เลือดออกในทางเดินอาหาร

ความหมาย เลือดออกในทางเดินอาหาร

GI Bleeding (Gastrointestinal Bleeding) หรือเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่เกิดจากความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยมักจะพบเลือดปะปนอยู่ในอุจจาระหรือผู้ป่วยอาเจียนปนเลือดออกมา 

ผู้ที่มีเลือดออกในทางเดินอาหารอาจมีอาการเพียงเล็กน้อยไปจนถึงระดับที่รุนแรง หากมีปริมาณเลือดออกน้อยก็อาจไม่พบความผิดปกติในระยะเริ่มแรก และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา

GI Bleeding

อาการของเลือดออกในทางเดินอาหาร

สัญญาณและภาวะของ GI Bleeding ขึ้นอยู่กับว่าผู้ป่วยมีเลือดไหลออกจากบริเวณใดของทางเดินอาหาร ซึ่งสามารถพบได้ตั้งแต่ทางเดินอาหารส่วนต้นอย่างหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น รวมถึงทางเดินอาหารส่วนปลายอย่างลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง และทวารหนัก โดยอาการที่อาจพบได้ เช่น อุจจาระเป็นสีดำ อุจจาระมีเลือดสีแดงสดปนอยู่ อาเจียนออกมาเป็นสีแดงหรือสีดำคล้ายกากกาแฟ ปวดท้อง เป็นต้น หากมีเลือดออกปริมาณมากจะมีอาการเวียนศีรษะ อ่อนแรง และซีดร่วมด้วย ซึ่งควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว 

นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีภาวะ GI Bleeding ที่เลือดออกเป็นปริมาณมากอย่างเฉียบพลัน อาจส่งผลให้ความดันโลหิตลดต่ำลง ไม่ปัสสาวะเลยหรือปัสสาวะในปริมาณเพียงเล็กน้อย ชีพจรเต้นเร็ว และหมดสติ จนนำไปสู่ภาวะช็อก ควรรีบนำผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลโดยเร่งด่วน

สาเหตุของเลือดออกในทางเดินอาหาร

GI Bleeding สามารถเกิดขึ้นทั้งในทางเดินอาหารส่วนต้นหรือส่วนปลาย โดยสาเหตุที่พบได้บ่อย มีดังนี้

เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น

สาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น เช่น

  • แผลในกระเพาะอาหาร
    เป็นสาเหตุหลักของ GI Bleeding โดยแผลที่เกิดขึ้นบริเวณเยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้นมักมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรียเอชไพโลไร (H. Pylori) กรดในกระเพาะอาหาร หรือการใช้ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด
  • การฉีกขาดของเยื่อบุหลอดอาหาร
    เยื่อบุหลอดอาหารที่ฉีดขาดอาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีเลือดออกในปริมาณมาก โดยมักพบได้ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • เส้นเลือดขอดในหลอดอาหาร
    ส่วนใหญ่จะพบได้ในผู้ป่วยโรคตับที่รุนแรง โดยเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารอาจส่งผลให้มีเลือดออกในทางเดินอาหารได้เช่นกัน
  • หลอดอาหารอักเสบ
    มักเป็นผลมาจากภาวะกรดไหลย้อนซึ่งเป็นภาวะที่กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณส่วนปลายของหลอดอาหารทำงานผิดปกติ กรดในกระเพาะอาหารจึงไหลย้อนขึ้นมาทำลายหลอดอาหาร อาจทำให้เกิดแผลและเลือดออกในบริเวณดังกล่าว 

เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนปลาย

สาเหตุที่มักทำให้เกิดอาการเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนปลาย เช่น

  • โรคที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร
    ประกอบไปด้วยโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง ซึ่งเป็นการอักเสบที่เยื่อบุผิวบริเวณลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และโรคโครห์นที่เป็นการอักเสบของเยื่อบุในระบบทางเดินอาหาร โดยกลุ่มโรคนี้อาจทำให้มีเกิดภาวะ GI Bleeding ได้เช่นกัน
  • โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ
    เป็นการอักเสบหรือติดเชื้อของกระเปาะที่โป่งออกผิดปกติของเยื่อบุลำไส้ใหญ่ จึงอาจส่งผลให้มีเลือดออกมา
  • เนื้องอก
    เนื้องอกไม่ว่าจะชนิดธรรมดาหรือมะเร็งในทางเดินอาหาร ก็อาจทำให้เยื่อบุในระบบทางเดินอาหารบางลงและมีเลือดออกได้
  • สาเหตุอื่น ๆ
    เลือดออกในทางเดินอาหารอาจเป็นผลมาจากริดสีดวงทวารหรือการโป่งพองของเส้นเลือดบริเวณทวารหนักและลำไส้ตรงส่วนล่าง แผลรอยแยกขอบทวารหนัก (Anal Fissure) รวมทั้งติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะไม่เป็นอันตราย แต่ในบางคนอาจกลายเป็นมะเร็งได้หากไม่รับการรักษา

การวินิจฉัยเลือดออกในทางเดินอาหาร

เบื้องต้นแพทย์จะทำการวินิจฉัยภาวะ GI Bleeding โดยการซักถามประวัติทางการสุขภาพ ตรวจร่างกาย และอาจตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยยืนยันผลการวินิจฉัย เช่น 

  • การตรวจเลือด เพื่อดูการแข็งตัวของเลือด เกล็ดเลือด และการทำงานของตับ 
  • การตรวจอุจจาระ เพื่อช่วยยืนยันว่ามีเลือดออกภายในทางเดินอาหาร 
  • การใส่สายสวนเข้าทางจมูกไปยังกระเพาะอาหาร เพื่อระบายสิ่งที่อยู่ภายในกระเพาะอาหารออกและอาจช่วยบอกบริเวณที่เลือดออก 
  • การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น (Upper endoscopy) เพื่อตรวจสอบความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นในกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น โดยแพทย์จะสอดเครื่องมือที่เป็นท่อขนาดเล็กและมีกล้องขนาดเล็กติดอยู่ที่ส่วนปลายเข้าไปทางปากของผู้ป่วย 
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เป็นวิธีการตรวจหาความผิดปกติในลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง โดยแพทย์จะใช้เครื่องมือที่เป็นท่อขนาดเล็กและมีกล้องติดอยู่ที่ส่วนปลายสอดเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อสังเกตในบริเวณดังกล่าว
  • การตรวจลำไส้เล็กด้วยการกลืนกล้องแคปซูล (Capsule endoscopy) วิธีนี้ผู้ป่วยต้องกลืนกล้องขนาดเล็กเท่าแคปซูลเข้าไป ซึ่งกล้องนี้จะช่วยถ่ายภาพลำไส้เล็กทั้งหมดเอาไว้ ทำให้แพทย์สามารถเห็นจุดที่มีเลือดออกภายในลำไส้เล็กของผู้ป่วยได้
  • การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Flexible sigmoidoscopy) แพทย์จะใช้ท่อขนาดเล็กที่มีความยืดหยุ่นพร้อมกับมีกล้องและไฟส่องเพื่อตรวจดูลำไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย รวมถึงรักษาเลือดออกในบริเวณนั้น ๆ ด้วย
  • การตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อ (ฺBiospy) แพทย์จะใช้เครื่องมือพิเศษสำหรับตัดชิ้นเนื้อระหว่างการส่องกล้อง แล้วนำตัวอย่างที่ได้ไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อหาความผิดปกติต่อไป 
  • การตรวจวินิจฉัยทางหลอดเลือด แพทย์จะฉีดสารทึบรังสีเข้าสู่หลอดเลือดแดงของผู้ป่วยก่อนการเอกซเรย์ เพื่อตรวจหาเส้นเลือดที่มีเลือดออกหรือความผิดปกติต่าง ๆ 
  • การตรวจ CT Scan หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บริเวณท้อง เพื่อตรวจหาจุดที่มีเลือดออกหรือความผิดปกติภายในระบบทางเดินอาหาร

การรักษาเลือดออกในทางเดินอาหาร

GI Bleeding มีวิธีการรักษาแตกต่างกันไปตามสาเหตุ ผู้ป่วยบางรายอาจได้รับการรักษาในระหว่างการตรวจด้วยการส่องกล้องประเภทต่าง ๆ ไปพร้อมกัน โดยแพทย์อาจฉีดยา ใช้กระแสไฟฟ้าและเลเซอร์จี้ หรือใช้คลิปหนีบหลอดเลือดเพื่อให้เลือดหยุดไหล 

อย่างไรก็ตาม GI Bleeding นั้นมักหายไปได้เองหลังจากรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งการรักษาจะมีวิธีแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่มีเลือดออก เช่น หากมีเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน ผู้ป่วยอาจต้องได้รับการฉีดยาในกลุ่ม Proton pump inhibitors: PPIs เข้าเส้นเลือด เพื่อยับยั้งการผลิตกรดในกระเพาะอาหาร

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาให้เลือดหรือน้ำเกลือเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย เพื่อทดแทนเลือดที่เสียไป หากผู้ป่วยกำลังใช้ยาต้านเกร็ดเลือดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดจะต้องหยุดใช้ยาดังกล่าวตามคำแนะนำของแพทย์ด้วย เช่น ยาวาฟาริน ยาแอสไพรินหรือยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด

ภาวะแทรกซ้อนของเลือดออกในทางเดินอาหาร

GI Bleeding อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น โลหิตจาง ไตวาย ภาวะช็อกหากเลือดออกมาก และอาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้หากได้รับการรักษาไม่ทันท่วงที นอกจากนี้ วิธีการรักษา IG Bleeding บางประเภทยังอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ เช่น การส่องกล้องอาจทำให้ปอดอัดเสบจากการสำลัก หรืออวัยวะภายในทะลุ และการผ่าตัดอาจทำให้เกิดลำไส้อุดตัน ติดเชื้อ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับแผลหลังการผ่าตัดได้

การป้องกันเลือดออกในทางเดินอาหาร

GI Bleeding อาจป้องกันได้โดยเริ่มต้นที่ตนเอง เช่น เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงจำกัดการใช้ยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์อย่างยากลุ่มเอ็นเสด เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้อาจทำให้เกิดภาวะ GI Bleeding ได้ นอกจากนี้ หากผู้ป่วยเป็นกรดไหลย้อนอยู่ก่อนก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำในการรักษาภาวะดังกล่าวจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหารตามมาภายหลัง