ความหมาย เลือดเป็นกรด
เลือดเป็นกรด (Acidosis) คือ ภาวะความผิดปกติของเลือดหรือของเหลวในร่างกายไม่สมดุล ทำให้มีความเป็นกรดสูง ในทางการแพทย์จะยึดเกณฑ์ค่าพีเอช (pH) ของเลือดที่วัดได้ต่ำกว่า 7.35 ลงมาถึงจะจัดว่าร่างกายมีภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งอาจเกิดได้จากสภาวะหรือโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ความเป็นกรดด่างของเลือดหรือของเหลวในร่างกายวัดได้จากค่าพีเอชที่เป็นตัวช่วยให้การทำงานของเซลล์ในระบบต่าง ๆ และการขนส่งออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อเป็นปกติ โดยค่าพีเอชเลือดของคนปกติจะอยู่ในช่วง 7.35-7.45 ส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นการทำงานของปอด และการควบคุมความสมดุลของเกลือแร่และภาวะกรดด่างในร่างกายจากการทำงานของไต
เมื่อภาวะเลือดเป็นกรดที่เกิดจากปอดจะเรียกว่า ภาวะกรดจากระบบหายใจ (Respiratory Acidosis/Hypercapnic Acidosis/Carbondioxide Acidosis) แต่หากเกิดจากการทำงานไตจะเรียกว่า ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolic Acidosis)
อาการเลือดเป็นกรด
ภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจและกระบวนการเผาผลาญส่วนใหญ่จะมีอาการหลาย ๆ อย่างคล้ายกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดเป็นหลัก
ภาวะกรดจากระบบหายใจ
- อ่อนเพลีย เซื่องซึม
- เหนื่อยง่ายกว่าปกติ
- รู้สึกสับสน
- ปวดศีรษะ
- บางรายที่มีอาการรุนแรงอาจเกิดอาการไม่รู้ตัว หรือเสียชีวิต
ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ
- หายใจตื้นและถี่
- รู้สึกสับสน
- อ่อนเพลีย
- ปวดศีรษะ
- อาเจียน เบื่ออาหาร
- อาการดีซ่าน
- หัวใจเต้นเร็วขึ้น
- ในกรณีที่เกิดจากโรคเบาหวาน ลมหายใจอาจมีกลิ่นคล้ายผลไม้ (Ketoacidosis)
สาเหตุของเลือดเป็นกรด
ภาวะเลือดเป็นกรดจะเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีกรดสะสมอยู่ในปริมาณมากหรือสูญเสียความเป็นด่างไป รวมไปถึงมีโรคหรือความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับปอด ไต ระบบการเผาผลาญ หรือระบบการหายใจ ซึ่งสาเหตุการเกิดแบ่งออกได้เป็น
1. ภาวะกรดจากระบบหายใจ จะเกิดขึ้นเมื่อปอดไม่สามารถขจัดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกทางการหายใจได้เพียงพอ จึงเกิดการสะสมของก๊าซภายในร่างกายเป็นจำนวนมากจนทำให้เลือดมีความเป็นกรดมากกว่าปกติ ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- โรคทางเดินหายอุดกั้นใจเรื้อรัง
- การบาดเจ็บบริเวณหน้าอก
- ภาวะหรือโรคอ้วนซึ่งอาจทำให้หายใจลำบาก
- การใช้ยาที่มีฤทธิ์กดประสาทอย่างไม่เหมาะสม ทำให้การหายใจลดลง
- การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินปริมาณที่พอดี
- ปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท
- โครงสร้างของหน้าอกผิดรูปร่าง เช่น หลังค่อม
- กล้ามเนื้อหน้าอกที่เกี่ยวข้องกับการหายใจไม่แข็งแร'
2. ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ จะเกิดขึ้นเมื่อไตไม่สามารถขจัดสารที่มีความเป็นกรดออกในปริมาณที่พอดีหรือกำจัดสารที่มีความเป็นด่างมากเกินไป สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนี้มักจะมาจาก
- การคั่งของสารคีโตซีส (Diabetic Acidosis: DKA/Diabetic Ketoacidosis) พบในผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมโรคเบาหวานได้ เนื่องจากจากการขาดฮอร์โมนอินซูลินหรือมีไม่เพียงพอ ทำให้เกิดการสร้างสารคีโตนปริมาณมากและเปลี่ยนเป็นกรดในเลือด
- ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง (Hyperchloremic Acidosis) เป็นผลมาจากการสูญเสียโซเดียมไบคาร์บอเนตออกจากร่างกายมาก ซึ่งเป็นสารที่ช่วยให้สภาวะของเลือดมีความเป็นกลาง อาจเกิดจากท้องเสียรุนแรง
- ภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง (Lactic Acidosis) เกิดขึ้นเมื่อกรดแลคติกสะสมอยู่ในร่างกายปริมาณมากจากหลายปัจจัย เช่น การติดสุราเรื้อรัง ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคมะเร็ง โรคลมชัก ตับวาย ภาวะขาดออกซิเจน ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ การออกกำลังกายอย่างหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน การใช้ยาในกลุ่มซาลิซัยเลท (Salicylates) ตับวายหรือตับล้มเหลว การติดเชื้อในกระแสเลือด
- สาเหตุอื่น ๆ เช่น อาเจียน ภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง ไตผิดปกติในการขับกรด พิษจากสารเคมีอย่าง เมทานอล (Methanol) หรือเอทิลีนไกลคอล (Ethylene Glycol)
การวินิจฉัยเลือดเป็นกรด
แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ อาการผิดปกติที่พบ และตรวจร่างกายทั่วไป จากนั้นจึงมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมตามความเสี่ยงของผู้ป่วยแต่ละราย เช่น
- การตรวจเลือด แบ่งการตรวจออกได้เป็นหลายประเภท โดยการตรวจที่นิยมทำกันโดยทั่วไป เช่น การตรวจวิเคราะห์ก๊าซในเลือด (Arterial Blood Gas Analysis) เป็นการตรวจวัดระดับก๊าซออกซิเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด และค่าความเป็นกรดของเลือด หรือการตรวจเกลือแร่ในเลือด เพื่อดูการทำงานของไตและค่าความเป็นกรดด่าง ร่วมไปถึงแคลเซียม โปรตีน น้ำตาล อิเล็กโทรไลต์หรือเกลือแร่ ซึ่งการตรวจทั้ง 2 ชนิดพอจะช่วยให้แพทย์ทราบได้ว่าภาวะเลือดเป็นกรดเกิดจากระบบการหายใจหรือกระบวนการเผาผลาญ
- การตรวจเอกซเรย์ปอด หรือการตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test) เป็นการตรวจดูสุขภาพของปอดโดยรวม และยังช่วยตรวจหาสาเหตุของภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ
- การตรวจปัสสาวะ เป็นการตรวจสำหรับผู้ป่วยที่คาดว่าน่าจะเกิดภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ โดยแพทย์จะเก็บตัวอย่างปัสสาวะของผู้ป่วย เพื่อตรวจวัดความเป็นกรดด่างที่ร่างกายขจัดออกมาว่าอยู่ในระดับปกติหรือไม่
การรักษาเลือดเป็นกรด
ภาวะเลือดเป็นกรดรักษาได้เมื่อทราบสาเหตุที่เกิดอย่างแท้จริง โดยเน้นให้ค่าความเป็นกรดด่างหรือค่าพีเอชกลับมาอยู่ในภาวะปกติ วิธีการรักษาจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุ ประเภท และระดับความรุนแรงของภาวะนี้เป็นหลัก
ภาวะกรดจากระบบหายใจ แพทย์จะรักษาโดยพยายามช่วยให้ปอดกลับมาทำงานได้ตามปกติและแก้ไขสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด อาจให้ยาขยายทางเดินหายใจ ให้ออกซิเจน หรือใช้เครื่องช่วยหายใจ (Continuous Positive Airway Pressure: CPAP) ในผู้ป่วยที่มีสิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง
ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญจะแตกต่างออกไปตามสาเหตุของโรคหรือภาวะความผิดปกตินั้น ๆ เช่น ภาวะเลือดเป็นกรดร่วมกับคลอไรด์ในเลือดสูง และภาวะเลือดเป็นกรดจากไตล้มเหลวอาจจะต้องรับประทานยาโซเดียมไบคาร์บอเนต หรือการคั่งของสารคีโตซีสในผู้ป่วยเบาหวานจนทำให้เลือดเป็นกรด ผู้ป่วยอาจได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดหรืออินซูลิน เพื่อช่วยปรับสมดุลความเป็นกรดด่างในเลือด ส่วนภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติกในเลือดสูง แพทย์อาจให้รับประทานโซเดียมไบคาร์บอเนต (Sodium Bicarbonate) ให้น้ำเกลือ ออกซิเจน หรือสั่งจ่ายยาปฏิชีวนะ ขึ้นอยู่กับสาเหตุหลัก
ภาวะแทรกซ้อนของเลือดเป็นกรด
ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสมอาจมีความเสี่ยงกับปัญหาสุขภาพอื่น ๆ จากตัวโรคหรือภาวะความผิดปกติที่ทำให้เลือดเป็นกรดตามมา หากมีภาวะเป็นกรดมากจะทำให้การบีบตัวของหัวใจน้อยลงส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง เกิดการคั่งของกรดแลคติกในเลือดมากขึ้น หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งจะทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว และเมื่อค่าพีเอชของเลือดน้อยกว่า 7.1-7.2 อาจทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มีโอกาสในการเกิดภาวะช็อกหรือเสียชีวิตได้สูง สำหรับภาวะกรดจากระบบหายใจจะทำให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ ระบบการหายใจล้มเหลว หรือเกิดภาวะช็อก ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
การป้องกันเลือดเป็นกรด
เลือดเป็นกรดยังป้องกันไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ แต่สามารถลดความเสี่ยงจากปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดภาวะนี้ โดยปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
ภาวะกรดจากระบบหายใจ
- การรับประทานยาระงับประสาทหรือยานอนหลับ (Sedatives) ควรใช้ตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัดและห้ามใช้ควบคู่กับแอลกอฮอล์ เพราะอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะสารพิษในบุหรี่จะทำลายปอดและเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ ตามมา รวมทั้งหายใจได้ลำบากขึ้น
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคอ้วนและปัญหาในการหายใจได้ลำบาก
ภาวะกรดจากกระบวนการเผาผลาญ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอในแต่ละวัน เพื่อป้องกันอาการขาดน้ำ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ และติดตามการรักษาสม่ำเสมอซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากการคั่งของสารคีโตนในเลือด
- ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เกินปริมาณที่พอดีต่อวัน เพราะการดื่มอย่างหนักจะเพิ่มการสะสมของกรดแลคติกที่มากขึ้นในเลือดและทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ
- ควรรับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์ เภสัชกร หรือข้อบ่งใช้บนฉลากยาอย่างเคร่งครัด