพที่มีความละเอียดสูง
- MRI Scan เป็นการใช้คลื่นวิทยุร่วมกับคลื่นสนามแม่เหล็กแรงสูงในการฉายภาพเนื้อเยื่อและโครงสร้างภายในสมองให้ละเอียดชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการวินิจฉัยบริเวณสมองที่เกิดความเสียหายได้อย่างแม่นยำ
- Angiogram เป็นการตรวจด้วยรังสีเอกซเรย์ โดยฉีดสารย้อมสีเข้าไปในเส้นเลือด แล้วฉายภาพ เพื่อตรวจดูการไหลเวียนของเลือดและความผิดปกติที่เกิดขึ้น เช่น เส้นเลือดโป่งพอง หรือความผิดปกติของเส้นเลือดต่าง ๆ
- การตรวจเลือด แพทย์อาจเจาะตรวจตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ภาวะการอักเสบ หรือปัญหาการแข็งตัวของเลือดที่อาจทำให้เกิดเลือดคั่งในสมองได้
การรักษาเลือดคั่งในสมอง
หากผู้ป่วยที่มีเลือดคั่งในสมองได้รับการตรวจรักษาเร็ว ก็อาจช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและหายดีได้เร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายใน 3 ชั่วโมงแรกที่มีอาการปรากฏชัดเจน โดยการรักษาเลือดคั่งในสมองขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเลือดคั่ง ลักษณะอาการ ความรุนแรงของอาการ ตำแหน่งสมองที่มีเลือดคั่งและระดับความเสียหายด้วย
หลังจากตรวจวินิจฉัยแล้ว แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาผู้ป่วยเลือดคั่งในสมอง ดังต่อไปนี้
- การผ่าตัด ผู้ป่วยต้องเข้ารับการผ่าตัด เพื่อรักษาเส้นเลือดที่แตกหรือบวม ห้ามเลือดที่ไหล และรักษาเนื้อสมองบริเวณที่ได้รับความเสียหาย
- การใช้ยา แพทย์อาจให้ยาเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต และเพื่อรักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวดเพื่อลดอาการปวดหัวรุนแรง ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) หรือยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เพื่อลดอาการบวมของเส้นเลือด และยากันชัก (Anticonvulsants/Antiepileptic) เพื่อควบคุมอาการชัก หรือป้องกันภาวะชักในผู้ที่เสี่ยงเกิดอาการชัก
- การรักษาในระยะยาว ผู้ป่วยบางรายที่สมองได้รับความเสียหาย อาจต้องรักษาดูแลในระยะยาว เช่น การทำกายภาพบำบัด และการฝึกพูด เพื่อช่วยฟื้นฟูการทำงานของกล้ามเนื้อ และทักษะในการสื่อสารให้ดียิ่งขึ้น การทำกิจกรรมบำบัด เพื่อช่วยฟื้นฟูทักษะพื้นฐานในการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
ภาวะแทรกซ้อนของเลือดคั่งในสมอง
นอกเหนือจากอาการป่วยหลังเกิดเลือดคั่งในสมองแล้ว ผู้ป่วยอาจเสี่ยงเผชิญกับอาการที่เป็นภาวะแทรกซ้อนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะเลือดคั่งในสมองเช่นกัน โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่
- สมองไม่ทำงาน การทำงานของสมองผิดปกติ เนื่องจากสมองบางส่วนได้รับความเสียหาย หรือขาดออกซิเจนไปเลี้ยงสมองเป็นเวลานาน จึงอาจมีอาการที่ตามมา เช่น ทักษะทางภาษาและการสื่อสารบกพร่อง กลืนลำบาก สูญเสียทัศนวิสัยในการมองเห็น การรับรู้ทางประสาทสัมผัสหรือการเคลื่อนไหวร่างกายยากลำบากขึ้นโดยเฉพาะร่างกายเพียงครึ่งซีก อารมณ์เปลี่ยนแปลง ซึมเศร้า เซื่องซึม สับสนมึนงง กระบวนการคิดและการใช้เหตุผลผิดปกติ สูญเสียความทรงจำ มีไข้ ปอดบวม สมองบวม ชัก
- ผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้หากเลือดคั่งในสมองเป็นปริมาณมาก
การป้องกันอาการเลือดคั่งในสมอง
ภาวะเลือดคั่งในสมองอาจป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เส้นเลือดในสมองแตกหรือฉีกขาด เช่น
- ดูแลรักษาตนเองหากมีภาวะความดันโลหิตสูง ป่วยด้วยโรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน และปฏิบัติตามแนวทางที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด เช่น การรับประทานยา การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย
- ขับขี่ยานพาหนะด้วยความระมัดระวังเสมอ คาดเข็มขัดนิรภัย หรือสวมหมวกกันน็อคทุกครั้ง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุที่อาจกระทบกระเทือนสมองได้
- เข้ารับการรักษาหากมีอาการป่วยบริเวณหลอดเลือดสมอง ที่อาจนำมาสู่ภาวะเลือดคั่งในสมองได้
- ระมัดระวังหากกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด อย่างยาวาร์ฟาริน ควรไปพบแพทย์ตามนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจอาการและตรวจวัดระดับความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมอยู่เสมอ
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ใช้ยาเสพติด
- รักษาสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์อยู่เสมอ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต