เสียงแหบ

ความหมาย เสียงแหบ

เสียงแหบ (Hoarseness) คืออาการที่เสียงเกิดความเปลี่ยนแปลงหรือมีความผิดปกติ มีระดับสูงต่ำหรือความดังของเสียงที่เปลี่ยนแปลงไป มีเสียงหายใจแทรก หรือต้องออกแรงในการเปล่งเสียง  ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ มักเกิดจากความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับเส้นเสียงในกล่องเสียง (Larynx)

เสียงแหบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงและอาการจะหายเองได้ในเวลาไม่นาน หลังจากดูแลตัวเอง ปรับพฤติกรรม และรักษาโรคที่เป็นสาเหตุของอาการเสียงแหบ แต่หากอาการยังคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 2 สัปดาห์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

เสียงแหบ

สาเหตุของเสียงแหบ

เสียงแหบเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยมากจะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงและสามารถหายได้เองในเวลาไม่นาน โดยอาจเกิดจากสาเหตุ 2 กลุ่มหลัก ได้แก่

อาการเจ็บป่วย

เสียงแหบอาจเกิดจากอาการเจ็บป่วยได้หลายโรค เช่น

การใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม

เสียงแหบอาจเกิดจากการใช้เสียงมากเกินไปหรือใช้เสียงในทางที่ผิด เช่น ตะโกนดัง ๆ พูดหรือร้องเพลงเป็นเวลานาน หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เป็นเวลานาน และการสูดดมฝุ่นและสารพิษ

อาการเสียงแหบ

อาการเสียงแหบอาจแตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น เสียงพูดมีลมหายใจแทรก เสียงแห้งแหบ เสียงสั่น เสียงที่ไม่เป็นธรรมชาติต้องออกแรงมากกว่าปกติ หรือเกิดความเปลี่ยนแปลงกับระดับสูงและต่ำ หรือความดังของเสียง ทำให้ไม่สามารถออกเสียงหรือเปล่งเสียงได้ราบรื่นเหมือนปกติ

นอกจากความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับเสียงดังกล่าว อาจเกิดอาการร่วมอย่างอื่นที่แตกต่างกันไปตามสาเหตุของโรค

อาการเสียงแหบที่ควรไปพบแพทย์

หากมีอาการเสียงแหบในลักษณะต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์

  • อาการเสียงแหบที่เกิดกับเด็กเป็นเวลานานกว่า 1 สัปดาห์ หรือ 2–3 สัปดาห์ในผู้ใหญ่
  • อาการเสียงแหบที่เกิดขึ้นในเด็กอายุน้อยกว่า 3 เดือน
  • มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจหรือการกลืนอาหาร ไอเป็นเลือด รู้สึกเจ็บขณะพูดคุยหรือกลื่นอาหาร มีก้อนที่คอ ไม่มีเสียงแม้จะพยายามเปล่งเสียงออกมา

การวินิจฉัยเสียงแหบ

แพทย์จะเริ่มวินิจฉัยด้วยการสอบถามถึงอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น รวมไปถึงโรคประจำตัว สุขภาพโดยรวมและรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย จากนั้นแพทย์จะตรวจดูกล่องเสียงและบริเวณใกล้เคียงด้วยกระจกส่องหรือเครื่องส่องตรวจกล่องเสียง (Laryngoscope) และประเมินคุณภาพเสียง เช่น

  • เสียงพูดที่มีเสียงเหมือนลมหายใจแทรก อาจหมายถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับกล่องเสียง ซึ่งอาจมีสาเหตุมาจากเนื้องอก ติ่งเนื้อ หรือมะเร็งกล่องเสียง
  • เสียงแหบแห้ง อาจหมายถึง เส้นเสียงหนาขึ้นจากอาการบวม การอักเสบจากการติดเชื้อ การระคายเคืองจากสารเคมี การใช้เสียงในทางที่ผิด หรืออัมพาตที่เส้นเสียง
  • เสียงแหบแหลม เสียงสั่น หรือเสียงเบา อาจหมายถึง ปัญหาที่เกี่ยวกับการหายใจ

นอกจากนี้ แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยการทดสอบในห้องปฏิบัติการ เช่น การตัดเนื้อเยื้อไปตรวจ (Biopsy) การเอกซเรย์ปอด ตรวจสอบการทำงานของต่อมไทรอยด์ หรือการตรวจเลือด เช่น ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count: CBC)

การรักษาเสียงแหบ

การรักษาเสียงแหบมีหลากหลายวิธี แต่การรักษาจะขึ้นอยู่กับปัจจัยที่เป็นสาเหตุ โดยปกติเมื่อสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเสียงแหบได้รับการรักษาจนหายแล้ว เสียงที่แหบก็จะค่อย ๆ กลับมาเป็นปกติได้

  • ในขณะที่มีอาการเสียงแหบ ควรงดใช้เสียงหรือพูดเฉพาะที่จำเป็นจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยอาจใช้ยาอมแก้เจ็บคอ ซึ่งช่วยลดอาการระคายคอและช่วยให้ชุ่มคอ
  • หากอาการเสียงแหบมาจากการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยควรเลิกบุหรี่ โดยอาจขอคำแนะนำจากผู้ให้คำปรึกษาเพื่อการเลิกบุหรี่
  • กล่องเสียงอักเสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน อาการมักจะดีขึ้นได้เองหลังจากพักผ่อนมาก ๆ ดื่มน้ำให้เพียงพอ ล้างจมูกและกลั้วคอด้วยน้ำเกลือ และใช้ยาบรรเทาอาการไอ คัดจมูก และมีไข้
  • ผู้ที่เสียงแหบจากภูมิแพ้ ควรทำความสะอาดบ้านเป็นประจำ ปิดประตูหน้าต่างเพื่อป้องกันฝุ่นเข้าบ้าน และอาจใช้เครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยให้หายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้
  • หากอาการเสียงแหบมาจากโรคกรดไหลย้อน รักษาได้ด้วยการรับประทานยาหรือควบคุมการรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ เช่น หลีกเลี่ยงอาหารรสเผ็ดและเปรี้ยว อาหารไขมันสูง และน้ำอัดลม
  • หากอาการเสียงแหบที่มีสาเหตุจากตุ่มหรือติ่งเนื้อที่เส้นเสียง การบาดเจ็บที่กล่องเสียงหรือเส้นเสียง รวมไปถึงมะเร็งกล่องเสียง อาจมีความจำเป็นต้องผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อนของเสียงแหบ

เสียงแหบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้ ซึ่งจะแตกต่างกันตามสาเหตุ โดยสาเหตุของอาการเสียงแหบที่พบบ่อยเกิดจากโรคกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ จึงอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เชื้อแพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของระบบทางเดินหายใจ ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายของเส้นเสียงและอวัยวะใกล้เคียง และเกิดปัญหาในการใช้เสียง

การป้องกันเสียงแหบ

อาการเสียงแหบป้องกันได้ในบางกรณี ตัวอย่างเช่น

  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้องใช้เสียงมากเกินไปหรือใช้เสียงผิดวิธี หากมีความจำเป็นที่ต้องใช้เสียงดังควรใช้ไมโครโฟนช่วยขยายเสียง
  • ขอคำแนะนำหรือฝึกการใช้เสียงที่ถูกต้องจากนักบำบัดการใช้เสียงหรือการพูด และครูสอนร้องเพลง
  • เลิกสูบบุหรี่หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับควันบุหรี่ เนื่องจากการสูดควันบุหรี่เข้าไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเส้นเสียงหรือกล่องเสียง และทำให้คอแห้ง นอกจากนั้น การเลิกบุหรี่ยังช่วยป้องกันความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งกล่องเสียงได้อีกด้วย
  • ล้างมือบ่อย ๆ เพื่อป้องกันเชื้อโรค ซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ วันละประมาณ 8 แก้ว ซึ่งช่วยเจือจางเมือกที่อยู่ในลำคอและช่วยให้คอมีความชุ่มชื้นขึ้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ เช่น เครื่องดื่มคาเฟอีนและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเร่งการขับปัสสาวะ และทำให้ร่างกายขาดน้ำ
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อน ควรใช้ยาและควบคุมการรับประทานอาหารตามที่แพทย์แนะนำ